ร้อยโทแฉ่ง เปล่งวิทยา ผู้ปลูก “กระท่อมน้อยของลุงทอม” ในสวนอักษรไทย

อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ 13 ก.ค. 2558 | อ่านแล้ว 2351 ครั้ง


แฮเรียต บีเชอร์สโตว์ (Harriet Beecher Stowe) เขียนนวนิยายเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อบ่งชี้ให้สาธารณชนเล็งเห็นถึงชะตากรรมของทาสผิวดำที่ถูกกดขี่ข่มเหงรังแก เริ่มจากเขียนบอกเล่าเรื่องราวลงตีพิมพ์เป็นตอนๆในหนังสือพิมพ์ The National Era ช่วงปี ค.ศ. 1851 จากนั้นจึงรวมพิมพ์เป็นเล่มในปี ค.ศ. 1852 นวนิยายเรื่องนี้มีผลตอบรับเกรียวกราวและสะเทือนใจผู้อ่านอย่างมาก ทั้งยังมี่อิทธิพลต่อแนวความคิดของชาวอเมริกันจนนำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐฝ่ายเหนือซึ่งเห็นควรให้เลิกระบบทาสกับรัฐฝ่ายใต้ที่ยังจะยึดการมีระบบทาสต่อไป และในที่สุดก็เกิดเลิกทาสได้สำเร็จ เมื่อ ปี ค.ศ. 1863  นับเป็นหนังสือวรรณกรรมยอดนิยมของนักอ่านทั่วโลก และมีการแปลออกเป็นภาษาต่างๆหลายภาษา

สำหรับ Uncle Tom's Cabin ในภาษาไทยนั้น มักเป็นที่เข้าใจกันว่า นวนิยายเรื่องนี้ถูกแปลครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ. 2495 โดย อ.สนิทวงศ์ ซึ่งเป็นนามปากกาของ อุไร สนิทวงศ์ ณ อยุธยานักแปลวรรณกรรมเยาวชนคนสำคัญ โดยมีสำนวนแปลไทยในชื่อ “กระท่อมน้อยของลุงทอม”

ทว่าผู้เขียนกลับเกิดข้อสงสัย เพราะเคยชมภาพยนตร์ฝรั่งเรื่อง “Anna and the King” เวอร์ชั่น ปี ค.ศ. 1999 พบว่ามีอยู่ตอนหนึ่งที่แหม่มแอนนาครูฝรั่งในราชสำนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แนะนำให้เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์อ่านหนังสือนวนิยายดังกล่าว นั่นย่อมแสดงว่า Uncle Tom's Cabin ควรจะเป็นที่รู้จักสำหรับชาวไทยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4

แล้วก่อนหน้าสำนวนแปลของอ.สนิทวงศ์  จะไม่มีผู้ใดเคยแปลมาบ้างเลยหรือ ?

บทความของชาญวิทย์ เกษตรศิริเรื่อง เจ้าจอมมารดา "แฮเรียต บีชเชอร์สโตว์ ซ่อนกลิ่น" หญิงมอญในราชสำนัก กับนิยายการเมืองเรื่อง "กระท่อมน้อยของลุงทอม" และจุดเริ่มต้นของการเลิกทาสในสยาม  น่าจะพอเป็นแนวทางของคำตอบได้บ้าง

จากบทความ พบว่า ชาญวิทย์กล่าวอ้างบันทึกเรื่อง The Romance of the Harem ของ Anna Leonowens  หรือ แหม่มแอนนา โดยมีสำนวนแปลไทยในชื่อ "นิยายรักในราชสำนักฝ่ายใน" ผลงานของ อบ ไชยวสุ  (หรือนักเขียนผู้ใช้นามปากกา “ฮิวเมอริสต์”)  ในบันทึกของแหม่มแอนนาได้กล่าวถึง เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น ธิดาของพระยาดำรงราชพลขันธ์ (จุ้ย คชเสนี) เจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์ ซึ่งได้เรียนภาษาอังกฤษกับคุณครูแหม่ม ทั้งยังมีความสนใจอย่างยิ่งในนวนิยายเรื่อง  Uncle Tom's Cabin ดังที่แหม่มแอนนากล่าวถึงซ่อนกลิ่นว่า

มิตรรักของข้าพเจ้าคนนี้ ยังมีความขยันในการศึกษาหาความรู้เธอเรียนหนังสือฝรั่งกับข้าพเจ้าจนชำนาญพอที่จะอ่านหนังสือฝรั่งได้เรื่องรายละเอียดถูกต้องหนังสือที่เธอชอบอ่านที่สุดคือ "กระท่อมน้อยของลุงทอม" เธออ่านแล้วอ่านอีก จนรู้จักตัวละครขึ้นใจหมดทุกๆคนเวลาพูดถึงบุคคลในเรื่องนี้เธอจะเอ่ยราวกับว่าเป้นผู้คุ้นเคยของเธอมานานปีแล้วฉะนั้น

ไม่เพียงเท่านี้  ชาญวิทย์ยังตั้งข้อสังเกตไว้อีกด้วยว่า เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นอาจจะเป็นคนไทยคนแรกที่แปลนวนิยายเล่มดังกล่าว  แต่ยังไม่แน่ว่า จะแปลมาเป็นภาษาไทยหรือภาษามอญ ดังตอนหนึ่งในบทความที่ว่า

กล่าวกันว่าเธออ่านหนังสือที่ครูแหม่มแอนนาให้เป็นการบ้านคือ Uncle Tom"s Cabin จนแตกฉาน สามารถแปลเป็นภาษาไทยได้ ผู้เขียนยังไม่เคยพบหลักฐานหรือต้นฉบับการแปลนี้ และก็เกิดคำถามเล็กๆในใจว่า ถ้าเธอแปลจะแปลเป็นไทยหรือเป็นมอญ เพราะซ่อนกลิ่นดูจะรักษาอัตลักษณ์ของความเป็นมอญไว้อย่างไม่น้อย ดังที่เราทราบกันดีว่าในวังของกรมพระนเรศฯนั้นเต็มไปด้วยข้าราชสำนักที่เป็นมอญ ใช้ภาษามอญ แม้องค์พระนเรศฯเองก็เจาะหูใส่ตุ้มตามธรรมเนียมมอญ (พม่า) และที่สะกิดใจผู้เขียนอย่างยิ่งดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ก็คือการที่เธอถึงกับเซ็นชื่อในจดหมายถึงครุแหม่มแอนนาว่า Harriet Beacher Stowe Sonklin ถ้าจะพูดด้วยภาษาสมัยนี้ ก็คือ เธอดูจะ "อิน" กับนามนักประพันธ์สตรีผู้ก่อให้เกิดกระแสการเลิกทาสครั้งใหญ่ที่ดังระเบิดไปทั่วโลกเป็นอย่างยิ่ง

จากบทความของชาญวิทย์ชวนให้ผู้เขียนเกิดความคิดที่จะค้นคว้าหาหลักฐานต่อไปให้ได้ว่า แท้แล้ว เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นได้สร้างผลงานแปลชิ้นสำคัญเอาไว้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้  ผู้เขียนเพิ่งได้ค้นพบการแปลเป็นภาษาไทยของ Uncle Tom's Cabin อีกสำนวนหนึ่งโดยบังเอิญในหนังสือรายเดือน “เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์” ซึ่งเป็นหนังสือของโรงเรียนนายร้อยทหารบก สำนวนแปลดังกล่าวเป็นผลงานของร้อยโทแฉ่ง เปล่งวิทยา และใช้ชื่อเรื่องภาษาไทยว่า “กระท่อมน้อยของลุงทอม”

“กระท่อมน้อยของลุงทอม” ของร้อยโทแฉ่ง เปล่งวิทยา เริ่มลงพิมพ์ในหนังสือรายเดือน “เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์” เล่ม 7 ตอน 4 ประจำเดือนเมษายน พ.ศ. 2466 โดยถูกจัดอยู่ในหมวดเรื่องสำหรับเด็กอ่าน

หลวงสารานุประพันธ์ ผู้เป็นบรรณาธิการตอนนั้น ได้เขียนถึงนวนิยายเรื่องนี้ในคอลัมน์ “น่าของบรรณาธิการ” ความว่า

เรื่อง “กระท่อมน้อยของลุงทอม” เรื่องสำหรับเด็กอ่านของเราเดือนนี้ ออกจะแปลกกว่าเรื่องเด็กอ่านเดือนก่อนๆ แปลกทั้งข้อความและการเรียบเรียง เพราะเรื่องนี้แปลจากเรื่องในหนังสือเรียนภาษาอังกฤษชื่อ “Uncle Tom's Cabin” ซึ่งเปนหนังสือที่โรงเรียนชั้นมัธยมตอนปลายบางแห่งใช้เปนหนังสือหัดอ่าน (Reader) ผู้แปลพยายามจะให้ตรงกับพากย์เดิม จึงใส่เลขลำดับข้อเรื่องเหมือนต้นฉบับ หวังผู้อ่านทั้งปวงคงไม่เบื่อนัก เพราะเปนเรื่องให้ประโยชน์ในทางความรู้ต่างประเทศบางอย่างอยู่บ้าง (หน้า 537-538)

ด้วยความสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับตัวผู้แปล  ผู้เขียนพยายามสืบหาประวัติของร้อยโท แฉ่ง เปล่งวิทยาอยู่นานเดือน แต่ก็ยังไม่พบ  ที่พอจะได้ความมาบ้างก็คือ ข้อมูลจากหนังสืออนุสรณ์แช่ม เปล่งวิทยา (พ.ศ.2513) ทำให้พอจะทราบว่าผู้แปลหรือร้อยโทแฉ่งนั้นเป็นบุตรนายช้าง นางจีน ซึ่งมีบ้านอยู่ริมถนนเฟื่องนคร  ใกล้วัดราชบพิธ  มีพี่น้องร่วมบิดามารดาคือ นายแช่ม และเป็นพี่น้องร่วมมารดากับ พระยาธรรมสารนิติวิชิตภักดี (พร นรพัลลภ) รับราชการทหารจนต่อมาได้เป็นพันตรีหลวงสมรรถโยธาคาร

“กระท่อมน้อยของลุงทอม” ของ ร้อยโทแฉ่ง ลงพิมพ์ติดต่อใน “เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์” อยู่หลายตอน  น่าเสียดายที่ยังไม่ทันจบเรื่องก็ต้องหยุดชะงักไปในช่วงปลายทศวรรษ 2460  จนต่อมาภายหลัง อ.สนิทวงศ์จึงได้แปลใหม่จากภาษาอังกฤษครบสมบูรณ์ทั้งเรื่อง เมื่อ พ.ศ. 2495
 
ข้อน่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ ชื่อเรื่องในภาษาไทย  กล่าวได้ว่า ร้อยโทแฉ่งเป็นคนแรกที่ใช้ชื่อ “กระท่อมน้อยของลุงทอม” ในสำนวนแปลของตน และเมื่อผุ้เขียนได้ไปค้นคว้าเพิ่มเติมก็พบว่าสอดคล้องกับคำบอกเล่าของอมราวดี (นามปากกาของนักแปลชื่อ  ลัดดา ถนัดหัตถกรรม) ซึ่งเป็นผู้เขียนคำนำให้กับสำนวนแปลของ อ.สนิทวงศ์ เมื่อ พ.ศ. 2495  โดยอมราวดีเล่าว่า อ.สนิทวงศ์ได้มาหารือถึงการตั้งชื่อเรื่องภาษาไทย โดยได้เสนอว่าควรจะชื่อ “กระท่อมน้อยของลุงทอม”  เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ผู้แปลคนเดิม นั่นย่อมแสดงว่า ทั้ง อ.สนิทวงศ์และอมราวดีต้องเคยอ่าน  Uncle Tom's Cabin สำนวนแปลของร้อยโทแฉ่งมาก่อน จึงนำเอาชื่อภาษาไทยเดิมจากสำนวนเก่ามาตั้งเป็นชื่อนวนิยายแปลเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง
 
ผู้เขียนบทความจะขอยกตัวอย่าง “กระท่อมน้อยของลุงทอม”  ของร้อยโทแฉ่งมาแสดงไว้  ณ ที่นี้ด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้คุณผู้อ่านได้เห็นสำนวนแปลอีกอรรถรสหนึ่ง
 
“ลุงทอม” เปนโภคทรัพย์ของชาวไร่ชาวนาผู้ ๑ ผู้มีนามว่า นายเชลบี นายเชลบีผู้นี้มีณีสินประจำตัวอยู่มาก ซึ่งจำเปนจะต้องกอบโกยเงินไปบำรุง นายฮาเล พ่อค้าทาส (หน้า 530)
 
หรืออีกตอนหนึ่งที่ว่า
 
เมื่อพวกนิโกรทั้ง ๒ หนีไปแล้ว ฮาเลยังติดใจสงสัยเอลิซาอีก จึงหันกลับมาทอดสายตาไปยังจุดที่หมายอีกครั้ง ๑ ดูมันช่างยวนใจให้หวนคิดอยู่เสมอมิได้ขาด จะหันไปดูเมฆหรือ ในเวลานั้นเมฆก็ตั้งมาขมุกขมัวแล้วเคลื่อนหายไป หันไปดูที่แม่น้ำหรือมักจะให้เห็นไปว่ามีแต่น้ำแข็งเปนก้อนๆ  ลอยคว้างและลอยไปด้วยกำลังแรงเทียมเท่ากระแสน้ำอันไหลเชี่ยว  ซึ่งดูๆไปและคิดว่าเอลิซานี้ไม่น่าจะรอดไปได้ ยิ่งดูๆไปก็ยิ่งทำให้หมดหวังที่จะติดตาม มีอยู่หนทางเดียวก็คือตื่นสายเกินไปเช่นนี้ทำให้ฮาเลเกิดคิดอไรๆไม่ตก จึงออกเดินอย่างคอตกด้วยความลังเลใจ  ประดุจว่าเดินบนทรายซึ่งทำให้ขาล้า และดูเหมือนว่าสิ่งไรในโลกไม่มีความงามแต่อย่างใดเลย  แต่ถึงอย่างนั้นก็ดีฮาเลยังใช้ความพยายามเดินมาจนถึงบ้านของตนได้โดยสวัสดิภาพ (หน้า 534)
 
กล่าวได้ว่า Uncle Tom's Cabin สำนวนแปลของร้อยโทแฉ่ง เปล่งวิทยา เป็นอีกหมุดหมายที่สำคัญยิ่งสำหรับพัฒนาการวรรณกรรมแปลของไทย อีกทั้งยังเป็นจุดกำเนิด “กระท่อมน้อยของลุงทอม” ผลงานวรรณกรรมเลื่องชื่อที่ประทับอยู่ในความทรงจำนักอ่านชาวไทยมายาวนาน
 
ในปัจจุบัน ยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นเป็นคนแรกที่แปลนวนิยายเรื่อง Uncle Tom's Cabin หรือไม่
 
และถ้าหากมิใช่  บางที ร้อยโทแฉ่ง เปล่งวิทยา อาจคือคนแรกที่แนะนำลุงทอมทาสผิวดำให้นักอ่านชาวไทยรู้จักผ่านตัวอักษรก็เป็นได้ !
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: