ชาวบ้านลุ่มน้ำโขงกดดันรัฐบาลไทยค้านเขื่อนแม่น้ำโขงระหว่างกรมน้ำฯ โชว์หนุนกลางที่ประชุมเอ็มอาร์ซี

8 ม.ค. 2558


เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2558 ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี กทม. กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ได้จัดเวทีสรุปกระบวนการให้ข้อมูลโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ ดอนสะโฮง เรื่องการแจ้ง การปรึกษาล่วงหน้าและข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement – PNPCA) โดยมีผู้แผนจากภาคราชการและภาคประชาชนเข้าร่วมกว่า 100 คน

ทั้งนี้บรรยากาศภายนอกห้องประชุม ที่สโมสรทหารบกในช่วงเช้าตั้งแต่เวลาประมาณ 08.00 น. ก่อนพิธีเปิดการประชุม มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ทั้งตำรวจและทหาร ได้มาประจำการบริเวณที่ประชุมโดยกระจายกำลังอยู่ตามบริเวณต่างๆประมาณ 5-10 คน และส่วนมากเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายการควบคุมฝูงชน ต่อมาเวลาประมาณ 09.45 นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วยนายเสรี โสภณดิเรกรัตน์ รองปลัดทส. ได้เดินทางมาถึงที่ประชุม ท่ามกลางการต้อนรับของหน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมรับฟังและสังเกตการณ์

ขณะที่ตัวแทนภาคประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี ตัวแทนชาวบ้านผู้ที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัดประเทศไทยประมาณ 10 คน นำโดยนางสมปอง เวียงจันทร์ ผู้แทนสมัชชาคนจนได้ถือป้ายคัดค้านการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง และเขื่อนทุกแห่งในแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา

นางสมปอง กล่าวว่าจากการจัดเวทีปรึกษาหารือทั้ง 5 ครั้งที่ผ่านมา วันนี้เป็นครั้งสุดท้าย ชาวบ้านต้องการให้ไทยโดยเฉพาะทส.ในฐานะประเทศสมาชิกของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง(MRC )แสดงจุดยืนชัดเจนว่าคัดค้านการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาทุกแห่ง เพราะไทยไม่มีอะไรให้เสียแล้ว ทั้งนี้มีหลายฝ่ายเคยมีจดหมายไปยังกรมทรัพยากรน้ำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ดำเนินกระบวนการอย่างมีส่วนร่วม โปร่งใส ทำหน้าที่ของหน่วยงานรัฐเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนที่พึ่งพาทรัพยากร แม่น้ำโขงในการดำรงชีพ มิใช่เพียงจัดให้แล้วเสร็จไปโดยเร็ว หรือเป็นเพียงเครื่องมือของอุตสาหกรรมเขื่อนและกลุ่มทุนแต่ข้อเรียกร้องต่างๆ ของเครือข่ายฯ ไม่ได้นำมาปฏิบัติแต่อย่างใด เวทีที่จัดทั้ง 5 ครั้ง เป็นเพียงการบอกกล่าว “ให้ข้อมูลโครงการเขื่อน” ไม่ยุติธรรมกับคนต่างจังหวัดที่อยู่ลุ่มน้ำโขงและได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทุกๆ ปี

“วันนี้เขาจัดเวทีในพื้นที่ของทหาร เราไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเป็นที่นี่ ทำไมคุณไม่จัดในที่ๆชาวบ้านเข้าถึงง่าย ๆ ห้องเล็กๆ ที่นี่มันแคบเกินไป ชาวบ้านรู้อยู่แล้วว่าเข้ามาในนี้ก็รองรับเราไม่หมด แต่มันไม่มีประโยชน์ใดเลยเมื่อเรามาเสียงเราก็ถูกมองข้าม เขากลัวเราก่อม็อบ มาประท้วง ซึ่งเราไม่ได้ก่อจลาจลอะไร เรามาเพราะเราอยากให้รัฐฟังเสียง เพราะเรารู้ว่าเราทำได้ยาก เราก็มากันแค่นี้ รัฐกลัวเราสร้างความวุ่นวาย เพราะกังวลเรื่องเขื่อน แต่ไม่กลัวเราอดตายหรือยังไง เขื่อนทุกแห่งทำร้ายเราคนจนมาแล้วกี่ชีวิต วันนี้น้ำโขงอันเป็นเส้นเลือดใหญ่ของชาวบ้าน กำลังจะตาย แต่ทำอะไรไม่ได้ ทำไมลาวต้องมีกรรมสิทธิ์ในแม่น้ำมากกว่าประเทศอื่น”นางสมปอง กล่าว

นางสมปองกล่าวว่าที่ผ่านมาทุกเวที หน่วยงานรัฐแทบไม่เคยเชิญชาวบ้านอย่างเป็นทางการ แต่พอชาวบ้านรู้ข่าวเราก็มา วันนี้มากันแค่ 10 คน เพื่อแสดงจุดยืนเหมือนเดิม และอยากขอให้กรมทรัพยากรน้ำในฐานะเลขาฯ ให้โอกาสประชาชนแสดงความคิดเห็นเต็มที่ ไม่ใช่ชี้แจงแค่เรื่องความจำเป็นในการพัฒนาพลังงาน หรือสรุปเอกสารแบบผ่านๆ เราอยากให้เวทีของรัฐเข้าถึงชาวบ้านที่อยู่ลุ่มน้ำโขงไม่ใช่ซุ่มเงียบแบบนี้ พี่น้องลาวอยู่ใต้เผด็จการของรัฐบาลแล้ว เราไม่อยากให้ไทยอยู่ในสถานะนั้น จึงขอร้องให้รัฐบาลแสดงจุดยืนให้ชัดว่าไม่เอาเขื่อนกั้นน้ำโขง

ด้านนายจตุพร กล่าวในพิธีเปิดการประชุมว่า เหตุผลที่กรมทรัพยากรน้ำจัดในสโมสรทหารบกนั้น ไม่มีอะไรที่เป็นข้อมูลลับ หรือขัดขวางการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน แต่เพราะมีความสะดวกและมีความพร้อมในการจัดประชุม จึงต้องมาจัดในสโมสรทหารบก ทั้งนี้ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ยอมรับว่าจากการประชุมทุกครั้งตนได้เดินทางไปร่วมทุกเวที เรื่องเขื่อนที่เป็นดั่งชีวิตของประชาชนตนนอนไม่หลับ เพราะห่วงคนไทยที่อยู่ฝั่งลุ่มน้ำโขงและเชื่อว่าประชาชนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นจะต้องเดือดร้อนที่สุด เพราะมีความจำเป็นต้องอาศัยน้ำเพื่อการเกษตร แค่เพียงเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็มีความต้องการใช้น้ำปริมาณมากเพื่อการเกษตร โดยขณะนี้ภาคดังกล่าวมีพื้นที่น้ำแค่ 7 ล้านไร่ รัฐบาลจึงมีแผนเพิ่มพื้นที่น้ำให้เกษตรกร ทั้งนี้ตนตระหนักดีว่าประชาชนในลุ่มน้ำโขงมีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนมาก ตอนนี้มาถึงคิวของการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงที่ลาว คนไทยหลายพื้นที่ก็เดือดร้อน ในฐานะตัวแทนรัฐบาลก็ไม่ได้สบายใจ และพร้อมรับฟังต่อไป

นายจตุพรกล่าวด้วยว่า อยากให้คนไทยเปิดใจและเสนอทางออกทุกด้านไม่ใช่คัดค้านกระบวนการหารือ และอยากให้ใช้ข้อเท็จจริงมาคุยกัน ทั้งนี้ยอมรับว่าไทยไม่ได้มีอำนาจเต็มร้อยในการสั่งชะลอหรือระงับการสร้างเขื่อนได้ แต่จะนำเสนอข้อมูลที่ได้ทั้งหมดเพื่อเสนอให้ลาวรับทราบในการประชุมของคณะทำงานของคณะกรรมการร่วม (JCWG ) ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกันในวันที่ 24 มกราคม 2558 เพื่อหาข้อยุติของกระบวนการหารือซึ่งหากหาข้อยุติไม่ได้อาจจะนำเสนอผลสรุปอีกครั้งในการประชุมใหญ่ของ MRC อย่างไรก็ตามยืนยันว่างานนี้ไม่มีการฮั้วหรือรู้เห็นเป็นใจกับการเดินหน้าสร้างเขื่อนของลาวแน่ๆ แต่ไทยไม่ได้มีอำนาจในการจัดการ

 “เราเป็นแค่ฝ่ายเลขาฯ เราทำอะไรได้ไม่มาก ทำได้แค่นำเสนอข้อสรุปในประเทศไทยเท่านั้น อย่างไรก็ตามลาวได้ประกาศตัวเป็นแหล่งแบตเตอรี่ของเอเชียแล้ว ก้าวต่อไปคือผลิตพลังงานเพื่อทุกประเทศในภูมิภาค แต่กระบวนการปรึกษาหารือครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ลาวให้ประเทศสมาชิกมีส่วนนำเสนอข้อมูลรอบด้าน ก่อนการเดินหน้าโครงการเขื่อนดอนสะโฮง แต่คงยุติกระบวนการปรึกษาหารือตามคำขอของประชาชนไม่ได้ และยืนยันว่าไม่มีการฮั้วกับรัฐบาลลาว และยินดีรายงานการประชุมของคนไทยให้ลาวรับทราบ โดยละเอียด ” นายจตุพร กล่าว

ทั้งนี้ภายหลังพิธีเปิดการประชุม อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเพิ่มเติมว่า จากข้อสรุปกระบวนการปรึกษาหารือกรณีเขื่อนดอนสะโฮงนั้น ไทยทำได้แค่เสนอท่าทีของประเทศ โดยสรุปข้อกังวลจากภาคส่วนต่างๆ เป็นข้อๆ จากทุกเวทีทั้ง 6 ครั้งแล้วรายงานลาวว่าไทยกังวลอะไรบ้าง แต่เท่าที่พิจารณาดูยืนยันว่าข้อมูลผลกระทบของการสร้างเขื่อนไม่ครบถ้วน วันนี้หากมีข้อมูลเพิ่มเติมกรมทรัพยากรน้ำในฐานะเจ้าภาพจัดประชุมยินดีรับฟัง แต่ในส่วนของข้อมูลฝ่ายลาวนั้นต้องรอให้ลาวเปิดเผยเอง

 

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากข้อสรุปเรื่องกระบวนการปรึกษาหารือยังมีคนคัดค้านจำนวนมาก ทางกรมฯจะดำเนินการอย่างไรบ้าง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำตอบว่า ขอเวลาได้เสนอข้อมูลท่าทีของไทยให้ลาวและประเทศสมาชิกรับทราบก่อน ส่วนเรื่องการถอดบทเรียนนั้นต้องสรุปเป็นรายปี แยกผลกระทบของเขื่อนแต่ละแห่ง ออกจากกัน ไม่สามารถสรุปรวมกันได้

นอกจากนี้ในการประชุมภาคบ่าย นายจตุพรยังได้กล่าวในห้องประชุมด้วยว่าจะยื่นให้ทางการลาวและประเทศสมาชิกขยายเวลา PNPCA นำผลการศึกษาอีไอเอที่มหาวิทยาลัยเกษตรดำเนินการอยู่ เพื่อให้ประเทศสมาชิกรับทราบข้อมูลฝั่งไทย

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงได้ร่วมกันออกแถลงการณ์เป็นจดหมายเปิดผนึกกรณีเขื่อนดอนสะโฮง เรื่อง กระบวนการปรึกษาหารือแค่พิธีกรรม ไร้ความหมาย-ไม่มีส่วนร่วม โดยมีเนื้อหาระบุว่า

ตามที่รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้ประกาศดำเนิน โครงการเขื่อนดอนสะโฮง แขวงจำปาสัก ทางตอนใต้ของ สปป.ลาว ซึ่งจะเป็นเขื่อนแห่งที่ 2 บนแม่น้ำโขงตอนล่าง  และได้นำโครงการนี้เข้าสู่กระบวน PNPCA ซึ่งจะต้องมีการดำเนินกระบวนปรึกษาหารือล่วงหน้า (Prior Consultation) ในแต่ละประเทศ ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ซึ่งต่อมา คณะกรรมการร่วม 4 ประเทศ ได้ตกลงเริ่มในปลายเดือนกันยายน 2557 และจะสิ้นสุดระยะเวลา 6 เดือนในเดือนมกราคม 2558

ในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2557 สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย โดยกรมทรัพยากรน้ำ ได้ดำเนินการ “ให้ข้อมูลโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮง” ใน 5 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี นครพนม เชียงราย หนองคาย และ เลย ตามลำดับ และในวันที่ 7 มกราคม ศกนี้ กำหนดจะจัดเวที ณ สโมสรทหารบก กรุงเทพมหานคร

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ติดตามกระบวนการดังกล่าวมาอย่างใกล้ชิด และเคยมีจดหมายไปยังกรมทรัพยากรน้ำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ดำเนินกระบวนการอย่างมีส่วนร่วม โปร่งใส ทำหน้าที่ของหน่วยงานรัฐเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนที่พึ่งพาทรัพยากรแม่น้ำโขงในการดำรงชีพ มิใช่เพียงจัดให้แล้วเสร็จไปโดยเร็ว หรือเป็นเพียงเครื่องมือของอุตสาหกรรมเขื่อนและกลุ่มทุน

อย่างไรก็ตาม พบว่าข้อเรียกร้องต่างๆ ของเครือข่ายฯ ไม่ได้นำมาปฏิบัติแต่อย่างใด เวทีที่จัดทั้ง 5 ครั้ง เป็นเพียงการบอกกล่าว “ให้ข้อมูลโครงการ” แต่ถึงกระทั้นผู้จัดก็ยังไม่สามารถให้ข้อมูลผลกระทบอย่างกระจ่างชัด โดยเฉพาะผลกระทบข้ามพรมแดนที่จะเกิดขึ้น ไม่สามารถตอบคำถาม ข้อกังวลของชาวบ้านได้ และไม่มีเหตุอันใดที่จะทำให้เชื่อว่า กระบวนการนี้จะนำไปเป็นพื้นฐานในการพิจารณาและตัดสินใจในโครงการเขื่อนที่จะสร้างผลกระทบร้ายแรงต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงซึ่งเป็นทรัพยากรอันทรงคุณค่าของภูมิภาค

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา กล่าวว่า “ประชาชนในลุ่มน้ำโขง คนที่อาศัยริมโขง เราได้แสดงจุดยืนชัดเจนตั้งแต่ต้นแล้วว่า ไม่เอาเขื่อน ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนตอนบนในจีน หรือเขื่อนตอนล่าง การจัดเวทีง่ายๆ เชิญคนไม่กี่คนมานั่งฟัง ไม่มีรายงานผลกระทบข้ามพรมแดน ไม่ดูภาพรวมของเขื่อนบนแม่น้ำโขงทั้งหมด ตั้งแต่จีน และ 11 เขื่อนตอนล่าง แบบนี้ก็เป็นแค่พิธีกรรมเท่านั้น”

นอกจากนี้ การจัดประชุม ในวันที่ 7 มกราคม ยังใช้สถานที่สโมสรทหารบก เป็นการตอกย้ำว่า กรมทรัพยากรน้ำปราศจากความจริงใจและไม่ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนไทยในฐานะผู้มีส่วนได้เสียจากโครงการ และทำให้บรรยากาศในการเข้าร่วม และแสดงออกต่อข้อกังวล ไม่สามารถเป็นไปได้อย่างมีเสรีภาพ

ด้วยเหตุผลดังกล่าวพวกเราจึงไม่เห็นด้วย และไม่เข้าร่วมเวทีในครั้งนี้

แม่น้ำโขง เป็นดั่งมารดาของประชาชนอย่างน้อย 60 ล้านคนในลุ่มน้ำตอนล่าง เฉพาะในประเทศไทยก็กินพื้นที่ถึง 8 จังหวัด ทั้งในภาคเหนือและภาคอีสาน มิใช่สมบัติส่วนตัวของผู้หนึ่งผู้ใด การตัดสินใจใดๆ ต่อแม่น้ำโขง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอยู่บนฐานของข้อมูลที่เพียงพอ กระบวนการที่โปร่งใส และเป็นประชาธิปไตย

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ยืนยันข้อเรียกร้องในการจัดกระบวนการปรึกษาหารือ (Prior Consultation) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 ดังนี้

ให้ขยายระยะเวลาการจัดทำกระบวนการปรึกษาหารือ ออกไปอีกมากกว่า 6 เดือน เพื่อให้เพียงพอที่จะดำเนินการให้ได้ข้อมูลที่รอบด้านในการประกอบการตัดสินใจ

ให้มีการจัดเวทีการปรึกษาหารือในพื้นที่ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขงอย่างครอบคลุม อย่างน้อย 1 เวที ในทุกอำเภอริมแม่น้ำโขง โดยให้ประกาศล่วงหน้า เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมได้อย่างกว้างขวาง

ให้มีการแปลเอกสารโครงการเขื่อนดอนสะโฮง และข้อมูลที่เกี่ยวข้องเป็นภาษาไทย โดยต้องเป็นข้อมูลที่เพียงพอในการพิจารณาตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการ เพื่อเผยแพร่ล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน ในแต่ละเวทีดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้ประชาชนสามารถทำความเข้าใจ และเข้าร่วมแสดงความเห็นอย่างมีประสิทธิภาพ

ให้ผู้ลงทุนเอกชน เจ้าของโครงการ และหน่วยงานที่รับผิดชอบ ส่งผู้แทนเข้าร่วมเวทีเพื่อตอบคำถามจากประชาชนให้รอบด้าน

ให้ดำเนินการบนฐานของการเคารพต่อสิทธิชุมชน การมีส่วนร่วมของประชาชน และการป้องกันผลกระทบ โดยเฉพาะชุมชนที่อาจต้องแบกรับภาระต้นทุนและผลกระทบของโครงการในระยะยาว

ให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน ทั้งของประเทศไทย ในภูมิภาค และในระดับสากล อย่างเคร่งครัด

โดยสำนักงานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา 62 ม.8 บ.เวียงแก้ว อ.เชียงของ จ.เชียงรายอีเมล thaimekongpeople@gmail.com

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: