บทวิเคราะห์: การต่างประเทศของท่านนายพล

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี 29 ก.ย. 2557 | อ่านแล้ว 3333 ครั้ง

ประโยคและวลีเหล่านี้ไม่มีความหมายอะไรในเชิงการต่างประเทศ แต่พลเอกประยุทธ์พูดเป็นการกระทบกระเทียบนายกรัฐมนตรีคนก่อนที่เดินทางต่างประเทศค่อนข้างมาก เพื่อหวังสร้างคะแนนนิยมในหมู่ชนชั้นสูงที่เป็นแม่ยกให้กับรัฐบาลนี้มากกว่า โดยคำนึงว่าชนชั้นสูงของไทยนั้นใช้ชีวิตในต่างประเทศค่อนข้างมาก พวกเขาไม่ค่อยอยากให้ผู้แทนบ้านนอกไปรู้ไปเห็นอะไรในต่างประเทศหรือเห็นว่าพวกเขาใช้ชีวิตกันอย่างไรที่นั่น

ความจริงการเยือนต่างประเทศของผู้นำรัฐบาล มากหรือน้อย ช้าหรือเร็ว ไม่ใช่ปัญหาใหญ่โตอะไรนัก ประเทศที่มีนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านต่างประเทศที่ดี ประมุขรัฐบาลก็อาจจะไม่จำเป็นต้องไปต่างประเทศมากก็ได้ แต่นักการทูต นักสังเกตการณ์ทางการเมืองก็มักจะถามกันเสมอๆ ว่า เมื่อไหร่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทยจะเดินทางไปเยือนต่างประเทศ จะไปประเทศใดก่อน

จนถึงขณะนี้พลเอกประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ 1 เดือนเต็มแล้ว ทำพิธีแถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปแล้ว แต่ในส่วนของนโยบายต่างประเทศนั้น ไม่ได้แสดงวิสัยทัศน์ทางด้านการต่างประเทศอะไรที่ชัดเจนนัก เน้นงานทางด้านความมั่นคงและให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่มในอาเซียนเป็นหลัก ซึ่งลักษณะทางนโยบายของรัฐบาลนี้เป็นลักษณะของงานประจำ คือเน้นการปฏิบัติตามข้อตกลงต่างๆ ที่ประเทศไทยและรัฐบาลก่อนๆ ได้ตกลงไว้กับต่างประเทศ

แม้แต่งานด้านความมั่นคงกับต่างประเทศซึ่งน่าจะเป็นความชำนาญของรัฐบาลทหาร แต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ซึ่งมีนายพลเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศด้วยเช่นกัน กลับไม่ได้แสดงความโดดเด่นในนโยบายด้านนี้แต่อย่างใด ประชาชนไม่มีโอกาสได้รับรู้เลยว่า รัฐบาลชุดนี้มองความมั่นคงระหว่างประเทศอย่างไร ในขณะที่ปัญหาทางด้านความมั่นคงระหว่างประเทศทั้งที่เป็นภัยแบบเก่าคือเรื่อง ภูมิรัฐศาสตร์ (geo-politic) และภัยแบบใหม่ เช่น เรื่องการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ และภัยพิบัติต่างๆ กำลังเป็นประเด็นถกเถียงและพูดถึงกันอย่างกว้างขวางในเวทีต่างประเทศ

ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่ 1 เดือนผ่านไปในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์จะยังไม่สามารถกำหนดแผนงานด้านต่างประเทศ แม้แต่การเยือนธรรมดาๆอะไรออกมาได้เลย ความจริงกระทรวงการต่างประเทศได้เสนอแผนงานเกี่ยวกับต่างประเทศในส่วนที่เป็นภารกิจของนายกรัฐมนตรีไปเรียบร้อยแล้ว แต่นายกรัฐมนตรีและทีมงานด้านต่างประเทศที่สำนักนายกรัฐมนตรียังไม่สามารถตัดสินใจในเรื่องนี้ได้เลยว่าจะเริ่มต้นอย่างไร

มีคำเชิญจากประเทศต่างๆ มามากมายแล้ว เช่น จากญี่ปุ่น จีน พม่า มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา และ ลาว แต่นายกรัฐมนตรีอาจจะยังวิเคราะห์ไม่ออกว่า แต่ประเทศละประเทศนั้นมีความสำคัญกับประเทศไทยและกับยุทธศาสตร์การเมือง ความมั่นคงระหว่างประเทศอย่างไร

นายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการคืนความสุขให้ประชาชนเมื่อวันศุกร์ที่ 26 กันยายนที่ผ่านมาว่า “ต้องใช้วิจารณญาณที่เหมาะสม มีข้อมูลจากกระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องว่าไปเยือนใครก่อน – หลัง จะมีผลดีผลเสียอย่างไร เกิดประโยชน์กับประเทศอย่างไร”

พลเอกประยุทธ์กล่าวว่า “ให้เกียรติทุกประเทศ ทุกประเทศคือมิตรประเทศเราทั้งหมด ไม่ว่าเขาจะไม่เห็นชอบกับเราหรืออะไรต่าง ๆ  เพราะเราเป็นโลกใบเดียวกัน ผมยังทำใจได้เลย เพราะฉะนั้นทุกคนก็น่าจะทำใจได้แบบผม”

เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเป็นคนพูดไม่ค่อยเป็นระบบและมีตรรกะแปลกๆ สาธารณะชนจะไม่ทราบว่า ที่พูดว่า “ต้องทำใจ” นั้นทำใจในบริบทกิจการต่างประเทศคืออะไรและทุกคนที่ว่านั้นต้องทำใจอะไรกับท่านด้วยคือใคร

ถ้าจะให้เดาคงเป็นไปได้ว่า บางทีท่านอาจจะต้องทำใจเดินทางไปประเทศที่ไม่ชอบท่านและท่านไม่ค่อยชอบอะไรทำนองนั้น  แปลว่าท่านยังทำใจไม่ได้ว่าจะไปหรือไม่ไป ดังนั้นผู้นำต่างชาติก็ควรจะทำใจแบบเดียวกับท่านด้วย นับว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่ค่อนข้างแปลกที่เอาเรื่องความรู้สึกส่วนตัวมาเกี่ยวข้องกับภารกิจต่างประเทศด้วย ทั้งๆ ที่กิจการต่างประเทศนั้นเป็นกิจการของรัฐต่อรัฐ ความรู้สึกของตัวบุคคลไม่ใช่ประเด็นสำคัญอะไร เพราะถ้าปล่อยให้ความรู้สึกส่วนตัวชอบประเทศโน้นไม่ชอบประเทศนี้มากำหนดการต่างประเทศคงจะมีปัญหาไม่น้อย เพราะความรู้สึกแบบนั้นเป็นความรู้สึกของนักท่องเที่ยวธรรมดาๆ เราชอบประเทศไหนเราก็ไปเที่ยวประเทศนั้น ไม่ชอบก็ไม่ไป แต่ในฐานะนายกรัฐมนตรีนั้น การไปหรือไม่ไปไม่เกี่ยวอะไรกับชอบหรือไม่ชอบ บางทีชอบแทบตายแต่การไปเยือนจะเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดๆ ต่อชุมชนนานาชาตินั้น ผู้นำก็จะละเว้น ตัวอย่างเช่น โดยส่วนตัวนายกรัฐมนตรีอาจจะชอบเกาหลีเหนือมาก แต่ถ้าไปเยือนจะทำให้คนทั่วโลกสรุปได้ในทันทีว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแบบเดียวกับเกาหลีเหนือ (ถึงแม้ว่าความจริงจะไม่ต่างกันมากนัก) แต่นายกรัฐมนตรีก็ต้องปฏิบัติแนวนโยบายให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของประเทศและของโลก ซึ่งต้องแสดงออกถึงความรังเกียจความเป็นเผด็จการของเกาหลีเหนือ

ขอบคุณภาพจาก http://www.banmuang.co.th/

นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ มองกิจการและความสัมพันธ์กับต่างประเทศแบบจารีตประเพณี คือ มองว่าไทยมีความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ในโลกนี้แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มแรกเป็นเพื่อนบ้านใกล้เคียง ซึ่งคงหมายถึงประเทศรอบบ้านและอาเซียน กลุ่มที่ 2 เป็นมิตรประเทศในเอเชียด้วยกัน และกลุ่มที่ 3 เป็นประเทศในกลุ่มตะวันตก ในการนี้ดูเหมือนท่านมองไม่เห็น แอฟริกา ลาตินอเมริกา และตะวันออกกลาง

ความรู้ด้านต่างประเทศของนายกรัฐมนตรี เป็นความรู้ในระดับมัธยมปลายเท่านั้นเอง การจัดความสัมพันธ์กับต่างประเทศแบบนี้ดูเหมือนจะเป็นแบบแผนที่นิยมทำกันในช่วงสมัยหลังรัชกาลที่ 5 ถึงช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเท่านั้น แม้ในสมัยที่พลเอกประยุทธ์เรียนหนังสือชั้นมัธยม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นแบ่งเป็นขั้ว 2 ขั้วแล้ว ไทยเป็นศัตรูกับเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดหลายประเทศและห้วงเวลาช่วงที่ท่านรับราชการทหารถึงระดับผู้บังคับการ ระเบียบของโลกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว สงครามเย็นสิ้นสุดลง โลกอยู่กันแบบพึ่งพาอาศัยกัน มหาอำนาจหลายชาติทะเลาะกัน ประเทศที่เคยเป็นพันธมิตรกันมีทะเลาะกันบ้าง ดีกันบ้าง ขัดแย้งในบางเรื่อง ร่วมมือกันในหลายเรื่อง ประเทศไทยก็ทะเลาะกับเพื่อนบ้านอย่างลาว พม่า และกัมพูชาด้วย ในสมัยที่ท่านเข้าสู่วัยชรานั้น เวียดนามเปลี่ยนจากศัตรูมาเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไปนานแล้ว

แนวการมองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของนายกรัฐมนตรีแบบนี้ ทำให้ท่านตัดสินใจลำบากว่าควรจะไปเยือนประเทศใดก่อน เพื่อวัตถุประสงค์อะไร ข่าวว่าท่านจะไปพม่าก่อน คำถามคือ ทำไมต้องเป็นพม่า แล้วประเทศใกล้ชิดระดับสายเลือดอย่างลาวล่ะ ท่านไม่ให้ความสำคัญหรือ ลาวไม่ใช่แค่เพื่อนบ้านธรรมดา แต่เป็นประเทศญาติมิตรเลยทีเดียว

หรือท่านอาจจะเห็นว่า มองแบบทหารต่อทหารแล้ว ไทยกับพม่าใกล้ชิดกันมากกว่าลาว เพราะปกครองแบบทหารเหมือนกัน ระเบียบการปกครองของไทยปัจจุบันเหมือนกับพม่าก่อนพลเอกเต็งเส่งจะขึ้นเป็นประธานาธิบดี คนทั่วไปอนุมานได้ว่าพลเอกประยุทธ์กำลังคิดลอกเลียนระเบียบการปกครองแบบพม่าอยู่ แปลว่าอนาคตของไทยคงเหมือนปัจจุบันของพม่า

ในกลุ่มที่สองของท่านนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นเอเชียด้วยกันก็มีความสัมพันธ์กับไทยแตกต่างกัน ประเทศไทยจะทำอย่างไรเมื่อพวกเขาทะเลาะกันอยู่ด้วยในเวลานี้ ตัวอย่างเช่น ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น นั้นท่านควรเลือกไปประเทศใดก่อน ด้วยเหตุผลอะไร ญี่ปุ่นอยากให้ท่านไปเยือนก่อนจีน เพราะรู้ว่าท่านกำลังมีความโน้มเอียงเข้าหาจีน อันเนื่องมาจากถูกประเทศตะวันตกวิพากษ์วิจารณ์ (รวมทั้งต่อต้าน) เรื่องการรัฐประหารของท่าน แต่ถ้าท่านไปญี่ปุ่นก่อน จีนก็อาจจะขัดใจ เพราะกำลังทะเลาะกับญี่ปุ่นอยู่เรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือทะเลตะวันออก ซ้ำมิหนำญี่ปุ่นก็เป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับสหรัฐ ไม่ว่าท่านนายกรัฐมนตรีจะตัดสินใจอย่างไรก็มีผลกระทบต่ออีกฝ่ายหนึ่งเสมอ เพราะต่างก็กำลังเสนอให้ไทยพิจารณาเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงด้วยกันทั้งคู่

สำหรับสหรัฐนั้น ส่วนตัวทหารไทยชอบอยู่แล้ว เพราะได้รับการฝึกฝนและใช้เครื่องไม้เครื่องมืออาวุธยุทโธปกรณ์จากประเทศนี้เป็นหลัก แต่ระยะนี้ก็อึดอัดเป็นพิเศษเพราะสหรัฐระงับความช่วยเหลือทางทหารและวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความชอบธรรมในการขึ้นสู่อำนาจของนายก และบทบาททางการเมืองของกองทัพ ส่วนยุโรปนั้นไม่ต้องพูดถึง นายกรัฐมนตรีอาจจะไม่มีโอกาสไปเยือนยุโรปเลยตลอดชีวิตการเป็นนายกรัฐมนตรีของท่าน เพราะเขาไม่ต้อนรับหรือคบหากับประเทศที่ทหารแทรกแซงการเมือง ตัวท่านเคยเป็นนายทหารที่พาพรรคพวกเข้ายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง นั่นเป็นความผิดใหญ่หลวง แต่ท่านจะทำอย่างไรได้ ในเมื่อประเทศไทยมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับยุโรปอยู่มาก

สิ่งที่พลเอกประยุทธ์จะต้องทำในเรื่องการต่างประเทศนั้น คงไม่ใช่แค่เรื่องทำใจ แต่ต้องทำแผนและยุทธศาสตร์ให้ถูกต้องเหมาะสมต่างหาก ไม่ว่าจะคิดว่าตัวเองจะอยู่ในอำนาจนานหรือไม่นานขนาดไหนก็ตาม อย่างไรเสียประเทศไทยก็หนีไม่พ้นจะต้องมีความสัมพันธ์กับต่างประเทศ การมีแผนการและยุทธศาสตร์ที่ดีนั้นเป็นผลดีกับอนาคตของประเทศชาติ

ปัญหาเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และ ความรำคาญใจจากการวิพากษ์วิจารณ์ของฝรั่งหรือประเทศตะวันตกนั้นเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้  ถ้าอยากจะลดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้บ้าง ก็ต้องปรับปรุงเรื่องประชาธิปไตยและหลักปฏิบัติเรื่องสิทธิมนุษยชนให้สอดคล้องกับหลักสากล อย่างมงายเรื่องประชาธิปไตยแบบไทยๆ มันไม่เคยมีอยู่จริง ประชาธิปไตยก็คือประชาธิปไตยแบบที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยและประชาชนเป็นใหญ่เท่านั้น วลีว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆนั้นเป็นคำแก้ตัวที่ไม่มีใครในโลกนี้รับฟังได้

การผลักดันให้กระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีต่างประเทศไปเที่ยวโกหกพกลมว่า รัฐบาลไทยยึดมั่นประชาธิปไตยและไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในขณะที่ทหารกำลังไล่จับ สั่งห้าม กิจกรรมของนักวิชาการและนักศึกษาในมหาวิทยาลัยอยู่นั้น ไม่ใช่แนวนโยบายต่างประเทศที่ชาญฉลาดเลย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

http://www.facebook.com/tcijthai

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: