ภาคประชาชนขอมีส่วนร่วมเจรจา FTA อาเซียน+6 หวั่นผลกระทบการเข้าถึงยา

12 ก.พ. 2558 | อ่านแล้ว 1735 ครั้ง

เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2558 ที่่ผ่านมา ที่ศศนิเวศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอฟทีเอ วอทช์ (FTA Watch) และแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) จัดงานเสวนา “RCEP: การเจรจาการค้าในภูมิภาคที่ประชาชนต้องรู้” ในขณะเดียวกันกับที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเรื่องนี้เป็นครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 9 - 13 ก.พ.นี้

 

ทั้งนี้ RCEP คือ การเจรจาการค้าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership /RCEP) ประกอบด้วยอาเซียน 10 ประเทศกับอีก 6 ประเทศ คือ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และอินเดีย เรียกกันง่ายๆ ว่า ASEAN+6

 

น.ส.อรุณี พูลแก้ว รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงความคืบหน้าในการเจรจาว่า  RCEP เรียกง่ายๆ ว่าเป็นการเจรจาเอฟทีเอระหว่างอาเซียนกับอีก 6 ประเทศ การเจรจากันที่กรุงเทพฯ รอบนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ.แล้ว แบ่งออกเป็น 11 คณะ เริ่มต้นเจรจามาตั้งแต่ปลายปี 2556 ขณะนี้เรียกได้ว่าสำเร็จเพียงร้อยละ 30 เนื่องจากทั้ง 16 ประเทศมีความแตกต่างกันสูงและมีความต้องการในประเด็นต่างๆ ที่แตกต่างกัน

 

“เป็นความตั้งใจของอาเซียนที่จะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ที่ผ่านมาอาเซียนมีเอฟทีเอแต่ละฉบับอยู่แล้วกับประเทศเหล่านั้น แต่บวกทีละหนึ่ง แต่ละฉบับก็มีกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดความยากลำบากต่อการใช้ประโยชน์ สับสนยุ่งเหยิง เลยพยายามรวมเป็นฉบับเดียวกันให้สอดคล้องกันมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้า มาตรฐานสินค้า การอำนวยความสะดวกด้านการค้า ขณะเดียวกันก็ต้องได้ประโยชน์เพิ่ม และเป็นการดึงดูดการค้าการลงทุนเข้ามาสู่ภูมิภาคนี้ด้วย” รองอธิบดีฯ กล่าว 

 

“เรื่องทรัพย์สินทางปัญหา ชัดเจนว่าทั้งอาเซียน อินเดีย ไม่ยอมให้มีการคุ้มครองมากไปกว่าที่องค์การการค้าโลก (WTO) กำหนดขณะที่ญี่ปุ่น เกาหลีต้องการให้มีความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย อยากให้เข้าเป็นภาคีความตกลงฉบับนั้นฉบับนี้” น.ส.อรุณีกล่าว

 

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มเอฟทีเอ วอทช์ กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่ให้อาเซียนเป็นตัวนำและท่าทีของอาเซียนที่เจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปที่ผ่านมาก็สามัคคีและเลือกเฉพาะที่ตัวเองพร้อมมากกว่าถูกบังคับ จนกระทั่งเริ่มได้เอกสารที่หลุดออกมาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและการคุ้มครองการลงทุนอย่างน้อย 4 ชิ้น เป็นของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อาเซียน อินเดียที่ร่วมเจรจาใน RCEP จึงเกิดความกังวล เนื่องจากเกาหลีใต้ยื่นข้อเรียกร้องเรื่องสิทธิบัตรเหมือนที่ตัวเองยอมรับแล้วกับสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งปรากฏผลแล้วว่าสร้างผลกระทบในเกาหลีหนักเรื่องการเข้าถึงยาของประชาชน ที่น่ากลัวที่สุดคือ ญี่ปุ่น ปรากฏว่าเหมือนกับความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement : TPP) มาก มีท่าทีที่ก้าวร้าวมาก ไม่ว่าการขอจดสิทธิบัตรพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์  การให้คำขอสิทธิบัตรที่ไม่มีคุณภาพได้สิทธิผูกขาดง่ายๆ  ไม่อนุญาตให้ใช้มาตรการยืดหยุ่นที่อยู่ในองค์การการค้าโลกและบังคับให้ประเทศต่างๆต้องเป็นภาคีความตกลงต่างๆที่มีเนื้อหาคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเกินเลยไปกว่าระดับการพัฒนาของประเทศ

 

ผู้ประสานงานเอฟทีเอว็อทช์กล่าวว่า แนวทางการเจรจาที่สถาบันพัฒนาวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เสนอนั้น ชี้ให้เห็นว่าข้อควรระวังหลายเรื่องที่ควรต้องรับฟัง เช่น การสงวนคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญหาไม่มากไปกว่าที่กำหนดในองค์การการค้าโลก การคุ้มครองการลงทุนนั้น อนุญาตให้เอกชนฟ้องรัฐได้หากใช้อำนาจมิชอบแต่ต้องสงวนไว้ในเรื่องความมั่นคงและทรัพยากรสาธารณะของประเทศ นอกจากนี้ภาคประชาชนขอเสนอให้คณะเจรจาเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้เข้าสู่กระบวนการประชุมเตรียมการหรือแจ้งผลการเจรจาด้วยเช่นเดียวกับการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู มิใช่ปล่อยให้มีแต่สภาวิชาชีพ ภาคเอกชน ดังที่เป็นอยู่ โดยในการเจรจา RCEP รอบที่ผ่านๆมาที่เชิญผู้ร่วมประชุมโดยเป็นตัวแทนจากสภาหอการค้าไทย 20 กว่าคน สภาอุตสาหกรรม 10 กว่าคน

 

ดร.วิศาล บุปผเวส ที่ปรึกษาอาวุโสโครงการวิจัยความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ TDRI กล่าวว่า แม้การเจรจาเอฟทีเอจะไม่ให้ประโยชน์กับประเทศไทยซึ่งเป็นเพียงประเทศเล็กๆ ในทุกประเด็นที่เราต้องการ แต่จะกลัวจนไม่เจรจาไม่ได้เพราะจะสูญเสียโดยสิ้นเชิงโดยไม่ได้ต่อสู้ จึงสำคัญว่าเราจะออกแบบตัวเองอย่างไรให้เหมาะสมและหาพวกมาคุ้มครอง ถ่วงดุลประเทศใหญ่ สำหรับ RCEP นั้นมองว่าเป็นช่องทางและเป็นเครื่องมือสำหรับการปฏิรูปตัวเราเอง

 

“การทำการค้าเสรีเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจ แต่ไม่สามารถช่วยในเรื่องความยั่งยืนและความเสมอภาคภายในประเทศ และระหว่างเรากับประเทศคู่ค้า ไม่เป็นหลักประกันของการมีอิสรภาพ ไม่ใช่คิดว่าเปิดเสรีแล้วจะได้ทั้งหมด เราต้องมีเครื่องมือของเราเองที่จะช่วยในเรื่องอื่นๆ รองรับ ปัญหาที่แล้วมาคือ เราสนใจน้อยไปกับการสร้างเครื่องมือรองรับ ถึงมีก็เป็นเครื่องมือที่ไม่ค่อยดี คิดอย่างลวกๆและเกิดปัญหาเพิ่มขึ้นมาก” ดร.วิศาลกล่าว

 

ดร.วิศาล กล่าวว่า ถึงที่สุดไทยควรมีภาษีโครงสร้างเดียว และอัตราเดียว เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการสับสน สร้างต้นทุนทางศุลกากร หลีกเลี่ยงการคุ้มครองคนไม่เก่งหรือใช้ทรัพยากรไปทุ่มเทกับเรื่องที่เราทำไม่เก่ง ทำให้ผู้ผลิตในประเทศเผชิญการแข่งขันและต้องพัฒนาตัวเองมากขึ้น

 

“สมมติมี RCEP และมีการลดภาษีเป็น 0 ทั้งหมด ประโยชน์สำหรับไทยคำนวณแล้วติดลบ เมื่อเปรียบเทียบกับสภาพปัจจุบันที่มีอาเซียนบวกหนึ่งอยู่แล้ว  เพราะภายใต้อาเซียนบวกหนึ่งนั้นคู่ค้าสำคัญไม่ได้เปิดต่อกันสักเท่าไร อาเซียนจึงกลายเป็นศูนย์กลาง แต่ประโยชน์ตรงนี้ก็ไม่ยั่งยืน เรารีบทำ RCEP เสียดีกว่า แต่ถ้าทำในส่วนลดภาษีสินค้าอย่างเดียวจะไม่ไปไหน หากลดการกีดกันการค้าบริการลงร้อยละ33 ขจัดมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีลงร้อยละ 35 ไทยจะได้ประโยชน์ 27,000 ล้านดอลลาร์ ประโยชน์ที่ได้ส่วนหนึ่งได้มากจากการมีทุนเข้ามา และมีเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ถ้าไม่มีสองส่วนนี้ อย่าไปเสียเวลาคุย ไม่มีประโยชน์อะไร” ดร.วิศาลกล่าว   

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: