ศธ.ไม่ทบทวนซื้อแท็บเล็ต แต่จะประเมินว่าคุ้มหรือไม่

29 พ.ค. 2557 | อ่านแล้ว 981 ครั้ง

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)  พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะหัวหน้ากลุ่มงานสังคมและจิตวิทยา เปิดเผยภายหลังการประชุมรับฟังนโยบายจาก ผู้บริหารองค์กรหลักของศธ.ว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับระบบศึกษาเป็นอย่างมาก แต่การประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กไทยกลับยังไม่เป็นที่น่าพอใจเมื่อเทียบกับที่ศธ.ได้รับงบประมาณ เพื่อลงทุนทางการศึกษาค่อนข้างสูง ซึ่งตนจะช่วยผลักดันให้การศึกษาขับเคลื่อนไปได้อย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด ส่วนนโยบายเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการในปี 2557 คือ อาจจะมีการทบโครงการนโยบายแจกแท็บเล็ต ให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และประถมศึกษาปีที่ 1 ตามโครงการ 1 คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ต่อ 1 นักเรียน ซึ่งขณะนี้ยังเหลือการจัดซื้อตามปีงบประมาณ 2556 อีก 1 โซน คือโซนที่ 4  สำหรับม.1 ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากมีการยกเลิกสัญญา และต้องจัดประมูลใหม่ ส่วนแท็บเล็ตปี 2557 มีงบประมาณรองรับไว้แล้ว และจัดทำสเป็กไว้แล้ว อยู่ระหว่างการจัดทำร่างเขตงานหรือทีโออาร์ ซึ่งอาจจะต้องมีการทบทวนว่า โครงการดังกล่าวมีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์หน้า เพราะโดยหลักการแล้ว คสช.จะต้องการเดินหน้าโครงการที่เกิดประโยชน์กับผู้เรียนจริง ๆ และเป็นโครงการที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการงบประมาณ

พล.ร.อ.ณรงค์กล่าวต่อว่า นโยบายแท็บเล็ตจะต้องมีการทบทวน ทั้งการจัดซื้อโซน 4 ของปีงบประมาณ 2556 ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ รวมถึงการจัดซื้อแท็บเล็ตในปี 2557 ที่ยังไม่ได้ดำเนินการด้วยเช่นกัน ซึ่งตนจะใช้หลักเหตุและผลในการทบทวน พร้อมประเมินว่า ตั้งแต่เริ่มโครงการแจกแท็บเล็ตตั้งแต่ปี 2555 นั้น เด็กได้รับประโยชน์จากแท็บเล็ตคุ้มค่าหรือไม่ โดยการทบทวนหากต้องชลอไว้ก่อน เงินงบประมาณที่ตั้งไว้แล้วก็อาจถูกนำไปใช้เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบจากการแจกแท็บเล็ต เป็นห้องเรียนสมาร์ทคลาสรูมแทน ทั้งนี้หากการทบทวนแล้วส่งผลให้เด็กที่จะได้รับแท็บเล็ตโซน 4 ไม่ได้รับความเป็นธรรมนั้น ก็ต้องนำปัจจัยเหล่านี้มาพิจารณาด้วย เช่น หากเราไม่ทบทวนที่จะแจกแท็บเล็ต ก็ต้องหาแนวทางอื่นไปเติมเต็มให้กับเด็ก เป็นต้น

นอกจากนี้จะเร่งจัดงบประมาณซ่อมแซมอาคารเรียน ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวที่ จ.เชียงรายด้วย รวมถึงการขออนุมัติงบประมาณให้กับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จำนวน 3,600 ล้านบาท เพื่อปล่อยให้กับผู้กู้รายใหม่ จำนวน 204,000 ราย โดยประเด็นการแก้ปัญหา กยศ.จะต้องหามาตรการบริหารจัดการที่รัดกุม ในการใช้หนี้ของนักศึกษาที่กู้ไปด้วย ไม่ใช่ปล่อยกู้ไปแล้วแต่ไม่สามารถทวงคืนได้

           “ส่วนใหญ่การทำงานของกระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นแนวทางเดิมจะไม่เข้ามาปฎิรูประบบราชการอะไรใหม่ เพียงแต่อำนาจที่นอกเหนือจากปลัดฯ ก็จะเป็นผม ช่วยกรั่นกรองงานให้อีกขั้นหนึ่ง เพื่อให้การทำงานเร็วขึ้น เบื้องต้นยังไม่ได้ลงลึกถึงการปฎิรูปภาพ รวมระบบงานทั้งกระทรวงฯ เพราะถือเป็นเรื่องใหญ่ต้องใช้เวลา” พล.ร.อ.ณรงค์กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: