สมัชชารัฐสภาอาเซียน

ณกฤช เศวตนันทน์ 30 ม.ค. 2557


ที่ผ่านมาเรามักกล่าวถึงความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจของเหล่าประเทศสมาชิกอาเซียน แต่ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่าอาเซียนมีความร่วมมือในด้านนิติบัญญัติหรือ รัฐสภาด้วย

บทความฉบับนี้จะได้มาทำความรู้จัก "สมัชชารัฐสภาอาเซียน" ซึ่งเป็นความร่วมมือในอีกรูปแบบหนึ่งของอาเซียน

            “สมัชชา รัฐสภาอาเซียน" หรือ AIPA (ASEAN Inter-Parliamentary Assembly) เริ่มก่อตั้งอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐสภาแห่งชาติในอา เซียนและบูรณาการการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติให้มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น รวมถึงเพิ่มช่องทางการทำงานร่วมกันของเหล่าประเทศสมาชิกอาเซียน โดย สมัชชารัฐสภาอาเซียนทำหน้าที่เป็นเสมือนเวทีประชุมแลกเปลี่ยนและปรึกษาหารือ กันระหว่างรัฐสภาของประเทศสมาชิก ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับแก้กฎหมายของแต่ละประเทศให้เป็นไปตามข้อตกลงต่าง ๆ ของอาเซียน

ตลอดจนร่วมกันผลักดันให้อาเซียนก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน

ในปี พ.ศ. 2558 ร่วมกันภายใต้หลักของการเคารพสิทธิมนุษยชนตามระบอบประชาธิปไตยและความมั่นคงในอาเซียน

ปัจจุบัน สมาชิกของสมัชชารัฐสภาอาเซียน ประกอบด้วย รัฐสภาแห่งชาติของประเทศจากสมาชิกอาเซียนจำนวน 10 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม บรูไน และพม่า

โดยปกติสมัชชารัฐสภาอาเซียนจะจัดประชุมใหญ่อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ครั้งล่าสุดคือครั้งที่ 34 ได้จัดขึ้นที่ประเทศบรูไน ระหว่างวันที่ 17-23 กันยายน พ.ศ.2556 ภายใต้หัวข้อ "บทบาทของ AIPA ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน" ผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน ประกอบไปด้วย รัฐสภาประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ นอกจากนี้ยังมีผู้แทนจากประเทศผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมการประชุมอีกจํานวน 6 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐเบลารุส แคนาดา สาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย ญี่ปุ่น สหพันธรัฐรัสเซีย และสภายุโรป

ทั้งนี้ในการประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียนนั้น ประธานรัฐสภาของประเทศที่เป็นเจ้าภาพการประชุมในปีนั้น ๆ จะดำรงตำแหน่งเป็นประธานสมัชชารัฐสภาอาเซียน ดังนั้น ประธานของสมัชชารัฐสภาอาเซียนคนปัจจุบัน จึงได้แก่ เปฮิน ดาโต๊ะฮัจยี อีซา อิบราฮิม ประธานรัฐสภาแห่งบรูไน นั่นเอง

การประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภา อาเซียนครั้งที่ 34 ที่ผ่านมานั้น มีการพิจารณากันในเรื่องต่าง ๆ อาทิ การสนับสนุนประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน การสนับสนุนการเติบโตและการพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) อย่างยั่งยืน โดยมีข้อเสนอของอินโดนีเซียและเวียดนามในเรื่องการ สนับสนุนบทบาทของสมัชชารัฐสภาอาเซียน ในการตอบสนองต่อความท้าทายของการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อลดช่องว่างการพัฒนาในภูมิภาค การสนับสนุนบทบาทคนรุ่นใหม่เพื่อความพร้อมต่ออนาคตของอาเซียน

รวมทั้งข้อเสนอของไทยในเรื่องความร่วมมือในการทําให้อาเซียนเป็นเขตปลอดการล่วงละเมิดต่อเด็ก โดยในการประชุมครั้งต่อไปครั้งที่ 35 นั้น สปป.ลาวได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงานระหว่างวันที่ 14-20 กันยายน 2557 ณ กรุงเวียงจันทน์ โดย เปฮิน ดาโต๊ะ

ฮัจยี อีซา อิบราฮิม ประธานรัฐสภาแห่งบรูไน ได้ทำการมอบตําแหน่งให้กับ นางปรานี ยาท่อตู้ ประธานสภาแห่งชาติ สปป.ลาว เพื่อการรับหน้าที่เจ้าภาพต่อไปอย่างเป็นทางการแล้ว

สมัชชา รัฐสภาอาเซียนที่เราพูดถึงกันอยู่นี้ มีความแตกต่างไปจากรัฐสภาของสหภาพยุโรป (European Parliament) อยู่มาก เนื่องจากรัฐสภาของสหภาพยุโรปเป็นองค์กรที่มีสถานะทางอำนาจเหนือรัฐ (Supranational Power) ที่สามารถบัญญัติกฎหมาย พิจารณา รับรองกฎระเบียบและอนุมัติงบประมาณของสหภาพยุโรปได้ โดยการมีอำนาจ เหนือรัฐของรัฐสภายุโรปเกิดจากความยินยอมที่จะสละอำนาจอธิปไตยเป็นบางส่วน ของประเทศสมาชิก ในขณะที่สมัชชารัฐสภาอาเซียนจะไม่มีอำนาจเหนือประเทศสมาชิก และไม่ได้ทำหน้าที่เป็นรัฐสภาที่จะบัญญัติกฎหมายที่ครอบคลุมอาเซียนทุกประเทศได้

เหตุผล ก็น่าจะมาจากความแตกต่างและความหลากหลายของระบบการเมืองการปกครองของประเทศ สมาชิกที่มีทั้งประชาธิปไตยแบบระบบรัฐสภา เช่น ประเทศไทย กัมพูชา สิงคโปร์ และมาเลเซีย กับประชาธิปไตยแบบ

ระบบประธานาธิบดีอย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และพม่า หรือบรูไนที่ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทำให้หลายประเทศสมาชิกยังไม่อาจใช้รัฐสภาในระบบเดียวกันได้

อย่างไรก็ดีแม้ว่าอาเซียนจะยังไม่พร้อมที่จะมีระบบรัฐสภาที่มีอำนาจเหนือรัฐสมาชิก ได้อย่างเช่นสภายุโรป แต่สมัชชารัฐสภาอาเซียนที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ถือได้ว่ามีประโยชน์ และเป็นอีกหนึ่งเวทีสำคัญที่ช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐสภาของประเทศสมาชิกอาเซียนให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้นได้เป็นอย่างดี

เชื่อว่าในการประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียนที่กำหนดจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีนั้น จะยิ่งสร้างความร่วมมือที่แน่นแฟ้นให้กับอาเซียน อันจะนำไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่สมบูรณ์แบบ

 

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1390890523&grpid=no&catid=02&subcatid=0200

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: