‘ชัยวัฒน์’แนะ‘การปฏิรูปไม่ใช่มีครั้งเดียวจบ’

ขนิษฐา เทพจร สำนักข่าวเนชั่น 29 ก.ย. 2557


ยุคที่ประเทศไทยเตรียมพร้อม ณ จุดออกตัว ไปสู่ลู่วิ่ง ที่มีเป้าหมายพัฒนาชาติด้วยโรดแม็พปฏิรูปประเทศไทย แม้การปฏิรูปจะถูกออกแบบให้เป็นไปโดยตัวแทน คือ สภาปฏิรูปแห่งชาติ แต่ปัจจัยที่สำคัญยิ่งต่อความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม คือ “ประชาชน” ก่อนที่สมาชิกสภาปฏิรูปฯ จะออกตัว เครือเนชั่นขอสำรวจความเห็น “ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์" ศาสตราจารย์ประจำและหัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของรางวัล "ศรีบูรพา" เมื่อปี 2555 เพื่อรวบยอดประเด็นสำคัญของการปฏิรูปชาติ

การปฏิรูปประเทศที่ใกล้จะเริ่มต้น แต่กลับพบการปิดกั้นความเห็นทางวิชาการ ลักษณะนี้จะมีผลอะไรต่อแนวทางปฏิรูปประเทศหรือไม่

ประเด็นสำคัญของการปฏิรูปตอนนี้ คือ ประเทศนี้มีปัญหาระดับโครงสร้างจำนวนมากจริงๆ และคณะทำงาน รวมถึงรัฐบาลชุดต่างๆ เคยมอบหมายให้คนศึกษาว่ามีจุดอ่อน หรือมีปัญหาอะไร ซึ่งมีข้อเสนอเยอะแยะไปหมด ดังนั้นมาถึงวันนี้คำถามที่ว่า เรามีปัญหาอะไร จะต้องทำเรื่องอะไรบ้าง ก็มีอยู่พอสมควร แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจว่าจะก้าวไปในเส้นทางปฏิรูปนั้น คำถามคือ ตอนนี้บริบทปัญหาของสังคมไทยคืออะไร ผมมีคำตอบว่า บริบทของสังคมไทยตอนนี้เป็นสภาวะของสังคมที่ความขัดแย้งแตกแยกหลบใน ดังนั้นการปฏิรูปในบริบทความแตกแยก ขัดแย้งหลบในควรจะเป็นเช่นไร ส่วนกรณีที่ปิดกั้นไม่ให้ความเห็นต่างปรากฏ ยิ่งทำให้คนที่มีหน้าที่แก้ปัญหาเกิดความไม่รู้ว่าตกลงครรลองของการแก้ปัญหาควรเป็นอย่างไร เงื่อนไขสำคัญของการแก้ปัญหาที่สำคัญ คือ ต้องทำให้เสียงที่ไม่เห็นด้วยกับเราจริงๆ ได้ปรากฏ หากปิดกั้นแล้วสิ่งที่จะได้คือ เสียงที่ซ้ำ หรือเสียงที่เหมือนกันอยู่แล้ว ซึ่งไม่นำไปสู่การจัดการกับปัญหาตรงๆ ได้

สิ่งที่เขาจัดการ เป็นมุมของความมั่นคงเป็นหลัก มากกว่ามองภาพรวมของสังคมหรือไม่

ใช่ แต่ประเด็นของผมก็คือ สิ่งที่เรียกว่าความมั่นคง จำเป็นต้องเอาสภาวะที่เป็นจริงของสังคมเข้าไปด้วย เพื่อเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้รู้ว่า สังคมเดินมาถึงไหน หรือมีปัญหาขนาดไหน ปัจจุบันมีสิ่งที่เราพูดถึงคือแนวทางปฏิรูป 11 ด้าน โดยทั้ง 11 ด้านนั้นสัมพันธ์กับความขัดแย้ง แตกแยกอย่างไร แปลง่ายๆ คือ ในแต่ละด้านอาจมีความเห็นต่างในหลายเรื่อง ดังนั้นหากไม่สามารถทำให้ได้ยินเสียงที่เห็นต่าง การปฏิรูปอาจถูกพาไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งได้ ผมมองว่า เป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลปรารถนาจะเห็นการปฏิรูปที่ประสบความสำเร็จต้องมีเงื่อนไขที่สำคัญ คือ ให้ผู้คนในสังคมเห็นพ้องต้องด้วย และรู้สึกอยากเดินทางไปด้วยกัน ทั้งนี้ไม่ใช่การเห็นร่วมกัน

ผมคิดว่า ปัญหาสำคัญของเราคือ หาวิธีให้คนที่เห็นต่างจริงๆ ได้แสดงความเห็นต่างเหล่านั้น เพราะการเปิดพื้นที่ให้คนที่เห็นต่างได้แสดงออก ภายใต้กรอบของการสร้างความมั่นคงที่ยั่งยืน ซึ่งเชื่อว่าหลายคนอยากเห็นการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือการปฏิรูปที่ยั่งยืนที่มีความจำเป็น

การกำหนดประเด็นปฏิรูปไว้ล่วงหน้า ถือเป็นการตีกรอบการแสดงความเห็นอย่างเสรีหรือไม่

ถ้ากรอบกว้างพอ ประเด็นดังกล่าวก็ไม่มีปัญหา แต่คำถามคือ กรอบทั้ง 11 ด้านมีอะไรที่ขาดหายไปหรือไม่ แบบนี้ถึงเป็นปัญหาที่น่าสนใจ เช่น ผมไม่รู้ว่า กรอบ 11 ด้านนั้นมีตรงไหนที่พูดถึงการปฏิรูปด้านความมั่นคงหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลักวิชาการให้ความสนใจ

ภาคประชาชนจะมีส่วนร่วมปฏิรูปอย่างไร เพื่อให้ได้ผลต่อภาคปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม

ทำได้ 2 ทาง คือ 1.การมีส่วนร่วมในแนวทางที่ คสช. และรัฐบาลกำหนดขึ้น และ 2.สิ่งที่นอกเหนือจากที่ คสช. และรัฐบาลกำหนด ไม่ได้หมายความว่าภาคประชาสังคมจะไม่สามารถทำอย่างอื่นได้ อย่าลืมว่า สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไม่ใช่ส่วนที่จะนำของไปทำ เป็นเพียงสภาที่ปรึกษาหรือให้คำแนะนำประเด็นปฏิรูปไปสู่รัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดังนั้นความคิดสามารถเสนอภายในกรอบ สปช.หรือภายนอกก็ได้ ถ้าเป็นความคิดที่หนักแน่นมีน้ำหนักเพียงพอ เชื่อว่า สปช. หรือรัฐบาลก็ต้องรับฟัง เพราะ คสช. หรือรัฐบาลก็มีสติปัญญาของเขา เขาต้องไปตัดสินใจเลือก

สรุปการปฏิรูป มีขั้นตอนการตัดสินใจท้ายสุดอยู่ที่คสช.

เพราะ สปช. ไม่มีหน้าที่ปฏิบัติ มีหน้าที่แนะนำ ให้คำปรึกษาว่าตกลงจะไปทางไหน ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด การปฏิบัติเป็นเรื่องหน่วยราชการ และภาคปฏิบัติการทั้งหมดที่มี

ภาคประชาชนควรมีบทบาทอย่างไร เพื่อร่วมทำให้ปฏิรูปสำเร็จ

ภาคประชาชนมีสิ่งที่ทำได้ คือ เริ่มตั้งคำถามว่าจะช่วยสังคมไทยอย่างไร แล้วลงมือทำ ตัวอย่างเช่น สื่อมวลชนจะช่วยสังคมไทยอย่างไร คำตอบคือ ต้องส่องความเป็นจริงให้ตรงไปตรงมามากที่สุด โดยเฉพาะในสภาพเช่นนี้ ยิ่งจำเป็นต้องให้ข้อมูลหรือแนวทางที่เป็นจริงกับสังคมไทยมากขึ้น แต่ต้องทำความเข้าใจในข้อเท็จจริงที่ว่า คสช.และรัฐบาลที่เป็นแบบนี้ มีอะไรที่เราเสนอได้ และเขาพอจะฟัง และพอจะทำได้ ผมคิดว่ามีอีกเยอะที่น่าจะผลักดันให้ทำได้ บางอย่างเขาคงไม่ฟังก็ไม่เป็นไร แต่ประเด็นสำคัญคือ คสช. ไม่ได้อยู่ตลอดไป

หมายถึงหลังการปฏิรูปรอบนี้ ยังต้องมีปฏิรูปรอบต่อไปอีก

การปฏิรูปไม่ใช่มีครั้งเดียวจบ หรือครั้งเดียวเลิก ต้องมีบางเรื่องที่ทำแล้วต้องทำต่อไปอีกหลายด้าน สิ่งที่เราเห็นตอนนี้คือจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่อย่างอื่น

การยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับประเทศไทย แต่การขึ้นโครงไม่ได้เป็นประชาธิปไตย จะทำให้เราได้สิ่งที่คาดหวังหรือไม่

ผมไม่รู้ ต้องดูเขาไปก่อนว่าจะทำอย่างไร ว่าทำให้เงื่อนไขที่เป็นอยู่เป็นไปลักษณะไหน หากเขามองว่า การสถาปนารัฐธรรมนูญแล้วต้องทำให้ผู้คนในสังคมไทยรับรอง ด้วยการทำประชามติ เพื่อนำมาสู่การยอมรับของภาคประชาชนได้เหมือนกัน ผมคิดว่าในส่วนภาคประชาชนมีสิ่งที่สำคัญ คือ นำเสนอสิ่งที่ให้เห็นถึงความต้องการ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นที่ใส่ความฝันของสังคมไทย ทำอย่างไรให้ผู้มีอำนาจเห็นว่าความใฝ่ฝันในสังคมไทยมีความหลากหลายอยู่ และเป็นสิ่งที่ต้องทำ

ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งหรือไม่

ตอบไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ คืออะไร

ขอบคุณที่มา http://www.komchadluek.net

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: