กรมสุขภาพจิตย้ำผู้ป่วยจิต เข้าถึงบริการอยู่ร่วมสังคมได้ ขอเพียงเข้าใจและให้โอกาส

13 ต.ค. 2558 | อ่านแล้ว 2459 ครั้ง


	กรมสุขภาพจิตย้ำผู้ป่วยจิต เข้าถึงบริการอยู่ร่วมสังคมได้ ขอเพียงเข้าใจและให้โอกาส

ย้ำผู้ป่วยทางจิตก่อคดี มีไม่ถึง 1% ความผิดร้ายแรงถึงขั้นฆ่า/พยายามฆ่า มีเพียง 1 ใน 5 ยัน หากเข้าระบบจะได้รับการบำบัดรักษาและติดตามต่อเนื่องไม่ก่อคดีซ้ำ วอนอย่าเหมารวม ตราหน้าผู้ป่วยจิตเวชทั่วไป ขอเพียงเข้าใจ ยอมรับและให้โอกาสผู้ป่วยทางจิตอยู่ร่วมสังคมได้จริงอย่างปลอดภัย 

13 ต.ค. 2558 สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดงานวันอนุสรณ์ศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว บิดาแห่งจิตเวชศาสตร์ไทย และวันสุขภาพจิตโลก ประจำปี 2558 (World Mental Health Day 2015) เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยในปีนี้ สหพันธ์สุขภาพจิตโลก (The World Federation Mental Health : WFMH) ได้รณรงค์ภายใต้แนวคิด “Dignity in mental health : สร้างศักดิ์ศรี สร้างคุณค่า ผู้มีปัญหาสุขภาพจิต”เพื่อสร้างความตระหนัก และส่งเสริมให้ผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิตสามารถมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่า ตลอดจนมอบรางวัลผู้สนับสนุนงานสุขภาพจิตในระบบสาธารณสุขดีเด่น ให้กับ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อดีต ปลัด สธ. ซึ่งได้ให้เกียรติปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ผู้ป่วยจิตเวช ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการปฏิรูป” ในโอกาสนี้ด้วย พร้อม ย้ำ ผู้ป่วยทางจิตก่อคดี มีไม่ถึง 1% ความผิดร้ายแรงถึงขั้นฆ่า/พยายามฆ่า มีเพียง 1 ใน 5 ยัน หากเข้าระบบ จะได้รับการบำบัดรักษาและติดตามต่อเนื่อง ไม่ก่อคดีซ้ำ วอน อย่าเหมารวม ตราหน้าผู้ป่วยจิตเวชทั่วไป ขอเพียงเข้าใจ ยอมรับ และให้โอกาสผู้ป่วยทางจิตอยู่ร่วมสังคมได้จริงอย่างปลอดภัย

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อดีต ปลัด สธ. กล่าวว่า สิ่งที่มีค่าของมนุษย์ นอกเหนือจาก ตำแหน่งหน้าที่ เกียรติยศ ทรัพย์สินเงินทองนอกกายแล้ว สุขภาพที่ดีถือเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ซึ่งตลอดระยะเวลาการทำงานที่ผ่านมาได้เห็นถึงความทุกข์จากการเจ็บป่วยทั้งด้านร่างกายและจิตใจของประชาชนอยู่ตลอดเวลา การจัดระบบสาธารณสุขที่ดีจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยผู้ป่วยเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม การเจ็บป่วยทางกาย สามารถบอกอธิบายให้คนรอบข้างเข้าใจได้ง่าย แต่ความเจ็บป่วยทางใจจะบอกหรือเล่าให้คนอื่นรับรู้และเข้าใจได้ยาก ประกอบกับ สังคมยังมีอคติต่อผู้มีปัญหาทางจิต ตราหน้าว่าเป็นผู้อ่อนแอ ล้มเหลว หรือถูกเลี้ยงดูมาอย่างไม่ดี จึงยิ่งทำให้พวกเขาไม่กล้าเปิดเผยตัว ไม่กล้าเข้าสู่ระบบบริการ และแม้แต่เข้าสู่ระบบบริการจนสามารถกลับไปอยู่กับครอบครัวได้ แต่หากขาดการดูแลเอาใจใส่ กินยาไม่ต่อเนื่อง ครอบครัวหรือชุมชนยังไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับ แสดงความรังเกียจ กดดัน ล้อเลียน ไม่ให้ผู้ป่วยมีที่ยืนในสังคม อาการก็ย่อมกำเริบ ส่งผลให้การป่วยทางจิตรุนแรงมากขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายร้ายแรงต่อตนเองและผู้อื่น รวมทั้งเป็นเหตุให้ก่อคดีซ้ำได้ 

ทั้งนี้การนอนโรงพยาบาล และการรักษาด้วยยาจึงไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด กระบวนการฟื้นฟูทางจิตใจจึงเป็นกระบวนการที่จำเป็น ที่จะช่วยฟื้นฟูการทำงานของสมอง ระบบความคิด การตัดสินใจ และการอยู่กับสังคมการปฏิรูประบบสุขภาพที่ผ่านมาจึงต้องทำให้ครอบคลุมบริการด้านสุขภาพจิตและจิตเวช โดยได้บรรจุเรื่องการบริการทางจิตเวชเป็น 1 ใน 11 กลุ่มโรคสำคัญ  เพื่อให้ 12 เขตสุขภาพ และ กทม.นำการบริการสุขภาพจิตและจิตเวชเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแผนการทำงานในเขตสุขภาพ สร้างระบบดูแลผู้ป่วยรายเก่าและรายใหม่เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายบริการไร้รอยต่อกับโรงพยาบาลเฉพาะทาง ซึ่งมี 18 แห่งทั่วประเทศ  ใช้มาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ โดยระยะต้นเน้น 4 กลุ่มสำคัญ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคจิต โรคซึมเศร้า รวมทั้งบำบัดผู้ติดสุรา ติดยาเสพติด ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เกิดการบริการที่ครอบคลุมและทั่วถึง เขตบริการสุขภาพสามารถดูแลประชาชนในเขตของตนเอง รวมทั้ง ให้การฟื้นฟูจิตใจของผู้ป่วย ป้องกันมิให้เกิดภาวะเสื่อมถอยของสมอง ตลอดจนฟื้นฟูจิตใจของผู้ป่วยในกรณีที่มีความเสื่อมถอยแล้ว ซึ่งล่าสุด พบว่า ผู้ป่วยโรคจิตเข้าถึงบริการ ร้อยละ 57 อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งจากภาครัฐ เอกชน ชุมชน และสังคมในการส่งเสริมการเข้าถึงระบบบริการ การสนับสนุนกระบวนการฟื้นฟู การให้โอกาสทางอาชีพ การยอมรับผู้ป่วยที่หายดีแล้วกลับเข้าสู่ชุมชนและสังคม เพื่อให้ผู้ป่วยที่อาการดีสามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีศักดิ์ศรีในสังคมต่อไปได้ อดีต ปลัด สธ. ระบุ

ด้าน นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน สังคมยังคงมีอคติกับผู้ป่วยจิตเวช และเมื่อใดก็ตามที่ผู้ป่วยจิตเวชก่อเหตุรุนแรงปรากฏเป็นข่าวครึกโครมซึ่งอาจมีเพียงไม่กี่ครั้ง สังคมมักตั้งข้อสงสัยว่าป่วยจริงหรือไม่ จะต้องรับโทษหรือไม่ รวมทั้ง ผู้ป่วยโรคจิตน่ากลัวกว่าทุกคนจริงหรือไม่ เหล่านี้ยิ่งทำให้สังคมเกิดความกลัว ความหวาดระแวง และความเกลียดชัง ตอกย้ำ ตราบาป (stigma) ลดคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขาให้น้อยลงไปเรื่อย ๆ ซึ่งในความเป็นจริง ผู้ป่วยทางจิตมีเพียงจำนวนน้อยที่ก่อเหตุรุนแรงขึ้นในสังคม เมื่อเปรียบเทียบกับการกระทำความผิดจากบุคคลที่สภาพจิตปกติ ทั้งนี้ จากการสำรวจระบาดวิทยาสุขภาพจิตของคนไทยระดับชาติ ครั้งล่าสุด คาดมีผู้ป่วยโรคจิต ประมาณ 5 แสนคน ซึ่ง จากรายงานการบำบัดรักษา การจำหน่ายผู้ป่วยและการติดตามผลการบำบัดรักษา ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ประจำปี 2557 พบผู้ป่วยทางจิตก่อคดี 172 ราย ซึ่งไม่ถึง ร้อยละ 1  ขณะที่ ความผิดร้ายแรงฐานฆ่า/พยายามฆ่า มีประมาณ 1 ใน 5 (ร้อยละ 20.99) ส่วนที่เหลือ เป็นความผิดคดีอื่น ๆ เช่น ทำร้ายร่างกาย บุกรุก ยาเสพติด วางเพลิง ฯลฯ โดยผู้ป่วยเหล่านี้จะเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษา ฟื้นฟู และติดตามอย่างต่อเนื่องด้วยมาตรฐานเดียวกัน ป้องกันไม่ให้เกิดการก่อคดีซ้ำ อย่างไรก็ตาม ต้องขอย้ำว่า ผู้ป่วยทางจิตก่อคดีรุนแรงมีจำนวนไม่มาก และเมื่อใดก็ตามที่ตกเป็นข่าว ผู้เจ็บป่วยทางจิตเวชอื่นอีกจำนวนมากที่ไม่เคยมีคดี มักพลอยถูกตราหน้าและได้รับผลกระทบ เกิดตราบาป (stigma) ติดตัวด้วยเสมอ ซึ่งในความเป็นจริง ผู้ป่วยจิตเวชเหล่านี้สามารถรักษาให้หายและกลับคืนสู่สังคมได้ สามารถประกอบอาชีพ ใช้ชีวิตได้เช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป ซึ่งยิ่งเข้ารับการรักษาแต่เนิ่นๆ ได้เร็วเท่าไร ยิ่งดี ล่าสุด ปี 2557 จากโครงการทดลองจ้างงานผู้ป่วยจิตเวช อาทิ ผู้ป่วยของสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา รพ.ศรีธัญญา สถาบันราชานุกูล และ รพ.ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ ด้วยกระบวนการประเมินความสามารถและความถนัดของผู้ป่วย การเตรียมความพร้อมและเพิ่มพูนทักษะที่จำเป็นในการทำงาน เช่น การสื่อสาร การตรงต่อเวลา การปรับตัวเข้ากับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน ความปลอดภัยในการทำงานควบคู่ไปกับการฝึกทักษะพื้นฐานเฉพาะทางด้านอาชีพ มีผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวและชุมชน ได้รับการจ้างงาน หาเลี้ยงตนเองได้ รวมไม่น้อยกว่า 25 ราย ดังนั้น การดูแลผู้ป่วยจิตเวช จึงต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปดำเนินชีวิตในสังคมได้ คือ 1.การดูแลรักษา ตามหลักวิชาการแพทย์  2.ครอบครัว  ที่จะให้การสนับสนุน ให้กำลังใจ ให้ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และ 3.สังคม ที่จะให้โอกาสผู้ป่วยดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันได้ และ ในวันนี้ กรมสุขภาพจิตก็ได้เปิดบ้านหลังคาแดงอีกครั้ง เพื่อสะท้อนและตอกย้ำให้สังคมภายนอกได้เห็นถึงศักยภาพของผู้ป่วยที่พร้อมกลับคืนสู่ครอบครัวและสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี สามารถพึ่งพาตนเอง เปลี่ยนจากภาระ  มาเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญของสังคมได้เช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

ด้าน นพ.สินเงิน สุขสมปอง ผอ.สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กล่าวเสริมว่า การฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตสังคมและอาชีพแก่ผู้ป่วยจิตเวช เพื่อกลับคืนสู่สังคม  ได้นำแนวคิดการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวช (recovery model) ของ New Life Psychiatric Rehabilitation Association จากประเทศฮ่องกง ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีและเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการฟื้นฟูสมรรถภาพในการฝึกอาชีพให้แก่ผู้ป่วยมาใช้ในประเทศไทย ด้วยหลักการที่ว่า ผู้ป่วยจิตเวชมีศักยภาพที่จะฟื้นคืนชีวิตกลับเข้าสู่สังคมได้ อย่างมีศักดิ์ศรีและพึ่งพาตนเองได้ โดยได้เปิดร้านกาแฟหลังคาแดงขึ้นในพื้นที่อาคารผู้ป่วยนอกจิตเวช ชั้น 2 สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ใช้งบประมาณสนับสนุนจากเงินพระราชทาน“กองทุนสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9” และการออกแบบก่อสร้างพร้อมสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ โดย บริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด  เพื่อให้ผู้ป่วยได้ทดลองทำงานในสถานประกอบการจริง ตลอดจน ครอบครัว ชุมชน และสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูสมรรถภาพฯ การสนับสนุนการฝึก และการประกอบอาชีพตามความสามารถ  ซึ่งจะช่วยทำให้พวกเขามีโอกาสกลับมามีที่ยืนอีกครั้งในสังคม ด้วยความภาคภูมิใจ

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: