ระบบโซตัส (SOTUS) อำนาจนิยมและความรุนแรงในวงการศึกษาไทย

ดร. ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 30 ส.ค. 2558 | อ่านแล้ว 19101 ครั้ง


ระบบโซตัสคือระบบการรับน้องแบบเข้มข้นโดยยึดเนื้อหาสำคัญ 5 ประการที่ประกอบเป็นระบบโซตัส (SOTUS) คือ  การเคารพผู้อาวุโส (Seniority : S) การปฏิบัติตามระเบียบวินัย (Order : O) การปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณี (Tradition : T)  การมีความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียว (Unity : U)  และการมีน้ำใจ  (Spirit : S)

ระบบโซตัสมีจุดกำเนิดมาจากระบบอาวุโสในโรงเรียนกินนอนของประเทศอังกฤษ ที่เรียกว่า Fagging system ต่อมาระบบนี้ก็ถูกนำไปใช้ในสถาบันการศึกษาในประเทศอเมริกาทั้งสถาบันการศึกษาสายสังคม สายทหาร  และสายเกษตรศาสตร์ โดยระบบในอเมริการุ่งเรืองบนฐานความคิดที่ต้องการควบคุมนักศึกษาจากประเทศโลกที่สามที่ถูกจัดให้เป็นประเทศด้อยพัฒนาที่เข้ามาเรียนในอเมริกา  ต่อมาเมื่อเรียนจบบรรดานักศึกษาเหล่านั้นก็นำระบบนี้ไปใช้ในประเทศของตน  เช่น ระบบโซตัสในฟิลิปปินส์ เป็นต้น

สำหรับระบบโซตัสในประเทศไทย  ได้มีการนำระบบนี้มาใช้สองระลอกก็คือ ระลอกแรก ระบบโซตัสได้ถูกนำมาใช้ในสมัยรัชกาลที่ 5 ในยุคที่มีการจัดตั้งโรงเรียนระดับมัธยมตามหัวเมืองใหญ่ๆ  โรงเรียนมหาดเล็กหลวงและโรงเรียนราชวิทยาลัย  และโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือน ปัจจุบันโรงเรียนและสถาบันเหล่านี้ก็ยังสืบทอดระบบนี้อย่างเข้มเข้น

ระลอกที่สอง เป็นระลอกที่ไทยก้าวเข้าสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและมีการส่งนักศึกษาไทยไปเรียนที่อเมริกาและฟิลิปปินส์  เมื่อเรียนจบก็มาเป็นอาจารย์สอนและได้นำเอาระบบมาใช้ สถาบันการศึกษาในกลุ่มนี้ก็คือ กลุ่มที่สอนทางด้านเกษตรศาสตร์  ซึ่งการรับน้องจะเข้มข้นมาก 

เมื่อเกิดปัญหาจากการรับน้องแบบเข้มข้น ผู้ที่ปกป้องระบบโซตัสอาจจะแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม  กลุ่มแรกก็ยังคงยืนยันว่าวิธีการที่เข้มข้นจะบรรลุเป้าหมายที่ถือว่าเป็นสิ่งดีงามทั้งห้าประการที่เป็นหัวใจของ SOTUS ได้  ขณะที่กลุ่มที่สอง ก็จะอ้างว่า ระบบโซตัสมีผลดีที่ทำให้นักศึกษาใหม่เกิดสิ่งดีงามทั้งห้าประการนั่นคือ SOTUS และหากจะผิดพลาดมันก็มาจากผู้ปฏิบัติ  และกลุ่มนี้ก็อาจจะยอมรับข้อเสนอว่าอาจมีวิธีการอื่นในการรับน้อง 

ขณะที่กลุ่มที่ตั้งคำถามกับระบบโซตัส กลับมีคำถามไม่เพียงแต่วิธีการของการรับน้องที่เข้มข้นและรุนแรงเท่านั้น  แต่ยังตั้งคำถามว่าสิ่งดีงามทั้งห้าประการที่ต้องการให้เกิดนั้น เป็นสิ่งดีงามจริงหรือไม่  หรือสิ่งดีงามทั้งห้าประการมีความจำเป็นจริงหรือไม่ คำถามและข้อวิพากษ์ต่อสิ่งดีงามที่ระบบโซตัสเทิดทูนนั้น สามารถค้นหาได้  ซึ่งผมจะไม่กล่าวซ้ำอีก

สิ่งที่ผมต้องการชี้ในทีนี้ก็คือ แม้ว่าหลายสถาบันมีวิธีการรับน้องเข้มข้นน้อยลง  แต่อีกด้านหนึ่ง ระบบการรับน้องแบบข้มข้นได้ขยายไปยังระดับโรงเรียนมัธยม และการรับน้องหลายที่มีความเข้มข้นมากขึ้นไปอีก หลายสถาบันการศึกษา  แม้ว่ามีการห้ามรับน้องที่รุนแรง  แต่รุ่นพี่ก็หาวิธีการหลบหลีก เช่น  การนำน้องไปรับนอกสถานที่ มีการดื่มสุราระหว่างการรับน้อง การรับน้องกลางคืน  รวมไปถึงการบังคับให้น้องปฏิบัติในรูปแบบอื่นๆ ที่มีความรุนแรงไม่แตกต่างไปจากการใช้กำลัง เช่น การให้ห้อยป้ายชื่อขนาดใหญ่ทั้งในระหว่างมาเรียนหรือแม้แต่หลังเลิกเรียน หากออกจากหอไปหาอาหารรับประทานก็ต้องห้อยป้ายชื่อขนาดใหญ่ หากไม่ปฏิบัติตามก็ถูกลงโทษ  และแทบทุกปีจะมีข่าวการรับน้องโหด  รวมไปถึงรุ่นน้องที่ถูกรับเสียชีวิตก็มี

ในปัจจุบัน บางสถาบันการศึกษา  รุ่นพี่มีการฝึกกำลังราวกับฝึกทหาร และใช้วิธีการนี้ในการรับน้องแบบทหาร ซึ่งวิธีการนี้นำไปสู่บ่อเกิดของ “อำนาจนิยม” และอำนาจนิยมนี้ก็จะปฏิบัติการในสมองของรุ่นน้อง  และเมื่อพวกเขาขยับไปเป็นรุ่นพี่  พวกเขาก็จะกลับมาผลิตซ้ำอุดมการณ์นี้ แม้ว่าการกระทำเหล่านี้ล้วนแต่ผิดกฎหมาย เป็นการคุกคามเสรีภาพส่วนบุคคล  และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

คำถามที่ผมอยากถามทิ้งท้ายก็คือ ในยุคปัจจุบัน นอกจากประเทศไทยแล้ว  มีประเทศไหนบ้างในโลกนี้ที่วงการศึกษายังมีการรับน้องใหม่จนนักศึกษาถึงแก่ความตาย ??? และเมื่อมีนักศึกษาใหม่เสียชีวิตจากระบบนี้แทบทุกปี  แต่ทำไมระบบนี้มันยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่มีใครทำอะไร เสมือนว่ามันมีความชอบธรรม??? 

 

หมายเหตุ :  เผยแพร่ครั้งแรกที่ Facebook ของผู้เขียน วันที่ 1 กันยายน 2557

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: