สำเนียงส่อภาษา กริยาไม่ต้องผัน

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล 30 ธ.ค. 2557


พนักงานบริการหญิงหรือ Sex Worker นางหนึ่งเดินจับจ่ายซื้อหากับชาวต่างประเทศ เธอพูดกับลูกค้าของเธอว่า

I shop. You pay.

มันเป็นเรื่องเล่าจากเพื่อนคนหนึ่ง รู้สึกเหมือนกับผมหรือเปล่าครับว่า มันเป็นการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ-ประสิทธิผลสูง ชัดเจน ตรงประเด็น และทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันโดยไม่อ้อมค้อม ไวยากรณ์หรือมารยาททางภาษาเป็นแค่สิ่งฟุ่มเฟือย ผมเชื่อว่าสำเนียงของเธอคงเหมือนที่อาจารย์ท่านหนึ่งติเตียนสำเนียงการใช้ภาษาอังกฤษของคุณซิโก้-กิตติศักดิ์ เสนาเมือง โค้ชฟุตบอลทีมชาติไทยว่า ‘สำเนียงเมียเช่า’

ถ้าจะโทษใคร คงต้องโทษบรรพบุรุษของมนุษย์ที่เหิมเกริมสร้างหอคอยสู่สวรรค์-บาเบล จนถูกพระเจ้าสาปให้พูดกันคนละภาษา ทำให้ปัจจุบันผมเป็นคนหนึ่งที่ภาษาอังกฤษกากมาก ทุกวันนี้ยังต้องพยายามเพิ่มพูน พัฒนา ทักษะภาษาอังกฤษ มันคืบคลานไปได้อย่างเชื่องช้า เพียงพอต่อการเอาตัวรอดและสร้างบทสนทนาได้เล็กน้อยเท่านั้น

ถามว่าสำเนียงเป็นเรื่องสำคัญชนิดคอขาดบาดตายหรือเปล่า จากประสบการณ์กากๆ ทางภาษาของตนเองก็ต้องบอกว่า ไม่ เคยนั่งฟังครูสอนภาษาอังกฤษชาวต่างประเทศบนยูทูบ เขาพูดว่า อย่าไปสนใจเรื่อง Accent หรือสำเนียงให้มาก เพราะคุณไม่ใช่เจ้าของภาษา สิ่งที่คุณต้องใส่ใจคือการที่คุณสื่อสารออกไป แล้วอีกฝ่ายเข้าใจ

ดังนั้น คำกล่าวที่ว่า สำเนียงส่อภาษา ถือว่าเป็นจริง เราจึงมีภาษาอังกฤษสำเนียงสิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลย์-ที่มักจะมี La ติดท้ายประโยค สำเนียงอินเดียที่ฟังค่อนข้างยาก สำเนียงฝรั่งเศสที่ผมเดาว่าคงติดอังๆ แองๆ กับเสียงขึ้นจมูกเหมือนเป็นหวัดตลอดเวลามาบ้าง สำเนียงไทย อันนี้ก็รู้ๆ กันอยู่ บางคนที่ภาษาอังกฤษดีๆ ยังต้องมี ‘นะ’ พ่วงท้ายประโยคเลยครับ คนออสเตรเลียออกเสียง สเน็ค-งู ว่า สไนค์ คนอเมริกันทางใต้ก็สำเนียงต่างจากคนอเมริกันภูมิภาคอื่น เคยฟังคลิปการประชุมเศรษฐกิจระดับโลกในยูทูบ คนใหญ่โตระดับโลกท่านหนึ่งก็พูดอังกฤษติดสำเนียงภาษาของตัวเอง สำเนียงจึงไม่ใช่ปัญหา ไม่ใช่ความแปลกประหลาดและน่าอับอาย แล้วเหตุใดสำเนียงจึงกลายเป็นปัญหา

นี่ผมเดาเอานะครับ นักเรียนไทยเรียนภาษาอังกฤษกันตั้งแต่ประถมยันมหาวิทยาลัย ดังที่รู้ ส่วนใหญ่เราเน้นการเรียนไวยากรณ์ ซึ่งผมคิดว่ามันได้รับการพิสูจน์ในระดับหนึ่งแล้วว่าไร้ประสิทธิภาพ เมื่อภาษาคือการสื่อสาร การเรียนภาษาจึงควรมุ่งไปที่การสื่อสารให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก แล้วตามด้วยกฎเกณฑ์ของภาษา เราพูดภาษาไทยได้ไม่ใช่จากการเรียนไวยากรณ์นะครับ

ในชั้นเรียน เรายังถูกสอนให้พยายามออกเสียงให้เหมือนเจ้าของภาษาด้วย ซึ่งก็ไม่ผิดอะไร เพราะเราจำเป็นต้องรู้ว่าฝรั่งมีสำเนียงอย่างไร ทว่า อีกทางหนึ่ง การสอนแบบนี้ก็คล้ายๆ การสอนไวยากรณ์ มันทำให้เด็กกลัวว่าการพูดภาษาอังกฤษติดสำเนียงไทยฟังดูไม่อินเตอร์ ฝรั่งจะฟังไม่รู้เรื่อง สุดท้าย การสอนภาษาอังกฤษแบบไทยจึงบ่มเพาะความกลัวภาษาอังกฤษแบบยกกำลังสอง

เมื่อใดก็ตามที่ใช้ภาษาเป็นตัวชี้วัดความโง่-ฉลาดของมนุษย์

มันจะถูกเชื่อมโยงไปสู่ประเด็นความเหลื่อมล้ำ ชนชั้น โอกาสที่ไม่เท่าเทียม และอื่นๆ

เมื่อถึงตอนนั้น ต่อให้พูดภาษาเดียวกันก็ใช่ว่าจะฟังกันรู้เรื่อง

อันที่จริง เราไม่ต้องพยายามดัดเสียง ดัดสำเนียง หรือดัดจริตขนาดนั้นหรอก ส่วนใครที่สามารถฝึกฝนสำเนียงจนคมชัดได้ ถือเป็นเรื่องดีและน่านับถือครับ

(แน่นอนว่า ใครที่จะร่ำเรียนต่อหรือใช้ภาษาอังกฤษเพื่อเป้าหมายเฉพาะ ก็จำเป็นต้องฝึกฝนและแตกฉาน แต่ผมกำลังพูดถึงในระดับการสื่อสารทั่วๆ ไปครับ)

เวลาผมคุยกับเพื่อนชาวต่างชาติ ผมพูด ‘เนชั่น’ ไม่ ‘เณเฌิ่นนนน’ นะครับ แล้วผมก็ไม่ค่อยผันกริยาตามกาลด้วย ผมคิดไม่ทัน ภาษาไทยไม่มี Tense พอใครถามผมว่า เมื่อวานคุณไปไหน? ผมก็ตอบ ‘I go…’ ไม่ใช่ ‘I went…’ ผิดไวยากรณ์มั้ย ผิดเต็มๆ แต่ถามว่า คนถามเข้าใจหรือเปล่า? ก็ทำไมจะไม่เข้าใจ

ไวยากรณ์ทำให้เรากลัวครับ กลัวผิด และมันกลายเป็นกำแพงเมืองจีนที่กางกั้นคนไทยจากการพูดภาษาอังกฤษ กลัวว่าจะพูดผิด เพื่อนผมคนหนึ่งแซวผมหลังจากไม่ได้เจอกันนานว่า Who are you? ไอ้ความที่ถูกสอนการสนทนาแบบแพทเทิร์นตายตัวตั้งแต่เด็ก แถมทักษะการฟังยังไม่ดีนัก พอได้ยินอะไรอาร์ ยูๆ ผมดันตอบไปว่า I’m fine. (อายเขามั้ยล่ะนั่น) มันก็เขินกันบ้างแหละครับ แต่มันไม่ใช่บาดแผลในชีวิตใหญ่โตขนาดต้องไม่กล้าพูดภาษาอังกฤษอีกเลย

อีกหนึ่งประสบการณ์ เพื่อนชาวอินโดและแฟนหนุ่มชาวมาเลย์มาเยือนสยาม ผมจึงต้องไปต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง จังหวะหนึ่ง ผมบอกเขาไปว่า ขอโทษด้วย ภาษาอังกฤษผมห่วยแตกมากนะ คือผมกลัวว่าจะสร้างความลำบากลำบนในการสื่อสาร หนุ่มชาวมาเลย์บอกผมว่า เขาก็ขอโทษเหมือนกันที่ภาษาไทยของเขาห่วยแตก

ภาษาจึงไม่ใช่แค่ ‘เสียง’ มันยังมีน้ำเสียง อารมณ์ ท่าทาง บริบทแวดล้อม เรื่องราวก่อนหน้า เรื่องราวที่จะตามมา ฯลฯ ที่ทำให้คนสองคนเข้าใจกัน

จะว่าไป ผมก็เป็นคนหนึ่งที่พูดภาษาอังกฤษสำเนียงเมียเช่า

ภาษาคือเครื่องมือในการสื่อสารเพื่อให้มนุษย์เข้าใจกันและกัน เรียนรู้กัน ถ่ายทอดความคิดและถ่ายเทความรู้สึก เมื่อใดก็ตามที่ใช้ภาษาเป็นตัวชี้วัดความโง่-ฉลาดของมนุษย์ มันจะถูกเชื่อมโยงไปสู่ประเด็นความเหลื่อมล้ำ ชนชั้น โอกาสที่ไม่เท่าเทียม และอื่นๆ เมื่อถึงตอนนั้น ต่อให้พูดภาษาเดียวกันก็ใช่ว่าจะฟังกันรู้เรื่อง

และนั่นแปลว่าคุณกำลังใช้เครื่องมือผิดประเภท

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: