เกาะติดอเมริกาล็อบบี้ไทยจากเทียร์ 3 สู่การบีบไทยรับ TPP ผลกระทบเพียบ

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ผู้สื่อข่าวพิเศษ TCIJ 13 ก.ย. 2558 | อ่านแล้ว 1812 ครั้ง

วันเดียวกันนั้น USABC ยังได้เข้าพบจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเยี่ยมคาระและหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมและการลงทุนของบริษัทจากสหรัฐฯ โดยมีอรรชกา สีบุญเรือง  ปลัดกระทรวง     อุตสาหกรรมร่วมหารือด้วย

วันต่อมา-7 สิงหาคม USABC ยังได้เข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื้อหาการพูดคุยตามที่เป็นข่าวออกไปในทางเรื่องสัพเพเหระเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจ การลงทุน โร้ดแม็ปการปฏิรูปการเมือง แต่จุดที่น่าสนใจคือข่าวการเข้าพบทุกครั้ง มักจะมีการกล่าวถึง TPP หรือข้อตกลงความร่วมมือหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก(Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement : TPP) เสมอ  ซึ่งเป็นข้อตกลงเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมสองฟากฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก มีสหรัฐฯ อเมริกาเป็นโต้โผใหญ่ ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ 12 ประเทศคือสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย บรูไน ชิลี มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม และยังมีประเทศที่ให้ความสนใจจะเข้าร่วมอีก 4 ประเทศ คือ โคลอมเบีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน

กรรณิการ์ กิตติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) อธิบายว่า นอกจากเรื่องเศรษฐกิจแล้ว สหรัฐฯ ยังหวังใช้ความตกลงนี้ในการปิดกั้นจีน แต่เนื่องจากฝ่ายทุนของสหรัฐฯ มีข้อเรียกร้องสูงสุดในทุกเรื่อง เช่น การคุ้มครองการลงทุนทรัพย์สินทางปัญญา การบริการสินค้าเกษตร ทำให้การเจรจาถึงขณะนี้ยังตกลงกันไม่ได้ แม้เดิมจะตั้งความหวังว่าจะจบการเจรจาในเดือนสิงหาคมนี้

จากเทียร์ 3 ถึง TPP

ครั้นผู้สื่อข่าวถามพลเอกประยุทธ์ถึงประเด็นนี้ ก็ได้รับคำตอบว่า ไม่มีการพูดถึงพร้อมกับกล่าวว่า TPP เป็นเรื่องคอขาดบาดตายของประเทศชาติ เวลาหารือจึงต้องมีกระทรวงสาธารณสุขร่วมพิจารณาด้วย ด้านอภิรดีกล่าวกับสื่อว่า ไทยจะรอให้การเจรจา TPP ได้ข้อสรุปก่อนจึงจะพิจารณาเข้าร่วม เพื่อประเมินข้อสรุปว่าจะส่งผลดี-ผลเสียกับไทยอย่างไร

นี่ย่อมแสดงว่า การเข้าพบของสภาธุรกิจอเมริกาฯ มีเรื่องการชักชวนให้ไทยเข้าร่วม TPP เป็นเป้าหมายหนึ่ง และหากดูจังหวะก้าวของสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา ก็เรียกได้ว่ามีแง่มุมที่ชวนติดตาม

27 กรกฎาคม กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2558 รายงานชิ้นนี้รวบรวมสถานการณ์ทั่วโลกและจัดอันดับผลงานของแต่ละประเทศ ดังที่รับรู้กัน สถานการณ์ค้ามนุษย์ของไทยยังอยู่ในระดับเทียร์ 3 เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน เทียร์ 3 หมายถึงประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ และไม่ได้ใช้ความพยายามที่จะแก้ไขปัญหา

ขณะที่คิวบา อุซเบกิซสถาน และมาเลเซียได้รับการเลื่อนขึ้นจากเทียร์ 3 เป็นเทียร์2 ซึ่งหมายถึงประเทศที่สมควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษแม้จะปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำได้ไม่ครบถ้วน แต่ถือว่ามีความพยายามแล้ว

และนับเป็นครั้งแรกที่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ถูกวิจารณ์อย่างหนักหน่วงว่า มีเป้าประสงค์ทางการเมืองมากกว่าที่จะจัดอันดับอย่างตรงไปตรงมา  ซาราห์มาร์กอน ผู้อำนวยการกลุ่มฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่าดูเหมือนจะเป็นครั้งแรกที่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของสหรัฐ ถูกใช้เพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง ซึ่งจะเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของรายงานชิ้นนี้ ทั้งยังถูกโจมตีจากพรรครีพับลิกันว่ากำลังทำให้มาตรฐานการจัดทำรายงานชิ้นนี้เสียไป หรือแม้แต่วุฒิสภาจากฟากเดโมแครตเอง ก็มีความเคลื่อนไหวต้องการให้คงมาเลเซียไว้ในระดับเทียร์ 2 เช่นเดิม

เรื่องนี้ชวนติดตามยิ่งขึ้นอีก เมื่อกฎหมายของสหรัฐฯ ห้ามมิให้รัฐบาลของตนทำข้อตกลงกับประเทศใดๆ ที่ถูกจัดอันดับอยู่ในเทียร์ 3 และมาเลเซียก็คือหนึ่งในสมาชิกของTPP ที่กำลังจะมีการลงนามข้อตกลงนี้หลังจากรายงานฉบับดังกล่าวออก มาพอดิบพอดี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายฝ่ายจะมองว่าการจัดอันดับปีนี้มีผลประโยชน์ทางการค้าและการเมืองแฝงอยู่

แล้วการเข้าพบรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ของสภาธุรกิจอเมริกาฯ ก็เกิดขึ้นไล่เลี่ยกันมา

ใช้จุดอ่อนรัฐบาลจากรัฐประหารเป็นข้อกดดัน

ภายหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 สถานะของประเทศไทยบนเวทีโลกและในสายตาตะวันตกย่ำแย่ลง จนไทยต้องเพิ่มความสัมพันธ์กับจีนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยยังคงแสวงหาการยอมรับจากประเทศตะวันตกอย่างยุโรปและสหรัฐฯ และประเด็นนี้ถือเป็นจุดอ่อนเสมอสำหรับรัฐบาลไทยที่มาจากการรัฐประหาร  เป็นจุดอ่อนที่ประเทศตะวันตกรับรู้มาโดยตลอด

ปี 2535 รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือ รสช. ยินยอมแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรยา ก่อนที่ข้อบังคับขององค์การการค้าโลกจะมีผลถึง 8 ปี และนั่นทำให้อุตสาหกรรมยาของไทยถึงกับล้มฟุบ

ปี 2551 รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่มาจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ยอมลงนามในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น หรือเจเทปป้า ซึ่งเปิดช่องให้ญี่ปุ่นสามารถนำขยะอันตรายเข้ามาทิ้งในไทย  สมาชิกสภานิติบัญญัตแห่งชาติในเวลานั้นรายหนึ่ง ถึงกับพูดว่า ไทยควรยอมรับข้อตกลงเจเทปป้าเพราะมันเป็นช่วงเวลาที่ไทยต้องการการยอมรับจากต่างประเทศ

ปี 2558 ดูเหมือนว่าสหรัฐฯ จะยังคงใช้จุดอ่อนนี้ในการกดดันรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารของไทย การเข้าพบรัฐบาลไทยของสภาธุรกิจอเมริกาฯ จึงมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นมากกว่าการเข้าพบเพื่อเยี่ยมคารวะและพูดคุยธรรมดาๆ ผู้แทนจากบริษัทต่างๆ ที่เข้าพบ เช่น แอบบ็อตต์, ไมโครซอฟต์, อีไล ลิลลี่, ฟิลิปส์ มอร์ริส, มอนซานโต้ เป็นต้น  ต่างมีความเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ไม่ทางใดทางหนึ่งกับประเด็นอ่อนไหวในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิบัตรยา ลิขสิทธิ์ หรือพืชจีเอ็มโอ เป็นต้น

รับ TPPไทยอ่วม กระทบยา-เมล็ดพันธุ์-นโยบายสาธารณะ

หากไทยเข้าร่วม TPP ย่อมส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์สาธารณะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข เพราะจะทำให้ต้นทุนการเข้าถึงยาของคนในประเทศสูงขึ้น จากการเพิ่มการคุ้มครองให้แก่สิทธิบัตรยาประมาณ 8,477.7ล้านบาท หรือการต้องแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรให้คุ้มครองสิ่งมีชีวิต ซึ่งจะทำให้เกิดการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ค่าใช้จ่ายของเกษตรกรจะสูงขึ้นประมาณ 50,000-100,000 ล้านบาท เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างจำนวนหนึ่ง

ถึงแม้ว่าจะไม่มีการลงนามข้อตกลงใดๆ ในช่วงรัฐบาลนี้  เนื่องจากสหรัฐฯ จะไม่ลงนามกับรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร แต่มิได้หมายความว่าจะไว้วางใจได้ เพราะรัฐบาลไทยอาจขยับแก้กฎหมายภายในไปล่วงหน้าเพื่อเอาอกเอาใจตะวันตกดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว หรือที่กำลังพยายามผลักดัน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขกฎหมายเครื่องหมายการค้าให้ครอบคลุมกลิ่นและเสียง หรือกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ ที่จะเปิดทางให้กับการปลูกพืชจีเอ็มโอ ซึ่งกฎหมายฉบับหลังก็เพิ่งถูกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ถอนร่างออกจากการพิจารณา

นอกจากนี้  กรรณิการ์ กลุ่ม FTA Watch กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อตกลง TPP ยังมีส่วนของเนื้อหาที่เรียกว่าการคุ้มครองการลงทุน ซึ่งถูกต่อต้านอย่างหนักจากภาคประชาสังคมและและภาควิชาการใน 12 ประเทศที่กำลังเจรจาTPP  เพราะเท่ากับเปิดช่องให้นักธุรกิจต่างชาติฟ้องล้มนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์กับประชาชน จนทำให้การเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้

ด้านบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คาดหวังจะให้ข้อตกลง TPP เป็นอีกหนึ่งผลงานชิ้นสำคัญของตน ภาคธุรกิจของไทยก็หวั่นเกรงว่าหากไทยไม่เข้าร่วม TPP ไทยจะตกขบวนเศรษฐกิจโลก การเข้าพบรัฐบาลไทยของสภาธุรกิจอเมริกาฯ จึงพ่วงแรงกดดันและข้อต่อรองเข้าไปด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้ ที่เหลือก็ต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดว่า รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารของไทย ซึ่งมัก ‘เปราะบาง’ ต่อสายตานานาประเทศจะดำเนินการอย่างไร เพราะผลที่ได้อาจไม่คุ้มกับสิ่งที่จะสูญเสีย

อ่าน "จับตา : ผลกระทบของ TPPต่อไทย ความเห็นของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” 
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5781

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: