คสช.ปรับงบ6กองทุนหลัก หั่นงบกลางปีกว่า7พันล้าน

30 ก.ค. 2557 | อ่านแล้ว 1850 ครั้ง

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม คสช.มีการพิจารณาและกำชับการใช้งบประมาณของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งมีการทบทวนภารกิจในกองทุนต่าง ๆ สามารถเรียกคืนเงินจากกองทุน รวมได้ 9,925.25 ล้านบาท จาก 6 กองทุนในสังกัด คือ 1.กองทุนหมู่บ้านและชุมนุมเมือง ให้ดำเนินการต่อ 2.กองทุนเอสเอ็มแอล รอบแรกปี 2555-2556 ที่ยังค้างและรอการพิจารณา เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาทบทวนและพิจารณาต่อไป แต่ในส่วนโครงการเอสเอ็มแอล ปี 2557 ในรอบที่ 2 วงเงิน 5,700 ล้านบาท เห็นควรยุติการดำเนินการ ส่วนโครงการพัฒนาเมือง โครงการที่ค้างและรอการพิจารณาก็เห็นควร ทบทวนและพิจารณาต่อไป แต่ควรยุติการดำเนินการ ให้ปีงบประมาณ 2557 ที่เหลือจำนวน 1,225.29 ล้านบาท

3.กองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการในชุมชน คสช.ให้ยุติการดำเนินการกองทุน ในงบประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยนำงบประมาณทั้งเอสเอ็มแอล และกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการในชุมชน ไปสนับสนุนในกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แทน 4.กองทุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เห็นควรให้ชะลอการดำเนินการใช้งบประมาณ 596 ล้านบาท นำไปสนับสนุนทางด้านเอสเอ็มอี โดยสสว. จะรับไปดำเนินการ 5.กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีให้โอนย้ายไปสังกัดกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย พร้อมกับให้ทบทวนหรือยุบรวมภารกิจเข้ากับกระทรวง และ 6.สภาเกษตรกรให้นำไปรวมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นอกจากนี้ ที่ประชุมคสช.ได้ปรับลดงบประมาณประจำปี 2558 ในส่วนงบกลาง 7,700 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน โดยให้การบูรณาการในส่วนงบประมาณด้านต่าง ๆ 14 ด้าน และให้มีความสอดคล้องต่อเนื่องจากงบประมาณปี 2557 ไปยังปีงบประมาณ 2558

นอกจากนี้ที่ประชุมคสช.รับทราบ การปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปี 2557 ครั้งที่ 2 ที่ปรับลดลงมา 6,314.74 ล้านบาท จากวงเงินเดิม 1,316,330.84 ล้านบาท เป็น 1,310,016.10 ล้านบาท โดยคาดการณ์ว่า การปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะครั้งนี้ จะมีสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี 47.9 เปอร์เซนต์ ซึ่งไม่เกินกรอบยั่งยืนทางการคลังที่ 60 เปอร์เซนต์ โดยการปรับลดทั้ง 2 ครั้ง มีวงเงินรวมประมาณ 11,000 ล้านบาท

สำหรับการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะในครั้งนี้ เนื่องจากรัฐวิสาหกิจขอเปลี่ยนแปลงการใช้เงินกู้ โดยส่วนใหญ่เป็นการปรับลดจำนวนเงิน เช่น ขสมก. ได้ยกเลิกการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี จำนวน 4.33 พันล้านบาท เนื่องจากได้มีการปรับแก้ร่างทีโออาร์ การจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี ไม่ทัน ในกรอบงบประมาณปี 2557 แต่คสช.มีนโยบายให้มีการจัดรถใหม่ให้บริการกับประชาชนโดยเร็วต่อไป และการยกเลิกการออกพันธบัตร 3.15 พันล้านบาท

รวมถึงการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ใช้รายได้แทนการกู้เงิน ซึ่งสามารถลดการใช้เงินกู้ลงได้ 2,000 ล้านบาท และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยกเลิกการซ่อมรถ เปลี่ยนมาเป็นการจัดหารถไฟ สามารถลดวงเงินได้ 342 ล้านบาท

พร้อมกันนี้คสช.อนุมัติการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อก่อหนี้ใหม่ และเพื่อค้ำประกันเงินกู้ให้กับรัฐวิสาหกิจภายใต้กรอบวงเงินแผนบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปี 2557 ปรับปรุงครั้งที่ 2 และอนุมัติให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณากู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดการกู้เงิน การค้ำประกันได้ตามความเหมาะสมในแต่ละครั้ง ได้ตามความเหมาะสมภายใต้แผนบริหารหนี้สาธารณะ ปรับปรุงครั้งที่ 2 แต่หากรัฐวิสาหกิจสามารถกู้เงินได้เอง ก็สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

http://www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: