‘เด็กกำพร้า’ เส้นทางนกขมิ้นก่อนบินออกจากรัง

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด TCIJ 8 ม.ค. 2558 | อ่านแล้ว 11542 ครั้ง

คงมีความแตกต่างอยู่มากระหว่างงานวันเด็กในสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้ากับงานวันเด็กทั่วไป นี่อาจเป็นภาพเปรียบเทียบเก่าๆ ของเด็กสองกลุ่มที่มีช่องว่างทางโอกาสและชะตากรรมกั้นกลาง แต่ยังคงเป็นความจริงเสมอที่ดูเหมือนว่าการจัดการสถานการณ์เด็กกำพร้าในเมืองไทยยังไม่สามารถรองรับขนาดปัญหาที่ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ได้

ข้อมูลปี 2554 เป็นต้นมา ชี้ว่าไทยครองตำแหน่ง ‘แม่วัยรุ่น’ สูงเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชีย ประมาณ 131,400 คน โดยตัวเลขนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  ขณะที่ข้อมูลล่าสุดจากสำนักอนามัยและเจริญพันธุ์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ประเทศไทยมีเด็กทารกที่เกิดจากแม่วัยรุ่น 10-19 ปี จำนวนมากถึง 748,067 รายต่อปีหรือเดือนละ 60,000 กว่าราย วันละ 2,000 กว่าราย ในแต่ละเดือนมีทารกถูกทิ้งประมาณ 15-17 คนต่อเดือน  ส่วนใหญ่เกิดจากการตั้งครรภ์ไม่พร้อมของแม่วัยรุ่น

ขณะที่ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยเมื่อปี 2555 โดยกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติหรือยูนิเซฟ พบว่า ประเทศไทยมีเด็กกำพร้า ถึงร้อยละ 22.8 จากประชากรเด็กทั้งหมด (0-18 ปี)

วัยรุ่นท้องไม่พร้อมมีเหตุปัจจัยมากมาย ตั้งแต่ปัญหาครอบครัวหย่าร้าง ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ที่ทำให้วัยรุ่นมีความเสี่ยงในการเข้าสู่ปัจจัยลบต่างๆ ได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น เช่น ยาเสพติด การขายบริการทางเพศ การถูกล่อลวง หรือการขาดวุฒิภาวะทางสังคมและเพศสัมพันธ์ เมื่อวัยรุ่นหญิงตกอยู่ในสถานการณ์ท้องไม่พร้อม ทางออกอาจเป็นการทำแท้งหรือการทอดทิ้งทารก การนำทารกไปให้ครอบครัวเดิมเลี้ยงดู แต่สุดท้าย สถานสงเคราะห์เด็กกำพร้ามักกลายเป็นเบาะรองรับผลผลิตที่เกิดจากความไม่พร้อมของครอบครัว

ปัจจุบัน ทั่วประเทศไทยมีสถานสงเคราะห์เด็กเอกชนที่ขึ้นทะเบียนกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) 123 แห่ง ในขณะที่สถานสงเคราะห์เด็กของภาครัฐ แม้จะมีกระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่กลับไม่ปรากฎข้อมูลสถิติใดๆ ให้อ้างอิง

1

บ้านนกขมิ้น หนึ่งในสถานสงเคราะห์เด็กเอกชน ทำหน้าที่เป็นบ้านชั่วคราวให้เด็กกำพร้ามากว่า 25 ปี มีจำนวนเด็กในอุปการะกว่า 140 คน ส่วนใหญ่ได้รับสถานะเด็กกำพร้าจากการถูกทิ้งในโรงพยาบาล หรือจากสถานรับเลี้ยงเด็กอ่อน หรือสถานที่สาธารณะ หากเป็นทารกจะถูกส่งไปยังบ้านสงเคราะห์เด็กอ่อน เมื่อพ้นวัยทารกจะถูกส่งต่อให้มาเติบโตต่อที่บ้านนกขมิ้นจนจบชั้นปริญญาตรี

โชคชัย หลีวิจิตร หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิบ้านนกขมิ้น อดีตเด็กกำพร้าที่เติบโตจากบ้านนกขมิ้น หลังจบปริญญาตรีด้านประชาสัมพันธ์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำงานตามวิชาชาชีพอยู่หลายปี สุดท้ายตัดสินใจกลับมาช่วยงานที่มูลนิธิฯ เขาเล่าว่า เด็กทุกคนเมื่อแรกเข้า จะถูกส่งไปยังครอบครัวจำลอง หรือ ‘บ้าน’ องค์ประกอบของบ้านแต่ละหลังมีครบตามแบบครอบครัวพื้นฐาน เจ้าหน้าที่ชาย-หญิงที่เป็นคู่สามีภรรยาตามกฎหมาย สวมบทบาทเสมือนจริงเป็นพ่อและแม่ของเด็กๆ พร้อมลูกๆ อีกกว่า 10 คน ในวัยไล่เลี่ยกัน

เมื่อเด็กเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นก็จะแยกไปอยู่ ‘บ้านวัยรุ่น’ หรือ ‘บ้านเตรียมบิน’ เพื่อเรียนรู้การใช้ชีวิตด้วยตัวเอง สำหรับเตรียมออกจากมูลนิธิเมื่อจบชั้นปริญญาตรี

“เวลาอยู่กับพ่อ-แม่ เหมือนครอบครัวทั่วไป พ่อแม่จะดูแลเราทุกอย่าง ให้เงินค่าขนม วางระเบียบว่า ตื่นนอนกี่โมง กินข้าวกี่โมง เข้านอนกี่โมง สมาชิกในครอบครัวแต่ละคนต้องช่วยงานบ้านอะไรบ้าง แต่ที่บ้านเตรียมบิน เราต้องจัดการตัวเอง เริ่มตั้งแต่เงินค่าขนมที่จะได้รับเป็นสัปดาห์หรือเดือน กิจวัตรประจำวันเราต้องจัดการตัวเอง สามารถออกนอกบ้านได้เป็นเวลานาน แต่ก็จะไม่เกินสี่ทุ่ม”

โดยพื้นฐานเด็กไม่ได้มีจิตใจเลวร้าย

แต่สภาพสังคมหล่อหลอมฝึกให้

เขาไม่เลือกวิธีการเอาตัวรอด

โชคชัยเล่าต่อว่า เมื่อจบชั้นปริญญาตรี ไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมจะออกไปใช้ชีวิตของตัวเอง หลายคนประสบปัญหาว่างงาน หรือเงินเดือนไม่พอเริ่มต้นชีวิตใหม่นอกมูลนิธิฯ ดังนั้น เมื่อเด็กเรียนจบ มูลนิธิฯ จะมีช่วงประเมินความพร้อมให้กับเด็กแต่ละคน คือ 6 เดือนหลังเรียนจบ เด็กยังสามารถอยู่ที่มูลนิธิได้เพื่อเก็บเงินหรือหางานและหาที่อยู่ของตัวเอง

2

เพราะต้องดูแลเด็กจนจบชั้นปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ในแต่ละปี มูลนิธิฯ จึงสามารถอุปการะเด็กเพิ่มได้เพียงปีละประมาณ 10 คน ในแต่ละเดือน มูลนิธิฯ ต้องใช้เงินประมาณเดือนละ 3,000 บาทต่อการดูแลเด็กหนึ่งคน สำหรับค่าอาหารและอุปกรณ์การเรียน และจะสูงขึ้นตามระดับชั้นการศึกษา โดยเฉพาะเมื่อเข้ามหาวิทยาลัย เพราะรัฐบาลหยุดสนับสนุนงบประมาณการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่เด็กทุกคนเมื่อจบชั้นมัธยมปลาย

“ค่าใช่จ่ายทุกอย่างของเด็ก สำนักงานกลางขอมูลนิธิฯ จะจ่ายผ่านบ้านแต่ละหลัง พ่อ-แม่แต่ละบ้านจะเป็นคนทำบัญชีและรายงานค่าใช้จ่ายประจำเดือนของเด็กแต่ละคนให้ส่วนกลาง ส่วนวิธีให้เงินเด็กจะขึ้นอยู่กับพ่อแม่ แต่ส่วนใหญ่จะไม่ต่างกันมาก อาทิ เด็กประถมจะรับเงินเป็นรายวัน เด็กมัธยมจะเริ่มฝึกให้เด็กรับเงินเป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือน หากเด็กคนไหนใช้จ่ายอย่างมีวินัยก็จะมีเงินออม”

3

ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ร้อยพ่อพันแม่เมื่ออยู่ร่วมกันจำนวนมาก ปัญหาย่อมเกิด 140 คนคือตัวเลขประมาณการณ์ล่าสุดของจำนวนเด็กกำพร้าหญิงชายที่มูลนิธิบ้านนกขมิ้นอุปการะจากทั้ง 7 สาขา ที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ

หนีออกจากบ้าน คือหนึ่งในปัญหาหลักที่เกิดขึ้นบ่อยเมื่อเปิดมูลนิธิฯ ในช่วงแรก

เด็กที่อุปการะในช่วงแรกเป็นเด็กเร่รอน อาศัยในพื้นที่สาธารณะ ไม่ได้รับการศึกษา เคยชินกับกิจวัตรประจำวันที่ปราศจากระเบียบ เมื่อมาอยู่ที่มูลนิธิฯ อยู่ในบ้านที่มีกฎระเบียบ เป็นเรื่องธรรมดาที่เด็กจะรู้สึกอึดอัดและหนีออกจากมูลนิธิฯ

“โดยพื้นฐานเด็กไม่ได้มีจิตใจเลวร้าย แต่สภาพสังคมหล่อหลอมฝึกให้เขาไม่เลือกวิธีการเอาตัวรอด”

ไม่เพียงหนีออกจากบ้าน เด็กที่ต้องออกจากมูลนิธิกลางคัน นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในช่วงแรกที่ตั้งมูลนิธิและช่วงปัจจุบัน สาเหตุส่วนใหญ่ที่ผลักเด็กออกนอกบ้านหลังใหม่ คือยาเสพติด ทุก 2-3 ปีจะมีเด็กจำนวนหนึ่งที่ถูกส่งไปบำบัดยังสถานบำบัดผู้ติดยาเสพติดของมูลนิธิฯ ที่จังหวัดเชียงราย หากหายดี มูลนิธิฯ จะรับกลับเข้ามา

นอกจากนี้ สาเหตุหนึ่งที่ออกจากมูลนิธิฯ คือญาติติดต่อขอรับเด็กไปเลี้ยง ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เฉพาะที่กรุงเทพฯ มีเพียง 1 คน และถือเป็นกรณีศึกษาให้กับมูลนิธิฯ หากจะส่งเด็กคืนครอบครัวที่แท้จริง เพราะเคยมีกรณีการส่งเด็กให้ แต่ครอบครัวของเด็กประกอบอาชีพค้ายาเสพติด

แน่นอนว่ามูลนิธิบ้านนกขมิ้น ไม่ใช่ภาพตัวแทนของสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าเอกชนทั้ง 123 แห่ง บ้านชั่วคราวกว่าร้อยแห่งเหล่านี้  เป็นได้แต่เพียงเบาะรองรับผลผลิตที่ล้มเหลวของสถาบันครอบครัว  แต่ไม่อาจทำให้ปัญหาเด็กถูกทอดทิ้งที่เกิดขึ้นทุกวันบรรเทาเบาบางลงได้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้นเหตุแห่งปัญหานี้ เป็นปัญหาใหญ่ระดับโครงสร้างที่เกี่ยวพันกับนโยบายและการบริหารจัดการ รวมถึงการลงทุนเพื่อเด็กและความตระหนักต่อสิทธิเด็กจากทั้งภาครัฐและเอกชน หากเชื่อจริงๆ ว่า ‘เด็กคืออนาคตของชาติ’

หมายเหตุ: ขอบคุณภาพจากมูลนิธิบ้านนกขมิ้น

อ่าน 'จับตา: รายชื่อสถานที่พักพิงของเด็กกำพร้า' http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5276

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: