มาตรการภาษีที่ดินคสช. ยังแก้ความเหลื่อมล้ำไม่ได้

TCIJ 31 ก.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2141 ครั้ง

 
อดีตกรรมการปฏิรูปชี้มาตรการภาษีที่และสิ่งปลูกสร้างของคลัง ไม่ช่วยลดเหลื่อมล้ำ แลนด์ลอร์ดไม่สะเทือน ย้ำถ้าเก็บ ต้องเก็บภาษีในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าราคาประเมินของกรมธนารักษ์ และหน่วยงานรัฐที่ถือครองที่ดินจำนวนมากต้องเสียภาษีด้วย

หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศเจตนารมณ์แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมและสร้างรายได้ให้แก่รัฐผ่านนโยบายการจัดเก็บภาษี

ล่าสุด กระทรวงการคลังเปิดเผยอัตราการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คือเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทุกแปลง โดยใช้ฐานราคาประเมินของกรมธนารักษ์ กำหนดโครงสร้างภาษี 3 อัตรา ได้แก่ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเชิงพาณิชย์ เก็บในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.5 ของราคาประเมินที่ดิน, ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อที่อยู่อาศัย เก็บในอัตราร้อยละ 0.1 และที่ดินเพื่อการเกษตร เก็บในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.05

ในกรณีที่ที่ดินว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ เก็บในอัตราร้อยละ 0.05 ของราคาประเมินที่ดิน และหากยังไม่ใช้ประโยชน์ติดต่อกัน ให้เพิ่มภาษีอีกหนึ่งเท่าในทุกๆ 3 ปี แต่จำนวนภาษีที่เรียกเก็บต้องไม่เกินร้อยละ 2 ของราคาประเมินที่ดิน

ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อาจารย์ประจำศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล และอดีตกรรมการปฏิรูป มองว่า แม้การขานรับนโยบาย คสช. ของกระทรวงการคลังด้วยการเพิ่มอัตราภาษีนั้น อาจดูเหมือนช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินและสร้างรายได้ให้แก่รัฐจากการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้น แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะการเก็บอัตราภาษีที่ต่ำกว่าราคาประเมินที่ดินจะไม่สร้างความเดือนร้อนให้กับเศรษฐีที่ดิน เพราะเมื่อหักภาษีแล้วราคาที่ดินยังมีมูลค่าเพิ่มอยู่

โดยปกติแล้ว ตามการคาดการณ์ของกรมธนารักษ์ ที่ดินจะมีมูลค่าเพิ่มต่อปีอยู่ที่ ร้อยละ 5-10 เช่น ที่ดินราคา 1 แสนบาท ผ่านไปหนึ่งปีที่ดินมีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 5 ราคาที่ดินจะเท่ากับ 105,000 บาท แต่จ่ายภาษีเพียงร้อยละ 0.05 หรือ 500 บาท

ดังนั้น หากจะแก้ปัญหาการถือครองที่ดินผ่านการเก็บภาษีที่ดิน ควรจะเก็บภาษีในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าราคาประเมินของกรมธนารักษ์

แนะเก็บภาษีที่ดินทุกแปลง ไม่เว้นหน่วยงานรัฐ

ไม่เฉพาะเอกชน หน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงาน เช่น กรมป่าไม้ การรถไฟ ต่างถือครองที่ดินจำนวนมากโดยไม่เสียภาษี เนื่องจากเป็นข้อยกเว้นทางกฎหมายที่ยกเว้นการจัดเก็บภาษีที่ดินของรัฐ ทำให้เงินภาษีจำนวนมากหายไป  ดร.เพิ่มศักดิ์ มองว่า หาก คสช. ต้องการจะลดความเหลื่อมล้ำผ่านการเก็บภาษีที่ดิน ไม่เพียงแต่เพิ่มอัตราการเก็บภาษีเท่านั้น หน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลจะต้องเป็นผู้ริเริ่มในการจ่ายภาษีในอัตราเท่ากับเอกชนตามมูลค่าเพิ่มของราคาประเมิน เพื่อสร้างรายได้ให้แก่รัฐด้วย มิใช่เป็นผู้หลบเลี่งภาษีเสียเอง

คณะทำงานรณรงค์กฎหมาย 4 ฉบับชี้ชัด 'ไม่แก้เหลื่อมล้ำ'

ขณะที่คณะทำงานรณรงค์กฎหมาย 4 ฉบับ ซึ่งได้ศึกษารายละเอียดจากรายงานข่าวแล้ว มีความเห็นเบื้องต้นต่อประเด็น ดังนี้

ข้อดีของมาตรการนี้

1.เก็บบนฐานทรัพย์สินซึ่งประเทศไทยมีการเก็บภาษีด้านนี้น้อย

2.สร้างรายได้ให้รัฐเพิ่มขึ้น และอาจลดความเหลื่อมล้ำได้บ้าง

ข้อจำกัดของมาตรการนี้

1.คนมีที่ดินเพียงเล็กน้อยก็ต้องร่วมจ่ายภาษีด้วย

2.ไม่แก้ไขปัญหาด้านการกระจุกตัวการถือครองที่ดิน เนื่อจากไม่ใช่การเก็บแบบอัตราก้าวหน้า

3.ผลการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินมีจำกัด เนื่องจากเก็บสูงสุดไม่เกินร้อยละ 2 โดยที่อัตราการเพิ่มของราคาที่ดินเฉลี่ยสูงกว่านั้น

ดังนั้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการถือครองที่ดิน การใช้กฎหมายนี้ไม่เพียงพอแน่นอน สิ่งที่ขาดไม่ได้ต่อการสร้างความเป็นธรรมและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินคือ กฎหมายภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า

ทางคณะทำงานรณรงค์กฎหมาย 4 ฉบับ กล่าวสรุปว่า แม้จะเป็นสัญญาณที่ดีในการสร้างมาตรการการเก็บภาษีให้ครอบคลุมทั่วถึง อันอาจจะส่งผลเชิงบวกในการกระตุ้นให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่ดิน อย่างไรก็ตาม มาตราการดังกล่าวไม่สามารถสร้างความเป็นธรรมทางสังคมและการลดความเหลื่อมล้ำได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: