คลี่ปมการศึกษาสงฆ์ไทยในภาวะแช่แข็ง หลักสูตรเก่า-ขาดอิสระ-ปัญหาหมักหมม 

สมคิด แสงจันทร์ ผู้สื่อข่าวพิเศษ TCIJ 5 ก.ค. 2558 | อ่านแล้ว 10224 ครั้ง

“การปฏิรูปพุทธศาสนาไทย” กลายเป็นกระแสร้อนแรงในสังคมอีกครั้ง หลังจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แต่งตั้ง "คณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา" โดยมี นายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน เสนอให้ปฏิรูปพุทธศาสนาอย่างเร่งด่วนใน 4 ประเด็น คือ 1. ศาสนสมบัติของวัดและของพระภิกษุสงฆ์  2. ปัญหาของสงฆ์ที่ไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย 3. การทำให้พระธรรมวินัยวิปริต และการประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย และ 4. เรื่องที่ฝ่ายอาณาจักรที่ต้องเข้าไปสนับสนุนศาสนจักร  แต่หลังจากนั้นไม่นาน  คณะกรรมการชุดนี้ก็มีอันต้องยุติบทบาทไป จากกระแสต่อต้านของพระสงฆ์จำนวนหนึ่ง

อย่างไรก็ตามปัญหาหนึ่งที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าจำเป็นต้องปฏิรูปอย่างเร่งด่วนไม่แพ้ปัญหาเรื่องกิจการพระศาสนาหรือเรื่องเงินทองของวัดเท่านั้น คือ “การปฏิรูปการศึกษาของคณะสงฆ์” ในฐานะที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนาไทย ที่ถูกหมักดองมานานนับร้อยปี และยังไม่สามารถผลักดันให้เกิดการปฏิรูปได้อย่างเป็นระบบ

เปิดทางโลก ปิดทางธรรม

การศึกษาของคณะสงฆ์ในปัจจุบัน สามารถแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆ  ประเภทแรก คือการศึกษาที่ปรับปรุงจัดรูปแบบการเรียนการสอนแบบทางโลก  มีสองระดับคือ  1. โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา (ม.1 – ม.6)   2. การศึกษาระดับอุดมศึกษา สองสถาบัน คือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (ฝ่ายมหานิกาย) และ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย (ฝ่ายธรรมยุต) ประเภทที่สอง คือการศึกษาเฉพาะด้านหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาล้วน ๆ ไม่มีวิชาสามัญศึกษาเข้าไปปะปน แยกออกเป็น 1. การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกนักธรรม 2. การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี  

­

มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งได้รับการรับรองสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐในกำกับของรัฐบาล และเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการและไม่เป็นรัฐวิสาหกิจเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ มีสิทธิ์เท่าเทียมกับมหาวิทยาลัยอื่นของรัฐ  สามารถจัดการเรียนการสอนได้ทั้ง บรรพชิต และฆราวาส เช่นเดียวกับปริยัติธรรมแผนกสามัญ มีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ รองรับ และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา พ.ศ. ๒๕๓๕ นอกจากนั้นยังได้รับการรับรองว่าเป็นการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของคณะสงฆ์ ตามหลักสูตรการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี ๒๕๔๒ อยู่ในการดูแลของสำนักงานพระพุทธ ศาสนา ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ

ต่างจาก นักธรรม-บาลี ที่ยังขึ้นตรงต่อมหาเถระสมาคม โดยมี แม่กองธรรมสนามหลวง และแม่กองบาลีสนามหลวงเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ทำหน้าที่กำหนดวัน / เวลา /สถานที่ สำหรับสอบ และตรวจข้อสอบเท่านั้น  แต่ไม่มีส่วนช่วยในการจัดการเรียนการสอน ไม่มีการปรับปรุงหลักสูตรใดๆ ยังคงยึดหลักสูตรเดิมที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงปรับปรุงไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ ที่ยังคงเน้นการท่องจำ สอบปีละครั้ง ไม่มีการวัดผลประเมินผลทั้งผู้เรียนและผู้สอนในระหว่างภาคเรียน 

ปัญหาหลักๆที่มหาเถรสมาคมไม่เคยแก้ไข หรือทำให้เป็นระบบคือการไม่มีหลักสูตรแกนกลาง ทั้งนักธรรมและบาลี โดยเฉพาะบาลี ที่ไม่มีการจัดทำภาษาไทยที่ใช้ในการแปลภาษาบาลี แม้ทุกสำนักจะใช้ตำราภาษาบาลีเล่มเดียวกันทั่วประเทศ แต่กลับไม่มีตำราแปลเป็นภาษาไทยที่เป็นหลักสูตรเดียวกัน กลายเป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มเอกชนบางรายที่ทำหนังสือแปลมาขายให้สำนักเรียนทั่วประเทศ  สร้างภาระทั้งค่าจ้างครู ค่าจัดซื้อจัดหาหนังสือ และค่าดูแลนักเรียนให้เป็นภาระของเจ้าสำนัก การศึกษานักธรรม-บาลี ยังจำเป็นต่อโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์  เพราะพระนักปกครองในระบบของมหาเถระสมาคม และระบบการเลื่อนสมณศักดิ์  ต้องมีวุฒินักธรรม-บาลีคอยกำกับ  ทำให้คณะสงฆ์เองยังต้องรักษาระบบการ ศึกษานี้ไว้     

การศึกษาขั้นพื้นฐานที่ทับซ้อนกัน

การเพิ่มขึ้นของแผนกนักธรรมและแผนกสามัญ บวกกับการเรียนบาลีที่มีมาก่อน ทำให้ปัจจุบันการศึกษาขั้นพื้นฐานของวัดนั้นมีถึง ๓ แผนกคือ สายสามัญ  นักธรรม และบาลี ข้อมูลสถิติการศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการปี ๒๕๕๖ ระบุว่าการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกนักธรรมและบาลีมีสำนักเรียน/สำนักศาสนศึกษา ทั้งหมด ๑๐,๕๗๒ แห่ง (บางแห่งใช้สำนักเรียนกับสำนักศาสนศึกษาร่วมกัน) ครูนักธรรม ๓,๕๐๐ คน ครูบาลี ๑,๕๐๐ คน ในขณะที่โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญมีโรงเรียน ๔๐๕ โรง ครูสอน ๔,๕๑๘ คน  

ทีมข่าว TCIJ ลงพื้นที่สำรวจสำนักเรียนใหญ่ๆในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า พระเณรที่บวชเข้ามาใหม่หลายวัดต้องเรียนทั้งสามแผนกพร้อมกัน ซึ่งแต่ละแผนกนั้นต่างก็ต้องอาศัยเวลาในการเรียนและทำความเข้าใจไม่หย่อนไปกว่ากัน ในระดับนักธรรมชั้นตรีนั้นตามหลักสูตรต้องเรียนถึงหนึ่งปี การเรียนบาลี ประโยค ๑-๒ ต้องเรียนถึงสองปี ในขณะที่การเรียนสายสามัญนั้นจัดตารางเรียนตามโรงเรียนมัธยมทั่วไป  ทำให้สำนักเรียนต่างๆไม่สามารถจัดการเรียนการสอนทั้งสามแผนกนี้พร้อมกันในปีเดียวได้ แต่จำเป็นต้องจัดให้มีการเรียนการสอนเนื่องจากเป็นการศึกษาภาคบังคับ ทางเลือกที่ถูกนำมาใช้จึงขึ้นอยู่กับว่าสำนักเรียนไหนจะเน้นหนักไปทางใด หากเป็นสำนักเรียนที่เน้นแผนกสามัญก็มักจะเรียนนักธรรมบาลีเป็นวิชาเสริม จัดอบรม ๗ - ๑๕ วัน ก่อนสอบ หากเป็นสำนักเรียนที่เน้นนักธรรม-บาลี ก็จะบังคับหรืออกกฎสำนักเรียนไม่ให้พระเณรเรียนสามัญ หรือ ให้เรียนแค่วัดหยุดสุดสัปดาห์ จนกว่าจะจบชั้นบาลีตามที่กำหนด  ซึ่งนั่นก็ทำให้พระเณรขาดโอกาสในการศึกษาทางโลกและเรียนไม่ทันคนอื่น          

อาจารย์สอนบาลีรูปหนึ่งเปิดเผยข้อมูลกับ TCIJ ว่า แม้สำนักเรียนที่ท่านสอนประจำอยู่จะเป็นสำนักเรียนบาลีโดยตรง ก็ยังจำเป็นต้องอนุญาตให้นักเรียน เรียนแผนกสามัญศึกษาด้วยในวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะหากเรียนบาลีอย่างเดียว  นักเรียนจะท้อและเสียเวลาฟรีๆ ไปหนึ่งปีหากสอบบาลีตก แต่ก็ต้องยอมรับว่าการให้นักเรียนไปเรียนสามัญเพิ่มเติม ก็เป็นการเพิ่มภาระให้กับนักเรียน นักเรียนส่วนมากเมื่อเรียนสามัญจบแล้ว  มักจะย้ายหรือสึกออกไปเรียนต่อทางโลกหมด ทำให้การเรียนบาลีไม่ต่อเนื่อง

นร.นักธรรมบาลีเพิ่มแต่สอบผ่านน้อย ต้องเกณฑ์นร.มาสอบ

แม้ว่าการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกนักธรรมและบาลี จะมีสำนักเรียน/สำนักศาสนศึกษาถึง ๑๐,๕๗๒ แห่งจากจำนวนวัดทั้งหมด 39,276 วัดทั่วประเทศ (ในจำนวนนี้มีวัดร้าง กว่า 6,081 วัด) แต่กลับมีนักเรียนเพียง ๓๕,๗๙๐ คน (ใช้สถิติการส่งสอบจากแม่กองบาลีสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๕๖) ในขณะที่โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญมีโรงเรียน ๔๐๕ โรง กลับมีนักเรียนถึง  ๕๑,๑๗๘ คน  สัดส่วนของนักเรียนบาลีแต่ละชั้นยังแตกต่างกันมาก ในปีพ.ศ.๒๕๕๖ เปรียญตรี (ประโยค ๑-๒ และ ประโยค ป.ธ. ๓) มีนักเรียน ๓๒,๒๘๘ คน  เปรียญโท (ประโยค ป.ธ. ๔ -๖) ๔,๘๙๖ คน และเปรียญเอก (ประโยค ป.ธ. ๗-๙) มีเพียง ๑,๘๘๕  คน จากจำนวนที่มีรายชื่อส่งสอบทั้งหมด ๓๕,๗๙๐ คน ซึ่งสาเหตุที่บาลีชั้นต้นมีจำนวนมากนั้น มาจากนักเรียนโรงเรียนสายสามัญส่งรายชื่อสอบและเกณฑ์นักเรียนไปสอบด้วย ทั้งที่หลายโรงเรียนไม่ได้เปิดเรียนนักธรรมบาลีอย่างจริงจัง  ทำให้ในการสอบจริง ปรากฏว่ามีนักเรียนขาดสอบและสอบตกจำนวนมาก  สถิติการสอบในชั้นต้นเฉพาะ ประโยค ๑-๒ ของปี พ.ศ. ๒๕๕๖ นั้นส่งสอบทั้งหมด ๒๓,๙๘๘ คน คงเหลือสอบเพียง ๑๔,๘๗๖ คน และสอบได้เพียง ๑,๘๘๕ คน  คิดเป็นร้อยละ ๑๒.๖๗  เท่านั้น

อาจารย์สอนปริยัติสามัญศึกษาท่านหนึ่ง เปิดเผยว่า ลำพังเพียงการเรียนปริยัติสามัญศึกษาตารางเรียนในแต่ละวันก็เต็มแล้ว ทำให้ไม่สามารถจัดตารางสอนนักธรรมบาลีได้ แต่จะไม่ส่งสอบเลยก็ไม่ได้เพราะมหาเถรสมาคม มีมติให้โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เพิ่มชั่วโมงการเรียนการสอนภาษาบาลี รวมทั้งส่งเสริมให้ส่งนักเรียนเข้าสอบบาลีสนามหลวง โรงเรียนปริยัติธรรมแผนกสามัญหลายสำนัก แม้ไม่ได้จัดการเรียนการสอนนักธรรม-บาลีอย่างสำนักเรียนบาลีทั่วไป แต่ส่งนักเรียนเข้าสอบจำนวนมาก ปัญหาที่พบคือในวันสอบนักเรียนเหล่านั้น ทำข้อสอบไม่ได้ ส่งกระดาษคำตอบเปล่า รีบลุกออกจากห้องสอบ เหลือเพียงนักเรียนสำนักเรียนบาลีเท่านั้นที่นั่งอยู่ในห้องสอบ จนบางสนามสอบดูโหรงเหรงไป ในระยะหลังกรรมการคุมสอบต้องออกกฎไม่ให้นักเรียนออกห้องสอบหากยังไม่ครบชั่วโมง และการสอบในระดับภูมิภาคมักจะพบการทุจริตข้อสอบเป็นประจำ

เงินอุดหนุนสร้างปัญหา

การจัดสรรเงินอุดหนุนในแต่ละแผนกที่ต่างกันของภาครัฐก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการที่สำนักเรียนเลือกหรือไม่เลือกที่จะเปิดสอนแผนกใด ปัจจุบันเงินอุดหนุนต่อหัวของแผนกสามัญศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นอยู่ที่ ๑๙,๓๑๗ บาทต่อปี มัธยมศึกษาตอนปลายอยู่ที่ ๒๐,๐๙๓ บาทต่อปี ครูสอนรับค่าจ้างเป็นรายเดือน หากมีวุฒิต่ำกว่า ป.ตรี เดือนละ ๑๑,๖๘๐ บาท ปริญญาตรีเดือนละ ๑๕,๐๐๐ บาท

ขณะที่เงินอุดหนุนแผนกนักธรรม-บาลีนั้นแยกย่อยดังนี้  ในส่วนของนักธรรมผู้ที่เข้าสอบได้ ๙๐๐ บาทต่อรูปต่อปี สำหรับบาลี เปรียญตรี สอบผ่านได้ ๖ พันบาทต่อรูป สอบตกได้ ๕๐๐ บาท ขาดสอบได้ ๑๐๐ บาท  เปรียญโท สอบผ่านได้ ๗ พันบาท สอบตกได้ ๑ พันบาท ขาดสอบได้ ๑๐๐ บาท เปรียญเอก สอบผ่านได้ ๘ พันบาท สอบตกได้ ๒ พันบาท ขาดสอบได้ ๑๐๐ บาท ครูสอนนักธรรมได้รับค่าจ้างเป็นรายปี ปีละ ๑๒,๐๐๐ บาท ครูสอนบาลีก็รับเป็นรายปี ปีละ ๑๘,๐๐๐ บาทต่อปี ซึ่งจำนวนเงินสนับสนุนน้อยกว่าแผนกสามัญหลายเท่าตัว ทำให้หลายสำนักเรียนจึงเลือกที่จะเปิดสอนปริยัติสามัญเป็นหลัก นักธรรมบาลีเป็นทางเลือก เพื่อความอยู่รอดของสำนักเรียน  ในขณะเดียวกันก็สามารถส่งรายชื่อสอบเพื่อรับเงินอุดหนุนในแผนกนักธรรม-บาลีได้อีก เพราะทั้งสองสอบเพียงปีละครั้ง

เจ้าสำนักเรียนแห่งหนึ่งเปิดเผยกับ TCIJ ว่า ในแต่ละปีจะได้เงินอุดหนุนจากการเปิดสอนนักธรรมบาลีอย่างเดียวเฉลี่ย ๒๕๐,๐๐๐ บาทต่อปี  แต่ในความเป็นจริงสำนักเรียนต้องใช้ค่าใช้จ่ายถึง ๖๐๐,๐๐๐ บาทต่อปีในการจัดการเรียนการสอน โดยต้องออกค่าจ้างครูบาลีเป็นเงินเดือนให้ต่างหาก เพราะรัฐสนับสนุนเป็นรายปี และสนับสนุนเฉพาะครูบาลีที่เป็นบรรพชิตเท่านั้น แต่หลายสำนักเรียนมีความจำเป็นต้องจ้างครูบาลีที่เป็นคฤหัสถ์เนื่องจากครูสอนบาลีไม่เพียงพอ  ค่าจ้างส่วนนี้สำนักเรียนต้องหามาเอง ดังนั้นสำนักเรียนที่จะเรียนบาลีได้จริงๆ ต้องเป็นสำนักเรียนใหญ่ หรือ ไม่ก็เจ้าสำนักเรียนมีตำแหน่งทางการคณะสงฆ์มีศรัทธาญาติโยมให้การช่วยเหลือจึงจะสามารถประคับประคองสำนักเรียนบาลีไปได้ ส่วนสาเหตุหลักที่ตัดสินใจเปิดสำนักเรียนบาลีเนื่องจากท่านมองว่าเป็นการรักษาพุทธศาสนา โดยเฉพาะคำสอนที่บันทึกไว้เป็นภาษาบาลี  

นร.เบื่อ-อาจารย์ขาดจินตนาการในการสอน  

นอกเหนือจากเรื่องการเรียนทับซ้อนกันแล้ว หลักสูตรและวิธีการเรียนการสอนที่ล้าหลัง ก็มีส่วนในการทำให้การศึกษานักธรรมบาลีไม่ได้รับความสนใจจากพระเณร

"นักเรียนเองก็ไม่อยากเรียน เพราะมีแต่การท่องจำ ไม่เกิดกระบวนการเรียนรู้ คิด วิเคราะห์ ร่วมกันในห้องเรียน พระเณรส่วนมากตั้งคำถามว่า "เรียนจบนักธรรม-บาลีมาแล้ว จะเอาไปทำงานอะไร"  ผู้สอนเองก็หมดจินตนาการในการสอน ไม่มีแรงบันดาลใจใหม่ๆในการสอน ได้แต่สอนตามๆกันมาตามแรงศรัทธาในพระศาสนา เนื่องจากหลักสูตรตายตัวและจำเจ ตราบใดที่พระเถระที่ดูแลเรื่องการศึกษานักธรรม-บาลียังยึดติดอยู่กับแนวคิดอนุรักษ์นิยม ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไร การศึกษานักธรรม-บาลี ก็คงรอวันปิดตัวลงไปเรื่อยๆ"  อาจารย์สอนบาลีที่เป็นคฤหัสถ์ท่านหนึ่งให้ข้อมูลกับทีมข่าวของเรา

ในเมื่อการศึกษามีปัญหา ทำไมยังมีเด็กจำนวนมากบวชเรียน ?

แม้จะบอกว่าการศึกษาคณะสงฆ์มีปัญหาเพียงใดก็ตาม แต่การบวชเรียนก็ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และกลายมาเป็นการศึกษาทางเลือกของเด็กไทยที่ไม่อาจเข้าถึงการศึกษาในระบบของรัฐได้ แต่เดิมพระภิกษุสามเณรในระบบการศึกษา จะมาจากเด็กในพื้นที่ชนบททางภาคเหนือ และ ภาคอีสานของไทยที่การศึกษาของรัฐยังเข้าไม่ถึง แต่ปัจจุบันโรงเรียนขยายโอกาสของรัฐทั่วถึงแล้ว  กลุ่มที่มาบวชจึงกลายเป็นกลุ่มที่ตกหล่นไปจากระบบการศึกษาของรัฐ เช่นกลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มคนบนพื้นที่สูง นั่นหมายความว่า การศึกษาของไทยก็ยังไม่สามารถให้การศึกษากับคนได้ทุกระดับ  ข้อมูลพื้นฐานเมื่อปี ๒๕๕๗ ระบุว่า เด็กไทยอายุ ๑๕ - ๑๙ ปี (วัยการศึกษาขั้นพื้นฐาน) จำนวนกว่า ๔.๗๔ ล้านคนเลิกเรียนไปแล้วถึง ๑. ๔๑ ล้านคน (ร้อยละ ๒๙.๖๓) ทั้งที่ไม่เต็มใจออก แต่จำเป็นต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานเพราะความยากจน  พ่อแม่จำนวนมากเลือกที่จะนำบุตรหลานมาบวชเรียน เพื่อหวังจะได้มีโอกาสเรียนในระดับอุดมศึกษา เนื่องจากการบวชเรียนไม่เสียค่าใช้จ่ายมาก

บางสำนักเรียนในจังหวัดเชียงใหม่ร้อยละ 90 ของจำนวนพระเณรในวัดเป็นเด็กที่มาจากลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง เช่น ปกาเกอญอ ม้ง  ลีซู เป็นต้นโดยทุกๆปีจะมีโครงการพระธรรมจาริกเข้าไปในพื้นที่ เพื่อหาเด็กมาบวชเรียน พ่อแม่ของเด็กบางคนได้ยินข่าวก็พาบุตรหลานของตัวเองมาฝากเรียนที่วัด

"วัดยังจำเป็นต่อเด็กกลุ่มนี้ เนื่องจากการเรียนในวัดนั้นผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆเลย ทางวัดออกให้ทั้งหมด ไม่มีหรอกเด็กพื้นถิ่น ลูกคนรวยจะมาบวชเรียน ถ้าจะมีก็ต้องเป็นเด็กที่มีปัญหาครอบครัวไร้ที่พึ่ง ญาติๆจึงจะพามาบวชเรียน เดี๋ยวนี้วัดที่ไหนก็มีแต่พระเณรเหล่านี้  เด็กส่วนมากที่มาบวชนั้นอ่านเขียนภาษาไทยแทบไม่ได้ ทางวัดต้องมาขัดเกลา ฝึกสอนให้อ่านออกเขียนได้ ในแต่ละปีทางวัดจะรับเด็กเหล่านี้เข้ามาบวชประมาณ 120 คนต่อปี"  อาจารย์สอนบาลีรูปหนึ่งอธิบาย

สามเณรรูปหนึ่ง เล่าถึงชีวิตการเรียนของตนเองว่า ตนเป็นชาวไทใหญ่ที่อพยพตามพ่อแม่มาจากรัฐฉาน และยังไม่มีบัตรไทย การเรียนในโรงเรียนทั่วไปของรัฐต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายมาก และทางบ้านยังมีฐานะยากจน พ่อแม่ต้องทำงานเลี้ยงน้องสาวอีกหนึ่งคน ตนเองกับเพื่อนอีกสองคนจึงชวนกันบวชเรียน และบอกถึงการเรียนของตัวเองในปีที่ผ่านมาว่า ในช่วงปกตินั้นตนเองต้องเรียนบาลี ทั้งภาคเช้า  กลางวัน  เย็น  จันทร์ – ศุกร์ จากนั้นวันเสาร์ก็ต้องไปเรียนสายสามัญ ในช่วงเข้าพรรษาก็จะต้องเรียนและท่องนักธรรมไปด้วย ทำให้สามเณรต้องเรียนอย่างหนักตลอดปีที่ผ่านมา และแม้ในปีนี้จะสามารถสอบผ่านบาลีได้ แต่ก็รู้สึกว่าการเรียนสามัญของตัวเองไม่ทันคนอื่น และเรียนไม่ค่อยรู้เรื่อง

แนวทางการปฏิรูปการศึกษาสงฆ์ ?

ด้านอาจารย์ สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการและคอลัมนิสต์ด้านพุทธศาสนา ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีประสบการณ์บวชเรียนมา ระบุว่า ปัญหามาจากระบบปกครองสงฆ์เองที่เป็นอุปสรรคของการปฏิรูปการศึกษา เนื่องจากเป็นระบบการปกครองที่รวบอำนาจบริหารและการจัดการศึกษานักธรรม-บาลีของพระสงฆ์ทั้งประเทศขึ้นต่อส่วนกลาง และเนื่องจากเป็นระบบที่สถาปนาขึ้นโดยพระมหากษัตริย์  มีลักษณะเผด็จการ มีวัฒนธรรมอนุรักษ์นิยมสูง การเปลี่ยนแปลงทั้งเรื่องโครงสร้างการปกครองและการศึกษาหมายถึงการ ไป ‘แตะ’ สิ่งที่ชนชั้นสูงสร้างเอาไว้ จึงไม่มีใครกล้าแตะ   

อาจารย์สุรพศเสนอให้แยกศาสนาออกจากรัฐ เพื่อให้แต่ละวัดมีอิสระในการจัดการศึกษาของตนเอง สร้างหลักสูตรที่หลากหลาย มิใช่เพื่อพระเณรเท่านั้น รวมถึงฆราวาสที่สนใจด้วย หากเป็นเช่นนี้ได้ การศึกษาพุทธศาสนาก็จะมีการแข่งขัน มีความก้าวหน้า เนื่องจากปัจจุบันการศึกษาพระพุทธศาสนาของไทยมีรูปแบบเดียว ขาดความหลากหลายและล้าหลัง แม้จะให้โอกาสทางการศึกษาแก่คนชายขอบได้บ้าง แต่ก็ไม่ใช่การศึกษาที่ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงได้

"ในที่สุดแล้ว การแยกศาสนาจากรัฐ ก็เป็นเรื่องของอำนาจรัฐ เพราะต้องยกเลิกกฎหมายปกครองสงฆ์และบัญญัติหลักการของรัฐฆราวาสในรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ภายใต้บริบทสังคมการเมืองไทยแบบปัจจุบัน"  อาจารย์สุรพศ กล่าวทิ้งท้าย

การปฏิรูปการศึกษาของคณะสงฆ์  จึงเป็นปัญหาทั้งภายในโครงสร้างของการปกครองคณะสงฆ์ และสะท้อนถึงปัญหาการจัดการศึกษาของรัฐไทยด้วย พระเณรเมื่อบวชอยู่ก็เป็นสงฆ์ตามธรรมวินัย แต่เมื่อสึกขาลาเพศออกมาก็เป็นพลเมืองของรัฐ  ดังนั้น การจัดการศึกษาภายในวัด จึงเป็นปัญหาที่ต้องการการปฏิรูปให้เหมาะแก่กาละสมัย  และไม่ใช่เป็นหน้าที่ของรัฐหรือของคณะสงฆ์แต่เพียงเท่านั้น

 

อ่าน 'จับตา': “วุฒิความรู้พระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ไทย”  
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5666

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: