‘ทหารเกณฑ์’ความเหลื่อมล้ำในกองทัพ ชี้ระบบและเงินเอื้อลูกคนรวยรอดทหาร

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 28 พ.ค. 2557 | อ่านแล้ว 12596 ครั้ง

จำนวนความต้องการทหารเกณฑ์ในปี 2557 สูงถึง 100,865 นาย เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 6,385 นาย และเช่นเดียวกับทุกปี สื่อและสังคมมักจับจ้องไปที่ดาราหรือลูกคนดังว่า ปีนี้ใครจะต้องเข้าตรวจเลือกเป็นทหารกองประจำการหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ทหารเกณฑ์”

ภาพของความยากลำบาก การฝึกหนัก และการกระทำละเมิดต่าง ๆ ของครูฝึกและรุ่นพี่ รวมถึงความหวาดเกรงว่าจะต้องถูกส่งไปประจำการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือเหตุผลหลัก ๆ ที่ทำให้ชายไทยอายุถึงเกณฑ์จำนวนไม่น้อยหลีกเลี่ยงการเป็นทหารเกณฑ์ด้วยวิธีต่าง ๆ นานา

ณเดชน์ คูกิมิยะ ขอบคุณภาพจาก http://www.xn--r3ce0ab1b.com

กรณีล่าสุดที่ถูกวิพากษณ์วิจารณ์คือกรณี ณเดชน์ คูกิมิยะ ที่รอดพ้นจากการเป็นทหารเกณฑ์ เนื่องจากเป็นโรคประจำตัวหอบหืด โรคที่ได้รับการยกเว้นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 74 (พ.ศ.2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497 แม้ว่าเจ้าตัวจะเต็มใจสมัครเป็นทหารก็ตาม ซึ่งหลายคนไม่เชื่อและกังขาต่อเหตุการณ์นี้ อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เหล่าดาราและคนดังไม่ต้องเข้ารับราชการทหาร

ไม่ใช่แค่เรื่องโรคประจำตัวเท่านั้น เอาเข้าจริง ๆ แล้ว ในระบบหรือโครงสร้างของการเกณฑ์ทหารมีหลายช่องทางที่เอื้อให้ผู้มีการศึกษาหรือชนชั้นกลางขึ้นไปสามารถรอดพ้นจากการเป็นทหารหรือเป็นทหารในช่วงเวลาที่น้อยกว่า เช่น กฎกติกา การเป็นนักศึกษาวิชาทหารหรือ รด. แม้แต่การจ่ายเงิน ดังนั้น โดยภาพรวมแล้ว อาจกล่าวได้ว่า ระบบการเกณฑ์ทหารในปัจจุบันเป็นระบบที่กวาดต้อนลูกหลานคนจน และการศึกษาไม่สูงเข้าสู่กองทัพ มากกว่าที่จะเป็นการเกณฑ์ทหารอย่างเท่าเทียม

ขอบคุณภาพจาก http://ho.files-media.com/ud/variety/imgs/1/15/44766/a5.jpg

การเกณฑ์ทหาร เรื่องสำคัญที่มีคนศึกษาน้อยที่สุด

นับจากการออกรัฐบัญญัติเกณฑ์ทหารของนโปเลียน โบนาปาร์ต ต่อมาหลายประเทศในยุโรปจึงทำตาม และถูกส่งทอดแนวคิดออกไปทั่วโลก กระทั่งมาถึงสยาม ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงปฏิรูปกองทัพตั้งแต่ 2430

           “เรื่องเกณฑ์ทหารจึงเป็นสิ่งที่อยู่กับสังคมแทบจะทุกประเทศมานาน ในกรณีสังคมไทย การเกณฑ์ทหารถือเป็นเรื่องเก่าแก่ที่สุดอย่างหนึ่ง แต่ผมมีข้อสังเกตว่า เรื่องนี้กลับเป็นเรื่องที่มีคนศึกษาน้อยที่สุดเรื่องหนึ่ง ซึ่งแตกต่างกับในหลายประเทศ ที่ถือว่าการเกณฑ์คนเป็นทหารถือเป็นเรื่องใหญ่ และต้องการการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาหลายอย่าง” ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

ศ.ดร.สุรชาติกล่าวว่า ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีความเชื่อว่า กองทัพคอมมิวนิสต์เป็นกองทัพขนาดใหญ่ที่พร้อมจะรุกรานประเทศไทย การเกณฑ์ทหารขนาดใหญ่จึงเป็นผลพวงจากสถานการณ์ในยุคสงครามเย็นที่กองทัพต้องสู้กับคอมมิวนิสต์ ดังนั้น การเกณฑ์ทหารจึงเป็นสิ่งที่ดำรงสืบเนื่องมานานและกฎหมายเกณฑ์ทหารนับเป็นกฎหมายที่เก่าแก่ฉบับหนึ่ง

ขอบคุณภาพจาก http://sv6.postjung.com/picpost/data/184/184816-12-3664.jpg

กติกาเอื้อคนมีการศึกษา

เมื่อสำรวจดูสิทธิลดวันรับราชการทหาร พบว่าเป็นกติกาที่เอื้อให้แก่ผู้มีการศึกษาในระดับกลางขึ้นไปถึงระดับสูง เช่น หากจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการรับรองวิทยะฐานะ หากใช้วิธีจับสลากจะเป็นทหาร 1 ปี ถ้าสมัครจะเป็นทหารเพียง 6 เดือน

หรือผู้ที่มีวุฒิการศึกษาระดับ ม.6 หรือ ปวช. หากเลือกจับสลากจะต้องเป็นทหาร 2 ปี ถ้าสมัครจะเป็นเพียง 1 ปีขณะที่ผู้ที่มีวุฒิการศึกษาระดับ ปวส. หรือวุฒิปริญญาตรี หากเลือกจับสลากจะเป็นทหาร 1 ปี แต่ถ้าสมัครจะเป็นเพียง 6 เดือนเท่านั้น

สำหรับวุฒิ ปวส.สามารถใช้สิทธิเท่าวุฒิ ป.ตรี นะครับ จับได้แดง เป็น 1 ปี หากยื่นวุฒิสมัคร เป็น 6 เดือน

ส่วนกรณีนักศึกษาวิชาทหาร มีหลักเกณฑ์ว่า ถ้าสำเร็จชั้นปีที่ 1 จับสลากเป็นทหาร 1 ปี 6 เดือน ถ้าสมัครจะเป็นเพียง 1 ปี สำเร็จชั้นปีที่ 2 จับสลากเป็นทหาร 1 ปี ถ้าสมัครจะเป็นเพียง 6 เดือน ส่วนผู้ที่สำเร็จชั้นปีที่ 3 ให้ขึ้นทะเบียนและนำปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 คือ ไม่ต้องเข้ารับการตรวจเลือก

จะเห็นได้ว่า กฎกติกาเหล่านี้เอื้อสำหรับลูกหลานชนชั้นกลางให้ไม่ต้องเป็นทหาร หรือเป็นในระยะเวลาสั้น มากกว่าจะเอื้อลูกหลานชนชั้นล่าง หรือผู้ที่เข้าไม่ถึงการศึกษา หรือไม่มีโอกาสเรียนวิชาทหาร ดร.สุรชาติแสดงความเห็นว่า

“ต้องยอมรับว่า กติกาเหล่านี้เป็นกติกาเก่า ออกมานาน ยุคนั้นกองทัพต้องการปัญญาชนไปทำหน้าที่อย่างอื่น เขาก็ลดหย่อนผ่อนให้ ผมคิดว่ากติกาในอดีตไม่ได้มีปัญหาทางชนชั้นมาก แต่ปัจจุบันกติกาพวกนี้ ปัญญาชนมีทางออกเยอะ อย่างการเรียน รด. กติกาพวกนี้เป็นช่องทางออกให้ปัญญาชนไม่ต้องเป็นทหาร ต้องยอมรับว่าคนที่เรียนมหาวิทยาลัย ก็เรียนรด.กันเกือบหมดแล้ว มันจึงไม่ตอบโจทย์ตรงนี้เท่าไหร่ ผมจึงเห็นด้วยว่า กฎหมายเกณฑ์ทหารเป็นกฎหมายเก่าที่ต้องการการสังคายนา”

กราฟฟิก : ชนากานต์ อาทรประชาชิต

จ่ายเงิน 3 หมื่นแลกไม่ต้องติดทหาร

ไม่ใช่เพียงกติกาเท่านั้นที่เอื้อ การใช้วิธีการจ่ายเงินเพื่อไม่ต้องเป็นทหารเกณฑ์ ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่นิยมใช้ ซึ่งราคาของวิธีการนี้สูงเกินกว่าลูกหลานคนจนจะเข้าถึงได้

นายเอและนายบีเป็นชายไทยที่เคยใช้วิธีการจ่ายเงินให้แก่สัสดี เพื่อเลี่ยงการเป็นทหาร ทั้งคู่ให้เหตุผลที่ไม่ต้องการเป็นทหารคล้ายคลึงกันว่า รับไม่ได้กับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของทหารเกณฑ์ ความเป็นเผด็จการในระบบการฝึกทหาร เสรีภาพที่สูญหายไปจากการเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา และการถูกกลั่นแกล้งอย่างไร้เหตุผลจากครูฝึกและรุ่นพี่ อีกประการหนึ่งคือทั้งคู่เห็นตรงกันว่า การต้องสูญเสียเวลาในค่ายทหารเป็นการเปล่าเปลือง สู้ใช้เวลาไปกับการทำงานหรือเรียนต่อ ย่อมถือว่ามีประโยชน์ทั้งต่อตนเองและสังคมมากกว่า และนายบีมีเหตุผลเพิ่มเติมอีกว่า กลัวการถูกส่งลงไปประจำการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ขณะที่ครอบครัวของนายเอสนิทสนมกับบุคคลหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่รู้จักกับสัสดีเป็นอย่างดี นายเอจึงใช้วิธีติดต่อผ่านบุคคลนี้เข้าถึงตัวสัสดี เพื่อพูดคุยเรื่องการจ่ายเงินแลกกับการไม่ต้องเป็นทหารเกณฑ์ เพราะความคุ้นเคยของบุคคลดังกล่าวกับสัสดี ทำให้นายเอจ่ายเงินเพียง 30,000 บาท ซึ่งถือว่าต่ำกว่าอัตราปกติ อย่างไรก็ตาม นายเอยังคงต้องไปรายงานตัวรับคัดเลือกตามปกติ

“สามหมื่นเป็นเรทต่ำกว่าปกติ เพราะเป็นคนรู้จักเลยได้ต่ำกว่าสี่หมื่น ส่วนวันรายงานตัวเจ้าหน้าที่ที่ตรวจร่างกายเหมือนเขาจะรู้อย่างไรไม่ทราบ เขาจะถามผมว่าเป็นอะไรหรือเปล่า แล้วก็ลากผมไปคุยด้านหลังจุดตรวจ เหมือนพาไปคุยก่อนว่ายัดหรือไม่ยัด เขาบอกประมาณว่า จะถามว่าเป็นอะไร ผมก็ต้องตอบว่าเป็นไส้เลื่อน”

ขอบคุณภาพจาก www.emaginfo.com

แหล่งข่าวเผยทุกส่วนได้รับประโยชน์

ในกรณีของนายบีคล้ายคลังกับกรณีของนายเอ แตกต่างตรงที่เส้นสายของนายบีไม่แนบแน่นเท่า นายบีจึงต้องจ่ายเงิน 45,000 บาทเพื่อการนี้ นายบีเล่าว่า

           “สัสดีถามว่าตกลงจะเอาโรคอะไร แล้วเขาก็รอจนถึงช่วงวันเกณฑ์ จะมีการประกาศคณะกรรมการคัดเลือก เขาจะไปดูว่าเส้นของเขาผ่านหรือไม่ ถ้าเส้นเขาผ่าน เขาก็จะเรียกเราไปจ่ายเงิน แล้วจึงจะทำเรื่องให้อีกที สัสดีพูดเหมือนกับเป็นคณะกรรมการชุดของเขา รู้สึกเหมือนจะมีโควต้า แต่ละปีจะมีเด็กใครเข้ามา เท่าที่ฟังเหมือนกับว่าคณะกรรมการรวมไปถึงประธานคัดเลือกจะรู้เห็นกับเรื่องนี้หมด”

หลังจากนั้นทุกอย่างก็ดำเนินไปตามขั้นตอนปกติ คือต้องไปรายงานตัว เมื่อถึงจุดตรวจร่างกายก็ให้แจ้งแก่ผู้ตรวจตามที่นัดแนะกันเอาไว้ว่าเป็น ‘ไส้เลื่อน’ นายบีอธิบายเพิ่มเติมว่า

          “ที่ได้คุยกับสัสดี เหมือนเขาจะมีการแบ่งว่า ปีนี้ประธานเอาเรื่องขนาดร่างกาย หรือว่ากรรมการคนนี้เอาเรื่องแพทย์ สัสดีบอกว่าเลขพวกนี้ถ้าเยอะเกินไปจะน่าเกลียด เพราะเลขจะขึ้นที่กองทัพบก ถ้าจ่ายร้อยคนใช่ว่าจะได้ทุกคน แต่เหมือนจะมีโควต้าว่าปีนี้ให้เขตนี้ยัดเงินได้กี่คน เช่น ถ้าปีนี้โควต้า 60 แต่มีคนขอ 100 คน อีก 40 คน ก็ผ่อนผันไปก่อน แล้วเรื่องขนาดกับเรื่องแพทย์ก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นสายใคร เช่น ของผมตอนแรก ถ้าแพทย์ผมหลุดก็จะไปทำเรื่องขนาดร่างกายให้ แต่เหมือนเขาคุยกันว่า ปีนี้ขนาดร่างกายมีคนจอง ประมาณว่ามีคนเส้นใหญ่กว่าจองคณะกรรมการ จองรายชื่อทั้งหมดเลย เลยส่งมาทางแพทย์ทั้งหมด”

ปรับวิธีเกณฑ์กำลังพล สลายความเหลื่อมล้ำ

โครงสร้างและกติกาเช่นนี้ ทหารเกณฑ์ในกองทัพจึงเป็นลูกหลานคนจนเสียส่วนใหญ่ ดังที่ ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยกล่าวไว้ในงานเสวนาครั้งหนึ่งเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพว่า มีความเหลื่อมล้ำในการเกณฑ์ทหาร เนื่องจากระบบการเกณฑ์ทหารไม่ทำงานในชนชั้นกลางขึ้นไป เพราะฉะนั้นคนที่ผลัดเปลี่ยนมาให้ใช้คือคนชนชั้นล่างทั้งสิ้น

ด้าน ดร.สุรชาติกล่าวว่า ที่ผ่านมามีความเห็นว่า การเกณฑ์ทหารแบบที่เป็นอยู่ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของกองทัพ อีกทั้งยังสร้างปัญหาทางสังคมว่า สุดท้ายแล้วมีแต่ลูกหลานคนจนที่เป็นทหารเกณฑ์ใช่หรือไม่ ขณะที่ลูกหลานคนรวย คนชั้นกลางมีทางออก ซึ่งเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันไม่จบ แต่กลับไม่มีใครหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นปัญหาใหญ่ เพื่อการถกเถียงทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม ดร.สุรชาติตั้งข้อสังเกตน่าสนใจว่า แม้วันนี้ลูกหลานคนจนอาจจะเป็นกำลังพลฐานล่างในกองทัพ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า คนจนเป็นจำนวนมากมองว่า การที่ลูกหลานได้เข้าสู่กองทัพผ่านระบบเกณฑ์ทหารเป็นโอกาส เช่น แบ่งเบาภาระของครอบครัว การได้รับการศึกษา การฝึกระเบียบวินัย การเรียนรู้ทักษะอาชีพ การมีโอกาสได้รับราชการ ประเด็นนี้จึงมีทั้งด้านบวกและลบพอกัน ปัญหาจึงวนกลับมาตรงที่ว่าวิธีการเกณฑ์ทหารแบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ตอบโจทย์หรือไม่

 ขอบคุณภาพจาก http://static.tlcdn1.com/

          “คำถามในอนาคตต้องไปมากกว่าเรื่องวิธีการ คือต้องถามว่า กองทัพไทยยังมีความต้องการกำลังคนจำนวนมาก ๆ หรือไม่ เพราะแนวโน้มในระยะไม่กี่ปีมานี้ ผมได้ยินเสียงบ่นจากหลายสายว่า ยอดตัวเลขของกำลังพลที่ถูกเกณฑ์เพิ่มมากขึ้น ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกหลังยุคสงครามเย็น ยอดทหารที่ถูกเกณฑ์ลดลง เพราะแนวโน้มที่จะมีสงครามใหญ่จบลงแล้ว มีการลดขนาดกองทัพในหลายประเทศ แต่เน้นการใช้เทคโนโลยีที่มีสมรรถนะสูงแทน แล้วเกิดอะไรกับสังคมไทย ผมอธิบายได้มุมหนึ่งว่า ส่วนหนึ่งเป็นการเกณฑ์เพื่อรองรับการปฏิบัติราชการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งยังเป็นพื้นที่ที่ต้องอาศัยกำลังพลมาก” ดร.สุรชาติกล่าว

ดร.สุรชาติกล่าวด้วยว่า อาจถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องถกเถียงเรื่องนี้อย่างจริงจัง ว่าควรเปลี่ยนระบบการเกณฑ์กำลังพลเข้ากองทัพหรือไม่ หรืออาจเปลี่ยนไปใช้ระบบกำลังพลอาสาสมัคร (All Volunteer Forces) แทน ซึ่งข้อดีคือจะได้คนที่ต้องการเป็นทหารจริง ๆ อย่างไรก็ตาม หากจะปรับเป็นระบบกำลังอาสาสมัคร กองทัพก็ต้องมีความสามารถในการดูแลคนเหล่านี้

ซึ่งกว่าจะถึงวันนั้น ความเหลื่อมล้ำในการเกณฑ์ทหารคงจะดำรงอยู่ต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: