คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ม.44

4 มิ.ย. 2558 | อ่านแล้ว 11093 ครั้ง


รายงานการรวบรวมข้อมูลของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) รวมรวมเหตุการณ์การใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว  2557 มาตรา 44 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่ประกาศใช้ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา

มาตรา 44 มีหลักการว่า ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจําเป็น ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอํานาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทําการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้

จากคำสั่ง 13 ฉบับที่ออกมาโดยอาศัยอำนาจมาตรา 44 มีทั้งการโยกย้ายข้าราชการ เพื่อแก้ปัญหาการบริหารงานในกระทรวงศึกษาธิการ แก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว ไม่แต่งตั้งกรรมการกสทช. และการออกมาตรการหรือนโยบาย เพื่อการใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะ ปรับปรุงการบริหารงานของกระทรวงศึกษาธิการ แก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย แก้ปัญหาการขายสลากกินแบ่งเกินราคา และตั้งกรรมการสรรหาป.ป.ช.

25 ธันวาคม 2557 หัวหน้า คสช. อาศัยอํานาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 1/2557 เปลี่ยนแปลงวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว

จากเดิมที่ คสช. ออกประกาศฉบับที่ 85/2557 ให้งดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและใช้วิธีสรรหาบุคคลแทน แต่คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่1/2557 กำหนดให้สมาชิกสภาท้องถิ่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะพ้นจากตําแหน่งเนื่องจากครบวาระ ยังคงอยู่ในตําแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป กรณีที่สมาชิกสภาท้องถิ่นพ้นจากตําแหน่งเพราะสาเหตุอื่นนอกจากครบวาระ ให้สภาท้องถิ่นคงจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ โดยไม่ต้องทำการคัดเลือกสมาชิกแทนตําแหน่งที่ว่าง ยกเว้นสมาชิกเหลือไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกสภาท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้สรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 85/2557

ทั้งนี้ ไม่ให้คำสั่งนี้มีผลบังคับกับกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา และให้สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งสองแห่งที่ได้รับการคัดเลือกตามประกาศ คสช.ที่ 85/2557 ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

ภาพจาก Facebook : iLaw

ภายหลังการยกเลิกกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมาหัวหน้า คสช. อาศัยอํานาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทําที่บ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ สาระสำคัญคือให้มีเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย มีหน้าที่ปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง และการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งคสช. โดยให้มีอำนาจสอบสวน อำนาจจับกุม และเรียกบุคคลมารายงานตัว

8 เมษายน 2558 หัวหน้า คสช. อาศัยอํานาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 4/2558 เกี่ยวกับมาตรการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองประโยชน์สาธารณะ เช่น ป้องกันการบุกรุกที่สาธารณะ ป่าสงวนแห่งชาติอุทยานแห่งชาติ การใช้ประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะกีดขวางทางจราจร

10 เมษายน 2558 หัวหน้า คสช. อาศัยอํานาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 5/2558 แก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 โดยเป็นการแก้ไขความหมายของคำว่า “ผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” ให้ครอบคลุมมากขึ้น จากเดิมที่ระบุเพียงแค่ข้าราชการทหารซึ่งมียศต่ำกว่าชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรี ลงมา ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งให้ปฏิบัติการ คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่5/2558 ให้หมายความรวมถึง ทหารประจําการ ทหารกองประจําการ และอาสาสมัครทหารพรานด้วย

16 เมษายน 2558 หัวหน้า คสช. อาศัยอํานาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 6/2558 เกี่ยวกับการโยกย้ายข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ 6 ตำแหน่ง เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการมีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

ในวันเดียวกัน ยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 7/2558 เกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างอำนาจการบริหารงานขององค์กรในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ คือ คณะกรรมการคุรุสภา คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา และคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริม สวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการมีประสิทธิภาพ

23 เมษายน 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2558 ให้ พิชิต นิลทองคำ จัดหางานจังหวัดชลบุรี สิ้นสุดการทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว เพื่อให้การแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวและปัญหาจากการค้ามนุษย์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

24 เมษายน 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 8/2558 ให้ กสทช. ไม่ต้องดําเนินการสรรหาและคัดเลือกบุคคลใดดำรงตำแหน่งกรรมการ กสทช. แทนตําแหน่งที่ว่างลง หลังจากที่ สนช. มีมติไม่รับรายชื่อผู้สมควรเป็นกรรมการ กสทช. ด้านกฎหมาย ตามที่มีการสรรหาและคัดเลือกมา 4 คน แล้วคัดเลือกให้เหลือ 1 คน จึงขอให้ ครม. เป็นผู้พิจารณาแทน ต่อมา ครม. เห็นว่า เป็นการไม่สมควรที่ ครม. จะเลือกบุคคลอื่นใดนอกเหนือจากบุคคลตามบัญชีรายชื่อที่ได้สรรหามาดำรงตำแหน่งแทน

29 เมษายน 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 10/2558 เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ให้จัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย” (ศปมผ.) เป็นศูนย์เฉพาะกิจ ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นผู้บัญชาการ ศปมผ. เพื่อแก้ไขปัญหาจากการที่ประเทศไทยได้รับการประกาศเตือนจากสหภาพยุโรปถึงการจัดให้มีมาตรการในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม

1 พฤษภาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 11/2558 เพื่อกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

สาระสำคัญของคำสั่งฉบับนี้ คือ คำสั่งให้คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลพ้นจากตำแหน่ง และไม่ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล จนกว่าหัวหน้า คสช.จะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง หรือ คสช. จะสิ้นสุดลงตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ ยังกำหนดโทษให้ผู้ที่ขายสลากฯ เกินราคาที่กำหนดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารที่ผู้บัญชาการทหารบกหรือแม่ทัพภาคมีอำนาจในการป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสำนักงานสลากฯ

และในวันที่ 2 พฤษภาคม 2558 ยังออกคำสั่งหัวหน้าคสช. (เฉพาะ) ที่ 1/2558 โดยอาศัยอำนาจจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 11/2558 แต่งตั้ง พลตรี อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ให้เป็นประธานกรรมการ ในคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล 

8 พฤษภาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 12/2558 ให้นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากอายุเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ ดำรงตำแหน่งต่อไปจนถึงวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558 เพื่อให้ครบกำหนดวาระพร้อมกับกรรมการอีก 4 คน

ในวันเดียวกัน หัวหน้าคสช. ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 13/2558 เรื่อง การสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เนื่องจากปัจจุบันไม่มีผู้ดํารงตําแหน่งผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประกอบกับประธานศาลปกครองสูงสุดก็ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จึงขาดตำแหน่งกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไป สมควรแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา โดยการเพิ่มผู้แทนจากฝ่ายบริหารให้กรรมการสรรหามีที่มาจากอํานาจทั้งสามฝ่ายโดยให้รองนายกรัฐมนตรีที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นกรรมการสรรหาด้วย

15 พฤษภาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 16/2558 เรื่อง มาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบและการกำหนดกรอบอัตรากำลังชั่วคราว โดยมีสาระสำคัญคือ สั่งพักงานข้าราชการจำนวน 45 คน ซึ่งมีมูลเหตุว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ 

ในวันเดียวกัน หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 17/2557 เรื่อง เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หัวหน้า คสช. อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญเพื่อเร่งรัดกระบวนการให้ได้มาซึ่งพื้นที่ที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยให้ที่ดินตกเป็นที่ราชพัสดุ และให้มีผลเป็นการเพิกถอนสภาพที่ดินต่าง ๆ 

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: