Re-define‘สื่อทางเลือก’ยุคสงครามข่าวสาร บนทางแพร่งทุน-อิสระ-มืออาชีพ?

ทีมข่าว TCIJ 1 มี.ค. 2558 | อ่านแล้ว 4129 ครั้ง

งานวิจัย Re-defining Thailand’s New Media : Challenges in the Changing Political Regime ของ อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ และ คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ทำการศึกษาจาก 10 กรณีศึกษาได้แก่  www.prachatai.com / www.tcijthai.com / www.thaipublica.org / www.siamintelligence.com / www.mediainsideout.net / www.prachatham.com / www.isranews.org / http://www.deepsouthwatch.org/blogs/WARTANI / www.deepsouthwatch.org / www.isaanrecord.com  โดยตั้งโจทย์ถึงความเติบโตของสื่อทางเลือกที่เป็นกรณีศึกษาว่า  มีบทบาทอย่างไรในสถานการณ์ปัจจุบัน  ความเติบโตที่ว่านี้มาจากปัจจัยอะไรบ้าง  ความท้าทายของสื่อทางเลือกกรณีศึกษาคืออะไร  ขณะที่ TCIJ มีความเห็นต่างและมีข้อถกเถียงว่าความเติบโตของสื่อทางเลือกอยู่ที่การระดมทุนมากชึ้น  เป็นมืออาชีพมากขึ้นและเป็นสถาบันมากขึ้น  ไม่ใช่  "น้อยลง" ดังข้อเสนอของงานวิจัย

สถานการณ์สร้างสื่อทางเลือก

ในอดีต  กล่าวได้ว่า NGO เป็นผู้ให้กำเนิดสื่อทางเลือก  ด้วยบริบทของปัญหาในอดีตที่ NGO ซึ่งเกาะติดอยู่กับปัญหาของชุมชนและคนชายขอบ  อึดอัดคับข้องใจกับข่าวที่ไม่เป็นข่าวในสื่อกระแสหลัก  ปัญหาชุมชนล่มสลายจากผลกระทบนโยบายพัฒนา  การแย่งชิงทรัพยากรดิน-น้ำ-ป่า  และการล่วงละเมิดสิทธิ มนุษยชน ฯไม่ถูก Voice out สู่สังคมวงกว้าง  สื่อทางเลือกในยุคแรกๆ  ซึ่งอาจนับจากปี 2535 ถอยหลังไป  จึงเน้นไปที่การสื่อสารกันในเครือข่าย  และผู้สนใจในประเด็นปัญหานั้นๆร่วมกัน  เครื่องมือสื่อสารที่ใช้ มักเป็นในรูปของจดหมายข่าว จุลสาร เอกสารเผยแพร่ และการส่งเสียงตามสายในชุมชน  รวมไปถึงการจัดเวทีเสวนาตามประเด็นปัญหา

ภายหลังสถานการณ์พฤษภาคม 2535 ถึง 2540 ไม่เพียงแต่ภูมิทัศน์สื่อกระแสหลักจะเปลี่ยนไป  ด้วยความเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมสื่อจากความเติบโตทางเศรษฐกิจและกระแสประชาธิปไตย  ในแวดวงของสื่อทางเลือก  ก็มีพัฒนาการด้านทักษะของการสื่อสาร  สามารถทำประเด็นปัญหาจากท้องถิ่นให้น่าสนใจขึ้น  และถูกนำเสนอสู่สื่อกระแสหลักบ้าง  ทั้งโดยผ่านบทความของนักวิชาการ  ผ่านการให้ข้อมูลและการเชื่อมสัมพันธ์กับสื่อกระแสหลัก  จนถึงการสร้างกลยุทธ์และกิจกรรมต่างๆ  ทำให้ข่าวที่ไม่เป็นข่าว  ได้เป็นข่าวขึ้นมาบ้าง

หมุดหมายหนึ่งซึ่งน่าสนใจคือ  การเกิดขึ้นของสำนักข่าวประชาธรรม  หรือ www.prachatham.com  ในปี 2543  ที่มีบทบาทด้านการสื่อข่าวจากพื้นที่  เสนอขายข่าวชายขอบเข้าสู่ตลาดสื่อกระแสหลัก  พร้อมทั้งการฝึกอบรมนักข่าวภาคประชาชน  มีส่วนผลักดันกระแสสื่อทางเลือกไปสู่การทำงานในแนวทางของ ”ข่าว” แบบเดียวกับสื่อกระแสหลัก  เสริมต่อด้วยการเกิดขึ้นของวิทยุชุมชน  อันเป็นอานิสงส์ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่เปิดให้ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงทรัพยากรการสื่อสาร

สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งปะทุขึ้นตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาและระเบิดซ้ำด้วยเหตุการณ์รัฐประหาร 2549  นำมาซึ่งความอึดอัดคับข้องใจของฝ่ายที่คิดว่าตนถูกริดรอนเสรีภาพและได้รับความอยุติธรรม ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งยึดโยงอยู่กับการเมืองอนุรักษ์นิยม ก็ต้องการมวลชนให้เลือกข้างเห็นพ้องกับตน กลายเป็นอุดมคติความเชื่อ 2 ชุดที่ตรงข้ามกันเป็น "ฝ่ายเอาทักษิณ-ฝ่ายไม่เอาทักษิณ” ไปจนถึง "ฝ่ายก้าวข้ามทักษิณ” ยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน  

ในห้วงเวลานี้เองที่สื่อทางเลือกอย่าง www.prachatai.com  ถือกำเนิดขึ้น และกลายเป็นพื้นที่สื่อสารของความต้องการทางเลือก  เพราะผู้บริโภคสื่อประจักษ์ถึงการเลือกข้างของสื่อกระแสหลัก  ทำให้เสื่อมความนิยม จนถึงเชื่อว่ามีความจริงที่หายไปหรือถูกบิดเบือนจากสื่อกระแสหลัก  ผนวกกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสื่อสารหรืออินเตอร์เน็ต  การต่อสู้ทางการเมืองของฟากฝ่ายต่างๆ จึงเข้าสู่สมรภูมิออนไลน์ หรือ New Media และทวีความเข้มข้น  สร้างสรรค์และรุนแรง  ทั้งวาทกรรมอย่าง "ไพร่-อำมาตย์ /คนดี/ แดงทั้งแผ่นดิน/ ประชาธิปไตยไทยๆ/เก็บขยะแผ่นดิน/ พลเมืองโต้กลับ”  ฯลฯ  ล้วนเป็นผลลัพธ์ของสงครามข่าวสารที่กลายเป็นสงครามทางความคิดระหว่างกัน  ไม่เว้นทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือก

และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฎ

สรุปได้ว่ามีปัจจัยสำคัญอย่างน้อย 3 ประการ ที่ทำให้สื่อใหม่ (New Media) เติบใหญ่ขยายตัวเป็นอย่างมากในรอบทศวรรษที่ผ่านมา  หนึ่งนั้นคือ  เทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่ที่ทำให้การเคลื่อนไหวของข้อมูลข่าวสารเป็น real time และ inter active คนที่เข้าถึงเครื่องมือสื่อสารสามารถเป็น “ผู้ส่งสาร” เป็นผู้ผลิตเนื้อหาข่าวสารหรือตอบโต้ข่าวสารได้ด้วย สอง ความเสื่อมถอยของสื่อมวลชนกระแสหลักที่สะท้อนออกในวิกฤตการณ์ทางการเมืองในห้วงทศวรรษที่ผ่านมา  อันเนื่องมาจากสื่อได้กลายเป็นธุรกิจประกอบการที่ต้องอาศัยอำนาจเงินและอำนาจการเมือง  รวมทั้งคุณภาพนักข่าวที่ด้อยลง  การเลือกข้างและการเซ็นเซอร์ตนเอง  เมื่อผนวกกับ สาม สถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย  ที่ทำให้ประชาชนมีความใฝ่ฝันต่อบ้านเมืองแตกต่างกันไปคนละอย่างคนละขั้ว  กลายเป็นวิกฤตการณ์ของขั้วสีขั้วอำนาจ 

เหตุดังนั้น  ความต้องการที่จะมีพื้นที่และสร้างพื้นที่การสื่อสารของตนและกลุ่มตนจึงขยายตัวรวดเร็ว  จากยุคของสื่อทางเลือกและสื่อพลเมืองที่มีขนาดเล็ก  สื่อสารกันเป็นแนวราบ  ด้วยประเด็นเฉพาะกลุ่ม ฯ ไปสู่ความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น  ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น  มีการจัดตั้งและเสริมความเข้มแข็งขององค์กรมากขึ้น  โดยเฉพาะภายหลังสถานการณ์ปี 2549 จากยุคดิจิตอล 2.0 เป็นต้นมาถึง 3.0 ที่ข้อมูลข่าวสารอยู่ในมือของปัจเจกบุคคลทุกคน   ทั้งเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์  อินสตราแกรม  ไลน์ ฯ 

ทั้งนี้  ไม่นับการแข่งขันของสื่อกระแสหลักและธุรกิจสื่อครบวงจรต่างๆ  ที่เข้ามาสู่ platform ของสื่อใหม่  ด้วยเป้าหมายด้านการขยายฐานลูกค้าและโฆษณา   

จึงเป็นประเด็นน่าสนใจว่า  สื่อใหม่ของบุคคล  กลุ่มบุคคล  และภาคประชาสังคมที่ก่อเกิดเป็นจำนวนมาก  และส่วนหนึ่งลงหลักปักฐานได้อย่างมั่นคง  มีผลงานข่าวและบทความที่ได้รับความเชื่อถือจากผู้อ่าน  เป็นผู้กำหนดวาระข่าวสารใหม่ที่แตกต่างไปจากสื่อกระแสหลัก  จนแม้สื่อกระแสหลักต้องหยิบยกอ้างอิงไปใช้  โดยเฉพาะในห้วงสถานการณ์วิกฤติทางการเมือง  ทั้งหมดนี้มีนัยยะสำคัญที่จะต้อง Re define สื่อทาง เลือก  โดยเฉพาะสื่อทางเลือกแถวหน้าที่มีเจตนารมย์ชัดเจน  ในการถ่วงดุลข่าวสารและเป็นส่วนหนึ่งของระบบสื่อสารมวลชนไทย  อย่าง www.prachatai.com / www.tcijthai.com / www.thaipublica.org / www.siamintelligence.com / www.mediainsideout.net / www.prachatham.com / www.isranews.orghttp://www.deepsouthwatch.org/blogs/WARTANI / www.deepsouthwatch.org / www.isaanrecord.com

Re-define สื่อทางเลือก

งานศึกษา Re-defining Thailand’s New Media : Challenges in the Changing Political Regime ของ อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ  ได้สำรวจวรรณกรรมถึงจุดกำเนิดสื่อทางเลือก (Alternative Media) ว่า เริ่มจากสังคมตะวันตกในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 ในตอนนั้นสื่อที่เข้าถึงมวลชน (Mass Media) มีเพียงสิ่งพิมพ์และวิทยุ สำหรับวิทยุนั้นนับเป็นการพลิกโฉมหน้าการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เพราะเทคโนโลยีวิทยุสามารถทำให้การกระจายสารไปถึงผู้รับที่ไม่รู้หนังสือได้โดยตรง  จึงเป็นช่วงแรกๆที่มีการตื่นตัวอย่างสูงในแง่ของการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร  ประโยชน์ของการรับรู้ข่าวสาร  รวมไปถึงการทำหน้าที่ของบรรดาสื่อสารมวลชน

อรรคณัฐอ้างว่า  “ความตื่นตัวในการแสวงหาสื่อที่เป็นทางเลือกใหม่ ไม่จำกัดอยู่เฉพาะในแวดวงปัญญาชน  นักคิด นักเขียนเท่านั้น  องค์กรระหว่างประเทศอย่าง องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ก็ให้ความสำคัญ  โดยได้กล่าวถึงความจำเป็นในระบบการสื่อสารเชิงระนาบ  (System of Horizontal Communication) กระบวนการทำให้การสื่อสารมีความเป็นประชาธิปไตย (Democratization of Communication)  การกระจายอำนาจทางการสื่อสาร (redistribution of  communication power) และการให้ความสำคัญกับประชาชนและชุมชน ซึ่งถูกกีดกันจากการผลิตและการกระจายข้อมูลข่าวสาร” ในรายงานการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 1976  และปีถัดมา ที่ประชุมยังได้ หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุยอีกครั้ง รวมทั้งได้ออกแถลงการณ์ เกี่ยวกับการเข้าถึงสื่อทางเลือก การมีส่วนร่วม และการจัดการตนเอง

ในปี 1980 บรรณาธิการหนังสือ  Alternative in Print  ได้เสนอต่อสาธารณะว่า  “การจะเป็นสื่อทางเลือก  สื่อนั้นๆ จะต้องมีองค์ประกอบอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ (1) เป็นสื่อที่ไม่หวังผลกำไรแสดงออกโดยชัดเจนว่าเป็นการทำสื่อโดยมีความมุ่งหวังอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่หวังผลทางการค้า  (2)  ประเด็นที่หยิบยกที่มานำเสนอควรจะเน้นไปที่ประเด็นทางสังคมหรือการแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์หรือทั้งสองอย่าง (3) สื่อนั้นนิยามตัวเองว่าเป็นสื่อทางเลือก”

ในปีเดียวกันนั้น 'เรย์มอนด์ วิลเลี่ยมส์  นักคิดนักเขียน' ชื่อดังชาวเวลส์ ได้เสนอแนวคิดที่สำคัญอย่างมากต่อพัฒนาการของสื่อทางเลือกในปัจจุบัน  ในหนังสือ ‘Problems in materialism and culture: selected essays’ วิลเลี่ยมได้เสนอว่า โครงสร้างของสื่อมวลชนมักจะประกอบด้วย 3 สิ่ง กล่าวคือ

  • การทำให้เป็นผู้มีทักษะความเชี่ยวชาญ (Professionalization)
  • การทำให้เป็นทุนนิยม (Capitalization)
  • การสถาปนาความเป็นสถาบันลง (Institutionalization)

ซึ่งวิลเลี่ยมส์มองว่าสามสิ่งนี้เป็นอุปสรรคที่ขวางกั้นการมีส่วนร่วมของสังคมในวงกว้าง  และจากข้อเสนอของวิลเลี่ยมส์นี้เอง ที่นำไปสู่ข้อเสนอของ เจมส์ แฮมิลตัน นักวิชาการนิเทศศาสตร์  ถึงความแตกต่างระหว่างสื่อมวลชนทั่วไปและสื่อทางเลือกแฮมิลตันชี้ว่าสื่อทางเลือกต้องมีลักษณะที่                                                                 

  • ลดทอนความเป็นผู้เชี่ยวชาญ (de-professionalization)
  • ลดทอนความเป็นทุนนิยม (de-capitalization)
  • ลดทอนความเป็นสถาบันลง (de-institutionalization)
     

ต่อมา  มีผู้พยายามจำแนกรูปแบบของสื่อทางเลือกออกเป็น 4 กลุ่ม คือ (1) สื่อเพื่อชุมชน (2) สื่อที่นำเสนอ ข้อมูลในลักษณะที่ต่างจากสื่อกระแสหลัก (3) สื่อซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาคประชาสังคมนำเสนอเนื้อหาที่ต่างจากสื่อของรัฐและสื่อเชิงพาณิชย์ (4) สื่อที่ปลุกระดมให้เกิดการรณรงค์ซึ่งเชื่อมโยงท้องถิ่นและสังคมโลก  อย่างไรก็ดีมีผู้โต้แย้งว่าข้อเสนอนี้ยังไม่รัดกุม  เนื่องจากยังไม่คลอบคลุมสื่อใหม่บางประเภท เกิดเป็นข้อเสนอที่แตกต่างว่า สื่อทางเลือกคือสื่อเชิงวิพากษ์ (Critical Media) และสื่อเชิงวิพากษ์นี้มีความแตกต่างจากสื่อทั่วไปซึ่งเรียกว่าสื่อสารมวลชนในโลกทุนนิยม (Capitalist Mass Media) ในหลายทิศทางดังนี้

*ที่มา Fuchs, C. (2010). Alternative Media as Critical Media. European Journal of Social Theory, 13(2), p178.

 

วันนี้ของสื่อทางเลือกไทย

Re-defining Thailand’s New Media โดยอรรคณัฐ  ได้หยิบยกข้อเสนอของ เจมส์ แฮร์มิลตัน มาวิเคราะห์ว่า โครงสร้างองค์กรสื่อทางเลือกของกรณีศึกษา มีการจัดองค์กรที่พยายามที่จะลดทอนความเป็นสถาบัน และลดทอนความเป็นทุนนิยม ด้วยการแสวงหาความเป็นอิสระ เกือบทั้งหมดพึ่งพาเงินบริจาคและเงินทุนจากองค์กรอิสระทั้งในประเทศและต่างประเทศ  มีความพยายามที่จะสร้างความโปร่งใสตรวจสอบได้  บางเว็บไซต์มีความพยายามที่จะเปิดเผยข้อมูลทางการเงินผ่านทางเว็บไซต์ของตนเองด้วย บางเว็บไซต์มีการหาทุนโดยการรับจ้างทำกิจกรรมที่ตนเองมีความถนัด (ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตเนื้อหาของเว็บโดยตรง) เช่น การรับจ้างจัดการประชุมทางวิชาการ การรับจ้างบันทึกเทปการสัมมนาทางวิชาการ  รายได้จากการรับจ้างนี้จะถูกนำมาใช้เป็นทุนในการดำเนินงานข่าวเว็บไซต์ 

สื่อทางเลือกกรณีศึกษาเหล่านี้มีการจัดองค์กรในแนวราบ ไม่มีสายบังคับบัญชาซับซ้อน ฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจครอบงำมากนัก เน้นความมีส่วนร่วมของผู้ร่วมงาน  นอกจากนี้กรณีศึกษาหลายกรณีมีการจัดการองค์ความรู้ บางกรณีมีกิจกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัยในการพัฒนาหลักสูตรเกี่ยวกับสื่อทางเลือก

ในส่วนของกระบวนการผลิต กรณีศึกษาเกือบทั้งหมดมีความพยายามที่ลดทอนความเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพ  การคัดเลือกบุคคลเข้ามาทำงานไม่ได้พิจารณาที่คุณวุฒิด้านนิเทศศาสตร์ หากแต่พิจารณาจากความตั้งใจ ทัศนคติ อุดมการณ์เป็นสำคัญ เนื่องจากงานไม่มีความมั่นคง และได้รับผลตอบแทนไม่มากนักเกือบทุกกรณีศึกษาพยายามที่จะไม่ก้าวก่ายการทำงานของนักข่าว บรรณาธิการจะทำงานใกล้ชิดในลักษณะร่วมกันคิดและให้คำแนะนำ แม้จะไม่มีการเซ็นเซอร์โดยตรง แต่การทำงานภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ ทำให้พบว่าแต่ละกรณีศึกษาต่างก็มีการเซ็นเซอร์ตัวเองและหลีกเลี่ยงการนำเสนอประเด็นที่ล่อแหลมสุ่มเสี่ยง   

กล่าวได้ว่าสื่อทางเลือกไทยในปัจจุบัน มีการนำเสนอเนื้อหาด้วยรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งตัวหนังสือ รูปภาพ ไฟล์เสียง ภาพ เคลื่อนไหว และอินโฟกราฟิค ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันและโซเชียลมีเดีย เช่น เฟสบุ๊คหรือทวิตเตอร์  ทำให้การผลิตซ้ำและการเผยแพร่ทำได้ง่ายและไม่มีค่าใช้จ่าย  ผู้บริโภคสื่อเข้าถึงเนื้อหาได้สะดวกรวดเร็ว     

ความท้าทายและข้อถกเถียง 'มากขึ้น' หรือ 'น้อยลง' 

แม้ว่าเทคโนโลยีจะทำให้ต้นทุนการดำเนินงานสื่อทางเลือกถูกลงอย่างมาก  แต่สื่อทางเลือกก็ยังคงต้องใช้  ทุนในการดำเนินงาน  ในขณะที่แหล่งทุนในประเทศมีจำกัด และสื่อทางเลือกมีแนวโน้มจะมีมากขึ้น  ทำให้เกิดการแข่งขันกันเองในการเข้าถึงแหล่งทุนเดียวกัน  อีกทั้งทางเลือกในการพึ่งพาตนเองมีไม่มาก  เนื่อง จากตัวสื่อทางเลือกเองต้องการเป็นอิสระจากการถูกครอบงำโดยทุน  หลายกรณีศึกษาจึงเป็นผู้เลือกแหล่งทุนด้วย ในขณะเดียวกัน แหล่งทุนในประเทศก็ไม่ได้เป็นอิสระจากรัฐและอำนาจการเมือง สื่อทางเลือกจึงอาจถูกควบคุมทางอ้อมได้  นอกจากนี้พบว่าสื่อทางเลือกกรณีศึกษามีการสะสมองค์ความรู้เอาไว้มากพอสมควร  รวมถึงมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ แต่ยังขาดการบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกัน ขาดความร่วมมือ ทั้งที่ล้วนมีเจตนารมณ์และอุดมการณ์ที่คล้ายคลึงกัน  

สำหรับประเด็นข้อเสนอของ เจมส์ แฮมิลตัน  ที่งานศึกษา Re-defining Thailand’s New Media  ดูจะคล้อยตามว่า  สื่อทางเลือกต้องมีลักษณะที่ 1) ลดทอนความเป็นผู้เชี่ยวชาญ (de-professionalization)  2)ลดทอนความเป็นทุนนิยม (de-capitalization) และ  3) ลดทอนความเป็นสถาบันลง (de-institutionalization) นั้น สุชาดา จักรพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการ TCIJ กลับมีข้อโต้แย้งว่า

"ในสมรภูมิข่าวสารที่สื่อทางเลือกมักถูกสื่อพานิชย์วิจารณ์เหน็บแนมว่า ขาดความเป็นมืออาชีพ รวมทั้งจุดอ่อนที่งานศึกษาชิ้นนี้ระบุเองว่า สื่อทางเลือกมีข้อจำกัดเรื่องทุนดำเนินการ เหตุใดจึงจะไม่ระดมทุนให้มากขึ้น เพื่อยืนซดกับสื่อพานิชย์ในสมรภูมิเดียวกันด้วยความเป็นมืออาชีพ ซึ่งต้องประกอบด้วยคุณภาพของงานข่าว คุณภาพของตัวนักข่าวและจริยธรรมวิชาชีพแบบสื่อทางเลือก นั่นคือเป็นมืออาชีพในสิ่งที่สื่อกระแสหลักบกพร่อง นี่ย่อมนำมาซึ่ง loyalty ฐานมวลชนหรือแฟนคลับ ความเป็นมืออาชีพแบบนี้ก็คือความเป็นสถาบันที่น่าเชื่อถือ ดังนั้น ทั้ง 3 ปัจจัย คือทั้งทุน ความเป็นมืออาชีพและความเป็นสถาบัน มันเชื่อมโยงกันและกันอย่างแยกไม่ได้เลยนะ "

"กรณีศึกษาหลายกรณีที่จดทะเบียนมูลนิธิ ก็เป็นเครื่องสะท้อนความต้องการเป็นองค์กรที่ยั่งยืน ความเป็นองค์กรย่อมเอื้อแก่การระดมทุนโดยชอมธรรมและโปร่งใส นี่ก็คือความเป็นสถาบันให้มากขึ้น มันอาจมีปัญหาที่วิธีการ ไม่ใช่ปัญหาที่เป้าหมาย...เราคงต้องครุ่นคิดและสร้างสรรค์วิธีการเป็นสถาบันในแบบของสื่อทางเลือก รวมทั้งการระดมทุนที่ในขณะเดียวกันก็รักษาจิตวิญญาณของการเป็นสื่อเสรีได้ด้วย"

"ถ้าเราเชื่อว่า สื่อทางเลือกเกิดขึ้นมาด้วยเจตนารมย์ของการเมืองภาคประชาชนในมิติของ 'สื่อ' คือการใช้ freedom of expression และ rights to know เรายิ่งต้องสร้างความเข้มแข็งให้แก่เส้นทางการต่อสู้นี้”

 

อ่าน 'จับตา': “รู้จักสื่อใหม่ (New Media)”  
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5421

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: