เสียงจาก 'โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน' แม้นโยบายดูจะสนับสนุน-แต่สายส่งไม่รองรับ

ทีมข่าว TCIJ 11 ต.ค. 2559 | อ่านแล้ว 5100 ครั้ง

กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนส่งเสียงตัดพ้อนโยบายส่งเสริมไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของรัฐ ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง หลายหน่วยงานไม่บูรณาการ เอกชนลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน แต่การไฟฟ้าฯ ระบุจำหน่ายเข้าระบบไม่ได้เพราะสายส่งเต็ม | ที่มาภาพประกอบ: Daniel X. O'Neil (CC 2.0)

กลุ่มอุตฯพลังงานทดแทนเดินสายร้องเรียน ขายไฟเข้าระบบไม่ได้

แม้รัฐบาลจะมีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนประเภทต่าง ๆ ที่สร้างแรงจูงใจให้กับผู้ลงทุนด้วยการรับซื้อไฟฟ้าในอัตราส่วนเพิ่มพิเศษ ทั้งในรูปแบบ Adder และ Feed in tariff (Fit) ทำให้มีผู้สนใจยื่นคำขอลงทุนเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนอกจากจะมีการ’ปั่นหุ้น’ ในส่วนของนักลงทุนด้านพลังงานทดแทน, การแย่งกันยื่นขอลงทุนในพื้นที่ต่าง ๆ และการเก็งกำไรซื้อ-ขายโควต้าและใบอนุญาตแล้ว ก็ยังมีอีกหนึ่งปัญหาในอุตสาหกรรมนี้ นั่นก็คือปัญหาเรื่องการรองรับของสายส่งที่จะจ่ายไฟฟ้าเพื่อขายเข้าระบบ

ตั้งแต่ต้นปี 2558 เป็นต้นมา กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เดินสายร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ในประเด็น “ความเดือดร้อนเนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปฏิเสธการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน” โดยระบุว่า ตามที่รัฐบาลสนับสนุนให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานตามแผนการพัฒนาพลังงานของรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันภาคเอกชนได้มีการศึกษาพัฒนาและพร้อมลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็นจำนวนมาก แต่ภาคเอกชนดังกล่าวได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากได้มีการตรวจสอบกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ว่ามีระบบสายส่ง และได้ขออนุญาตตามขั้นตอนการก่อสร้าง มีการกู้เงินมาลงทุนแล้ว แต่ในขั้นตอนการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบนั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตกลับปฏิเสธการรับซื้อโดยระบุว่าสายส่งเต็มจำนวนหลายราย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้เป็นอันมาก

โดยในการเข้าชี้แจงต่อ คณะกรรมาธิการการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อช่วงกลางปี 2558 ที่ผ่านมา ของทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของทั้งกระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าทั้งสอง ก็ได้ข้อสรุปตรงกันว่า เพื่อความชัดเจนและทำให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ควรที่จะมีหน่วยงานเดียวเท่านั้นเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการยื่นเสนอขายไฟฟ้า รวมทั้งมีการเร่งประกาศเขตพื้นที่รับซื้อไฟฟ้าให้ชัดเจน โดยพิจารณาถึงความต้องการการใช้ไฟฟ้า และความพร้อมทางด้านเทคนิคของระบบสายส่ง

หลักเกณฑ์ขั้นตอนการพิจารณาและการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าพลังงานทดแทน

ข้อมูลจากสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ระบุว่าหลักเกณฑ์ในการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน คือ คณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะพิจารณาตอบรับซื้อไฟฟ้า โดยต้องมีการพิจารณาเงื่อนไขสำคัญให้ครบถ้วนใน 11 ด้านดังนี้

(1.) เป็นไปตามกรอบเป้าหมายการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบ และอยู่ในเป้าหมายปริมาณรับซื้อไฟฟ้าที่ กพช. ประกาศไว้ในแต่ละปี และสอดคล้องกับศักยภาพรายพื้นที่ (Zoning) (2.) มีการกำหนดระยะเวลาจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (SCOD) ภายในระยะเวลาที่ กพช. กำหนด (3.) มีจุดเชื่อมโยงกับระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้าหรือระบบส่งที่ชัดเจน (4.) ระบบส่งและระบบจำหน่ายสามารถรองรับการซื้อไฟตาม SCOD ที่กำหนดข้างต้น (5.) ทุกโครงการที่มีขนาดกำลังผลิตตั้งแต่ 1 MW ขึ้นไปที่เชื่อมโยงกับระบบจำหน่ายไฟฟ้าจะต้องได้รับการรับรองความพร้อมทางเทคนิคของระบบส่งจาก กฟผ. ด้วย (6.) มีการวางหลักค้ำประกันสำหรับโครงการที่ยื่นเสนอขายไฟฟ้า (7.) มีแผนการดำเนินการที่เหมาะสมและชัดเจน (8.) โครงการที่ใช้ชีวมวลหรือขยะเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ต้องมีการชี้แจงแหล่งที่มาของเชื้อเพลิง โดยโครงการที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าต้องไม่เป็นขยะยางรถยนต์หรือขยะที่ก่อให้เกิดมลพิษในทุกขั้นตอนการผลิต (9.) ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมจะต้องมีหลักฐานแสดงความพร้อมของการจัดหาที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการพลังงานลม โดยมีเอกสารสิทธิ หนังสืออนุญาต หรือ หนังสือยินยอมให้ใช้ที่ดินอย่างชัดเจน จากบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับผู้ประกอบการที่ใช้พื้นที่ของ สปก. สามารถแสดงเอกสารคัดแปลงที่ดินของ สปก. แทนเอกสารสิทธิ หนังสืออนุญาตหรือยินยอมให้ใช้ที่ดิน (10.) กรณีโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ต้องมีแนวทางการบริหารจัดการการกำจัดแผงและอุปกรณ์ที่หมดอายุการใช้งานภายหลังสิ้นสุดโครงการด้วย และ (11.) กรณีโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม การตอบรับซื้อไฟฟ้าจะพิจารณาจากกำลังผลิตติดตั้ง (Installed Capacity) ตามพิกัดของแผงเซลล์แสงอาทิตย์หรือกังหันลมแล้วแต่กรณี

ส่วน ขั้นตอนการพิจารณาลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า นั้นคือการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง (กฟผ., กฟภ. และ กฟน.) จะพิจารณาลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยต้องมีการพิจารณาเงื่อนไขสำคัญให้ครบถ้วนใน 5 ด้าน ดังนี้  (1.) ได้รับความเห็นชอบการตอบรับซื้อไฟฟ้าจากคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะพิจารณาตอบรับซื้อไฟฟ้า (2.) ผ่านความเห็นชอบทางด้านเทคนิคจาก กฟผ. (3.) ผ่านการตรวจสอบความพร้อมของโครงการใน 4 ด้าน ดังนี้ การจัดหาที่ดินที่เหมาะสม โดยมีเอกสารสิทธิ หรือหนังสือการยินยอมใช้ที่ดินอย่างชัดเจนจากบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | มีแหล่งเงินทุนโครงการ โดยมีหนังสือสนับสนุนทางการเงินจากสถาบันการเงินในประเทศหรือสถาบันทางการเงินในต่างประเทศที่มีสาขาในประเทศไทย สำหรับโครงการที่มีกำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 100 kW (ยกเว้นโครงการของหน่วยราชการ) | มีการจัดหาเทคโนโลยี | ได้รับใบอนุญาตหรืออยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตตามที่กฎหมายกำหนดอย่างชัดเจน (4.) ทำข้อตกลงยินยอมการชำระค่าใช้จ่ายการปรับปรุงระบบ (ถ้ามี) และ (5.) จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ตามที่กฎหมายกำหนด) และต้องนำผลอนุมัติรายงานจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ ที่มีอำนาจหน้าที่อนุมัติ มาแสดงต่อการไฟฟ้า

.พลังงานยอมรับสายส่งปัจจุบันไม่รองรับ

จากนั้นเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2558 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน (สนพ.) ได้ออกมายอมรับว่าระบบสายส่งปัจจุบันไม่สามารถรองรับการซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทนได้เต็มศักยภาพที่มีอยู่ จึงต้องเร่งดำเนินการก่อสร้างระบบส่ง 500 กิโลโวลต์ เพื่อเพิ่มความสามารถของระบบสายส่งไฟฟ้าให้เกิดความคล่องตัวและรองรับการเข้ามาของพลังงานทดแทน รวมถึงรองรับระบบโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียนอีกด้วย สำหรับแผนงานการขยายและปรับปรุงระบบสายส่งได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนสิงหาคม 2557 และกรกฎาคม 2558 แล้ว ทั้งนี้ ได้แบ่งการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนงานออกเป็น 6 สาย ใน 3 ภูมิภาค ซึ่งสามารถรองรับพลังงานทดแทนทั้งประเทศรวมได้ 5,180 เมกะวัตต์

โดย สนพ. ระบุว่าการดำเนินการขยายสายส่งไฟฟ้าจะช่วยให้ประเทศมั่นคงระบบไฟฟ้ามากขึ้น และสามารถรองรับพลังงานทดแทนในอนาคตของประเทศโดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีศักยภาพในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจำนวนมาก รวมถึงเป็นการช่วยเพิ่มความสามารถการส่งพลังไฟฟ้าจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง ไปยังศูนย์กลางความต้องการใช้ไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล  นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มความคล่องตัวด้านปฏิบัติการควบคุมและจ่ายไฟฟ้า

อ้างภาคใต้ขาดแคลนไฟฟ้า ต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่

แม้จะมีการโหมกระแสโฆษณาชวนเชื่อของกระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ว่าภาคใต้ขาดแคลนไฟฟ้า ควรเร่งสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ จ. กระบี่ แต่เมื่อมีผู้ลงทุนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในพื้นที่ อุปสรรคเรื่องสายส่งกลับถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเหตุผลในการยับยั้งการเกิดโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในพื้นที่ภาคใต้

ตัวอย่างเช่น รายชื่อโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องข้อจำกัดของระบบสายส่งของการไฟฟ้าทำให้เกิดปัญหาการลงทุนที่เปิดเผยโดยกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา มีดังต่อไปนี้

บริษัท สะบ้าย้อย กรีน เพาเวอร์ จำกัด โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ตั้งโครงการ อ.สะบ้าย้อย จ.ยะลา กำลังติดตั้ง 9.9 MW จะขายไฟฟ้าให้ กฟผ. 9.1 MW  จะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (SCOD) ได้ประมาณเดือนมีนาคม 2560   

บริษัท ยูเอซี แอนด์ ทีพีที เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ที่ตั้งโครงการ อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น จำนวน 2 โครงการ ขนาดกำลังติดตั้งรวม 3 MW

บริษัท ยูเอซี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ที่ตั้งโครงการ อ.สบปราบ และ อ.เกาะคา จ.ลำปาง จำนวน 2 โครงการ ขนาดกำลังติดตั้งรวม 8 MW

บริษัท ไบโอเอ็นเนอร์ยี่ สตูล จำกัด ที่ตั้งโครงการ อ.ละงู จ.สตูล ขอขายไฟฟ้าขนาด 2 MW (ไบโอแก๊ซ) และขอขายไฟฟ้าขนาด 6.5 MW (ไบโอแมส) โดยโรงไฟฟ้าไบโอแก๊ซได้ก่อสร้างไปแล้วประมาณ 70% จะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (SCOD) ได้ประมาณปลายปี 2558 นี้

บริษัท ปอ พานิช ปาล์ม ออยล์ 2 ที่ตั้งโครงการ อ.เมือง จ.กระบี่ ขอขายไฟฟ้าขนาด 3 MW                              

บริษัท ศรีสไวรีนิวเอเบิลเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ที่ตั้งโครงการ อ.เขาพนม จ.กระบี่ ขอขายไฟฟ้าขนาด 1.3 MW ความก้าวหน้าโครงการ 85% จะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (SCOD) ได้ประมาณปลายปี 2558 นี้                                    

บริษัท ไทย ไบโอแก๊ซ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด โครงการปาล์มศรีนคร ที่ตั้งโครงการ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ขนาด 4.2 MW

บริษัท ไทย ไบโอแก๊ซ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด โครงการลาภภักดีปาล์ม ที่ตั้งโครงการ อ.ปลายพระยา จ.กระบี่ ขนาด 4.2 MW

บริษัท ไทย ไบโอแก๊ซ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด โครงการจิรัฐพัฒนา ที่ตั้งโครงการ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ขนาด 2 MW  

บริษัท ไทย ไบโอแก๊ซ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด โครงการกิจรุ่งเรือง ที่ตั้งโครงการ อ.เมือง จ.ระยอง ขนาด 1.4 MW   

บริษัท เกษตรลุ่มน้ำ จำกัด กิจการโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ที่ตั้งโครงการ อ.พระพรหม จ.นครศรีธรรมราช รับสัญญาจาก สนพ. ผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียและพืชพลังงาน โดยดำเนินการสร้างโรงงานเสร็จแล้วและได้ขอขายไฟฟ้ารวม 3 MW แต่ กฟผ. ปฏิเสธการเชื่อมโยงเข้ากับระบบ

บริษัท ปัตตานี กรีน จำกัด โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ตั้งโครงการ  อ.หนองจิก จ.ปัตตานี มีกำลังผลิตติดตั้ง 46 MW และจะขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตในปริมาณสูงสุด 42 MW โดยโครงการแบ่งออกเป็น 2 เฟส แต่ละเฟสมีกำลังการผลิตติดตั้ง 23 MW และจะขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. ในปริมาณไฟฟ้าสูงสุด 21 MW

บริษัท บุดีกรีน จำกัด โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ตั้งโครงการ อ.เมือง จ.ยะลา มีกำลังผลิตติดตั้ง 9.9 MW และจะขายไฟฟ้าให้ กฟผ. สูงสุด 9.2 MW

ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลายโครงการตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ กอรปกับข้อมูลจากคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ได้ระบุว่าโครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ในพื้นที่ภาคใต้ที่ระบบสายส่งไม่รองรับมีจำนวนมากว่า 10 โครงการ ที่มีการยื่นเสนอไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และ กฟภ. ได้ส่งไปให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พิจารณาอีกครั้ง

รวมทั้งข้อมูลจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ก็ระบุว่าแหล่งศักยภาพพลังงานลมที่ดีของประเทศไทยมีกําลังลมเฉลี่ยที่มีศักยภาพในการผลิตพลังงานที่ 300W/m2 อยู่ที่ภาคใต้บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี รวมทั้งยังมีศักยภาพของพลังงานทดแทนอื่น ๆ ที่จะนำมาผลิตไฟฟ้าเช่น น้ำมันปาล์มและชีวมวลต่าง ๆ ในปริมาณมา นอกจากนี้ก็ยังมีงานวิจัยจากมูลนิธินโยบายสุขภาวะที่ระบุว่า 14 จังหวัดภาคใต้มีศักยภาพผลิตพลังงานทดแทนได้ 100% เลยทีเดียว (อ่านเพิ่มเติม: กระบี่พึ่งพลังงานหมุนเวียน 100% ทำได้จริง งานวิจัยเผย ,People Voice, 5 มิ.ย. 2014)

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: แผนปรับปรุงและขยายสายส่งไฟฟ้า 2559-2566

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: