ตลาด'นมผง'ดุ-รุกขายตั้งแต่ฝากครรภ์ สร้างความเชื่อผิดๆว่ามีคุณค่าเท่านมแม่

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJ 29 ส.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2963 ครั้ง

“นมแม่” มีคุณประโยชน์สูงกว่านมผงอย่างเทียบกันไม่ได้ ทั้งสารอาหารและคุณประโยชน์ที่สร้างภูมิคุ้มกันลูกน้อยที่เหนือกว่าสารใดใด สิ่งที่นมผงให้กับลูกไม่ได้ คือสายใยระหว่างแม่กับลูก ขณะที่แม่ประคองลูกให้ดูดนมจากเต้า

แต่ถึงอย่างไรการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทยยังอยู่ในอัตราต่ำมาก นางพรธิดา พัดทอง จากองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (United Nations Children's Fund: UNICEF) กล่าวว่า จากการสำรวจเมื่อ 5 ปีก่อน พบว่า อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของไทยต่ำเกือบที่สุดในโลก อยู่ที่ร้อยละ 5.4 หมายความว่า มีเด็ก 5.4 คนในร้อยคน ที่มีโอกาสกินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนหลังคลอด ส่วนการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปีที่ผ่านมาพบว่า ปัจจุบันตัวเลขนี้ขยับสูงขึ้นเป็นร้อยละ 12 แต่ก็ยังเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในเอเชีย

อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ต่ำมากของไทย เกิดจากปัจจัยหลายประการ ตั้งแต่รูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป ทัศนคติ ความเชื่อเกี่ยวกับโชคชะตา ความสวยความงาม ความสะดวก และกติกาการทำงานที่ไม่เอื้อให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ถึงกระนั้นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือการสร้างมายาคติที่ว่า “นมผงเท่ากับนมแม่” โดยบริษัทนมผงต่างๆ ผ่านเครื่องไม้เครื่องมือทางการตลาดทุกรูปแบบ

ขอบคุณภาพจาก http://www.maeluke.com/

นมผงทำตลาดละเมิดเกณฑ์ทุกข้อ หมอ-พยาบาลช่วยแจกนมตัวอย่างมากสุด

การทำการตลาดนมผงมีการวางหลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง (International Code of Marketing of Breast Milk Substitutes) ที่กำหนดขึ้นในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพโลก (World Health Assembly) เมื่อปี 2524 (ดูล้อมกรอบ) แต่จากการศึกษาของ ดร.บวรสรรค์ เจี่ยดำรง นักวิชาการอิสระด้านนิเทศศาสตร์ ผู้ทำการศึกษาการตลาดของนมผง พบว่า การทำการตลาดนมผงของบริษัทนมผงในไทยมีการละเมิดหลักเกณฑ์ทุกข้อ ทั้งแบบที่เห็นชัดแจ้งและแบบแนบเนียน ด้วยวิธีการทางการตลาดทุกรูปแบบ

เช่น การโฆษณานมผงสูตร 3 สำหรับเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป ทำให้เกิดการจดจำตราสินค้าและเลือกซื้อนมผงสูตร 1 สำหรับเด็กแรกเกิดถึง 6 เดือน ซึ่งห้ามโฆษณา, การแจกตัวอย่างนมผงแก่แม่, การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ในสถานบริการสาธารณสุข

หรือการแจกของขวัญหรือสินค้าตัวอย่างให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งกล่าวกันว่า สถานพยาบาลบางแห่ง แพทย์จะได้รับค่าคอมมิสชั่นหรือที่เรียกว่าค่าเปิดกระป๋องด้วย งานศึกษายังแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ให้สินค้าตัวอย่างแก่แม่มากที่สุด 3 อันดับแรกคือ ตัวแทนบริษัทนมผง ร้อยละ 29.34, พยาบาล ร้อยละ 33.60 และแพทย์ร้อยละ 19.02 จะเห็นว่า การแจกสินค้าตัวอย่างเกินกว่าครึ่งเกิดจากบุคลากรสาธารณสุขเอง

Birth Tourism การตลาดตั้งแต่ฝากท้องถึงหย่านม

จากการพูดคุยกับ พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช เลขาธิการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย พบว่า รูปแบบการทำการตลาดของบริษัทนมผงมีความพยายามที่จะเข้าถึงตัวคุณแม่อย่างสลับซับซ้อนมากขึ้น เช่น การแจกผ้าอ้อมเด็กให้แก่คุณแม่ตามโรงพยาบาล ซึ่งรายชื่อคุณแม่ที่ได้รับผ้าอ้ออมเด็ก ก็จะตกไปอยู่ในมือบริษัทนมผง เพื่อใช้ติดต่อโดยตรงต่อไป ซึ่งถือเป็นการละเมิดหลักเกณฑ์ข้างต้นอีกเช่นกัน

อีกวิธีการหนึ่งที่พบเห็นมากขึ้นคือ การทำการตลาดผ่านผลิตภัณฑ์นมสำหรับแม่ เนื่องจากการทำการตลาดนมสำหรับแม่ ไม่ถือเป็นการผิดหลักเกณฑ์ จึงสามารถแจกนมตัวอย่างได้ ไม่ว่าจะในโรงพยาบาลรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งแน่นอนว่าตราสินค้าผลิตภัณฑ์นมสำหรับแม่ย่อมสื่อถึงนมผงสำหรับเด็กโดยปริยาย

“เป็นความพยายามที่จะหาช่องทางเข้ามา ตอนนี้บริษัทใช้นมสำหรับแม่เข้ามาเยอะมาก บางทีเข้ามาที่โรงพยาบาลบอกว่าจะขอมาช่วยเอามั้ย เพราะเห็นพยาบาลทำงานหนัก ถามว่ามาช่วยแล้วจะพูดอะไรกับคนไข้หรือเปล่า นี่เป็นสิ่งที่แอบแฝงอยู่ หรือบางบริษัทขอมาตั้งบูธชงนมให้หญิงท้องกิน ซึ่งตัวนมสำหรับแม่มันสื่อถึงนมสำหรับลูกเหมือนกันเลยว่า มีสารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ที่เขาต้องการสื่ออยู่แล้ว” พญ.ยุพยงกล่าว

ปัจจุบัน ยังเกิดรูปแบบการส่งเสริมการตลาดที่เรียกว่า Birth Tourism ที่เริ่มตั้งแต่ตั้งครรภ์จนเด็กหย่านม โดยเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากในโรงพยาบาลรัฐมีกฎระเบียบข้อห้ามในการทำการตลาดนมผง ขณะที่ในโรงพยาบาลเอกชนมีความเข้มงวดน้อยกว่า

ขอบคุณภาพจาก www.healthyfamiliesbc.ca

การตลาดแบบถึงตัว

นางดวงจิต บุณยราศรัย เล่าประสบการณ์การฝากครรภ์ว่า ที่คลินิกที่ไปฝากครรภ์จะมีบริษัทนมมาตั้งบูธ มีนมสำหรับแม่แจกให้ดื่มระหว่างรอพบแพทย์ ได้รับแจกกระเป๋ากิฟต์เซ็ทที่มีตัวอย่างนมและของเสริมพัฒนาการเด็ก พอถึงตอนคลอดที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ก็จะมีกระเป๋ากิฟต์เซ็ทให้มาอีก โดยตอนรับของจะมีเอกสารสำหรับกรอกชื่อและเบอร์โทรศัพท์ และให้เลือกว่าจะบอกรับข้อมูลผ่านช่องทางใด

            “เราเลือกรับผ่านเอสเอ็มเอส แรกๆ มีมาทุกอาทิตย์ แต่พอลูกเริ่มโตก็จะเริ่มห่าง ๆ ไปเหลือแค่เดือนละครั้ง ข้อความที่ส่งมาจะเกี่ยวกับเด็ก พัฒนาการของเด็ก เขาก็บอกว่านมแม่เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อเด็ก แต่พอลูกเริ่มโตแล้ว 6 เดือนก็สามารถให้อาหารเสริมได้ แต่นมแม่ยังเป็นสิ่งจำเป็นอยู่หรือบอกว่านมแม่มีสารอาหารครบถ้วน ตอนออกจากโรงพยาบาลก็มีให้นมมากระป๋องหนึ่ง”

ดวงจิตคลอดด้วยการผ่าคลอดและเธอยังเป็นแม่คนหนึ่งที่ตั้งใจว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่ในทางปฏิบัติแล้วกลับพบว่า มีปัจจัยหลายประการทำให้เธอไม่สามารถทำตามที่ตั้งใจได้

ขอบคุณภาพจาก http://www.posttoday.com/

อุตสาหกรรมการแพทย์-ผ่าคลอด-แยกแม่จากลูก ทำแม่ไม่มีน้ำนม

อุตสาหกรรมการแพทย์ ความเชื่อเรื่องโชคชะตา ความสวยความงาม และบางครั้งก็เกี่ยวข้องกับความสะดวกของตัวแพทย์เอง ทำให้วิธีการผ่าคลอดได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้น เมื่อคลอดเสร็จ ผู้เป็นแม่จึงต้องการการพักฟื้น ซึ่งส่งผลอย่างสำคัญต่อการให้นมลูก

นางพรธิดาอธิบายว่า วิธีคลอดลูกมีผลมากต่อน้ำนมของแม่ การคลอดแบบธรรมชาติน้ำนมจะมาเร็วกว่า เมื่อคลอดแล้วสามารถให้ลูกดูดนมได้ภายในเวลา 24 ชั่วโมง ขณะที่การผ่าท้องคลอด น้ำนมจะมาช้าและน้อย เมื่อผนวกกับการถูกถ่ายทอดซ้ำๆ จากโฆษณาว่า นมผงสามารถใช้ร่วมกับนมแม่ได้ ทำให้ในที่สุดแม่ก็ต้องเลี้ยงลูกด้วยนมผงไปตลอด

            “การที่นมแม่ไม่มาแล้วให้นมผงไปก่อนมีผลมาก เมื่อผ่าคลอดแล้วกลับบ้าน น้ำนมไม่มี คุณแม่จะเกิดอาการตื่นตระหนก สาเหตุอันดับหนึ่งที่มาจากงานวิจัยล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว ที่ทำให้คุณแม่ไม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพราะน้ำนมไม่พอ นี่คือข้อเท็จจริง แต่ไม่เคยมีคนบอกคุณแม่ว่า เป็นเพราะไม่ได้ผ่านความเจ็บปวด ไม่ได้คลอดธรรมชาติ ลูกถูกจับแยกจากแม่ และคิดว่านมผงกินร่วมกับนมแม่ได้”

นางพรธิดาเสริมว่า โดยธรรมชาติแล้ว การให้นมบุตรจะต้องได้รับการกระตุ้นตลอด หากให้นมแม่ร่วมกับนมผง ธรรมชาติของร่างกายก็จะลดปริมาณน้ำนมลง กระทั่งหมดไปในที่สุดภายใน 2 สัปดาห์

ในโรงพยาบาลของรัฐมีระเบียบว่า จะต้องนำทารกมาเข้าเต้าทันที เพื่อเป็นการกระตุ้นให้แม่มีน้ำนม ขณะที่โรงพยาบาลเอกชน เมื่อทำการผ่าคลอดแล้วจะแยกแม่กับลูก ซึ่งแม่ก็ไม่สามารถไปหาลูกเองได้ ทั้งที่ทารกควรได้ดูดนมทันทีภายใน 1 ชั่วโมงแรก

            “ถ้าคุณแม่ได้รับกระตุ้นต่อ ฮอร์โมนที่สร้างน้ำนมจะขึ้นและคงอยู่ หากไม่ทำเช่นนี้ ถ้าทิ้งไว้นานฮอร์โมนที่สร้างน้ำนมจะลดลง กว่าจะกระตุ้นกลับขึ้นมาใหม่ต้องใช้เวลา ทีนี้ ก็ต้องใช้นมผงยาว แม่ก็ท้อใจ เสียกำลังใจ มันเป็นกระบวนการธรรมชาติที่เมื่อก่อนไม่รู้ เมื่อก่อนก็ไม่เคยให้เด็กดูดนมทันทีหลังเกิด” พญ.ยุพยง กล่าว

ขอบคุณภาพจาก http://www.bangkokbiznews.com/

ค่านมผง 75,000 ต่อปี แถมโรคสารพัด

เมื่ออุตสาหกรรมทางการแพทย์ ความคิด-ความเชื่อของผู้คนในสังคม และสภาพการทำงานที่เปลี่ยนไป ผสมโรงเข้ากับการโฆษณาของบริษัทนมผง จึงทำให้เกิดสิ่งที่ ดร.บวรสรรค์เรียกว่า มายาคติที่กล่อมให้คนในสังคมเชื่อว่านมผงมีคุณค่าเท่ากับนมแม่

ทั้งหมดนี้เป็นเหตุให้ตลาดนมผงของไทยมีมูลค่าสูงถึง 2.5 หมื่นล้านบาท โดยมีการแบ่งเกรดเป็น 3 ประเภทคือนมผงระดับพรีเมี่ยม, ระดับสแตนดาร์ด และระดับอีโคโนมี โดยระดับพรีเมี่ยมมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึงร้อยละ 68 ที่เหลืออีกร้อยละ 32 เป็นนมผงระดับสแตนดาร์ดและระดับอีโคโนมี นมผงระดับพรีเมี่ยมราคาอยู่ที่ 556 บาทขึ้นไป นมผงระดับสแตนดาร์ดราคา 300 บาทขึ้นไป และนมผงระดับอีโคโนมีราคาต่ำสุดคือ 189 บาท

จากการศึกษาของ ดร.บวรสรรค์พบว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมผงทำให้คุณแม่มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น ดังนี้

นมระดับพรีเมี่ยมจะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน 6,210 บาท ต่อปี 74,520 บาท

นมระดับสแตนดาร์ดมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน 3,000 บาท หรือ 36,000 บาทต่อปี

ส่วนนมระดับอีโคโนมีมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน 2,500 บาท หรือ 25,000 บาทต่อปี

หากสำรวจลึกลงไปแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายแฝงเร้นอีกมากจากการเลี้ยงลูกด้วยนมผง เพราะทำให้ทารกเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ รายงานขององค์การอนามัยโลก ปี 2556 รายงานว่า ทารกที่ไม่ได้กินนมแม่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด และโรคอ้วน มากกว่าทารกที่กินนมแม่

อ่านข้อมูลที่เกี่ยวข้อง จับตา: ความมั่งคั่งของธุรกิจนมผง

http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=4809

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

http://www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: