Fieldwork Tips: เก็บข้อมูลภาคสนามในกลุ่มเป้าหมายอย่างไรให้มีโอกาสพลาดน้อยที่สุด?

ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข 4 พ.ย. 2558 | อ่านแล้ว 12335 ครั้ง


ผู้เขียนเองก็เคยผ่านประสบการณ์ดังกล่าวนี้มาก่อน เมื่อครั้งที่เคยลงทะเบียนรายวิชา ‘Research Methodology in Social Science’ ทำให้ได้มีโอกาสร่ำเรียนเทคนิค และวิธีวิทยาของการทำวิจัยในสาขาสังคมศาสตร์ ซึ่งก็มีทั้งระเบียบวิธีวิจัยในแบบเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) และ เชิงปริมาณ (Quantitative Research) สำหรับการวิจัยในเชิงปริมาณนั้นก็ได้รับเอาอิทธิพลของวิธีคิดและรูปแบบ ระเบียบวิธีการปฏิบัติการมาจากวิทยาศาสตร์ (Scientific Method) เช่นกัน ดังจะเห็นจากการนำเอาการเก็บรวบรวมข้อมูลทางสถิติ การคำนวณหาผลลัพธ์ที่น่าจะเป็น การใช้โปรแกรม SPSS การเก็บข้อมูลจากการทดลอง (Testing and Experimental Approaches) ในส่วนนี้มักจะเป็นส่วนที่ไม่ได้เกินเลยถึงขีดความสามารถของนักศึกษาส่วนใหญ่ นักศึกษาสามารถผ่านพ้นบททดสอบดังกล่าวไปได้ด้วยดีเสมอ

แต่เมื่อกล่าวถึงในส่วนของการลงพื้นที่ การลงไปเก็บข้อมูลภาคสนาม แน่นอน ส่วนที่น่าตื่นเต้นและน่าสนใจมากที่สุดอยู่ที่การพยายามค้นคว้าหาข้อมูลโดยมีฐานอยู่บนการพึ่งพาและพึ่งพิงการมีอยู่และประสบการณ์ของผู้อื่น (presence of the others) อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อการได้มาของข้อมูลที่จะมาเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบในงานวิจัยของนักศึกษา ที่นอกจากจะมีความยากลำบากของการแจกและเก็บรวบรวมแบบสอบถาม (Survey) ซึ่งนักศึกษาจะต้องใช้ความอดทนและความเสี่ยงที่จะมาได้รับแบบสอบถามกลับคืน หรือรวมไปถึงความยากลำบากในการเข้าถึงและการให้ความร่วมมือของผู้ที่จะมาตอบแบบสอบถาม

แต่ที่ยากเย็นไม่น้อยไปกว่ากันเลยก็คือ การลงพื้นที่เก็บข้อมูลภาคสนามที่จำเป็นต้องเข้าถึงกลุ่มตัวอย่าง ผู้ให้ข้อมูล หรือผู้ให้สัมภาษณ์ในสภาวะที่ทั้งผู้วิจัยและผู้ให้ข้อมูลยังไม่มีความคุ้นชิน คุ้นเคยหรือสนิทสนมกัน (ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวนี้พบได้บ่อยครั้งมากสำหรับผู้วิจัยที่ยังมีสถานะเป็นนักศึกษา หรือผู้วิจัยฝึกหัด ที่มีเวลาในการศึกษา และเก็บข้อมูลสำหรับทำการวิจัยในระยะสั้น หรือฉาบฉวย) ทำให้การ ‘เข้าหา’ ในหลายๆครั้งผู้วิจัยไม่สามารถเก็บข้อมูล หรือ ได้รับข้อมูลที่เต็มเม็ดเต็มหน่วยจากการสัมภาษณ์ครั้งนั้นๆ (โดยเฉพาะเมื่อผู้วิจัยต้องทำงานและประสานงานกับผู้ให้ข้อมูลที่เป็นชาวบ้าน คนทั่วไปหรือผู้คนในสังคมภายนอกวงวิชาการ) และท้ายสุดก็มีแนวโน้มจะพลาดโอกาสในการได้รับคำตอบที่ถูกต้อง และอาจคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงที่ปรากฏอยู่ได้ เหตุผลหลักๆที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะประเด็นเรื่องของเส้นแบ่งในความเป็น ”คนใน” (Insider) และ “คนนอก” (Outsider) นั้นยังคงชัดเจน แจ่มชัดมากจนเกินไป จนทำให้ผู้ให้ข้อมูลลังเลที่จะตอบคำถาม โดยเฉพาะกับคำถามที่สุ่มเสี่ยง หรือเกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนตัว หรือความเป็นไปทางสังคมอันจะสามารถเชื่อมโยงกลับมาถึงตัวผู้ให้ข้อมูลในภายหลังได้

กรณีดังกล่าวนี้แม้แต่ผู้วิจัยที่ต้องการจะเก็บข้อมูลด้วยวิธีสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม ดังเช่น นักมานุษยวิทยา ที่ต้องการจะสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูล ในหลายๆหัวข้อก็ยังต้องใช้เวลาในการเข้าไปร่วมมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมของกลุ่มตัวอย่างเป็นเวลานาน หรือใช้เวลามากกว่า 4-5 เดือน เพื่อลดทอนความเข้มข้นของเส้นแบ่งระหว่าง “คนใน” และ “คนนอก” ลง แต่ในทางกลับกัน เมื่อคุณเป็นนักศึกษา เป็นมือใหม่ในโลกของการทำวิจัย (และสำหรับบางพื้นที่ที่สามารถจะเข้าถึงได้ในปริมาณความถี่ระดับที่ต่ำ) คุณอาจไม่ได้มีเวลามากมาย หรือ ขอบเขตของการเวลามากเท่ากับผู้ที่เป็นนักมานุษยวิทยา (โดยเฉพาะผู้ที่เป็นนักศึกษา ต้องไม่ลืมว่า คุณมีเวลาเพียงแค่เทอมเดียว หักลบเวลาส่วนต่างและการทำกิจกรรมอื่นๆไปแล้วคุณก็มีเวลาไม่ถึง 4 เดือน และอาจน้อยกว่านั้น หากเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “ปั่นก่อนส่ง” หรือ “ไฟไหม้ [ไฟลนก้น]”) คำสอนที่ผู้เขียนยังคงจำได้ขึ้นใจจนถึงปัจจุบันนี้ เกี่ยวกับการทำวิจัย โดยอาจารย์ท่านหนึ่ง (ซึ่งด้วยปัญหาทางด้านสุขภาพกายของอาจารย์ ทำให้ไม่สามารถเข้าสอนได้ในบ่อยครั้ง แต่ท่านก็ยังมีความเพียรพยายามในการที่จะให้ความรู้ และให้คำปรึกษาที่ดีต่อผู้เขียนเสมอมา) ท่านเคยกล่าวว่า “งานวิจัยที่ดี คืองานวิจัยที่ทำเสร็จ” และมันก็เป็นเรื่องจริงที่สุดเรื่องหนึ่งที่ยังคอยย้ำเตือนผู้เขียนมาจนถึงทุกวันนี้

ย้อนกลับมาที่เรื่องของการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลภาคสนามจากผู้ให้ข้อมูลในเงื่อนไขกรณีที่ขาดความคุ้นเคยและคุ้นชินระหว่างกัน ผู้เขียนอยากจะยื่นคำแนะนำเล็กๆน้อยๆถึงทั้งนักศึกษา และผู้วิจัยที่เพิ่งเข้าสู่โลกของการวิจัย (ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาที่จะกล่าวอ้างถึงความเหนือกว่า หรือความมากกว่าในประสบการณ์ แต่อย่างใด) ว่า เงื่อนไขและกรณีดังกล่าวนี้ ผู้วิจัยสมควรที่จะพิจารณาและไตร่ตรอง ประเมินสถานการณ์ให้มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าผู้วิจัยจะเข้าไปในลักษณะใด เข้าไปด้วยเรื่องอันใด เข้าไปในฐานะอันใด ตัวผู้วิจัยกับผู้ให้สัมภาษณ์นั้นมีความคุ้นเคยกันมากน้อยเพียงใด และที่สำคัญคือ ประเด็นของข้อมูล ที่ผู้ให้ข้อมูล(กำลัง)จะให้กับผู้วิจัยนั้นมันมีลักษณะแบบใด มีความสุ่มเสี่ยง หรือ มีโอกาสที่จะโยงเข้ามาที่ตัวผู้ให้ข้อมูลในภายหลังได้มากน้อยเพียงไหน ในกรณีที่หากข้อมูลดันเกี่ยวข้องหรืออาจเชื่อมโยงไปถึงเรื่องส่วนตัว รวมไปถึงด้านข้อมูลที่เขากำลังจะให้กับผู้วิจัยนั้น มัน “สำคัญ” หรือ “โยงกลับมาหาผู้ให้ข้อมูลได้” ผนวกกับการที่ผู้ให้ข้อมูลยังขาดความคุ้นเคย และมีเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างผู้วิจัยกับผู้ให้ข้อมูล (ซึ่งแน่นอนว่ามากกว่า 50% ของหัวข้อและข้อมูลที่ผู้วิจัยต้องการจะได้ นั้นมันสามารถเชื่อมโยงกลับไปหาผู้ให้ข้อมูลได้อย่างง่ายดาย)

ผู้เขียนมั่นใจว่า มีอาจารย์หรือผู้ใหญ่หลายๆท่านที่อาจจะเคยสอนและแนะนำมาบ้างว่า “ต้องเตรียมสมุดบันทึกเข้าไป เพื่อทำการช็อตโน้ตข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ไม่ให้ข้อมูลนั้นตกหล่น” ในส่วนนี้ผู้เขียนอยากจะเตือนว่า ผู้ที่จะทำวิจัยหรือไปลงพื้นที่เก็บข้อมูลภาคสนามจะต้องพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วน เพราะคำแนะนำนั้นจะมีประสิทธิภาพได้ก็ขึ้นอยู่กับบริบท เวลา สถานที่และโอกาสที่เหมาะสม ผู้เขียนเห็นด้วยกับความจำเป็นของสมุดบันทึก แต่ผู้เขียนมีความเห็นว่า ความจำเป็นของสมุดบันทึกนั้นจะเกิดขึ้นในภายหลังจากที่ผู้วิจัยได้ข้อมูลมาจนครบแล้ว จึงค่อยจดบันทึก และสรุปอีกครั้งในภายหลังจากได้รับข้อมูลต่างๆมาจากผู้ให้ข้อมูลเรียบร้อยแล้ว (Post-interview)

เพราะจากประสบการณ์ของผู้เขียนเอง ขออนุญาตยกกรณีศึกษาหนึ่งขึ้นมาเป็นตัวอย่าง โดยมีผู้วิจัย 2 ราย ได้มีโอกาสเข้าพบกับผู้ที่เป็นหนึ่งในกลุ่มตัวอย่าง หรือผู้ให้ข้อมูล และผู้ให้สัมภาษณ์ ในกรณีที่เส้นแบ่งของความเป็นคนนอกและคนในมีความเข้มข้นและชัดเจน ผู้วิจัยรายแรก (X1) เดินเข้าไปโดยถือสมุดบันทึก และอุปกรณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความพร้อมที่จะบันทึกเสียงเก็บเอาไว้ กับผู้วิจัยอีกรายหนึ่ง (X2) ที่เดินเข้าไปตัวเปล่า และนั่งพูดคุยกับผู้ให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ผู้ให้ข้อมูลมีแนวโน้มจะเลือกสนิทใจที่จะให้ข้อมูลกับผู้วิจัยหรือคนนอก ในตัวเลือกที่ 2  (X2) มากกว่า แม้จะเคยเจอกันไม่กี่ครั้ง หรืออาจเพิ่งเคยเจอกันครั้งแรก (เพราะหากเป็นกรณีที่เดินเข้าไปพร้อมกับเครื่องบันทึกเสียง หรือไปนั่งพูดคุยพร้อมกับจดบันทึกอยู่เป็นพักๆ ผู้ให้ข้อมูลมีแนวโน้มจะให้ข้อมูลแบบเลี่ยงๆในบางประเด็นมากขึ้น) ผู้เขียนจึงอยากแนะนำให้ใช้ความจำเป็นหลักในการจดบันทึกมากกว่าจะใช้สมุดบันทึก หรือ เครื่องบันทึกเสียงในการเก็บข้อมูล (ซึ่งเป็นวิธีที่ผู้เขียนใช้อยู่บ่อยครั้ง ผู้เขียนจะพยายามจำให้ได้ทุกๆสิ่งที่ได้พูดคุยกับผู้ให้ข้อมูล และไปจดบันทึกเก็บรายละเอียดในภายหลังเสมอ) แต่สำหรับผู้ที่อาจมีปัญหาในด้านความทรงจำ ผู้วิจัยอาจจะเลือกใช้วิธีการบันทึกเสียงแทน แต่เงื่อนไขสำคัญเลยคือ ควรจะกดบันทึกเสียงเอาไว้ตั้งแต่ก่อนเริ่มการสนทนา และหลีกเลี่ยงที่จะให้ผู้สัมภาษณ์รู้ตัวว่ามีการบันทึกเสียงขณะสนทนา (ซึ่งตัวผู้เขียนเองก็ไม่แนะนำให้กระทำ และขอให้พิจารณาไว้เป็นทางเลือกสุดท้ายจริงๆ)

เหตุผลสำคัญก็คือว่า การเข้าไปด้วยรูปแบบตัวเปล่า พร้อมกับการพูดคุยที่ราบรื่น ไร้การจดบันทึก หรือการวางเครื่องบันทึกเทป บันทึกเสียงในจุดบริเวณวิสัยที่มองเห็นได้ชัด นั้นมีแนวโน้มที่จะเรียกความไว้วางใจและความเป็นมิตร (ในการให้คำตอบ) จากผู้ให้ข้อมูล ได้มากกว่า การหยิบเครื่องบันทึกเสียงและสมุดบันทึกมาวางตรงหน้าผู้ให้ข้อมูลพร้อมการจดเป็นระยะๆ เพราะพฤติกรรมดังกล่าวจะสร้างความเป็นไปได้ที่สูงขึ้นต่อการที่ผู้วิจัยจะพลาดการได้รับข้อมูลเชิงลึกในบางประเด็นไปอย่างน่าเสียดาย จากความไม่ไว้วางใจที่ผู้ให้ข้อมูลมีให้ต่อผู้วิจัย

อันเนื่องมาจากว่า ในประเด็นทางสังคม ประเด็นทางชีวิต และระบบความสัมพันธ์ต่างๆที่แพร่กระจายอยู่ในพื้นที่ของกลุ่มตัวอย่างในหลายๆประเด็นนั้น ผู้ให้ข้อมูลก็อาจจะอยากเล่าหรือบอกต่อจริง แต่ไม่ประสงค์จะให้มีการนำไปเผยแพร่ในภายนอก แม้เรื่องนั้นๆจะไม่ใช่ประเด็นที่จะนำไปสู่คดีความทางกฎหมายก็ตาม แต่ด้วยความหวาดระแวง หรือความไม่ไว้วางใจที่อาจเกิดขึ้นจากการถูกบันทึกเสียง (ที่อาจทำให้เกิดผลกระทบหลายๆประการตามมาในภายหลัง เมื่อมีหลักฐานที่ประจักษ์ชัดเจนด้วยเสียงเช่นนั้น) ผู้ให้ข้อมูลจึงอาจเลือกที่จะตอบในข้อมูลที่คลาดเคลื่อน หรือเอนเอียงไปจากความจริงที่เป็นอยู่ก็เป็นได้

ผู้เขียนอยากจะบอกว่า การที่ผู้วิจัยนั้นเข้าไปในพื้นที่ หรือ เข้าไปหาผู้ให้ข้อมูลพร้อมกับลั่นวาจาในลักษณะที่ว่า ผู้วิจัยสัญญาจะปกปิดแหล่งที่มาของข้อมูลเป็นความลับผ่านสัจจะ ฯลฯ บางทีมันก็ไม่พอสำหรับการจะทำให้มั่นใจว่าผู้วิจัยจะได้ข้อมูลที่เป็นความจริง หรือใกล้เคียงกับความเป็นจริงนั้นมากที่สุด เพราะมันไม่ใช่การแลกใจกัน อันเนื่องมาจากว่าผู้ที่เข้าไป (คนนอก/ผู้วิจัย) นั้นสามารถพูดสิ่งใดก็ได้ เนื่องจากขาดซึ่งความคุ้นเคย หรือคุ้นชิน (อันจะนำไปสู่สายใยความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างกัน) อาจตั้งใจเข้ามาครั้งเดียว ในรูปแบบที่ไม่มีสิ่งใดจะเสียอยู่แล้ว พอได้ข้อมูลหรือสิ่งต้องการก็จะออกไป โดยไม่ได้ใส่ใจถึงปัญหาที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นภายหลัง เช่นนี้ คนใน หรือผู้ให้ข้อมูลก็อาจเกิดความรู้สึกลังเล และความไม่ไว้วางใจขึ้นได้ว่า ผู้วิจัยหรือคนนอกที่เข้ามา จะสามารถไว้ใจ หรือ “แลกใจ” ด้วยได้หรือไม่ และจะมีความลังเลเกิดขึ้นในอีกระดับหนึ่ง พร้อมกับคำถามที่ว่า “ควรจะเล่าเรื่อง…ให้ฟังดีไหม” เป็นต้น

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้เขียนก็มิได้หมายความว่า ในการลงพื้นที่ และการวิจัยภาคสนามในทุกๆครั้ง ผู้วิจัยจะต้องเผชิญกับสถานการณ์สมมติที่ผู้เขียนยกมาไว้ในบทความนี้เสมอไป เพราะทุกอย่างนั้นไม่มีสิ่งใดแน่นอน หรือเหมือนเดิมตลอดเวลา ทุกๆสถานการณ์ผู้วิจัยจำเป็นต้องสำรวจบริบทโดยรอบก่อนจะเข้าไปสำรวจความคิดของผู้ให้ข้อมูลและกลุ่มตัวอย่าง หากสถานการณ์นั้นเอื้อ และมีความเป็นไปได้ในการรับข้อมูลสูงต่ำเช่นใด ผู้วิจัยก็อาจปรับเปลี่ยนพลิกแพลงวิธีการเก็บข้อมูลให้เหมาะสมตามสถานการณ์ (เช่นในกรณีที่ข้อมูลเป็นเรื่องเล็กน้อยและไม่มีเนื้อหาล่อแหลม เสี่ยงภัยต่อผู้ให้ข้อมูล)

สิ่งที่ผู้เขียนอยากจะแนะนำและย้ำเตือนไว้ก็คือยิ่งในสถานการณ์ที่ความคุ้นเคย คุ้นชิน สนิทสนม มีระดับต่ำ และความหนาแน่นของกำแพง ความเข้มข้นของเส้นแบ่งระหว่างความเป็นคนนอกและคนในที่มีสูง จะยิ่งมีโอกาสและแนวโน้มสำหรับการได้มาซึ่งข้อมูลที่มีความใกล้เคียงกับความเป็นจริงน้อยลง ฉะนั้นผู้วิจัยจำเป็นที่จะต้องพิจารณาและไตร่ตรองในวิธีการ และเทคนิคในการได้มาซึ่งข้อมูลภาคสนามของตนเองให้ถี่ถ้วนและรอบคอบ เพื่อข้อมูลที่มาก และใกล้เคียงกับความเป็นจริงอันสามารถจะนำไปใช้ประโยชน์ในทางวิชาการภายหลังได้มากที่สุด (ปฏิเสธไม่ได้ว่าการสัมภาษณ์หรือการลงพื้นที่ภาคสนามในแบบ In-Depth Interview นั้นมีโอกาสที่ข้อมูลจะถูกบิดเบือน และเอนเอียงออกจากความเป็นจริงโดยผู้ให้ข้อมูลได้สูง แต่เงื่อนไขหนึ่งที่จะลดโอกาสดังกล่าวนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากเทคนิควิธี และไหวพริบที่ผู้วิจัยจำเป็นต้องปรับใช้และพลิกแพลงตามสถานการณ์เช่นกัน)

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกบน Facebook Wall ของผู้เขียน (26 Oct 2015)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: