'ไทย-สิงคโปร์' จับมืออบรมเสริมกำลังโครงสร้างรับแรงแผ่นดินไหว 'เชียงใหม่-เชียงราย'

6 ต.ค. 2558 | อ่านแล้ว 2332 ครั้ง


	'ไทย-สิงคโปร์' จับมืออบรมเสริมกำลังโครงสร้างรับแรงแผ่นดินไหว 'เชียงใหม่-เชียงราย'

สิงคโปร์สนับสนุนนักวิจัย สกว. จัดอบรมเทคโนโลยีการเสริมกำลังโครงสร้างรับแรงแผ่นดินไหว และสำรวจอาคารเรียนที่เชียงใหม่ ตั้งเป้าเสริมอาคารโรงเรียน 4 แห่ง ในเชียงใหม่และเชียงราย เพื่อเป็นต้นแบบก่อนขยายผลไปยังอาคารประเภทอื่น (ที่มาภาพข่าว: สกว.)

6 ต.ค. 2558 สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนานยาง แห่งประเทศสิงคโปร์ จัดการอบรมหัวข้อเรื่อง "เทคโนโลยีการเสริมกำลังโครงสร้างอาคารเพื่อรับแรงแผ่นดินไหว" ระหว่างวันที่ 1-4 ตุลาคม 2558 ณ โรงแรม เมอร์เคียว เชียงใหม่ เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยจากแผ่นดินไหว และเทคโนโลยีการเสริมกำลังโครงสร้างอาคาร อันเป็นองค์ความรู้จากงานวิจัยภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีวิทยากรทั้งภายในประเทศและจากต่างประเทศ นำโดย ศ. ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าโครงการวิจัยชุดโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย สกว. และคณะ ร่วมบรรยายถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้เข้าร่วมอบรมมีบทบาทสำคัญในการเสริมกำลังอาคารในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเทมาเส็ก ประเทศสิงคโปร์

นอกจากนี้คณะวิทยากรและผู้เข้าร่วมอบรมยังลงพื้นที่สำรวจอาคารเรียนในอำเภอสันกำแพง ได้แก่ โรงเรียนบ้านหนองโค้งและโรงเรียนสันกำแพง รวมถึงจัดให้มีการสาธิตการเสริมกำลังโครงสร้างอาคารโดยใช้แผ่นโพลีเมอร์เสริมเส้นใย (Fiber Reinforced Polymer: FRP) ซึ่งเป็นวัสดุใหม่ที่ได้นำมาใช้ในงานทางวิศวกรรมโยธาเพื่อเสริมกำลังโครงสร้างเดิม แผ่นโพลีเมอร์เสริมเส้นใยทำขึ้นจากเส้นใยที่มีกำลังรับแรงดึงสูงฝังตัวอยู่ในโพลีเมอร์เรซินซึ่งทำหน้าที่ประสานเส้นใยให้ทำงานร่วมกัน ซึ่ง ศ. ดร.อมร พิมานมาศ จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร กล่าวถึงข้อดีของวัสดุนี้ว่ามีอัตราส่วนกำลังต่อนํ้าหนักที่สูง มีความต้านทานต่อการผุกร่อน นํ้าหนักเบา และมีความสามารถในการดูดซับพลังงานได้สูง จึงเหมาะสำหรับการเสริมกำลังโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก แต่มีข้อเสียคือมียังราคาที่แพงอยู่ ส่วนโครงสร้างใหม่ใช้เหล็กปลอกจะราคาถูกกว่า

จุดที่น่าเป็นห่วงสำหรับอาคารคอนกรีตส่วนใหญ่ คือ เสาอาคารและเสาตอม่อ โดยเฉพาะเสาต่ำ ๆ ที่มีความสูง 1-1.5 เมตร โดยจุดที่เสี่ยงต่อการวิบัติมากที่สุด คือ โคนเสา และปลายเสา เมื่อเกิดแผ่นดินไหวจะทำลายคอนกรีตทำให้เหล็กเสริมคดงอ จึงต้องหาวิธีเสริมกำลังให้สามารถรักษารูปทรงได้ด้วยวัสดุที่จะใช้เสริมกำลังภายใต้การสนับสนุนของ สกว. จนนำมาสู่การประยุกต์ให้วิศวกรนำไปใช้ ซึ่งต้องคำนวณว่าจะใช้จำนวนเท่าใดจึงจะเหมาะสมกับเสาคอนกรีตขนาดระหว่าง 15-25 ซม. การใช้วัสดุคาร์บอนไฟเบอร์จะมีความแข็งแรงกว่าเหล็ก 10 เท่า สามารถดำเนินการภายในเวลาเพียง 1-2 ชั่วโมง จึงไม่กระทบต่อการใช้อาคาร 

ขณะที่ ศ. ดร.เป็นหนึ่งกล่าวว่า การเสริมกำลังเพื่อรับแรงแผ่นดินไหวเป็นเรื่องสำคัญ ผู้เกี่ยวข้องรับรู้กันมานานแล้วแต่คนทั่วไปยังมองข้าม จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เชียงรายสร้างความเสียหายรุนแรง ทำให้คนรู้ว่ามีหลายอาคารที่อ่อนแอ ดังนั้นการเสริมกำลังให้มีความต้านทานแผ่นดินไหวจึงต้องเริ่มจากการหาอาคารที่อ่อนแอให้ได้ก่อน การเริ่มต้นที่โรงเรียนเป็นเพราะหากเกิดความเสียหายจะเป็นเหตุให้นักเรียนที่มีอยู่จำนวนมากได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตได้ จึงถือเป็นเรื่องร้ายแรงและต้องให้ความสำคัญมากที่สุดก่อนที่จะขยายผลไปยังอาคารประเภทอื่น ๆ ต่อไป เช่น อาคารสำนักงาน 

ทั้งนี้ในช่วงปิดภาคเรียนทีมงานจะทดลองเสริมกำลังอาคารเรียน 4 แห่ง แบ่งเป็นที่เชียงใหม่ 2 แห่ง และเชียงราย 2 แห่ง โดยเลือกอาคารเรียนที่มีความสูง 2-3 ชั้น มีแบบก่อสร้างปกติเป็นต้นแบบ และทดลองเสริมกำลังด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ทำให้แข็งแรงขึ้นเหนียวขึ้นด้วยการพันแผ่นคาร์บอนไฟเบอร์ ใส่โครงเหล็กดูดซับพลังงาน รวมถึงตรวจสอบราคา เพราะหากไม่แพงมากก็จะทำให้คนพิจารณาดำเนินการกันมากขึ้น และมีความปลอดภัยมากขึ้น โดยมีเป้าหมายอยากให้อาคารทุกแบบมีความแข็งแรงมากขึ้น ซึ่งจะต้องประเมินความเสี่ยงของอาคารแต่ละประเภทแล้วเสริมกำลังกันจริง ๆ ไม่ใช่แผนงานที่อยู่แต่ในกระดาษ อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของอาคารเรียนขึ้นอยู่กับอายุการก่อสร้าง รูปร่างที่แตกต่างกันตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน ซึ่งคณะวิทยากรได้นำองค์ความรู้จากการศึกษาวิจัยความเสี่ยงของอาคารขนาดต่าง ๆ ภายใต้การสนับสนุนของ สกว. มานานกว่า 10 ปี มาทำให้เกิดประโยชน์จริงในทางปฏิบัติ

สำหรับการอบรมที่ได้รับการสนับสนุนจากสิงคโปร์นั้น ศ. ดร.เป็นหนึ่งระบุว่ามหาวิทยาลัยนานยางเทคโนโลยีซึ่งมีชื่อเสียงด้านคุณภาพการศึกษาจากสิงคโปร์ได้ดำเนินศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแผ่นดินไหวและการเสริมกำลังมาแล้วหลายประเทศทั้งอินเดียและเนปาล รวมถึงประเทศไทยที่ได้มีการหารือกันมาตั้งแต่ก่อนเกิดแผ่นดินไหวที่เชียงราย จนเมื่อเกิดเหตุการณ์จึงได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเทมาเส็ก ขณะที่ รศ. ดร.หลี่ บิง จากมหาวิทยาลัยนานยางเทคโนโลยีแห่งสิงคโปร์ กล่าวว่า แม้สิงคโปร์จะยังไม่มีความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวมากนัก เพราะอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางที่เกาะสุมาตรากว่า 100 กิโลเมตร แต่ก็มีการเกิดเหตุบ้างเป็นบางครั้ง จึงได้เริ่มศึกษาวิจัยในระยะเริ่มต้นเพื่อเตรียมความพร้อม โดยเริ่มจากประเทศในอาเซียนเพื่อศึกษาความเสี่ยงและระบบต่าง ๆ 

น.ส.สุจิตรา จงเจริญ และนายเสกสรร ชื่นจิตกุลถาวร วิศวกรโยธาเทศบาลนครเชียงราย เปิดเผยว่า การเข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ได้รับฟังความรู้ใหม่เกี่ยวกับการเสริมกำลัง ทั้งนี้ปกติได้ให้ช่างโยธาของเทศบาลสำรวจอาคารแต่ละประเภทว่าจะต้องเสริมกำลังแบบไหน อย่างไรก็ตามการเสริมกำลังด้วยแผ่นโพลีเมอร์เสริมเส้นใยมีราคาแพง ขณะที่การเสริมเหล็กด้านข้างและพอกทับด้วยคอนกรีตจะราคาถูกกว่า จึงเหมาะสมกับบ้านเรือนประชาชนทั่วไปมากกว่า ทั้งนี้หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่แม่ลาวได้ระดมช่างสำรวจความเสียหาย แต่วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือต้องทำให้ได้มาตรฐานตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง

 

 

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: