จาก ดุซงญอ กรือเซะ ถึงตากใบ สิ่งที่รัฐไทยยังไม่เรียนรู้

ดันย้าล อับดุลเลาะ 1 พ.ย. 2558 | อ่านแล้ว 3574 ครั้ง


มูลเหตุไม่เป็นที่แน่ชัด เพราะทั้งสองฝ่ายอ้างถึงมูลเหตุต่างกัน ฝ่ายชาวบ้านทำพีอาบน้ำมันเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ เพราะรัฐไม่สามารถดูแลชีวิตและทรัพย์สินให้พวกเค้า ขณะที่รัฐเข้าใจว่าชาวบ้านซ่องสุมเตรียมการต่อต้านรัฐ หลังเหตุการณ์ มีการสร้างอนุสาวรีย์ลูกปืนเพื่อรำลึกถีงเหตุการณ์นี้ แต่อนุสาวรีย์นี้ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก [1]

การอุบัติขึ้นของเหตุการณ์รุนแรงในเวลาเช้ามืดของวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๗  กลุ่มผู้ก่อเหตุบุกเข้าโจมตีสถานีตำรวจ ที่ทำการของรัฐและป้อมยาม 12 จุด ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  คือปัตตานี ยะลาและสงขลา (น่าสังเกตว่าไม่มีปฏิบัติการในจังหวัดนราธิวาสในเช้าวันนั้น ทั้งๆในอดีตนราธิวาสเป็นจุดของการปะทะขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐมากสุด) กระทั่งนำไปสู่การยึดมัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี เป็นฐานที่มั่นสุดท้าย  ก่อนถูกกองกำลังทหารและตำรวจและอื่นๆที่ลงมาประจำเตรียมรับมือความรุนแรงในพื้นที่เหล่านั้นตอบโต้และปราบปรามด้วยความรุนแรงอย่างเต็มที่  ฝ่ายผู้ก่อการร์เสียชีวิตไป ๑๐๗ คน โดยเฉพาะที่มัสยิดกรือเซะตายไป ๓๒ คน อายุเฉลี่ย ๓๐ ปี ในบรรดาผู้เสียชีวิตในจุดอื่นมีกลุ่มเยาวชนที่ยังเป็นนักเรียนระดับมัธยมในอำเภอสะบ้าย้อยถึง ๑๐ คน  ที่มัสยิดกรือเซะเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเสียชีวิต ๓ นาย และบาดเจ็บสาหัส ๘ นาย ฝ่ายผู้ก่อการไม่มีผู้บาดเจ็บเลย [2]

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 กลุ่มผู้ชุมนุมที่มีทั้งชาย หญิง และเด็ก ได้เดินขบวนไปยังสถานีตำรวจภูธร อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน บ้านโคกกูเว หมู่ที่ 5 ตำบลพร่อน จำนวน 6 คน ซึ่งถูกควบคุมตัวในคดีความไม่สงบในพื้นที่

ภายหลังกลุ่มผู้ชุมนุมเดินขบวนนับพันมาถึงจุดหมายในช่วงเช้า และดำเนินการชุมนุมประท้วงในช่วงบ่าย ฝ่ายรัฐได้ตัดสินใจว่าจะจับตัวแกนนำประมาณ 100 คน ที่เชื่อว่าเป็นผู้ปลุกระดมให้คนมารวมกลุ่มกันต่อต้านรัฐ อันเป็นส่วนหนึ่งของ ‘แผนการ 7 ขั้นตอน’ ต่อเนื่องจากเหตุการณ์ปล้นปืน เมื่อวันที่ 4 มกราฯ ปีเดียวกัน แต่เนื่องจากเห็นว่าแกนนำเหล่านี้ได้กระจายตัวกันอยู่ในหมู่ผู้ชุมนุมนับพัน ฝ่ายรัฐซึ่งได้ระดมกำลังทหารตำรวจมาจนพร้อม จึงตัดสินใจปิดล้อมและกวาดจับผู้ชุมนุมนับพัน เพื่อนำไปคัดแยกจับกุมแกนนำในภายหลัง

ภายหลังการปะทะสิ้นสุด มีผู้เสียชีวิตทันที 6 คน และเสียชีวิตระหว่างการลำเลียงตัวไปค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เพราะขาดอากาศหายใจ 78 ราย และอีก 1 รายไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลหลังจากนั้น เนื่องจากถูกจับมัดมือไพล่หลัง นอนคว่ำเรียงซ้อนกัน 4-5 ชั้น บนรถบรรทุกเป็นเวลาประมาณ 5 ชั่วโมง โดยสภาพร่างกายผู้ชุมนุมเหน็ดเหนื่อยจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ยังอ่อนเพลียเนื่องจากอยู่ในช่วงถือศีลอด[3]

ทั้งสามเหตุการณ์ข้าพเจ้าไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ เหตุการณ์ที่ดุซงญอ ข้าพเจ้าเองยังไม่ลืมตามาดูโลกด้วยซ้ำ ช่วงที่เกิดเหตุการณ์ การสลายการชุมนุมที่ตากใบ ข้าพเจ้ายังเรียนอยู่มัธยมศึกษาปีที่สี่ แต่แม้ว่าจะไม่เคยอยู่ในเหตุการณ์เหล่านั้น แต่ทว่าเหตุการณ์ต่างๆกลับให้บทเรียน ข้อคิดแก่ตัวข้าพเจ้า ขณะเดียวกันก็อดสงสัยไม่ได้ว่ารัฐไทยได้บทเรียนอะไรจากเหตุการณ์ดังกล่าวหรือไม่

เหตุการณ์ที่ดุซงญอ สำหรับตัวข้าพเจ้าแล้ว ได้ให้บทเรียนว่า อำนาจรัฐในการปกครองคนปาตานี/ชายแดนใต้ ไม่ได้มองว่าคนชายแดนใต้เป็นพลเมืองของรัฐไทย หากเป็นประชากรที่ต้องเฝ้าระวังและปราบปรามการรวมกลุ่มของคนในชายแดน แม้ว่าข้าพเจ้าไม่อาจจะรับรู้ถึงความจริงที่แท้ที่ชาวบ้านดุซงญอรวมตัวกันจับอาวุธในวันนั้นว่าเป็นไปด้วยเหตุประการใด แต่สิ่งที่สะท้อนได้อย่างชัดแจ้งคือ อำนาจรัฐมองว่าการรวมกลุ่มครั้งนั้นเป็นไปเพื่อทำลายความมั่นคงของรัฐไทยทำลายความสงบสุข จนนำไปสู่การปะทะกันคนมีผู้เสียชีวิตทั้งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐ การสูญเสียคือข้อเท็จจริงที่ไม่อาจจะเลี่ยงได้ เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิด น่าเศร้าใจที่ความสุญเสียต่อประชากรและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เกิดขึ้นเพียวเพราะเหตุอันควรสงสัยว่าจะทำลายความมั่นคงของรัฐ

เหตุการณ์การหายตัวไปของท่านหะยีสุหรง โต๊ะมีนา นักปราชญ์ นักวิชาการศาสนา นักฟื้นฟูสังคม แห่งปาตานี/ชายแดนใต้ เป็นอีกเหตุการณ์ที่เกิดจากเหตุอันสมควรสงสัยว่าจะทำลายความสงบสุขและความมั่นคงของรัฐ จากข้อเสนอและจุดยืนของท่านที่ยืนหยัดรักษาวิถีชีวิตแบบปาตานี เมืองระเบียงแห่งมักกะฮฺ(มักกะฮฺเมืองสำคัญทางศาสนาอิสลาม) ตัวท่านถูกอุ้มหายตัวไปด้วยความหวาดกลัว ถูกบังคับให้สูญหายเพียงเพราะมีความกังวลว่า พื้นที่แห่งนี้จะต่างออกไปจากความเป็นไทยที่อำนาจรัฐในสมัยนั้นพยายามสถาปนาขึ้นมา

เหตุการณ์เช้าวันที่ 28 เมษายน 2547 ข้าพเจ้าตื่นมาพร้อมกับความสงสัยและกังวล ด้วยเสียงไซเรนที่ดังว่อนอยู่ในอากาศของเช้าวันนั้น พร้อมกับทีวีที่รายงานข่าวว่าเกิดเหตุร้ายทั่วสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สร้างความสะพรึงกลัวให้แก่ข้าพเจ้าซึ่งเป็นนักเรียนมัธยมได้มากทีเดียว ที่สุดเหตุการณ์จบลงที่มัสยิดกรือเซะ มีผู้เสียชีวิตไม่น้อยกว่าร้อยชีวิต อายุระหว่าง 18-30ปี ในมุมมองของข้าพเจ้า คนเหล่านี้ถือว่ายังคงเป็นวัยรุ่น(แม้จะมีผู้สูงวัยในจำนวนนั้นบางคน) มีการรายงานข่าวว่า มีกลุ่มคน บุกโจมตีสถานีตำรวจ ค่ายทหาร หลายแห่ง และมีการรวมตัวกันในมัสยิดกรือเซะ การโจมตีสถานที่ราชการเช่น สถานีตำรวจและค่ายทหาร มีการปะทะกันจนเกิดการสูญเสีย คงมีคนจำนวนมากที่ตั้งคำถามว่าทำไม กลุ่มคนเหล่านั้น ถึงต้องบุกโจมตี สถานีตำรวจ ค่ายทหาร ด้วยอาวุธ ทำไมต้องทำเช่นนั้น ทำไมต้องโจมตี มันเกิดอะไรขึ้นกับชายแดนใต้ ถึงต้องมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง รวมตัวกันปฏิบัติการในเวลาที่ใกล้เคียงกัน ทำไมเด็กหนุ่มหลายคน พร้อมที่จะอุทิศชีวิตที่เหลือของเขาในช่วงพลบค่ำวันนั้นที่มัสยิดกรือเซะ ขณะเดียวกันก็คงมีคนจำนวนมากที่คิดว่า สมควรแล้วที่พวกเขาจบชีวิตลงจากการโจมตีครั้งนั้น ข้อเท็จจริงในวันนั้นยากนักที่จะเผยกระจ่างว่า ในนั้นมีเพียงคนมุสลิมที่ฏิบัติศาสนกิจปกติหรือมีกลุ่มคนที่ต่อต้านอำนาจรัฐอยู่ในมัสยิด การต่อรองเจรจาให้มอบตัวไม่เป็นผล จนในที่สุดก็จบด้วยคราบเลือด น้ำตา และทัศนคติของผู้คนที่ต่างกันออกไปสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

เดือนรอมฎอนเดือนแห่งการถือศีล ใคร่ครวญ สำรวมตนของคนมุสลิมในปี 2547 ตรงกับเดือนตุลาคม ในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 มีคนหลายพันคนต่างมุ่งหน้าสู่ สถานีตำรวจ อำเภอตากใบ ไปด้วยเหตุผลที่อ้างกันว่า เพื่อร้องเรียกความยุติธรรมแก่ คนชายแดนใต้ ที่ถูกจับกุมก่อนหน้านั้น การชุมนุมเริ่มตึงเครียดเมื่อจำนวนผู้ชุมนุมเพิ่มมากขึ้น ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าคนมารวมตัวกันเพิ่มมากด้วยสาเหตุอะไร มีคำกล่าวต่างๆนานา แตกต่างกันออกไปจากการมาชุมนุมของตน แต่ที่แน่ๆ สาเหตุการชุมนุมเกิดจากความไม่เป็นธรรมของอำนาจรัฐ ในที่สุดเจ้าหน้าที่ ได้ออกมาเจรจาให้ผู้ชุมนุมสลายตัวและกลับบ้าน แต่ไม่เป็นเช่นนั้นผู้ชุมนุมยืนยันที่จะชุมนุมต่อจนกว่าจะปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมทั้ง 6 คน ในที่สุดสลายการชุมนุกมก็เกิดขึ้น ผลมีผู้เสียชีวิตอีกแล้ว ทั้งเสียชีวิต ณ ที่เกิดเหตุและจากการลำเลียงขนย้ายผู้ถูกจับกุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ระยะทางราวๆ 200กิโลเมตร ผู้คนถูกซ้อนกันเป็นชั้น บนรถบรรทุกของทหาร ในท้ายที่สุดมีคำสั่งของจังหวัดสงขลาพิพากษาว่า สาเหตุการตายของผู้ถูกจับกุมในวันนั้นเกิดจากการขาดอากาศหายใจ คำถามคือ ทำไมเขาเหล่านั้นต้องมาชุมนุม และทำไมการดูแลผู้ถูกจับกุมในวันนั้นถึงมีจุดบกพร่องจนทำให้เสียชีวิตอีกครั้ง โดยไม่มีคนที่ต้องรับผิดชอบจากมาตรการควบคุมตัวที่ไม่มีความเหมาะสม เป็นอีกครั้งที่เหตุการณ์จบลงด้วยความสูญเสียและทัศนคติของผู้คนที่ต่างกันออกไปของคนในพื้นที่และเจ้าหน้าที่รัฐภายหลังเหตุการณ์

เหตุการณ์ทั้งหมดสำหรับข้าพเจ้า มีอะไรหลายอย่างต้องคิด เหตุการณ์ความขัดแย้งจนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในชายแดนใต้จนวันนี้ ถูกบ่มเพาะด้วยความสูญเสีย และทัศนคติที่ต่างกันออกไปของคนในพื้นที่และเจ้าหน้าที่รัฐ จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่จริงมีเหตุการณ์จำนวนมาก หลายเหตุการณ์สำคัญที่มิได้กล่าวถึง เช่น เหตุฆาตกรรมชาวบ้านโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่สะพานกอตอ จนนำไปสู่ชุมนุมใหญ่หน้าศาลากลางและมีการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม ข้าพเจ้ารู้สึกขัดใจที่หลายคนคิดว่าเหตุความรุนแรงเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 4 มกราคม 2547 แท้จริงความรุนแรงและทัศนคติที่ขัดแย้งถูกบ่มเพาะมานานหลายสิบปี เหตุการณ์หะยีสุหรงหายตัวไป กบฏดุซงญอ เหตุการณ์ปล้นปืน เหตุกรือเซะและตากใบ เกิดขึ้นห่างกันเป็นระยะเวลานานหลายสิบปี

นับตั้งแต่เหตุการณ์ดุซงญอ จนถึงตากใบ ล้วนมีผู้เสียชีวิตจากการตัดสินใจกระทำเพื่อความสงบและความมั่นคงของรัฐจากอำนาจรัฐ หากจะมองในแว่นตาคนสมัยใหม่เช่นข้าพเจ้าแล้ว ทำไมความมั่นคงของรัฐถึงสำคัญกว่าความมั่นคงของชีวิตประชากรของรัฐ หรือนั่นเพราะว่าไม่เคยมองว่าเขาเหล่านั้นไม่ใช่ประชากรของรัฐหรืออย่างไรกัน รัฐ ไม่เคยเรียนรู้ที่จะจัดการกับปัญหาความมั่นคงด้วยวิธีการอื่น นอกจาก การปราบปรามด้วยความรุนแรง เหตุการณ์ ดุซงญอ กรือเซะ และตากใบจบที่การปราบปรามและความรุนแรงด้วยเหตุผลเดียวกันคือ เพื่อรักษาความสงบสุขและความมั่นคงของรัฐ แต่ไม่เคยมีการถอดบทเรียนจากเหตุการณ์เหล่านั้นเลยว่า เกิดขึ้นจากสาเหตุประการใด และจะแก้ไขที่มูลเหตุอย่างไร มีปัจจัยใดบ้างที่จะทำให้ประชาขนในรัฐนั้นๆลุกขึ้นมาจับอาวุธสู้กับอำนาจรัฐของตัวเอง ถ้าไม่ใช่ปัญหาความเป็นธรรมที่รัฐจะต้องให้กับประชาชนตัวเอง

การแก้ไขปัญหาของการปะทะกันทางทัศนคติระหว่างประชาชนและอำนาจรัฐ กลายเป็นการปราบปรามแทนที่จะพิจารณาแก้ไขระบบโครงสร้างอำนาจรัฐหรือจัดการอำนาจให้เป็นธรรมต่อประชาชนให้มากที่สุด แม้เวลาจะผ่านไปหลายสิบปี การแก้ไขปัญหาความเป็นธรรมของอำนาจรัฐในชายแดนใต้ ก็ยังคงใช้วิธีการเดิมตั้งแต่ปี 2491 คือการปราบปรามผู้ที่อำนาจรัฐสงสัยว่าจะทำลายความสงบและความมั่นคงของรัฐ

อะไรที่ทำให้การจัดการของอำนาจรัฐมีต่อคนชายแดนใต้ไม่เปลี่ยนแปลงไป คำตอบคือการ รัฐ ไม่เคยเรียนรู้จากความสูญเสียที่เกิดขึ้น ไม่เรียนรู้จากความรุนแรงที่เกิดขึ้นว่ามีสาเหตุที่แท้จริงจากสิ่งใด รัฐไม่เคยเห็นรากเหง้าความขัดแย้ง ไม่เห็นว่าความเป็นธรรมในพื้นที่มีปัญหา ไม่เห็นว่าทัศนคติที่ขัดแย้งกันส่วนหนึ่งเกิดจากการแก้ปัญหาด้วยวิธีที่ไม่เหมาะสมของรัฐเอง

เมื่อไม่เรียนรู้ข้อผิดพลาด ก็คงยากที่จะแก้ไข และรัฐจะยังคงทำผิดพลาดในเรื่องซ้ำๆเดิมต่อไป เพราะวิธีที่รัฐคิดว่าเป็นการแก้ปัญหาน่ะแหละที่เป็นตัวสร้างปัญหา

 

[1] https://th.wikipedia.org/wiki/https://th.wikipedia.org/wiki/กบฏดุซงญอ

[2] http://www.freethailand.com/indexsite.php?username=dusongyoo&cat=21576&act=mc

[3] http://thaipublica.org/2012/10/8-years-tak-bai-by-state-crime/

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: