เด็ก ‘โอลิมปิกวิชาการ’ หายไปไหน บทพิสูจน์ความคุ้มค่าการลงทุนกับหัวกะทิ

สุทธิโชค จรรยาอังกูร 10 ก.พ. 2558 | อ่านแล้ว 55053 ครั้ง

ข่าวความสำเร็จของเด็กไทยบนเวทีโอลิมปิกวิชาการนั้นสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ประเทศชาติมานานนับสิบปี ด้วยผลงานที่ถือว่าอยู่ในระดับยอดเยี่ยม และสามารถคว้าเหรียญรางวัลกลับบ้านแล้วกว่า 300 เหรียญในรอบ 20 กว่าปี คือประจักษ์พยานว่า จริงๆ แล้วเยาวชนไทยเองก็มีความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ทัดเทียมนานาอารยประเทศ และในปี 2558 นี้ ประเทศไทยยังได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศอีกด้วย

แต่ประเด็นที่สร้างความฉงนและข้อวิพากษ์คือ หลังจากผ่านสมรภูมิระดับโลกมาแล้ว ฮีโร่เยาวชนเหล่านี้หายหน้าหายตาไปไหนกันหมด นำมาสู่การตั้งคำถามถึงความคุ้มค่า เพราะการปั้นเยาวชนคนหนึ่งต้องใช้งบประมาณและแรงผลักดันสูงมาก ขณะที่สังคมไทยยังต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์เหมือนเช่นเดิม กับผลสัมฤทธิ์การศึกษาด้านอื่น และสถิติคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยที่อยู่รั้งท้ายชาติอื่นๆ ในโลก

กว่าจะเป็นเด็กโอลิมปิก

ประเทศไทยเริ่มจัดส่งเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมโอลิมปิกวิชาการมาตั้งแต่ ปี 2532 โดยมีหน่วยงานทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลและคัดเลือกร่วมกัน 2 หน่วยงาน คือมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) โดยปัจจุบัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานมูลนิธิ และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โดยส่งนักเรียนเข้าร่วม 8 สาขาวิชา 9 สนามแข่งขัน คือฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ เคมี ชีววิทยา คอมพิวเตอร์ โลกและอวกาศ ดาราศาสตร์ (ระดับ ม.ต้น และ ม.ปลาย) และวิทยาศาสตร์ระดับ ม.ต้น

รศ.เย็นใจ สมวิเชียร เหรัญญิกและกรรมการมูลนิธิ สอวน. ในฐานะของผู้ก่อร่างโอลิมปิกวิชาการในประเทศไทยมาตั้งแต่ต้น อธิบายว่ากิจกรรมนี้เกิดขึ้นตามพระดำริของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ซึ่งเล็งเห็นว่าเด็กเก่งเป็นเด็กที่ด้อย โอกาสในสังคม เพราะผู้คนไม่สนใจเด็กกลุ่มนี้เนื่องจากเชื่อว่าสามารถช่วยตัวเองได้ ทำให้ไม่เกิดการพัฒนาเท่าที่ควร ขณะเดียวกัน กิจกรรมนี้ยังเน้นการคิดวิเคราะห์ จึงเป็นโอกาสให้เด็กได้ฝึกฝนศักยภาพและพัฒนาตัวเองอย่างเต็มที่

โดยกระบวนการคัดเลือกต้องถือว่าซับซ้อนพอสมควร เพราะกว่าที่เด็กจะผ่านเป็นตัวแทนชาติได้ต้องฝ่าด่านค่ายต่างๆ ถึง 4 ค่าย ซึ่งแต่ละค่ายจะมีการสอบคัดเลือกผู้ที่มีสิทธิ์เข้ารับการอบรมในจำนวนที่จำกัด และมีความเข้มข้นของการเรียนการสอนมากขึ้นตามความลึกของค่าย

เหตุผลที่จำเป็นจะต้องมีค่ายจำนวนมาก เพราะปัจจุบันกิจกรรมโอลิมปิกวิชาการนั้นได้รับความสนใจจากเยาวชนมากขึ้น ทว่า สสวท. ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักมาตั้งแต่แรกมีฐานะหน่วยราชการ ทำให้มีข้อจำกัดทั้งในเรื่องงบประมาณ บุคลากร รวมไปถึงความรวดเร็วในการทำงาน ดังนั้นในปี 2542 จึงมีการตั้งมูลนิธิ สอวน.ขึ้นมา เพื่อช่วยทำหน้าที่คัดกรองเยาวชนที่มีความสนใจในขั้นแรก ผ่านศูนย์ สอวน. 27 แห่งทั่วประเทศ

โดยรูปแบบของค่ายนั้นคล้ายกับการเข้าห้องเรียนติวเข้ม เพราะเนื้อหาที่สอนจะมีความลึกและเข้มข้นกว่าหลักสูตรในโรงเรียนปกติมาก ที่เป็นเช่นนี้เพราะหลักสูตรวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ในบ้านเรายังถึงว่าห่างชั้นมากเมื่อเทียบกับในต่างประเทศ และทางโอลิมปิกวิชาการเองก็ใช้มาตรฐานตรงนี้มาเป็นเกณฑ์สำคัญในการออกข้อสอบ

‘ต้นทุน’ สู่โอลิมปิก

จากขั้นตอนการทำงานทั้งหมดนี่เอง ได้นำมาสู่คำถามสำคัญอย่างการใช้งบประมาณ เพื่อที่จะได้เด็กจำนวน 20 กว่าคน เพื่อมาเป็นตัวแทนประเทศ

ข้อมูลจากสำนักงบประมาณพบว่าโครงการนี้อยู่ในส่วนดำเนินการของ สสวท. ทว่าข้อมูลที่เกี่ยวกับ สสวท.โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นค่าย สสวท.1 และ 2 รวมไปถึงการเตรียมตัวบุคคลที่เป็นตัวแทนชาตินั้นไม่ได้มีการแจกแจงราย ละเอียดชัดเจนไว้ เพียงแต่มีการระบุไว้หลวมๆ ว่าอยู่ในงบของการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบ้าง แต่ส่วนที่มีการระบุอย่างชัดเจน คืองบประมาณเพื่ออุดหนุนมูลนิธิ สอวน.  ซึ่งพอค้นย้อนกลับไปตั้งแต่ ปี 2551 พบว่าแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ยกเว้นปี 2553         

ปี 2551   จำนวน    88,000,000 บาท                  ปี 2552   จำนวน    93,000,000 บาท

ปี 2553   จำนวน    84,000,000 บาท                  ปี 2554   จำนวน    110,195,000 บาท

ปี 2555   จำนวน    183,442,000 บาท                ปี 2556   จำนวน    183,520,000 บาท               

ปี 2557   จำนวน    198,645,000 บาท                ปี 2558   จำนวน    234,462,200 บาท

และสำหรับงบประมาณประจำปี 2558 ยังมีงบอุดหนุนเจ้าภาพการจัดการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 56 ประจำปี 2558 อีกจำนวน 50,100,000 บาท

งบประมาณหลักร้อยล้านบาทอาจจะเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง แต่ รศ.เย็นใจย้ำว่านี่ไม่ใช่เป็นการลงทุนเพื่อเด็กเก่งเพียงไม่กี่คน แต่เป็นการลงทุนเพื่อเยาวชนไทยหลายพันคนซึ่งผ่านค่ายของ สอวน. เพราะผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เลย เนื่องจากมูลนิธิจะต้องจัดเตรียมทั้งตำรา แบบเรียน หรือเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อม

และการที่มูลนิธิได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น เพราะมีกิจกรรมอื่นๆ นอกจากการจัดค่าย เช่น การเป็นเจ้าภาพงาน The Asian Science Camp 2015 ซึ่งได้เชิญนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลหลายสิบชีวิตมาร่วมงาน การส่งนักเรียนไปร่วมแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิก ซึ่งเป็นวิชาใหม่ที่ทาง สอวน. เข้าร่วม รวมไปถึงความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สร้างศูนย์โรงเรียนขยายผล ซึ่งมีการเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จาก 36 โรงมาเป็น 44 โรง ในปี 2556 ด้วยการนำหลักสูตรการเรียนของ สอวน. ไปพัฒนาครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ชีววิทยาและเคมีในโรงเรียน จากนั้นก็มีการจัดค่าย สอวน.ค่ายที่ 1 ขึ้นมาควบคู่กับศูนย์ สอวน.ทั่วไป โดยภายในค่ายจะมีรูปแบบ และอุปกรณ์เหมือนค่ายใหญ่ เพราะทาง สพฐ. ได้อุดหนุนงบประมาณแก่ศูนย์โรงเรียน ศูนย์ละ 1,000,000 บาท และหากเด็กจากค่ายนี้สามารถทำคะแนนได้ถึงเกณฑ์ที่ตั้งไว้ก็จะดึงออกมาเข้าค่าย 2 โดยงบประมาณการดูแลนักเรียนที่เพิ่มขึ้น สอวน.จะเป็นผู้ดูแลทั้งหมด

นอกจากต้นทุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง อย่าง สอวน. สสวท. และ สพฐ. แล้ว ยังพบการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมโอลิมปิกวิชาการอีกส่วน คือกระบวนการเตรียมตัว เพื่อสอบเข้าค่ายต่างๆ ของ สอวน. เพราะต้องยอมรับว่า การที่เด็กคนหนึ่งสามารถก้าวเข้าไปเป็นตัวแทนของชาติหรือเข้าสู่ค่ายระดับลึกๆ ได้นั้น นอกจากเขามีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตัวเองแล้ว ยังนำชื่อเสียงมาสู่ตัวเด็ก ผู้ปกครอง และโรงเรียนอีกด้วย

ที่ผ่านมาจะมีพบว่าหลายๆ โรงเรียนมีโครงการเพื่อส่งเสริมให้เด็กเข้าสู่กิจกรรมนี้ ซึ่งงบประมาณส่วนใหญ่มาจากงบสนับสนุนของโรงเรียนบ้าง สมาคมผู้ปกครองบ้าง ดังเช่นเอกสารของโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ปทุมธานี ก็ได้มีการบรรจุกิจกรรมโอลิมปิกวิชาการเป็นหนึ่งในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน โดยมีการจัดงบอุดหนุนให้ 130,000 บาท แบ่งเป็นค่าวิทยากรสำหรับเตรียมค่าย 2 ค่าย 100,000 บาท และค่าใช้สอยทั่วไป 30,000 บาท

เอกสารเกี่ยวกับการพัฒนาผู้เรียน กิจกรรมโอลิมปิกวิชาการ https://www.dropbox.com/s/xkgkroumoeoa2rz/4.pdf?dl=0

มนต์ชัย สิทธิจันทร์ อาจารย์ผู้ดูแลห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ ตามแนวทางของ สสวท. และ สอวน. โรงเรียนสตรีวิทยา หนึ่งโรงเรียนที่ร่วมกิจกรรมโอลิมปิกวิชาการร่วมสิบปี อธิบายว่ากิจกรรมนี้เกิดขึ้นจากแรงผลักดันของ 4 ส่วน คือ โรงเรียน ครู นักเรียน และผู้ปกครอง โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญในการพัฒนาศักยภาพและความสามารถทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของเด็กออกมาให้มากที่สุด

กระบวนการทำงานหลักคือการสร้างห้องเรียนเสริมขึ้นมา ก่อนถึงค่ายแต่ละค่าย เช่นค่าย สอวน. 1 ในเดือนตุลาคมก็จะมีการเรียนการสอนเพิ่มเติมในเดือนมิถุนายนถึงกันยายน เพื่อให้เด็กมีความรู้เพียงพอจะไปสอบได้ ซึ่งหากเด็กคนไหนเข้าไปได้ หลังค่ายจบก็จะมีการเรียนเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญอีกรอบ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนจนถึงกุมภาพันธ์ เพื่อเตรียมความพร้อมไปสอบในค่ายที่ 2 ได้ โดยค่าใช้จ่ายหลักๆ ก็จะไปอยู่ที่เอกสารการเรียนการสอนและวิทยากรที่เชิญเข้ามา ส่วนทรัพยากรบุคคล เช่นอาจารย์นั้นไม่มีค่าใช้จ่ายเพราะทุกคนมาด้วยความสมัครใจ

ขณะที่ในส่วนของเด็กนั้นก็จะมีการเตรียมความพร้อมกันตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โดยเน้นเปิดรับเด็กที่มีความตั้งใจจริงเนื่องจากกิจกรรมนี้เป็นงานที่หนักมาก และต้องใช้เวลาเตรียมการค่อนข้างนาน ดังนั้นหากไม่พร้อมก็จะรับไม่ไหว โดยปัจจัยสำคัญในกิจกรรมนี้ประสบความสำเร็จนั้นหลักๆ มนต์ชัยบอกว่า ประกอบไป 3 ส่วนหลักๆ คือต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน มีการวิเคราะห์เนื้อหาอย่างรอบด้าน และสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพขึ้นมาให้ได้ เพื่อจะได้นำไปสู่การผลักดันนักเรียนอย่างมีทิศทาง และสามารถดึงศักยภาพของเด็กออกมาได้อย่างเต็มที่

ต่อยอดสู่ ‘สายวิทยาศาสตร์’

หลังจากที่ตัวแทนชาติได้ทำหน้าที่รับใช้ชาติในสมรภูมิการแข่งขันด้านวิชาการ สิ่งที่น่าจับตามองต่อมาก็คือกระบวนการต่อยอดบุคลากรเหล่านี้ เพื่อให้สามารถกลับมาสร้างคุณูปการแก่ประเทศชาติได้

จากการพูดคุย ผศ.ดร.วรรณวิภา ศิริวัฒน์เวชกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมและเทคโนโลยีเคมีชีวภาพ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเจ้าของเหรียญทองแดง เคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ พ.ศ.2535 พบว่าในระยะแรก การสนับสนุนยังไม่มีความชัดเจนนัก อย่างเธอเมื่อได้เหรียญกลับมาก็ไม่ได้มีการต่อยอดอะไรเลย ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าทุนการศึกษาของ สสวท.สำหรับคนที่จะไปต่างประเทศมีแต่ทุน พสวท.หรือทุนพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น ดังนั้นเด็กโอลิมปิกวิชาการที่ได้เรียนต่อจึงเป็นคนที่เข้าโครงการนี้เท่านั้น โดยคนที่ได้เป็นผู้แทนประเทศจะได้รับสิทธิพิเศษคือได้ไปเรียนต่อโดยไม่ต้องแข่งขันกับคนอื่น

กิจกรรมนี้ไม่ได้มุ่งเพียงหาแค่ตัวแทนประเทศไปแข่งขันเท่านั้น

แต่กระบวนการที่ผ่านยังเป็นการมุ่งพัฒนาเยาวชน

ครู และระบบการศึกษาของไทยให้สูงขึ้น

จนกระทั่งปี 2544 หลังมีการก่อตั้งมูลนิธิ สอวน. แล้ว คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ สสวท. ปรับแผนของโครงการทุน พสวท. ด้วยการจัดสรรทุนการศึกษาต่อต่างประเทศเพิ่มเติมแก่ผู้แทนที่ไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ จำนวน 20 ทุน และเพิ่มเป็น 32 ทุน ในปี 2556 แบ่งเป็นคณิตศาสตร์ ปีละ 6 ทุน, คอมพิวเตอร์ ปีละ 4 ทุน, เคมี ปีละ 4 ทุน, ชีววิทยา ปีละ 4 ทุน, ฟิสิกส์ ปีละ 5 ทุน, ดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ปีละ 5 ทุน และ วิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ ปีละ 4 ทุน และหากมีผู้แทนนักเรียนโครงการโอลิมปิกวิชาการรับทุนไม่เต็มจำนวน ก็ให้ขยายโอกาสไปยังนักเรียนที่ผ่านมาสู่ค่าย สสวท.ค่ายสุดท้าย โดยค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนในเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน

สำหรับรายละเอียดของทุนนี้จะเปิดโอกาสให้นักเรียนสามารถไปเรียนต่อตั้งแต่ระดับปริญญาตรี-โท-เอก ภายใต้ข้อผูกมัดว่าในระดับปริญญาตรี นักเรียนจะต้องศึกษาในสาขาที่ตนเองเป็นผู้แทน คือคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ส่วนระดับปริญญาโทและเอก สามารถศึกษาในสายคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ที่เกี่ยวข้องกับวิชาที่ตนรับทุน โดยความเห็นชอบของคณะกรรมกำหนดนโยบายการดำเนินงานทุนโอลิมปิกวิชาการฯ

และเมื่อศึกษาสำเร็จการศึกษาออกมา ผู้รับทุนจะต้องกลับมาปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานอิสระในกำกับของรัฐ หน่วยงาน วิจัย และพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของรัฐ

และไม่ใช่เพียงผู้แทนชาติเท่านั้นที่จะได้รับการต่อยอด เยาวชนไทยที่ผ่านค่ายต่างๆ ของ สอวน. และ สสวท. โดยเฉพาะค่ายลึกๆ นับแต่ค่าย สอวน.ค่าย 2 เป็นต้นไปก็จะมีสิทธิพิเศษให้ เพราะปัจจุบันมีคณะวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งให้สิทธิการเข้าศึกษาต่อโดยไม่ต้องสอบแข่งขัน

เด็กโอลิมปิกหายไปไหน?

อย่างไรก็ดี แม้จะมีกระบวนการต่อยอดที่ชัดเจน โดยเฉพาะบุคคลที่เคยเป็นตัวแทนประเทศ แต่ด้วยความที่ทุนนี้เป็นการบังคับให้ต้องไปเรียนสายวิทยาศาสตร์กระแสหลัก หลายคนจึงตัดสินใจที่สละสิทธิ์ไม่ขอรับทุน เพราะสนใจในสายวิทยาศาสตร์ประยุกต์มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ศาสตร์ หรือวิศวกรรมศาสตร์ และที่สำคัญคือไม่ได้ตั้งอนาคตของตัวเองไว้ที่กลายเป็น ‘อาจารย์มหาวิทยาลัย’ หรือ ‘นักวิจัย’

อย่างองอาจ สุภัคชูกุล เจ้าของโรงเรียนกวดวิชาอาจารย์ปุ๊ เลขโอลิมปิก ผู้แทนคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ปี 2537 ซึ่งเลือกไม่รับทุนใดๆ ของโอลิมปิกวิชาการ เพราะติดข้อจำกัดของวิชาที่เรียนรวมไปถึงข้อผูกพัน จึงหันไปสอบชิงทุนของประเทศญี่ปุ่นเพื่อต่อสาขาวิศวกรรมศาสตร์แทน

จริงอยู่ที่ปลายทางของเขากับเด็กโอลิมปิกวิชาการคนอื่นๆ จะคล้ายคลึงกันคือการเป็นครู แต่อดีตผู้แทนคนนี้ก็บอกว่า การเป็นครูโรงเรียนกวดวิชากับมหาวิทยาลัยนั้นต่างกันมาก เพราะการเป็นด็อกเตอร์หรือเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ภาระส่วนใหญ่ก็คือการทำงานวิจัย แต่ถ้าเป็นครูแบบที่ทำอยู่นี้ งานหลักก็คือการสอนหนังสือ

แต่ทั้งนี้ก็ต้องยอมรับว่าการได้เข้าโครงการนี้สำหรับเขาถือว่ามีผลบวก อย่างแรกเลยคือได้ประสบการณ์ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการพบเจอผู้คนที่หลากหลาย การได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่อยู่นอกเหนือห้องเรียน และที่สำคัญคือกิจกรรมนี้มีผลต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เพราะการผ่านกิจกรรมนี้ก็เหมือนเป็นการการันตีความน่าเชื่อถือให้แก่ตัวเขาเองมากยิ่งขึ้น

เช่นเดียวกับ นพ.ธนวัฒน์ เหลืองสุขฤกษ์ แพทย์ประจำบ้านโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และเจ้าของเหรียญเงิน ชีววิทยาโอลิมปิกระหว่างประเทศ ปี 2548 ซึ่งกล่าวถึงโครงการโอลิมปิกวิชาการว่าเป็นกิจกรรมที่ดีมากทั้งในการเรียนการสอนที่ทำให้เขาคิดและวิเคราะห์สิ่งรอบข้างอย่างเป็นระบบหรือแม้แต่กระบวนการต่อยอด แต่สุดท้ายเขาก็ตัดสินปฏิเสธรับทุน และเบนเข็มไปเรียนแพทยศาสตร์แทน เพราะการเรียนวิทยาศาสตร์นั้นไม่ตรงกับความสนใจ

จากการคาดคะเน นพ.ธนวัฒน์เชื่อว่ามีผู้แทนประเทศเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นที่ตัดสินใจรับทุน อย่างรุ่นที่ไปพร้อมกับเขาก็ไม่มีใครรับทุนเลย และ 3 ใน 4 เลือกเรียนแพทย์ศาสตร์ เหตุผลหนึ่งอาจจะไม่ความไม่ได้สนใจสายนี้เท่าใดนัก ขณะเดียวก็ต้องยอมรับกระบวนการต่อยอดหลายเรียนจบนั้นมีปัญหาอยู่มาก เพราะถึงจะได้เป็นนักวิจัยแต่งบประมาณที่ได้รับจากภาครัฐก็ไม่เพียงพอ เพราะขนาดเขาอยู่ในสายแพทย์ยังได้งบค่อนข้างจำกัดเลย

ยืนยันได้จากตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งระบุว่ารัฐจัดสรรงบประมาณในปี 2557 จำนวน 6,763,083,790 บาท สำหรับ 6,989 โครงการ หรือเฉลี่ยโครงการละ 967,675.46 บาทเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก เพราะเงินตรงนี้ต้องนำไปจ่ายส่วนอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการวิจัยด้วย ทั้งเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากร เช่นผู้ช่วยวิจัย ค่าใช้จ่ายสำหรับงานสนาม ค่าใช้จ่ายสำนักงาน ค่าครุภัณฑ์ ค่าประมวลผลข้อมูล ค่าจัดประชุมวิชาการ ฯลฯ

จากปัญหาทั้งหมด เมื่อนำมาวิเคราะห์ก็คงได้บทสรุปว่า ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยทางค่านิยมของผู้คนในสังคมที่ยังเชื่อว่างานสายนี้มีข้อจำกัดมาก ไม่ว่าจะเป็นในแง่งบประมาณ การนำชิ้นงานไปต่อยอด หรือแม้แต่ระยะเวลาที่จะประสบความสำเร็จ อย่าง รศ.เย็นใจยกตัวอย่างว่า บางคนต้องเรียนหลายปีจึงจะจบการศึกษาระดับปริญญาเอก และเมื่อกลับมาเมืองไทยก็ใช้เวลาทำงานวิจัยอีกสักระยะ ดังนั้นต้องให้เวลาประมาณ 10 ปี จึงจะพอเห็นว่าคนๆ นั้นทำอะไรให้ชาติบ้านเมืองบ้าง ซึ่งทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นความรับผิดชอบของภาครัฐโดยตรงว่าสามารถนำบุคลากรที่มีคุณภาพไปใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหน ขณะที่งานโอลิมปิกวิชาการนั้นเสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่การพัฒนาบุคลากรให้

“หลายคนอยากเห็นไทยไปสู่โนเบล แต่เรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้รัฐบาลต้องช่วยสนับสนุน ต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดว่าจะทำอะไร อย่างจีนหรือญี่ปุ่น เขาวางแผนไว้หมดเลยว่าจะทำอะไร เช่นอยากได้ฟิสิกส์ 3 คน ก็เตรียมคนไว้เลย พอเด็กกลับมาสามารถพัฒนาได้เลย แต่บ้านเราบางทีผู้ใหญ่ก็อิจฉาเด็ก กลัวเด็กจะเก่งกว่า สุดท้ายก็เลยไปไม่รอด“

การแก้ไขปัญหาคงไม่ใช่การเปิดโอกาสให้นักเรียนโอลิมปิกวิชาการไปเรียนสายประยุกต์ เพราะถึงอย่างไรการเรียนวิทยาศาสตร์ก็เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาชาติ แต่เป็นการสร้างที่ยืนให้ที่มั่นคงให้แก่บุคลากรต่างหาก เพราะเด็กที่ตัดสินใจรับทุนตรงนี้ต่างมีความพร้อมที่จะกลับมาทำงานด้านวิทยาศาสตร์กันอยู่แล้ว

“ทุกวันนี้ให้ทุนเยอะมาก จบเอกเยอะมาก แต่สายอาชีพในเมืองไทยมีจำกัด มีตำแหน่งรองรับไม่เพียงพอ ซึ่งตรงนี้ก็ขึ้นกับการวางแผนของภาครัฐแล้วว่า ตำแหน่งที่มีนั้นเหมาะสมกับนักเรียนทุนที่ส่งไปมากน้อยแค่ไหน” ผศ.ดร.ปรียานุช แสงไตรรัตน์นุกูล อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของเหรียญเงินเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ ปี 2537 เล่าให้ฟัง

ด้วยข้อจำกัดทั้งหมดนี้เอง ทำให้ยุคหลังๆ มานี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการดำเนินงานทุนโอลิมปิกวิชาการฯ พยายามหาช่องทางในช่วยเหลือและเปิดกว้างในการทำงานมากขึ้น ด้วยการอนุญาตให้บุคลากรที่จบมาสามารถไปทำงานในหน่วยงานวิจัยของเอกชนหรือมหาวิทยาลัยเอกชนได้ ซึ่งมีข้อได้เปรียบกว่าทั้งด้านงบประมาณ ความก้าวหน้าในงาน แต่ต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการ โดยหน่วยงานเอกชนนั้นจะต้องตั้งกองทุนชดเชยเป็นจำนวนเงินตามที่คณะกรรมการกำหนด

สร้างคนคุ้มค่าแค่ไหน?

ด้วยเส้นทางที่หลากหลายของเด็กโอลิมปิกวิชาการ คงต้องย้อนกลับมาสู่วัตถุประสงค์ของกิจกรรม โดยเฉพาะความคุ้มค่าหรือผลบวกสู่ประเทศชาติ ว่าได้ตามที่ตั้งหวังสักเพียงใด

ซึ่งแต่ละคนก็มีมุมมองที่ต่างไป อย่าง ผศ.ดร.ปรียานุชมองว่าสำเร็จครึ่งหนึ่งเพราะอย่างน้อยๆ ก็เป็นการตอบโจทย์การพัฒนาวิทยาศาสตร์ของประเทศโดยเฉพาะในเรื่องบุคลากร แม้จะสุดท้ายแล้วจะยังใช้งานได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร ขณะที่ ผศ.ดร.วรรณวิภามองว่า นี่เป็นโครงการที่ดี แต่จริงๆ แล้วภาครัฐควรจะนำโมเดลอย่างนี้มายกระดับการศึกษาทั้งประเทศ น่าจะสร้างความคุ้มค่าได้มากกว่า

ในฐานะของผู้รับผิดชอบโดยตรง รศ.เย็นใจ กล่าวเห็นด้วยโดยบอกว่าที่ผ่านมาก็พยายามสื่อสารไปยังผู้มีอำนาจอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ทำได้เท่านั้น ส่วนเรื่องความคุ้มค่านั้นยืนยันว่าคุ้มแน่นอน เพราะสิ่งหนึ่งที่ย้ำมาตลอดว่ากิจกรรมนี้ไม่ได้มุ่งเพียงหาแค่ตัวแทนประเทศไปแข่งขันเท่านั้น แต่กระบวนการที่ผ่านยังเป็นการมุ่งพัฒนาเยาวชน ครู และระบบการศึกษาของไทยให้สูงขึ้น แม้จะทำได้เพียงส่วนเดียวก็ตาม

“เราอบรมครูโรงเรียนขยายผลทั่วประเทศใช้เงินไป 14 ล้านบาท แล้วครูสามารถกลับมาสอนแล้วเข้ามาแข่งกับเด็กในศูนย์ สอวน.ได้ เพราะเราพัฒนาครูไง แล้วครูก็ไปพัฒนาเด็ก เงินแต่ละบาทที่ลงไปจึงคุ้มค่า เช่นเดียวกับตัวเด็กเอง ก็ได้ฝึกการคิด ฝึกวิธีการเรียนรู้ คือเขาได้พัฒนาตัวเอง และที่สำคัญเขายังได้พัฒนาประเทศอีกด้วย”

โจทย์สำคัญมากกว่านี้คือ การกำหนดนโยบายของภาครัฐที่ต้องชัดเจนและจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการต่อยอดทางด้านอาชีพให้แก่นักวิทยาศาสตร์ การจัดระบบหน่วยงานเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ หรือแม้แต่การยกเครื่องการศึกษาไทยให้ได้มาตรฐานอย่างที่ควรจะเป็นทั่วทุกด้าน โดยเฉพาะในด้านคุณภาพของครูและผู้เรียน  ไม่เช่นนั้นก็คงเป็นการยากที่ประเทศไทยจะเข้าสู่การแข่งขันขีดความสามารถกับประเทศอื่นๆได้ หรืออย่างมากก็ทำได้เพียงเศษเสี้ยวเดียวเหมือนที่กิจกรรมโอลิมปิกวิชาการทำได้อยู่ในขณะนี้

อ่าน 'จับตา: สถิติไทยคว้าเหรียญโอลิมปิควิชาการ' http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5382

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: