จะลงโทษตัวกลางไปถึงไหน? พรบ.คอมฯ ใหม่ผลักภาระผู้ประกอบการ เสี่ยงโทษหมิ่น-ความมั่นคง-ธุรกิจทรุด

พินดา พิสิฐบุตร : TCIJ School รุ่นที่ 2 6 ส.ค. 2558 | อ่านแล้ว 3428 ครั้ง

ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปรัฐบาล) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  เร่งนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อแปรญัตติ พร้อมพิจารณาเพิ่มโทษด้านความมั่นคงในร่างกฎหมายดังกล่าวให้มากขึ้น โดยเฉพาะการใช้อินเทอร์เน็ตที่กระทบต่อความมั่นคงหรือกระทบต่อความสงบเรียบร้อย รวมถึงการเข้าถึงข้อความสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ แม้ร่างกฎหมายดังกล่าวจะยังไม่เผยแพร่ออกสู่สาธารณะ กระนั้นก็เป็นที่วิตกว่า หากร่างดังกล่าวผ่านการเห็นชอบ อาจเกิดผลกระทบวงกว้างในหมู่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะผู้ประกอบการในฐานะผู้ปล่อยให้มีการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคง

มีคนเปรียบว่า ตัวกลางทางอินเทอร์เน็ต (internet intermediary) ก็เหมือนสวนสาธารณะ ที่มอบพื้นที่ให้ผู้คนมาทำกิจกรรมกัน  บางกิจกรรมก็เป็นไปในทางสร้างสรรค์ แต่ก็มีคนบางกลุ่มที่แอบทำกิจกรรมซึ่งผิดกฎหมายภายในสวน ซึ่งผู้ดูแลสวนสาธารณะไม่ได้มีส่วนรู้เห็นด้วย และแม้ว่าผู้ดูแลสวนจะพยายามเดินตรวจตราความปลอดภัยภายในสวน  แต่บางครั้ง ผู้มาใช้สวนสาธารณะก็มีจำนวนมากเสียจนเกินกว่าที่ผู้ดูแลสวนจะดูแลได้อย่างทั่วถึง

เมื่อพบว่ามีกิจกรรมที่ผิดกฎหมายเกิดขึ้นภายในสวนสาธารณะ และตำรวจเลือกที่จะจับผู้ดูแลสวนแทน ผู้ดูแลสวนก็อาจปิดสวนสาธารณะลงเสีย เพราะไม่อยากเสี่ยงต่อการเข้าคุกตารางจากสิ่งที่ตนเองไม่อาจควบคุมได้  สิ่งที่ตามมาก็คือ ผู้คนที่เหลือจะสูญเสียพื้นที่ทำกิจกรรมสร้างสรรค์  หรือไม่ ผู้ดูแลสวนก็อาจเลือกที่จะตรวจตราผู้เข้ามาใช้สวนอย่างเข้มงวดขึ้น ทั้งค้นกระเป๋า ขอดูบัตรประชาชน ซึ่งการทำสิ่งเหล่านี้ล้วนต้องใช้เวลา กำลังคน และทรัพยากรที่สูงในระดับที่อาจไม่คุ้มค่าแก่การให้บริการสวนสาธารณะนั้นอีกต่อไป

ในต่างประเทศ จึงมีกฎหมายคุ้มครองตัวกลางทางอินเทอร์เน็ตที่เรียกว่า 'safe harbour' แต่สำหรับประเทศไทย เรากลับเลือกที่จะลงโทษผู้ดูแลสวนแทนในสิ่งที่เขาไม่ได้ทำ โดยในพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) มาตรา 15 ระบุว่า “ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14

เมื่อผู้ดูแลสวนถูกจับ

หกปีที่แล้ว ในบ่ายวันที่ 6 มีนาคม 2552  ตำรวจกลุ่มหนึ่งบุกเข้าจับกุมผู้อำนวยการเว็บไซต์ข่าวแห่งหนึ่งในโทษฐานที่เธอเป็นผู้ดูแลสวนสาธารณะ

จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ถูกฟ้องข้อหาจงใจสนับสนุนและยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ของพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว จากการที่มีผู้มาโพสต์ข้อความหมิ่นเบื้องสูงบนเว็บบอร์ดที่เธอเป็นผู้ดูแลอยู่ และเธอได้ลบข้อความนั้นออกไปไม่เร็วพอ จีรนุชถูกตัดสินจำคุก 1 ปีและปรับ 30,000 บาท แต่ได้รับการบรรเทาโทษให้เหลือจำคุก 8 เดือน ปรับ 20,000บาท ซึ่งโทษจำคุกให้รอลงอาญา 1ปี

เมื่อถูกฟ้องคดี จีรนุชให้การโต้แย้งว่า เว็บบอร์ดที่ตนดูแลอยู่มีมาตรการป้องกันและตรวจตราเนื้อหาที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายอยู่แล้ว แต่เนื่องจากข้อความในเว็บบอร์ดมีจำนวนมากถึงวันละประมาณ 20,000-30,000 คน มีกระทู้ใหม่วันละ 300 กระทู้ และความเห็นที่เข้าไปแลกเปลี่ยนวันละ 2,800 ความเห็น จึงยากที่จะตรวจสอบ ทำให้ตนไม่ทราบถึงการมีอยู่ของข้อความดังกล่าว

แต่ถึงกระนั้นศาลก็ยังยืนยันว่า แม้ข้อความในเว็บบอร์ดจะมีจำนวนมากเพียงใด แต่เจ้าของเว็บบอร์ดก็ต้องตรวจทุกความเห็นโดยไม่มีข้อแม้  ซึ่ง “หากจำเลยจะตรวจสอบ ก็สามารถเข้าไปตรวจสอบในหัวข้อกระทู้และความเห็นเท่านั้น โดยกระทู้ที่ตรวจสอบก็เป็นเพียงข้อความสั้นๆ อ่านแล้วก็สามารถเข้าใจได้โดยง่ายว่าอาจมีลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ได้ และเมื่อจำเลยพบเห็นหัวข้อกระทู้ที่มีลักษณะดังกล่าว ก็สามารถเข้าไปตรวจสอบความเห็นเกี่ยวกับกระทู้ดังกล่าวเพื่อควบคุมดูแลให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด...

หากปริมาณกระทู้มีมากจนเกินความสามารถของจำเลย ก็เป็นหน้าที่ของจำเลยในฐานะผู้อำนวยการ ที่จะจัดหาลูกจ้างเพื่อดำเนินการตามภาระหน้าที่ที่จำเลยรับผิดชอบ”  บันทึกคำวินิจฉัยของศาลระบุไว้เช่นนี้

ตรวจเนื้อหาก่อนโพสต์ ขัดธรรมาชาติอินเทอร์เน็ต

ภูมิจิต ศิระวงศ์ประเสริฐ ประธานชมรมผู้ประกอบการธุรกิจโฮสติ้งให้ความเห็นต่อการตรวจสอบเนื้อหาก่อนการเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตว่า ขัดกับธรรมชาติของการดำเนินธุรกิจออนไลน์  เพราะในฐานะเป็นผู้ให้บริการ ไม่สามารถควบคุมเนื้อหาของผู้โพสต์ข้อความได้เพราะมีจำนวนมาก โดยเฉพาะการโพสต์ข้อความในการสนทนาออนไลน์

เช่นเดียวกับวันฉัตร ผดุงรัตน์ ผู้ก่อตั้งเว็บบอร์ดพันทิป ที่ให้การต่อศาลในคดีของจีรนุชว่า ในฐานะตัวกลาง จากจำนวนความเห็นจำนวนมากในเว็บบอร์ด ทำให้แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เจ้าของเว็บบอร์ดจะตรวจสอบข้อความทุกข้อความที่มีคนนำมาโพสต์ไว้ และการจะทำดังกล่าวจะเป็นต้นทุนที่แพงมหาศาลสำหรับผู้ ประกอบการ

ความสำคัญของตัวกลาง

ในการทำงานของระบบอินเทอร์เน็ต ตัวกลางมีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้บุคคลสองฝ่ายสามารถสื่อสารกันได้ ทว่าสิ่งที่จะเกิดจากการทำร้ายคนส่งสารที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมคือผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ เมื่อตัวกลางเห็นว่าทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นเงิน เวลา หรือบุคลากรจะต้องถูกนำไปใช้ในการตรวจสอบเนื้อหาที่อยู่ในระบบในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน หรือการเอาเนื้อหาต่างๆ ลงหลังจากที่ได้รับแจ้งมากเกินไป จนถึงในระดับที่ไม่คุ้มค่ากับการทำธุรกิจ ดังที่ภูมิจิตเล่าให้ฟังว่า

“เราเคยรวมกลุ่มกันเพื่อที่จะไปซื้อประกันจากบริษัทประกัน เรื่องของการถูกเอาผิดในคดีความ เพราะเมื่อมีการฟ้องร้องกันในแต่ละคดี ค่าใช้จ่ายในการจ้างทนาย ค่าใช้จ่ายในการสู้กันทีเป็นแสนนะ สมมติเราขายโดเมนปีละ 300-400 บาทแล้วต้องมาสู้คดีกันเป็นแสน"

ซึ่งหากเป็นอย่างที่ว่า ก็มีโอกาสที่ตัวกลางที่จะเลิกทำธุรกิจนั้นไป และส่งผลให้ผู้บริโภคเสียโอกาสได้รับบริการดีๆ สังคมอาจสูญเสียโอกาสการมีนวัตกรรม และในอนาคต เราอาจไม่ได้เห็นบริการแบบกูเกิล เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์อีก หากบริษัทเหล่านั้นต้องใช้เวลาและทรัพยากรหมดไปกับการตรวจสอบและลบเนื้อหาที่ผู้ใช้โพสต์ลงในพื้นที่ของตน หรือไม่ ผู้ให้บริการไทยก็อาจย้ายไปอยู่ต่างประเทศ

“ตอนนี้ก็เล็งๆ ประเทศใกล้ๆ แถวนี้ไว้ อย่างสิงคโปร์ หรือเราอาจไปทำคลาวด์ต่างประเทศไว้ แล้วก็ reroute กลับไปที่นู่น ก็แล้วแต่ลูกค้าว่าลูกค้าอยากอยู่ไหน อย่างนี้อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่ถ้ามาหักลบกับกฎหมายนี้ก็อาจจะถูกกว่าก็ได้” ภูมิจิตกล่าว ซึ่งเมื่อผู้ให้บริการไทยทำเช่นนั้น เมื่อทำธุรกิจมีกำไร เขาเหล่านั้นก็ต้องนำเงินได้ไปเสียภาษีให้รัฐบาลต่างชาติ แทนที่จะเสียภาษีให้รัฐไทย

หรือหากผู้ให้บริการไทยจะยังยืนยันทำธุรกิจอยู่ในประเทศขณะที่ร่างกฎหมายนี้ออกมาบังคับใช้จริง ธุรกิจของพวกเขาก็อาจเสียเปรียบธุรกิจต่างชาติ เพราะการคอยตรวจสอบเนื้อหาของผู้ใช้ก่อนที่จะอนุมัติให้เนื้อหาเหล่านั้นแสดงผล ย่อมทำให้การบริการบนอินเทอร์เน็ตของพวกเขาทำได้ช้าลง

ย้อนกลับไปที่เรื่องของจีรนุช ...รอส ลาเจอร์เนส หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะของกูเกิล ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกพูดถึงกรณีของจีรนุชว่า “การตัดสินจำคุกเธอจากสิ่งที่เธอไม่เคยเขียน ส่งสาส์นถึงผู้ประกอบการและนักธุรกิจชั้นนำที่ทำธุรกิจบริการอินเตอร์เน็ตแพลต์ฟอร์มในประเทศไทย ว่าพวกเขาอาจหรือถูกลงโทษอย่างรุนแรงจากการกระทำของผู้ใช้”

และไม่ใช่เพียงแต่ในมิติของเศรษฐกิจเท่านั้น การเลิกกิจการของตัวกลางยังกระทบถึงการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร และการบังคับกลายๆ ให้ตัวกลางต้องตรวจตราเนื้อหาของผู้ใช้ ยังกระทบเสรีภาพในการแสดงออกของผู้ใช้ อันเป็นหัวใจสำคัญของการใช้ชีวิตในระบอบประชาธิปไตยด้วย

‘ตัวกลาง’ โดนทุกเรื่องทั้งการเมือง-เรื่องค้าขาย

ไม่ใช่แค่กรณีการเมืองเท่านั้น แต่พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 ยังถูกนำมาใช้เป็นอาวุธในการเล่นงานกันทางธุรกิจด้วย เช่น เมื่อมีกรณีการขัดแย้งทางการค้า คู่ขัดแย้งที่เคยทำธุรกิจร่วมกันก็มักจะใช้กลางเป็นตัวประกัน

"กรณีความขัดแย้งทางการค้า เขาไม่พอใจกัน เขาก็เอาพ.ร.บ.คอมฯ มาฟ้องถึงผู้ประกอบการไปด้วย เช่น การย้ายโดเมนแล้วมีปัญหา พอมีปัญหาแทนที่เขาจะไปฟ้องกันในหมู่ผู้เสียหายของเขา เขาก็มาลากผู้ให้บริการไปด้วย หาว่าเป็นผู้โจมตี ทั้งๆที่จริงแล้วเราย้ายโดเมนตามคำสั่งของเจ้าของโดเมน  สมมติเอกับบีทำธุรกิจกันแล้วมาจดโดเมนกับเรา พอเอกับบีแตกคอกันแล้ว แทนที่เขาจะไปฟ้องเรื่องของพาณิชย์หรือทรัพย์สิน เขาดันมาฟ้องคนจดโดเมน ฟ้องโฮสต์ว่า โฮสต์เอาโดเมนไปยกให้คนอื่นโดยมิชอบ เขาทะเลาะกันแล้วเราซวยไปด้วย” ภูมิจิตกล่าว

ร่างพ.ร.บ.คอมฯฉบับใหม่ ฤาจะแก้ปัญหาเก่า?

เดือนมกราคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ออกมา โดยร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นหนึ่งในชุดร่างกฎหมายว่าด้วย 'เศรษฐกิจดิจิทัล' ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลพยายามผลักดัน ร่างกฎหมายดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงที่จะกระทบกับตัวกลางทั้งในทางที่ทั้ง 'ดีขึ้น' และ 'เลวลง'

ร่างแก้ไขมาตรา 15 มีความพยายามแก้ไขให้ผู้ให้บริการไม่ต้องรับผิด หาก “ผู้ให้บริการพิสูจน์ได้ว่าตนได้ปฏิบัติตามขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือการนำข้อมูล คอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด”  ทว่า ก่อนหน้าข้อความดังกล่าว  วรรคแรกของร่างแก้ไขกลับเขียนไว้ว่า “ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14/1 หรือมาตรา 14/2 ในระบบที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเซ่นเดียวกับผู้กระทำความผิด ตามมาตรา 14/1 และมาตรา 14/2”

ซึ่งหมายความว่า ร่างกฎหมายกำหนดให้ผู้ให้บริการมีความผิดไว้ก่อนจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าตนบริสุทธิ์ ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ย่อมเป็นการผลักภาระให้กับตัวกลาง ทั้งที่ตัวกลางไม่ได้รู้เห็นกับการกระทำใดๆ ของผู้ใช้เลย การสันนิษฐานเช่นนี้ยังขัดกับหลักการสากลที่จะระบุให้ตัวกลางเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน

ในสหรัฐอเมริกา รัฐบัญญัติว่าด้วยการสื่อสาร มาตรา 230 กำหนดการคุ้มกันสื่อตัวกลางจากคำกล่าวอ้างต่าง ๆ ในเนื้อหาที่ถูกสร้างโดยผู้อื่น เช่น ความเลินเล่อ การหมิ่นประมาท และการฝ่าฝืนทั้งกฎหมายแพ่ง นอกจากนี้ ในกฎหมายอาญา มาตรา 512 แห่งรัฐบัญญัติว่าด้วยลิขสิทธิ์ดิจิทัลแห่งสหัสวรรษ ได้กำหนดให้ผู้ให้บริการเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน และได้กำหนดข้อยกเว้นความรับผิด (safe  harbour ) ให้แก่ผู้ให้บริการออนไลน์หากพวกเขาทำตามข้อกำหนดบางอย่าง ซึ่งรวมไปถึงการเอาเนื้อหาที่ฝ่าฝืนกฎหมายออกเมื่อถูกแจ้งให้ทราบโดยผู้ถือครองลิขสิทธิ์ หรือที่เรียกว่ามาตรการ 'แจ้งเพื่อให้ลบออก' (Notice and Takedown)

เช่นเดียวกับในสหภาพยุโรป ที่มีกฎระเบียบข้อ 2000/31/EC (Directive 2000/31/EC) ที่สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ตัวกลางคือผู้บริสุทธิ์

“ตามระเบียบของสหภาพยุโรป ผู้ให้บริการไม่มีความผิดในเนื้อหาที่ตนเองไม่ทราบ หรือได้รับการแจ้งเตือนและรีบเอาออกโดยไม่ชักช้า คือหลักคิดพื้นฐานมันคือผู้ให้บริการไม่ควรต้องรับผิดชอบในเนื้อหาของบุคคลที่ 3 แต่ถ้ามีการแจ้งเตือนและผู้ให้บริการได้ดำเนินการบางอย่างตามที่บอกไป ก็ไม่น่าต้องรับผิดเช่นกัน” จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอินเทอร์เน็ตกล่าว

จอมพลยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เรายังไม่อาจระบุได้อย่างชัดเจนว่า ร่างแก้ไขมาตรา 15 ดีขึ้นจริงหรือไม่ เพราะต้องติดตามดูประกาศของรัฐมนตรีเรื่องขั้นตอนการแจ้งเดือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบเสียก่อนว่าจะออกมามีหน้าตาอย่างไร

ภาระและต้นทุนของการนำเนื้อหาออกจากระบบ

การดำเนินการในการนำเนื้อหาในระบบลงหลังจากที่ได้รับแจ้งเตือน รวมทั้งการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวกลางย่อมต้องมีทั้งภาระและต้นทุน ในเรื่องนี้ จอมพลกล่าวว่า ภาระในการพิสูจน์ของตัวกลางไม่ควรจะมีมากไปกว่าการแสดงให้เห็นว่าได้ดำเนินการเพื่อเอาเนื้อหาผิดกฎหมายออกแล้ว (ในกรณีที่ตัวกลางคือโฮสต์) หรือการได้ทำให้ไม่สามารถการเข้าถึงเนื้อหาผิดกฎหมายนั้น (ในกรณีที่ตัวกลางคือ ISP) ก็น่าจะเพียงพอแล้ว

ส่วนสำหรับต้นทุนในการดำเนินการนำเนื้อหาลงก็ไม่ควรมีมากจนเกินไป เพราะธุรกิจของตัวกลางคือการทำธุรกิจบนอินเทอร์เน็ต ไม่ใช่การตรวจสอบเนื้อหาผิดกฎหมายหรือทำหน้าที่เป็น 'กองเซ็นเซอร์' ให้รัฐบาล นำมาสู่คำถามว่า ทั้งกฎหมายเดิมและร่างกฎหมายใหม่นั้นสร้างต้นทุนในการตรวจสอบให้ตัวกลางจนเกินสมควรหรือไม่

ในร่างแก้ไขมาตรา 14 มีความพยายามแก้ข้อความในกฎหมายให้ชัดเจนและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการมีกฎหมาย ซึ่งก็คือเพื่อต้องการเอาผิดกับผู้ที่กระทำผิดต่อระบบคอมพิวเตอร์  โดยระบุให้ผู้ที่นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จต้องทำไปเพื่อให้ได้ซึ่ง “ทรัพย์สินหรือข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่น” แทนที่วลี “โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” ในมาตรา 14(1) ของกฎหมายฉบับปัจจุบัน  ซึ่งอย่างหลังมักนำไปสู่การใช้มาตรานี้ในการฟ้องร้องกันด้วยเนื้อหาหมิ่นประมาท ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของกฎหมาย

การที่ข้อความดังกล่าวยังคงอยู่  ทำให้เป็นหน้าที่และภาระของตัวกลางที่ต้องตีความว่าเนื้อหาที่อยู่ในระบบของตนนั้น เป็นเนื้อหาที่ “น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” หรือเป็นเนื้อหาที่ “มีความมุ่งหมายเป็นการกระทำความผิด เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา” หรือไม่  ซึ่งการพิจารณาดังกล่าวเป็นเรื่องของอัตวิสัย และหากตัวกลาง 'ตีความ' ไม่ถูกใจรัฐ ก็ต้องรับความเสี่ยงว่าอาจจะโดนดำเนินคดีได้

สอดคล้องกับที่อาทิตย์ สุริยวงศ์กุล  จากกลุ่มพลเมืองเน็ต ที่ได้ให้สัมภาษณ์ประชาไทไว้ว่า "notice and take down ไม่ใช่ยาครอบจักรวาล และจะเวิร์กเมื่อเนื้อหามีลักษณะขาวกับดำชัดเจน ตัดสินได้ง่าย เช่น การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ละเมิดลิขสิทธิ์ การปลอมแปลงตัวตน ไม่มีใบอนุญาต อย. เป็นต้น แต่เมื่อใดที่เป็นเรื่องหมิ่นประมาทจะไม่เวิร์ก เพราะจะเป็นการผลักภาระอำนาจตัดสินใจไปอยู่ที่เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปดูแนวคิดเรื่อง notice and take down ในอเมริกาจะเห็นว่าถูกนำมาใช้ครั้งแรกกับกฎหมายลิขสิทธิ์"

ในเรื่องของเนื้อหา ตัวบทร่างกฎหมายยังมีความย้อนแย้งในตัวเอง โดยแม้ว่าร่างกฎหมายพยายามจะยกเว้นความรับผิดให้ตัวกลางหากพิสูจน์ได้ว่าทำตามขึ้นตอนการแจ้งเตือนแล้ว แต่การยกเว้นดังกล่าวก็บังคับใช้เฉพาะกับความผิดในร่างแก้ไขมาตรา 14/1 และ 14/2 เท่านั้น ไม่รวมความผิดตามร่างแก้ไขมาตรา 16/1 ซึ่งเป็นเรื่องการจัดทำเพื่อวัตถุประสงค์ในการแจกจ่าย นำเสนอหรือจัดให้มี แจกจ่ายหรือโอนถ่าย จัดหามา ครอบครองเพื่อวัตถุประสงค์แห่งการค้าหรือเพื่อหากำไร ซึ่งรูปภาพลามกอนาจารของบุคคลอายุไม่เกิน 18 ปีผ่านระบบคอมพิวเตอร์  ซึ่งสำหรับตัวกลาง หากมีผู้อัปโหลดภาพลามกอนาจารดังกล่าวขึ้นเว็บไซต์ของตัวกลาง ตัวกลางก็เลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องเป็นผู้ “ครอบครองเพื่อวัตถุประสงค์แห่งการค้าหรือเพื่อหากำไร” รูปภาพลามกนั้นไปโดยปริยาย และไม่สามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนได้ตามร่างแก้ไขมาตรา 15 วรรค 2 ด้วย

ยังไม่รวมไปถึงความย้อนแย้งของการที่ร่างกฎหมายนี้ พยายามจะนำเรื่องของเนื้อหาออกด้วยการตัดเรื่องของการหมิ่นประมาทออกไปในร่างแก้ไขมาตรา 14 ว่า ร่างกฎหมายกลับคงเรื่องของเนื้อหาไว้ในร่างแก้ไขมาตรา 14/1 และ 14/2 รวมทั้งใส่ความผิดเรื่องเนื้อหาใหม่เข้ามาในร่างแก้ไขมาตรา 16/1 ซึ่ง ภูมิจิต-ชมรมผู้ประกอบการธุรกิจโฮสติ้ง ให้ความเห็นในเรื่องนี้ไว้ว่า การคุ้มครองเยาวชน ควรผ่านการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญและส่งเรื่องเข้ามา แทนที่จะให้เป็นภาระของภาคธุรกิจที่ดูแลระบบในการตรวจสอบว่าใครอายุครบ 18 ปีหรือไม่ เพราะหน้าที่ของผู้ให้บริการคือ ดูแลเรื่องทางเทคนิคต่างหาก

อ่าน 'จับตา': “ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับไอซีทีวันที่ 28 มีนาคม 2554”  
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5718

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: