'ธรรมกาย' ในตลาดสินค้าทางจิตวิญญาณ

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJ 6 ก.พ. 2558


เป็นอีกครั้งที่วัดธรรมกายออกมาธุดงค์กลางนคร แล้วก็ถูกสวดยับไปตามระเบียบ ซึ่งคงห้ามปรามกันไม่ได้

ลองทบทวนภาพจำในอดีตดูว่า นี้เป็นครั้งแรกที่พื้นที่ทางศาสนาหรือความเชื่อเข้ามายุ่งย่ามในพื้นที่สาธารณะหรือ? แห่เทียนเข้าพรรษา (นี่งานใหญ่ระดับจังหวัดเชียวนะ), แห่นางแมว, แห่เทศกาลกินเจ, แห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ตามศาลเจ้าในชุมชนต่างๆ, แห่กฐิน หรือขบวนแห่พระเกจิผู้ล่วงลับ ผมยังเชื่อว่าศาสนาและความเชื่ออื่นๆ ล้วนเคยก้ำเกินเข้าสู่พื้นที่สาธารณะบ้างไม่มากก็น้อยและล้วนสร้างความเดือดร้อนรำคาญใจแก่ผู้คนไม่น้อยก็มาก

เพียงแต่ความเดือดร้อน รำคาญ ล่วงเลยสู่การด่าทอพฤติกรรมของสำนักนี้ จัดวางอยู่บนฐานความเชื่อชนิดหนึ่ง...

...........

ผมเป็นมนุษย์คนหนึ่งในรัฐนี้ที่เกิดมาพร้อมถูกประทับว่าเป็นพุทธศาสนิก โตขึ้นมาได้ศึกษาแนวคิดของพุทธ ชอบ จึงพูดได้ว่านับถือพุทธเพราะปลื้มปริ่มกับแนวคิดนี้ ซึ่งเป็นความเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีใครล่วงละเมิดได้ แต่ผมดันเป็นชาวพุทธที่เชื่อในความเป็นรัฐฆราวาส คือเราควรแยกความเชื่อทางศาสนาออกจากการอำนาจรัฐ เพราะเวลาเอาสองสิ่งนี้มาปะปนกัน การใช้อำนาจรัฐมักบิดๆ และศาสนาก็มักเบี้ยวๆ

ในโลกฆราวาส ศาสนาหรือลัทธิความเชื่อไม่ต่างจากสินค้าในตลาดเสรีที่ขึ้นกับความชอบ ความเชื่อ และรสนิยมในการเสพ นักบวชของศาสนาหรือลัทธิต่างๆ ล้วนมีสิทธิเผยแผ่ หรือโฆษณา หรือประชาสัมพันธ์-ตามแต่จะเรียก-คำสอนของตนผ่านตลาดเสรี ต้องสร้างความแตกต่าง ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ปรับปรุงสินค้าและบริการต่อเนื่อง ต้องส่งเสริมการตลาด สร้างภาพลักษณ์ กระจายสินค้าและบริการผ่านสารพัดช่องทาง เพื่อให้ผู้บริโภคซื้อหา...หรือศรัทธา ซึ่งไม่ว่าจะทำใจยอมรับได้หรือไม่ มันก็กำลังเกิดขึ้น

ผมขอเรียกว่าตลาดสินค้าทางจิตวิญญาณ

นี้จึงไม่ใช่ครั้งแรกที่การโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าหรือบริการสร้างความเดือดร้อนต่อสาธารณชน เมื่อเดือดร้อนก็ถูกด่าทอ ถูกต่อต้านกันไปตามประสา เช่น เจ้าพ่อชาเขียวโดน เป็นต้น

ในโลกฆราวาส ศาสนาหรือลัทธิความเชื่อ

ไม่ต่างจากสินค้าในตลาดเสรีที่ขึ้นกับ

ความชอบ ความเชื่อ และรสนิยมในการเสพ

หากเรามองธรรมกายคือบริการทางจิตวิญญาณรูปแบบหนึ่ง ดังคำสอนของพระเกจิท่านอื่นๆ หรือสำนักอื่นๆ เป็นสินค้าในตลาดเสรีที่ทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกเชื่อ เราจะเดือดร้อน รำคาญ ล่วงเลยสู่การด่าทอ บนฐานคิดอีกแบบ

............

งานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จเกี่ยว อุปเสโณ ก็มีการแห่แหนและจัดพิธีการอย่างเอิกเกริก จำได้มั้ยครับ รถก็ติดกันอย่างเอิกเกริกเช่นกัน แต่ตอนนั้นไม่มีกระแสต่อต้าน ผมขออนุญาตลองมโนดูว่าเพราะอะไร?

ดังที่ทุกคนทราบ นับจากสมัยรัชกาลที่ 4 ที่ทรงตีความพุทธศาสนาใหม่และใช้เป็นฐานอำนาจ (มีผู้รู้มากกว่าผมเคยเขียนเรื่องทำนองนี้ไว้แล้ว) พุทธและรัฐก็ถูกกลืนเป็นเนื้อเดียวกันเรื่อยมา พ.ศ.นี้ ถึงไม่ถูกระบุให้พุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ก็ใกล้เคียงเต็มที ถึงยามเข้าสู่เทศกาลร่างรัฐธรรมนูญคราใด มักมีม็อบสงฆ์กดดันให้ประทับลงไปเสมอ พอพุทธกับรัฐ-ชาติผูกกันแน่นหนา ความมั่นคงของพุทธจึงกลายเป็นความมั่นคงของรัฐ-ชาติไปโดยปริยาย ทั้งที่ศาสนาเป็นเรื่องของความเชื่อส่วนบุคคล ส่วนรัฐ-ชาติเป็นเรื่องของคนทั้งสังคม

ไม่ว่าธรรมกายจะมีข้าราชการระดับสูง มีไฮโซโก้หรูศรัทธา มีผู้นับถือมากเพียงใด แต่ชาวพุทธที่ไม่เชื่อมีมากกว่า เมื่อพุทธคือความมั่นคงของรัฐ-ชาติ เมื่อคำสอนของธรรมกายถูกมองว่านอกรีต นอกรอย และมิใช่พุทธ มันจึงยุ่ง ผมเดาว่าความเดือดร้อนรำคาญจากการกระทำของธรรมกายส่วนหนึ่งวางอยู่บนความเชื่อที่ว่า นี้จะบ่อนทำลายพุทธศาสนา ซึ่งจะบ่อนทำลายรัฐ-ชาติไปด้วย

…………

แน่นอนว่าวิธีการของธรรมกาย โดยเฉพาะการบริจาคมาก ได้บุญมาก ได้ไปสวรรค์พร้อมเครื่องแต่งกายอลังการ ฯลฯ อาจสร้างความเดือดร้อนให้แก่ครอบครัวผู้ศรัทธาตามที่ได้ยินฟัง หรือมีการกล่าวหาใดๆ ก็ตาม แต่เรามีสิทธิเข้าไปห้ามปรามไม่ให้เขาเชื่อในแนวทางของธรรมกายได้หรือครับ?

ผมว่ามันก็เป็นเรื่องของเขาและถ้าบุคคลรอบข้างเห็นว่ากระทบก็ต้องหาวิธีทางกฎหมายของโลกสมัยใหม่ไปจัดการกันเอง เพราะเราทำอะไรไม่ได้จริงๆ กับความเชื่อของมนุษย์ แม้ว่าจะรู้สึกคันไม้คันมือแค่ไหนก็ตาม

แม้ผมจะรู้สึกคันไม้คันมือเช่นกัน ไม่รู้สึกชื่นมื่นกับแนวทางของธรรมกายสักน้อยนิด แต่ผมทำได้มากที่สุดเพียงไม่ซื้อสินค้าและบริการชิ้นนี้ ส่วนคนอื่นก็ต่อต้าน หาข้อมูลมาดิสเครดิต โน้มน้าวคนรอบตัว บลาๆๆ แต่ถึงที่สุด เราห้ามคนไม่ให้เชื่อไม่ได้

ทว่า เมื่อเราเอาศาสนากับรัฐ-ชาติไปขยำรวมกัน คนที่ออกมาโปรยดอกไม้จึงกลายเป็นคนโง่ โง่นี่ไม่เท่าไหร่ แต่กลายเป็นคนทำลายศาสนาพุทธและทำลายชาติไปด้วย ใช่หรือ? และเพราะเรานำสองสิ่งนี้ขยำรวมกันใช่หรือไม่ จึงทำให้มีเสียงเล่าลือว่าธรรมกายมีความสัมพันธ์อันดีกับพระผู้ใหญ่ระดับสูง ข้าราชการระดับสูง และนักการเมือง คงมิต้องสาธยายว่าเพราะอะไร

การไม่พอใจธุดงค์กลางเมืองเพราะสร้างความเดือดร้อน ไม่แปลกครับ แต่ถ้าไม่เอาธรรมกายมาโยงกับความเป็นพุทธและรัฐ-ชาติ แล้วเห็นเป็นแค่สินค้าและบริการประเภทหนึ่งในตลาดสินค้าทางจิตวิญญาณที่มีอยู่มากมาย…

บางทีอาจช่วยลดความหงุดหงิดรำคาญใจลงได้เยอะทีเดียว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: