เปิดดัชนีสื่อไทย 2557: คำถามความเป็นมืออาชีพกับปม ‘ดีเอ็นเอเซ็นเซอร์ตัวเอง’

ทีมข่าวTCIJ 1 ก.พ. 2558 | อ่านแล้ว 1596 ครั้ง

วันศุกร์ที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา ควรเป็นวันที่มีการแถลงข่าว ‘ดัชนีชี้วัดสถานภาพสื่อเอเชีย: ประเทศไทย 2557’ หรือ Asian Media Barometer: Thailand 2014 ซึ่งจัดโดยมูลนิธิฟรีดริคเอแบร์ทและสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย(TJA) แต่งานดังกล่าวต้องถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเกี่ยวกับดัชนีชี้วัดสถานภาพสื่อเอเชียที่จัดพิมพ์โดยมูลนิธิฟรีดริคเอแบร์ท มีข้อมูลหลายประเด็นที่น่าสนใจ TCIJ จึงขอสรุปเนื้อหาบางส่วนมานำเสนอ

ความเป็นมืออาชีพสื่อไทยอยู่ระดับปานกลาง

ดัชนีชี้วัดสถานภาพสื่อเอเชีย: ประเทศไทย 2557 ในประเด็นด้าน‘สื่อมีความเป็นมืออาชีพในระดับสูง’พบว่า ประเทศไทยได้คะแนน 2.5โดยแบ่งการวิเคราะห์เป็นหัวข้อดังนี้

(ระบบการให้คะแนนคือ 1 คะแนนหมายถึงไม่ได้มาตรฐานตามดัชนีชี้วัด, 2 คะแนนหมายถึงได้มาตรฐานตามดัชนีชี้วัดเพียงบางด้าน, 3 คะแนนหมายถึงได้มาตรฐานตามดัชนีชี้วัดในหลายด้าน, 4 คะแนนหมายถึงได้มาตรฐานตามดัชนีชี้วัดส่วนใหญ่ และ 5 คะแนนหมายถึงได้มาตรฐานตามดัชนีชี้วัดทุกด้าน)

‘สื่อปฏิบัติตามจรรยาบรรณทางวิชาชีพที่บังคับใช้โดยองค์กรควบคุมกันเองของสื่อซึ่งรับเรื่องร้องเรียนจากสาธารณะ’?

พบว่า กลไกการกำกับดูแลกันเองและการดำเนินการร้องเรียนขององค์กรวิชาชีพยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ทั้งยังไม่แสดงบทบาทเชิงรุกในการพิจารณากรณีสื่อผิดจรรยาบรรณหรือหาแนวทางป้องกันการละเมิดข้อบังคับในอนาคต ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กลไกดูแลกันเองไม่ได้ผล เป็นเพราะเจ้าของและผู้บริหารองค์กรสื่อมีอิทธิพลในการกำหนดตัวผู้ที่จะเป็นกรรมการองค์กรวิชาชีพ ขณะที่องค์กรวิชาชีพก็ไม่มีอำนาจพอจะต่อรองกับเจ้าของหรือผู้บริหารองค์กรสื่อ ผู้บริหารสื่อเองก็มักเพิกเฉยผลการพิจารณาขององค์กรวิชาชีพและไม่ลงโทษลงนักข่าวที่ผิดจรรยาบรรณ หากนักข่าวหรือการทำผิดจรรยาบรรณนั้นสร้างรายได้จำนวนมากให้แก่องค์กร รายงานกล่าวว่าหากต้องการให้การกำกับตรวจสอบกันเองได้ผล องค์กรวิชาชีพจำเป็นต้องหาโครงสร้างและกลไกกำกับดูแลกันเองที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับบริบทสังคมไทย และเปิดรับการตรวจสอบจากทั้งภายในและภายนอก

‘มาตรฐานของการรายงานข่าวเป็นไปตามหลักพื้นฐานของการรายงานข่าว ในเรื่องความถูกต้อง แม่นยำ และยุติธรรม’?

การแข่งขันกันที่ความเร็วจนกลัวตกข่าวทำให้สื่อไม่ได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพียงพอ นอกจากจะทำให้ข้อมูลผิด พลาดแล้ว ยังอาจตกเป็นเครื่องมือในการปั่นข่าวของกลุ่มผลประโยชน์ ปัญหามาตรฐานความถูกต้องของเนื้อหายังเกิดจากกองบรรณาธิการและนักข่าวที่ขาดความรู้ความเข้าใจในประเด็นที่ตนรายงาน ซึ่งก็สะท้อนว่าองค์กรสื่อไม่มีโครงสร้างและระบบที่จะพัฒนามาตรฐานวิชาชีพอย่างจริงจัง เป็นเหตุให้นักข่าวเป็นได้เพียงช่างเทคนิคหรือ ‘นักเขียนข่าว’ ทั้งนี้ยังมีปัจจัยด้านทัศนคติต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่ทำให้การนำเสนอข่าวมีความโน้มเอียงและเลือกหยิบเพียงบางมุมขึ้นมารายงาน

การเซ็นเซอร์ตนเองอยู่ในดีเอ็นเอของสื่อไทย

มาโดยตลอดและถือเป็นเรื่องปกติ

หากเนื้อหาข่าวเกี่ยวข้องกับกลุ่มอิทธิพลและกลุ่มผลประโยชน์

‘สื่อรายงานครอบคลุมเหตุการณ์ ประเด็นสังคมวัฒนธรรม ประเด็นธุรกิจ/เศรษฐกิจ เรื่องราวในท้องถิ่น และข่าวสืบสวนสอบสวน’?

 การเกิดขึ้นของนักข่าวพลเมืองส่งผลให้ข่าวจากท้องถิ่นมีเพิ่มขึ้น แม้จะยังถูกวิจารณ์ในแง่ความเป็นมืออาชีพ แต่ก็ควรให้การสนับสนุนต่อ ส่วนประเด็นข่าวสืบสวน พบว่า นักข่าวยังคิดว่าข่าวสืบสวนต้องเป็นข่าวหนัก มุ่งเปิดโปงการทุจริตเท่านั้น จึงทำให้ไม่มีแง่มุมที่เปิดกว้าง และบางครั้งข่าวที่ว่าเป็นข่าวสืบสวนก็เป็นเพียงการประมวลข้อมูลที่มีอยู่ ไม่ใช่การขุดคุ้ย ทั้งข่าวแบบนี้ต้องใช้ทรัพยากรสูง ขณะที่การเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกในสังคมไทยยังยากลำบาก เมื่อบวกกับการไม่สามารถเชื่อมโยงให้เห็นผลกระทบในวงกว้างได้ จึงทำให้ข่าวสืบสวนมีปริมาณน้อยและไม่เกิดพลัง

‘นักหนังสือพิมพ์และบรรณาธิการไม่เซ็นเซอร์ตนเอง’?

รายงานระบุว่า การเซ็นเซอร์ตนเองอยู่ในดีเอ็นเอของสื่อไทยมาโดยตลอดและถือเป็นเรื่องปกติ หากเนื้อหาข่าวเกี่ยวข้องกับกลุ่มอิทธิพลและกลุ่มผลประโยชน์ ถึงกระนั้นก็ยังมีสื่อออนไลน์ที่มักนำเสนอข่าวที่สื่อกระแสหลักไม่รายงาน ทว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ก็กดดันให้สื่อออนไลน์ไม่กล้านำเสนอข่าวที่สื่อหลักไม่รายงาน เพราะเกรงกลัวว่าจะผิดกฎหมาย

‘เจ้าของสื่อเอกชนกระแสหลักที่ก่อตั้งมานานและได้รับการยอมรับไม่ก้าวก่ายความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการ’?

แม้ว่าจะไม่มีการระบุเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ทุกองค์กรสื่อจะรู้โดยอัตโนมัติว่าประเด็นใดควรหรือไม่ควรนำเสนอ หรือบางครั้งการปรากฏตัวของเจ้าของสื่อในกิจกรรมสำคัญขององค์กรอาจหมายถึงการส่งสัญญาณเชิงนโยบายบางประการต่อการรายงานข่าว ผู้ปฏิบัติงานสื่อในองค์กรจึงมี 2 สถานะคือนักข่าวและพนักงานบริษัท ซึ่งบางครั้งสถานะทั้งสองก็ขัดแย้งกัน อย่างไรก็ตาม หากนักข่าวสร้างกลไกและโครงสร้างในการต่อรองกับเจ้าขององค์กรได้ก็อาจคงความเป็นอิสระในการนำเสนอข่าวได้ในระดับหนึ่ง

‘ระดับขั้นเงินเดือนและเงื่อนไขสวัสดิการของนักหนังสือพิมพ์และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อแขนงอื่นๆ อยู่ในระดับที่เหมาะสม’?

ขั้นเงินเดือนของสื่ออาจมีการปรับขึ้น แต่ในแง่ของสวัสดิการและค่าตอบแทนอื่นๆ ยังไม่เพิ่มขึ้น ทำให้นักข่าวไม่มีแรงจูงใจในการทำงานและพัฒนาศักยภาพของตน ทั้งต้องหาอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้พิเศษ

‘นักวิชาชีพสื่อสารมวลชนสามารถเข้าถึงการฝึกอบรมในหลักสูตรทางการ รวมทั้งมีโอกาสในการพัฒนาเพิ่มพูนทักษะ’?

 รายงานระบุว่า ปัจจุบันมีโครงการและหลักสูตรอบรมระยะสั้นที่จัดโดยหน่วยงานต่างๆ จำนวนมาก แต่สถานการณ์กลับเป็นว่านักข่าวส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าร่วมได้ เนื่องจากเผชิญข้อจำกัดหลายประการ ตั้งแต่นักข่าวไม่มีต้นทุน, นักข่าวมีงานรัดตัว, องค์กรต้นสังกัดไม่อนุญาต, ความสนใจของนักข่าวไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการอบรม ขณะที่การอบรมส่วนใหญ่ที่จัดขึ้นและผู้บริหารองค์กรยินดีจะส่งนักข่าวเข้าร่วมมักเป็นการอบรมที่เกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน มากกว่าการพัฒนามุมมองและวิธีคิด จึงมีการเสนอว่าการจัดอบรมควรคำนึงถึงข้อจำกัด เงื่อนไข และความต้องการของนักข่าว

‘นักหนังสือพิมพ์และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อแขนงอื่นๆ มีการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานและ/หรือสมาคมวิชาชีพ’?

ความพยายามก่อตั้งสหภาพแรงงานของสื่อมวลชนที่ผ่านมาไม่เป็นผล เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนเจ้าของสื่อ แต่สถานการณ์การเมืองปี 2553 นักข่าวพบว่าไม่ได้รับการคุ้มครองและความช่วยเหลือเท่าที่ควรจากต้นสังกัด ด้านองค์กรวิชาชีพก็ไม่สามารถช่วยได้ จึงทำให้เกิดการก่อตั้งสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทยขึ้นเมื่อต้นปี 2556

บรรยากาศแห่งความกลัว

ขณะที่หัวข้อ ‘เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นรวมทั้งเสรีภาพของสื่อได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมอย่างแข็งขัน’พบว่าประเทศไทยได้คะแนน 2.8 โดยมีรายละเอียดบางด้าน ดังนี้

‘บทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้รับการนำไปปฏิบัติพลเมืองรวมทั้งนักสื่อสารมวลชนสามารถใช้สิทธิได้โดยไม่มีเหตุต้องหวาดกลัว’ ซึ่งไทยได้คะแนน 2.0 พบว่า สถานการณ์หลังการรัฐประหาร 2557 มีบรรยากาศของความหวาดกลัวเกิดขึ้น สื่อถูกควบคุมสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตั้งแต่วันแรกของการรัฐประหารและถูกสั่งห้ามวิพากษ์วิจารณ์ห้ามกองบรรณาธิการเชิญนักวิชาการข้าราชการหรือบุคคลที่แสดงความคิดเห็นต่อต้านคสช. ออกอากาศในรายการทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์เนื่องจากสื่อหวาดกลัวที่จะนำเสนอความคิดเห็น

สื่ออินเตอร์เน็ตเป็นอีกสื่อที่ถูกคสช. จับตาและควบคุมมาก เว็บไซต์บางแห่งต้องปิดเว็บบอร์ดหรือส่วนแสดงความคิดเห็นทั้งหมดเพราะกลัวว่าหากไม่สามารถดูแลความเห็นที่ส่งเข้ามาได้จะถูกปิดเว็บไซต์ทั้งที่ก่อนหน้าเหตุการณ์รัฐประหารการแสดงความคิดเห็นบนสื่อออนไลน์ถือว่ามีข้อจำกัดมากอยู่แล้วแต่หลังวันที่ 22 พฤษภาคมความระมัดระวังมีมากขึ้นกว่าเดิม

ส่วนดัชนีด้าน ‘ไม่มีกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเช่นการจำกัดโดยพระราชบัญญัติความลับทางราชการหรือกฎหมายหมิ่นประมาทหรือกฎหมายที่แทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชนอย่างไม่มีเหตุผล’?

ไทยได้คะแนนเพียง 1.5 เพราะไทยยังมีกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนอย่างน้อย 3 กลุ่มคือ กฎหมายหมิ่นประมาท, กฎหมายข้อมูลข่าวสารและกฎหมายสื่อมวลชน

โดยหลังการรัฐประหาร คสช. มีประกาศและคำสั่งเกี่ยวกับการควบคุมสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนรวมทั้งสิ้น20ฉบับทำให้เกิดการห้ามจัดกิจกรรมเสวนาทางวิชาการและการอภิปรายทางการเมืองทั้งยังมีการห้ามสื่อสิ่งพิมพ์และรายการวิทยุโทรทัศน์ ไม่ให้เชิญนักวิชาการหรือผู้ที่เคยเป็นข้าราชการรวมทั้งผู้ที่เคยปฏิบัติงานในศาลและกระบวนการยุติธรรมตลอดจนองค์กรอิสระมาให้สัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดหรือขยายความขัดแย้งบิดเบือนและสร้างความสับสนให้กับสังคมและจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: