มติ ครม.อนุมัติโครงการบริหารจัดการน้ำปี 2558 วงเงิน 55,985 ล้านบาท

31 ธ.ค. 2557 | อ่านแล้ว 1967 ครั้ง

เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 57 ที่ผ่านมาที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบตามที่คณะกรรมการด้านการชลประทานและการระบายน้ำแห่งประเทศไทย (THAICID) ได้นำเสนอเกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ จำนวน 4,227 โครงการ โดยอนุมัติกรอบวงเงินได้ของบประมาณเพิ่ม 55,985 ล้านบาท จากวงเงินที่ตั้งไว้ทั้งหมด 108,229 ล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ ปี 2558 รวมทั้งคณะกรรมการฯ ได้ติดตามตรวจสอบโครงการให้มีการโปร่งใส และรายงานสรุปให้ ครม.ได้ทราบต่อไป

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการด้านการชลประทานและการระบายน้ำแห่งประเทศไทย (THAICID) ได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่าในวันนี้ คณะกรรมการฯ ได้เสนอที่ประชุม ครม. เกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ เดิมจาก 5 ด้าน เพิ่มเป็น 6 ด้าน โดยได้แยกแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคกับการเกษตรออกจากกัน แผนฟื้นฟูป่าต้นน้ำ แผนการป้องกันการพังทลายของดิน แผนการบรรเทาและป้องกันอุทกภัย แผนการจัดการคุณภาพและบริหารจัดการ ทั้งนี้ ในวงเงินเพื่อใช้สำหรับแผนดำเนินการตามยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ ปี 2558 เป็นงบปกติที่ได้รับมาแล้ว 52,244 ล้านบาท โดยงบเพิ่มเติมที่ขอในครั้งนี้ เป็นเงินทั้งสิ้น 55,985 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามหากดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์นี้ จะสามารถช่วยฟื้นฟูป่าได้ จำนวน 147,000 ไร่ ปลูกหญ้าแฝกป้องกันการกัดเซาะ 675,000 ไร่ มีน้ำอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น 3,941 หมู่บ้าน มีประปาขึ้นในเขตเมือง 481 แห่ง และจะมีเกษตรกรมากกว่า 150,000 ครัวเรือนสามารถทำเกษตรที่มีระบบชลประทานในพื้นที่ 2.91 ล้านไร่ นอกจากนี้ ยังมีน้ำสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมและบริการได้อย่างมั่นคง และป้องกันพื้นที่สำคัญได้ 24 แห่ง และแม่น้ำสายหลักมีคุณภาพน้ำดีพอใช้ขึ้นไป อีกทั้งยังสามารถบริการจัดการน้ำได้อย่างแม่นยำ และรวดเร็ว ตลอดจนบูรณาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ นายเลิศวิโรจน์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของงบประมาณที่ขอเพิ่ม 55,985 ล้านบาท จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือเงินกู้ 39,706 ล้านบาท กับเงินงบกลาง 16,278 ล้านบาท ซึ่งในเงินที่ใช้ในงบกลางบางส่วนเป็นงบผูกพัน แต่ในปี 2558 จะใช้ 8,650 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม โดยที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบให้ 25 หน่วยงานใน 8 กระทรวงได้ร่วมดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ฯ

ด้าน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ประธานคณะกรรมการกำหนดนโยบายและบริหารทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า ส่วนใหญ่เป็นโครงการจัดหาแหล่งน้ำที่ได้มีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่กักเก็บน้ำ ส่วนใหญ่เป็นฝาย ประตูระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำ ส่วนใหญ่อยู่ภาคกลางและอีสาน ส่วนโครงการขนาดกลางเป็นการสร้างอ่างเก็บน้ำที่ส่วนใหญ่ผูกพันกับรัฐบาลที่แล้ว มีไม่มาก แต่บรรจุไว้แล้ว ที่สำคัญได้แก้ไขปัญหาที่ จ.สุโขทัย เป็นกรณีพิเศษ หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ เช่นการติดตั้งอาคารบังคับน้ำในพื้นที่ก่อนเข้าเมืองสุโขทัย ขณะที่ จ.นราธิวาสก็ได้มีการขุดลอกคลอง 16 สาย เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับน้ำต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: