ความร่วมมือทางทหารไทย-สหรัฐฯ

9 ก.พ. 2558 | อ่านแล้ว 1529 ครั้ง


พลโท Wallace Gregson, Assistant Secretary of Defense, Asian and Pacific Security Affairs เสนอต่อ ปลัด กต. ให้ร่วมกันจัดตั้ง Disaster Survey Team เป็น stand-by unit ผสมระหว่างทหารและพลเรือนเพื่อเข้าไปประเมินพื้นที่ภัยพิบัติ เสนอแนะวิธีการช่วยเหลือทีเหมาะสม

การฝึกคอบร้าโกลด์ (Cobra Gold)

ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ดำเนินมาอย่างใกล้ชิดนับตั้งแต่ได้เริ่มสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต เมื่อปี พ.ศ.2376 ทั้งในด้านการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจ โดยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และยุคสงครามเย็น ความสัมพันธ์จะมุ่งเน้นด้านความมั่นคง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยภายนอกที่สำคัญได้แก่ ภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยที่ไทยและสหรัฐฯ มีแนวความคิดสอดคล้องกันที่ต้องการต่อต้านและปิดล้อมการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ บรรยากาศการเผชิญหน้าระหว่างลัทธิคอมมิวนิสต์กับอุดมการณ์ประชาธิปไตยได้ทำให้สหรัฐฯ ซึ่งเห็นว่าตนจะต้องเป็นผู้นำในการปกป้องลัทธิเสรีนิยมและอุดมการณ์ประชาธิปไตย จากการแพร่ขยายและการแทรกซึมของลัทธิคอมมิวนิสต์ในทุก ๆ แห่งของโลก

จึงได้ให้ความสำคัญต่อประเทศไทยในฐานะประเทศพันธมิตร และเป็นประเทศที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์โดยเฉพาะในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์เป็นตัวแทนของโลกเสรีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะเดียวกันประเทศไทยก็ได้ดำเนินนโยบายที่สอดคล้อง ตอบสนอง และสนับสนุนสหรัฐฯ ดังนั้น ใน พ.ศ.2493 สมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้จัดทำความตกลงว่าด้วยความช่วยเหลือทางทหารกับรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเน้น เรื่องความมั่นคงเป็นหลัก พร้อมกันนั้นรัฐบาลไทยได้จัดกำลังจากทุกเหล่าทัพสนับสนุนสหรัฐฯ ในสงครามเกาหลี ตามมติสหประชาชาติอันเป็นจุดกำเนิดของการปฏิบัติการร่วมสมัยใหม่ และเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ในเวลาต่อมา

การเริ่มต้นการฝึกเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2499 มีการฝึกผสมยกพลขึ้นบกระหว่างกองทัพเรือไทยกับกองทัพเรือและหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินสหรัฐฯ ต่อมาเพื่อให้การฝึกมีลักษณะบูรณาการมากขึ้น ในปี พ.ศ.2525 กองทัพเรือจึงได้รวมการฝึกของกองทัพเรือและกองทัพเรือสหรัฐฯ หลายรหัส การฝึกเข้าด้วยกัน กำหนดเป็นรหัสการฝึกใหม่ เรียกว่า "คอบร้าโกลด์ 82" โดยกองทัพอากาศจัดกำลังเข้าร่วมการฝึกด้วย ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ.2526 กองทัพบกได้จัดหน่วยรบพิเศษเข้าร่วมการฝึกอีกเหล่าทัพหนึ่ง จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกร่วมและผสมครบทั้ง 3 เหล่าทัพ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

เนื่องจากการฝึกคอบร้าโกลด์มีการพัฒนาอย่างกว้างขวาง ประกอบกับมีกำลังจากทุกเหล่าทัพเข้าร่วมการฝึก ดังนั้นเพื่อให้การฝึกเกิดประสิทธิภาพสูงสุด กองบัญชาการทหารสูงสุด จึงได้เข้ามาจัดการฝึก ตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 ภายใต้รหัสการฝึก 'คอบร้าโกลด์ 86' เป็นต้นมา โดยเน้นการฝึกหน่วยทหารในการปฏิบัติการรบตามแบบ ด้วยกำลังขนาดใหญ่ระดับกองกำลังเฉพาะกิจร่วมและผสม เข้าปฏิบัติการในยุทธบริเวณ

ต่อมาเมื่อสงครามเย็นยุติลงอย่างสิ้นเชิงทำให้แนวโน้มของการเกิดสงครามขนาดใหญ่มีความเป็นไปได้น้อย ในปี พ.ศ.2543 การฝึกคอบร้าโกลด์ได้เพิ่มรูปแบบการฝึกให้มีการปฏิบัติการทางทหารนอกเหนือจากสงคราม ภายใต้กรอบของสหประชาชาติเข้าไว้ด้วย เช่นการรักษาสันติภาพ การต่อต้านการก่อการร้าย การบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ และอื่น ๆ ซึ่งเป็นบทบาทใหม่ของการปฏิบัติการทางทหาร ตามสถานการณ์ด้านความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไป

พร้อมทั้งขยายขอบเขตการฝึกปัญหาที่บังคับการ จากการฝึกแบบทวิภาคีเป็นการฝึกเป็นพหุภาคี โดยสิงคโปร์เป็นชาติแรกที่เข้าร่วมในการฝึกคอบร้าโกลด์ 2000 นอกจากนี้ เพื่อแสดงออกถึงความโปร่งใส และความร่วมมือระหว่างชาติพันธมิตร จึงเปิดโอกาสให้ประเทศที่สนใจจัดผู้แทนเข้าร่วมสังเกตการณ์การฝึกได้ทั้งในขั้นการวางแผน และขั้นการฝึกปัญหาที่บังคับการ

นอกจากนั้น การฝึกนี้เป็นเวทีให้ "โครงการชุดช่วยการวางแผนผสมหลายชาติ" หรือ MPAT (Multinational Planning Augmentation Team) ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการวางแผนเผชิญสถานการณ์วิกฤติร่วมกัน ส่งผู้แทนมาร่วมการฝึกในกองกำลังเฉพาะกิจร่วมและผสมเพื่อแลก เปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับกำลังพลของไทยที่ร่วมการฝึก ตามวัตถุประสงค์การยกระดับความสามารถในการวางแผนปฏิบัติการผสมของเจ้าหน้าที่วางแผนจากประเทศไทย ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและภูมิภาคอื่น ๆ ซึ่งไทยและสหรัฐฯ ในฐานะประเทศเจ้าภาพ ร่วมกันพิจารณาจำนวนประเทศที่เข้าร่วมการฝึกในแต่ละปี

บททดสอบกระบวนการวางแผนของฝ่ายเสนาธิการผสมในการฝึก ได้นำมาใช้ในเหตุการณ์จริงเมื่อเกิดเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยในมหาสมุทรอินเดีย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2547 ซึ่งก่อความเสียหายอย่างกว้างขวางในภูมิภาคนี้ กองทัพไทยและสหรัฐฯ ได้ส่งกำลังไปให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน พร้อมทั้งปรับแผนการฝึกคอบร้าโกลด์ 05 จากการฝึกปัญหาที่บังคับการเป็นการสัมมนาเชิงปฏิบัติการว่าด้วยการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์จากภัยพิบัติโดยมีมิตรประเทศจำนวน 16 ประเทศ เข้าร่วมระดมความคิดกำหนดมาตรการปฏิบัติ

เพื่อเป็นกรอบการประสานงานแก้ไขวิกฤติการณ์ในอนาคตขององค์กรระหว่างประเทศ องค์การพัฒนาเอกชนและกำลังทหารจากประเทศต่าง ๆ ทำให้การฝึกคอบร้าโกลด์พัฒนาเป็นเวทีความสัมพันธ์ทางทหารที่กว้างขวางยิ่งขึ้น จนกระทั่งได้รับอนุมัติให้เป็นการฝึกพหุภาคีในปี 2550 ทั้งการฝึกปัญหาที่บังคับการ การฝึกภาคสนาม/ภาคทะเลและการจัดโครงการช่วยเหลือประชาชน เพื่อให้กองทัพแสวงประโยชน์จากการฝึกได้ตามสภาพความพร้อมของ แต่ละเหล่าทัพ

การฝึกคอบร้าโกลด์ประจำปี 2553

พิธีเปิดการฝึกคอบร้าโกลด์ประจำปี 2553 (Cobra Gold 10) มีขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 โดยมี นายเอริค จี.จอห์น เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยและพลเรือเอกวัลลภ เกิดผล รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดร่วมเป็นประธานที่สนามบินอู่ตะเภา จ.ระยอง

การฝึกคอบร้าโกลด์ 10 ในปีนี้เป็นการฝึกประจำปีครั้งที่ 29 ณ ฐานทัพสัตหีบ จ.ชลบุรี ระหว่างวันที่ 28 มกราคม ถึง 10 กุมภาพันธ์ 2553 และมีทหาร 14,000 นาย จาก 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย สหรัฐฯ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เข้าร่วมการฝึก และมีผู้แทนจาก 10 ประเทศเข้าร่วมสังเกตการณ์

คอบร้าโกลด์เป็นการฝึกซ้อมทางทหารระดับพหุภาคีแบบร่วม/ผสมที่จัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความพร้อมทางทหารและความสามารถปฏิบัติการร่วม/ผสมของกองทัพไทย สหรัฐฯ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลี รวมทั้งส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงในภูมิภาค ที่สำคัญการฝึกคอบร้าโกลด์เป็นการซ้อมปฏิบัติการรักษาสันติภาพและการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและรับมือกับภัยพิบัติในสภาพแวดล้อมที่หลายประเทศต้องร่วมมือกัน

และเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553 พลเอก ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ พลเรือเอก Robert F. Willard ผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก ได้ไปเยี่ยมชมการฝึกการโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก ซึ่งเป็นการฝึกการปฏิบัติการผสมของกำลังจากประเทศไทย สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ ณ สนามฝึกกองทัพเรือ หากยาว อำเภอสัตหีบ จ.ชลบุรี

สำหรับการฝึกปฏิบัติการยกพลขึ้นบกในปีนี้ มีการสนธิกำลังพลและยุทโธปกรณ์ ทั้งทางบก เรือ อากาศ จากกองกำลังเฉพาะกิจร่วม/ผสม โดยกองกำลังฝึกร่วม/ผสมเคลื่อนกำลังจากเรือสู่ฝั่ง โดยรถสะเทินน้ำสะเทินบก (AAV) อากาศยาน (Air Raid) ยานเบาะอากาศ (LCAC) และเรือระบายพลขนาดใหญ่ (LCU) ทั้งนี้ พร้อมกับการสนับสนุนการโจมตีทางอากาศ จากนั้นจะเป็นการดำเนินกลยุทธ์ของกำลังรบยกพลขึ้นบก เพื่อการยึดครองพื้นที่เป้าหมายต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการแสดงการเติมน้ำมันทางอากาศให้กับอากาศยานอีกด้วย

ที่มา

โครงการศึกษาพัฒนาแนวทางการดำเนินยุทธศาสตร์ไทยต่อสหรัฐฯ อย่างเต็มรูปแบบ (US Watch)

ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.pai-nok.com

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: