บุหรี่ไฟฟ้ากับคำถามที่ทุกคนอยากรู้

31 ก.ค. 2557 | อ่านแล้ว 105459 ครั้ง


ที่มาภาพประกอบ: George Hodan (CC0 1.0)

ถาม บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร

ตอบ บุหรี่ไฟฟ้าเป็นยาสูบชนิดใหม่ โดยผู้สูบจะได้รับสารนิโคตินเหลวที่ระเหยด้วยความร้อนจากไฟฟ้าเข้าสู่ร่างกาย การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นวิธีการนำสารเสพติดนิโคตินเข้าสู่ร่างกายเช่นเดียวกับการสูบบุหรี่ แต่ไม่มีการเผาไหม้ใบยาสูบ

ถาม บุหรี่ไฟฟ้าประกอบด้วยอะไร

ตอบ บุหรี่ไฟฟ้าเป็นแท่งกลมคล้ายบุหรี่ ตัวมวนบุหรี่ไฟฟ้าแบ่งเป็นส่วนของแบตเตอรี่และส่วนที่บรรจุขวดขนาดเล็กใส่ของเหลวที่มีนิโคตินผสมอยู่ เวลาสูบสวิตซ์ไฟจะถูกเปิด เกิดไฟแดงที่ปลายแท่งพร้อมกับการทำงานของแบตเตอรี่ เกิดความร้อนทำให้ของเหลวในขวดที่บรรจุไว้ระเหยขึ้นมาเป็นควัน เมื่อสูดเข้าไปในปอดจะทำให้ได้รับนิโคตินก่อนที่จะถูกพ่นออกมา

ถาม นิโคตินที่มีในบุหรี่ไฟฟ้ามาจากไหน

ตอบ นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าได้มาจากการสกัดสารนิโคตินจากใบยาสูบ นักวิทยาศาสตร์สามารถสังเคราะห์สารนิโคตินในห้องทดลองได้ แต่ต้นทุนในการสังเคราะห์ยังแพงมากส่วนใหญ่จึงยังใช้วิธีสกัดจากใบยาสูบ

ถาม บุหรี่ไฟฟ้ามีการใช้แพร่หลายมากี่ปีแล้ว

ตอบ ประมาณ 8 ถึง 10 ปี

ถาม ทำไมจึงมีการผลิตบุหรี่ไฟฟ้าขึ้น

ตอบ การเกิดขึ้นของบุหรี่ไฟฟ้าอาจจะมาจากสามสาเหตุ หนึ่ง-ปัจจุบันประเทศต่างๆ ทั่วโลกห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะ เนื่องจากความตื่นตัวถึงอันตรายของควันบุหรี่มือสอง จึงมีผู้คิดค้นบุหรี่ไฟฟ้าขึ้นซึ่งไม่มีการเผาไหม้เหมือนการสูบบุหรี่ธรรมดา ผู้ผลิตหวังว่าผู้ที่ติดบุหรี่สามารถที่จะสูบบุหรี่ไฟฟ้าในที่ที่กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ได้ สอง-การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นวิธีการน สารนิโคตินเข้าสู่ร่างกายที่สะอาดกว่าการสูบบุหรี่ธรรมดา ซึ่งการสูบบุหรี่ธรรมดาเป็นวิธีการนำสารนิโคตินเข้าสู่ร่างกายที่กล่าวได้ว่า 'สกปรก' เนื่องจากมีการเผาไหม้ใบยาสูบและกระดาษที่ใช้มวนทำให้เกิดเขม่าและมีกลิ่นเหม็นเป็นที่น่ารังเกียจ สาม-เพื่อลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ (Harm reduction)

ถาม บุหรี่ไฟฟ้าเสพติดหรือไม่

ตอบ บุหรี่ไฟฟ้าเสพติดเหมือนบุหรี่ธรรมดา สารที่ทำให้เกิดการเสพติดในบุหรี่ไฟฟ้าคือสารนิโคตินเหลวที่สกัดจากใบยาสูบ หรือที่ได้จากการสังเคราะห์ขึ้น

ถาม นอกจากสารนิโคตินแล้ว บุหรี่ไฟฟ้ายังมีสารเคมีหรือสารพิษอื่นหรือไม่

ตอบ บุหรี่ไฟฟ้าก็มีการใช้สารปรุงแต่งกลิ่นและรสเช่นเดียวกับบุหรี่ธรรมดา แต่ใช้น้อยชนิดกว่า เท่าที่มีรายงานพบมี 10–20 ชนิด เปรียบเทียบกับบุหรี่ธรรมดาที่มีสารปรุงแต่งกลิ่นและรสนับร้อยชนิด

ถาม บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่

ตอบ เป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยเป็นการเสพติดนิโคติน ซึ่งมีอำนาจเสพติดสูงเทียบเท่าเฮโรอีน นิโคตินกระตุ้นสมอง กระตุ้นหัวใจ ทำให้เส้นเลือดหดตัว ทำให้ความดันสูงขึ้นได้ เนื่องจากเพิ่งมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามาไม่เกินสิบปี แพทย์จึงยังไม่รู้อันตรายต่อร่างกายในการใช้ระยะยาว

ถาม การสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่างจากการสูบบุหรี่ธรรมดาอย่างไร

ตอบ การสูบบุหรี่ไฟฟ้าน่าจะมีอันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่ธรรมดา เนื่องจากไม่มีสารเคมีที่เกิดจากการเผาไหม้เข้าสู่ร่างกาย แต่การสูบบุหรี่ไฟฟ้าอาจจะมีอันตรายมากก็ได้หากอุปกรณ์ที่ใช้ไม่ได้มาตรฐาน อาจจะทำให้ผู้สูบได้รับนิโคตินเกินขนาด อันตรายอีกอย่างหนึ่งของบุหรี่ไฟฟ้าคือ อาจจะมีการผสมยาเสพติดชนิดอื่นเข้ากับนิโคตินเหลว ทำให้ผู้สูบได้รับทั้งนิโคตินและยาเสพติดชนิดอื่นได้ อันตรายที่อาจเป็นไปได้อีกข้อหนึ่งคือ นิโคตินเหลวที่บรรจุในขวดหากเก็บรักษาไม่ดีหรือเก็บไว้นานอาจจะมีเชื้อราหรือเชื้อโรคอื่นเกิดขึ้นได้ ทำให้ผู้สูบได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายเวลาสูบ

ถาม มีบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่มีสารนิโคตินเป็นส่วนประกอบหรือไม่

ตอบ มีความเป็นไปได้ โดยการตรวจตัวอย่างบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศสิงคโปร์ พบว่ามากกว่าร้อยละ 90 ของบุหรี่ไฟฟ้าตรวจพบสารนิโคติน
-สารน้ำเหลวที่มากับบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่มีนิโคตินอาจจะเป็นสารนิโคตินเหลวปลอม เพื่อหวังผลกำไรทางธุรกิจหรือเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจของภาครัฐก็เป็นได้
-ตามหลักวิชาการแล้ว หากไม่มีนิโคตินผสมอยู่คนก็จะไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า พูดอีกทีหนึ่งก็คือคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพราะสูบแล้วได้รับสารนิโคติน ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ที่สมองและเป็นสารที่ทำให้เสพติด

ถาม เป็นไปได้หรือไม่ ที่คนจะติดบุหรี่ไฟฟ้าแทนการติดบุหรี่ธรรมดา

ตอบ มีความเป็นไปได้ โดยเฉพาะสังคมที่ไม่ยอมรับการสูบบุหรี่ มีบางกระแสความเห็นที่ว่า ถ้าหากไม่สามารถขจัดการเสพติดบุหรี่ธรรมดาให้หมดไปก็ปล่อยให้ติดบุหรี่ไฟฟ้าแทนไปเลย

ถาม บารากู่ไฟฟ้าคืออะไร เป็นอันตรายต่อร่างกายหรือไม่

ตอบ ขณะนี้เริ่มมีการโฆษณาขายบารากู่ไฟฟ้าตามอินเตอร์เน็ตโดยแสดงรูปเหมือนกับบุหรี่ไฟฟ้า อ้างว่าปลอดภัย สูบแล้วจะได้กลิ่นผลไม้ชนิดต่างๆ ความแตกต่างระหว่างบุหรี่ไฟฟ้ากับบารากู่ไฟฟ้าอยู่ที่บารากู่ไฟฟ้ามีการเติมสารเคมีที่มีกลิ่นผลไม้เข้าไปในนิโคตินเหลวที่ใช้กับบุหรี่ไฟฟ้า แม้ที่โฆษณาขายจะอ้างว่าไม่มีสารนิโคตินก็ตาม ส่วนอันตรายของบารากู่ไฟฟ้าต่อร่างกายน่าจะมากกว่าบุหรี่ไฟฟ้าธรรมดา เนื่องจากมีการเติมสารเคมีชนิดต่างๆ มากกว่าบุหรี่ไฟฟ้าธรรมดา ซึ่งสารเคมีทุกชนิดล้วนเป็นสารแปลกปลอมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ถาม คนที่ได้รับควันมือสองจากบุหรี่ไฟฟ้าที่ผู้อื่นสูบจะมีอันตรายหรือไม่

ตอบ ยังไม่มีรายงานว่าการได้รับควันบุหรี่มือสองจากบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่โดยหลักวิชาการแล้วอาจจะเป็นอันตรายต่อคนที่เป็นหืด ทำให้เกิดอาการหืดจับได้ เนื่องจากคนที่เป็นหืดจะไวต่อสารเคมีชนิดต่างๆ รวมถึงสารเคมีบางชนิดในบุหรี่ไฟฟ้า

ถาม บุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้เลิกบุหรี่ง่ายขึ้นหรือไม่

ตอบ ยังไม่มีหลักฐานการศึกษาที่ชัดเจนว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้เลิกบุหรี่ง่ายขึ้น แต่มีงานวิจัยบางชิ้นที่พบว่าสามารถใช้ช่วยให้เลิกบุหรี่ได้พอๆ กับการใช้ยาแผ่นแปะกอเอี๊ยะนิโคติน

ถาม ทำไมประเทศส่วนใหญ่ในโลกจึงห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า

ตอบ เพราะ...
-เป็นการเสพติดสารนิโคติน ในทางการแพทย์การติดนิโคตินจัดว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง
-อาจจะเป็นช่องทางที่นำสารเสพติดอื่นเข้าสู่ร่างกายได้
-ยังไม่รู้ผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว
-อาจทำให้สังคมกลับมายอมรับการสูบบุหรี่ธรรมดามากขึ้น ซึ่งจะทำให้การควบคุมยาสูบยากขึ้น
-เยาวชนอาจจะเริ่มจากการติดบุหรี่ไฟฟ้าแล้วนำไปสู่การเสพติดบุหรี่แบบธรรมดา
-เป็นเหตุที่ทำให้คนไม่เลิกสูบบุหรี่ โดยสูบบุหรี่ไฟฟ้าในที่ที่ห้ามสูบ แต่สูบบุหรี่ธรรมดาในที่อื่นๆ
-บริษัทบุหรี่ข้ามชาติได้ทยอยเป็นเจ้าของโรงงานบุหรี่ไฟฟ้าและเริ่มทำการตลาดส่งเสริมการขายในรูปแบบเดียวกับการขายบุหรี่ธรรมดา น่าจะเป็นสัญญาณว่าบริษัทธุรกิจยาสูบมองเห็นโอกาสที่จะส่งเสริมให้เกิดการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายและยั่งยืน

ถาม แล้วจริงๆ บุหรี่ไฟฟ้ามีข้อดีและข้อเสียอย่างไร

ตอบ -ข้อดีหากจะมีก็คือคนที่ติดบุหรี่อยู่แล้วต้องการที่จะเลิกสูบบุหรี่ แต่ทำไม่สำเร็จ บางคนอาจลองเปลี่ยนมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อนำไปสู่การเลิกสูบบุหรี่ในที่สุด
-ข้อเสีย คือ เด็กที่ไม่สูบบุหรี่ แต่มาเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้า และเกิดการติดบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งก็คือการติดนิโคตินเหลวแทน ในภายหลังจึงมาสูบบุหรี่ธรรมดาหรือสูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดา

ถาม ในกฎหมายประเทศไทย บุหรี่ไฟฟ้ามีสถานะอย่างไร

ตอบ ณ ปัจจุบันนี้ (พ.ศ.2556)
-ฝ่ายกฎหมายกรมสรรพสามิตมีความเห็นว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่อยู่ภายใต้คำจำกัดความว่าเป็นบุหรี่ภายใต้ พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 กรมสรรพสามิตจึงไม่มีอำนาจควบคุมสินค้านี้
-ฝ่ายกฎหมายกรมควบคุมโรคมีความเห็นว่า แม้บุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ยาสูบตามคำนิยามยาสูบ ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 แต่การมีลักษณะเป็นแท่งเหมือนบุหรี่ จึงถือเป็น 'ผลิตภัณฑ์เลียนแบบยาสูบ' ตามาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 ผู้ขายบุหรี่ไฟฟ้าจึงมีโทษปรับตามกฎหมาย แต่หากเป็นบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่ได้มีลักษณะเป็นแท่งเหมือนมวนบุหรี่ก็ไม่เข้าข่ายกฎหมายนี้ ปัจจุบันจึงยังไม่มีความชัดเจนในการที่จะควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า

ถาม การสูบบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายไทยหรือไม่

ตอบ กฎหมายไทยยังไม่มีการห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้าผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าจึงไม่มีความผิด เว้นแต่ว่าผสมสิ่งเสพติดชนิดอื่นๆ ในบุหรี่ไฟฟ้า

ถาม การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในสถานที่ห้ามสูบบุหรี่ผิดกฎหมายหรือไม่

ตอบ ยังมีข้อถกเถียงว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในที่ที่กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ผิดหรือไม่ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 แต่เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขก็สามารถห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้าในที่สาธารณะได้ โดยใช้ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ข้อหาเป็นการกระทำที่รบกวนผู้อื่น ปัจจุบันนี้สายการบินส่วนใหญ่ รวมทั้งการบินไทย บางกอกแอร์เวย์ ก็ห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้าบนเครื่องบินแล้ว

ถาม โรงเรียนควรจะทำอย่างไรกับปัญหานักเรียนสูบบุหรี่ไฟฟ้า

ตอบ โรงเรียนไม่ควรจะอนุญาตให้นักเรียนสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพราะ
1.การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นการติดสิ่งเสพติด กรณีนี้คือการติดสารนิโคตินเหลวที่อยู่ในบุหรี่ไฟฟ้า
2.นักเรียนอาจจะสูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดา โดยเวลาอยู่ในโรงเรียนอาจจะสูบเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า แต่เวลาไปอยู่ที่อื่นก็กลับไปสูบบุหรี่ธรรมดา
3.การสูบบุหรี่ไฟฟ้าอาจเปิดโอกาสให้มีการผสมสารเสพติดชนิดอื่นๆ ในนิโคตินเหลวที่ใช้กับบุหรี่ไฟฟ้าได้
4.บุหรี่ไฟฟ้ายังมีราคาแพงพอสมควร เป็นการสูญเปล่าโดยเฉพาะสำหรับเยาวชน

ถาม แล้วเราควรจะควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างไร

ตอบ ประเทศไทยควรจะมีการกำหนดนโยบายให้ชัดเจนลงไปว่าจะควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างไร เพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชน โดยการนำสินค้าบุหรี่ไฟฟ้าเข้าสู่ระบบการควบคุมอย่างถูกกฎหมาย โดยการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดหนึ่งหรือจะกำหนดว่าเป็นยา เป็นสารพิษ หรือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย การตัดสินใจล่าช้าในการดำเนินการจะทำให้การใช้บุหรี่ไฟฟ้าแพร่ระบาด ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อสุขภาพ อาจนำไปสู่การแพร่ระบาดของยาเสพติดร้ายแรงชนิดอื่นที่ถูกนำมาเสพร่วมกับบุหรี่ไฟฟ้า ขณะนี้ฝ่ายที่ได้ประโยชน์คือพ่อค้าที่ขายบุหรี่ไฟฟ้าเพราะไม่ต้องเสียภาษีใดๆ เลย

 

ที่มาเรียบเรียงจาก: 
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
บารากู่ไฟฟ้าระบาดวัยรุ่น ใส่นิโคตินและสารเคมีปรุงกลิ่น แพทย์เตือนอันตราย
พบ ม.2 เริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้า ชี้ผู้ใหญ่เสี่ยงตายหากรับเกิน 60 มก. เด็ก 6 มก.

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: