บทวิเคราะห์ : การต่างประเทศและความวุ่นวายทางการเมืองของไทย

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี 28 เม.ย. 2557 | อ่านแล้ว 2165 ครั้ง

ประเทศไทยนั้นหัวเด็ดตีนขาด อย่างไรก็ไม่ยอม เมื่อหลายปีก่อนอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรถึงกับเคยประกาศว่าจะเดินออกจากที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนทันที ถ้าหากว่ามีผู้นำคนใดของประเทศไหนบังอาจแสดงความเห็นเรื่องสถานการณ์ทางภาคใต้ของไทยในที่ประชุมนั้น หรือแม้แต่เมื่อปี 2551 นี่เอง สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ได้แสดงการคัดค้านอย่างสุดจิตสุดใจเมื่อกัมพูชาจะนำปัญหาข้อพิพาทเรื่องปราสาทพระวิหารกับไทยเข้าหารือในการประชุมกลุ่มอาเซียนรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เที่ยวบอกใครต่อใครว่าไทยกับกัมพูชาจะแก้ไขปัญหาปราสาทพระวิหารด้วยกันเองแบบทวิภาคี ทั้ง ๆ ที่ประธานาธิบดีอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนนั่งเจรจาไกล่เกลี่ยอยู่ด้วยทนโท่ แม้ว่าจะต้องหลอกตัวเองขนาดนั้นก็จำต้องทำด้วยไม่ต้องการให้กลุ่มอาเซียนมีพื้นที่ในการแทรกแซงกิจการที่เราไม่ต้องการให้มีส่วนร่วม

แต่เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ สุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย บอกกับนักข่าวว่า ประเทศกลุ่มอาเซียนกำลังร่างแถลงการณ์เพื่อแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยและเรียกร้องให้ประเทศไทยจัดให้มีการเลือกตั้งอีกด้วยทั้งๆที่รู้อยู่แก่ใจว่านั่นเป็นข้อเรียกร้องที่ขัดใจใครหลายๆคนอย่างมาก

แถลงการณ์นี้ร่างโดย มาร์ตี นาตาเลกาว่า รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย ผู้ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นรัฐมนตรีที่เอาการเอางานคนหนึ่งในกลุ่มอาเซียน แต่ยังเป็นผู้ที่รู้จักประเทศไทยเป็นอย่างดี เพราะมีภรรยาเป็นคนไทย เขาร่างหนังสือและเวียนให้ประเทศสมาชิกอื่น ๆ ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบ รองนายกรัฐมนตรีสุรพงษ์บอกว่า ในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศตัวเขาเองนั้นให้ความเห็นชอบไปแล้ว เมื่อเวียนกันครบ 10 ประเทศแล้ว พม่าในฐานะที่เป็นประธานอาเซียนอยู่ในปัจจุบัน ก็คงจะประกาศแถลงการณ์นี้ให้รู้โดยทั่วกันคาดว่าคงจะเร็วๆนี้อาจจะก่อนหรือระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กรุงเนปิดอว์ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ก็เป็นได้

นายมาร์ตี นาตาเลกาว่า รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย

ความจริงแถลงการณ์ที่จะออกนี้ก็ไม่ใช่ฉบับแรกที่อาเซียนได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย ก่อนหน้านี้เมื่อเกิดความวุ่นวายทางการเมืองอาเซียนก็เคยออกแถลงการณ์แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยมาแล้ว ก็โดยความยินยอมพร้อมใจของไทยอีกเช่นกัน แต่แถลงการณ์แบบนี้แสดงนัยสำคัญของความเปลี่ยนแปลงในวิถีทางของกิจการระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนพอสมควร

ประการแรก การแสดงความเห็นต่อสถานการณ์หรือเรื่องกิจการภายในของประเทศสมาชิกในลักษณะนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าสมาชิกกลุ่มอาเซียนเริ่มลดปราการป้องกันตนเองลงค่อนข้างมากแล้ว จากเดิมที่จะไม่ยอมให้ประเทศสมาชิกอื่น ๆ ไม่ว่าจะในนามของประเทศตัวเองหรือในนามกลุ่มอาเซียนแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ภายในหรือเรื่องที่ถือว่าเป็นกิจการภายในประเทศแบบนี้เลย แต่นับจากเกิดปัญหาความรุนแรงในพม่าในปี 2546 (กรณีการโจมตีขบวนรถของออองซานซูจีและการจับกุมตัวเธออีกครั้ง และปี 2550 (กรณีการลุกฮือของบรรดาพระสงฆ์และความรุนแรงที่ตามมา) กลุ่มอาเซียนได้แสดงเจตจำนงค์อันแน่วแน่ว่าต่อไปนี้ กลุ่มอาเซียนจะต้องขอสงวนสิทธิที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศสมาชิกที่จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์โดยรวมของภูมิภาคหรือต่อกิจการของกลุ่มได้บ้างแล้ว หลักการที่ถือว่าเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิที่อ้างกันมานาน เรื่องการไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกันในหมู่สมาชิกอาเซียนนั้นเริ่มมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ว่ากันตามความจริงกลุ่มอาเซียนก็ขอใช้สิทธิ์นี้อยู่เนือง ๆ มาเกือบ 20 ปีแล้วนับแต่รับสมาชิกใหม่ชุดใหญ่จากอินโดจีนและพม่าในช่วงปี 2538และ 2540 เป็นต้นมา เป็นแต่เพียงว่าสมาชิกรายใหญ่ ๆ โดยเฉพาะรุ่นก่อตั้งถืออภิสิทธิวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นแต่ไม่ยอมถูกวิพากษ์วิจารณ์บ้างเท่านั้นเอง

ประการต่อมา จารีตและบรรทัดฐานของรัฐบาลไทยต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็เปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ไหนแต่ไรมาประเทศไทยมักไม่ค่อยยอมรับตัวเองมีปัญหาภายใน หรือแม้จะตระหนักว่าการเมืองภายในมีปัญหาแต่ก็ไม่ค่อยชอบให้ประเทศอื่นแสดงความเห็นหรือแทรกแซง ด้วยถือว่าปัญหาของเราเอง เรามีปัญญาจะแก้ไขได้ ไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากใคร ประเทศไทยนั้นเคยมีบทบาทอย่างมากในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและสงครามกลางเมืองในกัมพูชา มาวันหนึ่งจะมีประเทศอื่นมาแสดงความเห็นว่าเรากำลังจะพัฒนาไปในทางนั้นก็ดูจะเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้ยาก

แต่มาถึงปัจจุบันนี้สถานการณ์การเมืองภายในของไทยขัดแย้งกันยืดเยื้อยาวนาน นับจากรัฐประหารปี 2549 มาจนถึงปัจจุบันก็ร่วมสิบปีแล้ว หรือปัญหาภาคใต้นั้นครบรอบสิบปีไปตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมาแล้ว ยังไม่มีทีท่าว่าปัญหาจะยุติลงได้ ชนชั้นสูงของสังคมอาจจะไม่เห็นด้วยเท่าไหร่ แต่ทัศนะของรัฐบาลไทยโดยเฉพาะรัฐบาลชุดนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก กลับเห็นว่าน่าจะมีบุคคลจากภายนอกเข้ามาให้คำแนะนำใดๆบ้างเกี่ยวกับทางออกในการแก้ไขปัญหาการเมืองที่กำลังดำเนินการอยู่

แน่นอนอาจจะมีผู้เห็นแย้งได้ว่า ความจริงแล้วเป็นยุทธศาสตร์ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ต้องการดึงเอาต่างประเทศมาเป็นพวก รัฐบาลนี้เรียกร้องให้ต่างประเทศและสหประชาชาติช่วยแสดงความเห็นหรือแม้แต่เข้ามาช่วยหาทางแก้ไขปัญหาตลอดเวลา นักวางแผนยุทธศาสตร์ในรัฐบาลอาจจะคิดอย่างนั้นก็ได้ แต่สถานการณ์ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคปัจจุบันต่างจากยุค 1960-70 ที่ว่าผู้นำทางการเมืองจะแสวงหาแรงสนับสนุนจากรัฐบาลต่างประเทศเพื่อค้ำจุนให้ตัวเองอยู่ในอำนาจต่อไปแบบตรงไปตรงมาอย่างที่ผู้นำยุคเก่าของไทยเคยชินคงจะเป็นไปได้ยาก ปัจจุบันแม้แต่สหรัฐก็ไม่อยากจะทำอย่างนั้นแล้ว

แนวโน้มใหม่ของการเมืองโลกพยายามสถาปนาหลักประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและสันติภาพให้ถาวร ประเทศต่างๆทั่วโลกมีแนวโน้มจะพัฒนาสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น กลุ่มประชาชนที่ออกมาประท้วงโค่นล้มรัฐบาลเก่าหลายที่นับแต่อาหรับสปริงเป็นต้นมาแสวงหาความเป็นประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นไม่ใช่น้อยลง หลายประเทศพยายามจะมีนโยบายแบบชูหลักการมากกว่าจะชูตัวบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าใครจะอยู่ในอำนาจหากสามารถยึดถือหลักการเดียวกันหรือเรียกร้องในสิ่งเดียวกันย่อมประสานประโยชน์ระหว่างประเทศได้

กลุ่มอาเซียนก็หนีไม่พ้นที่จะต้องอยู่ในกระแสนี้เหมือนกัน ประเทศในอาเซียนเวลานี้ส่วนใหญ่ เช่นอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ หรือแม้แต่พม่า เคยมีปัญหาทางการเมืองแบบเดียวกับไทยมาแล้วทั้งนั้น รัฐประหาร ยึดอำนาจ เผด็จการและคอร์รัปชั่นเป็นสิ่งที่อยู่คู่ภูมิภาคนี้มานานแสนนานแล้ว แต่ระยะหลัง ๆ มานี้ประเทศเหล่านี้กลับแสดงความก้าวหน้าทางการเมืองได้อย่างไม่น่าเชื่อ อินโดนีเซียเคยอยู่ภายใต้เผด็จการมานานก็สามารถเปลี่ยนผู้นำโดยผ่านการเลือกตั้งมาได้หลายคนแล้ว เป็นหญิงบ้าง ชายบ้าง มีความสามารถบ้าง ไร้ความสามารถบ้างหรือแม้แต่มีปัญหาคอร์รัปชั่นบ้าง แต่ระบบการเมืองก็ถือได้ว่าลงตัวพอสมควรแล้ว แม้แต่พม่าใครเลยจะเชื่อว่าทหารพม่าจะยอมให้มีการปฎิรูปทางการเมืองได้ อองซานซูจี ได้เป็นสมาชิกรัฐสภา ต่อไปไม่แน่อาจจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เธอสามารถเป็นประธานาธิบดีได้ก็เป็นไปได้ ดังนั้นอาเซียนก็มีความจำเป็นจะต้องยึดหลักแห่งความเป็นประชาธิปไตย และการเปิดกว้างทางการเมืองอีกทั้งพยายามจะสร้างให้เป็นจารีต บรรทัดฐานและหลักปฏิบัติที่สำคัญของกลุ่มนี้ด้วย ในขณะที่มีสมาชิกบางประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยแสดงความถดถอยทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัดและเป็นอัตราความถดถอยที่รวดเร็วและรุนแรงมาก ทั้งยังส่งผลกระทบไปในวงกว้าง ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ จะนิ่งดูดายไม่ได้

สิ่งที่คนหรือกลุ่มบุคคลในประเทศไทยควรจะทบทวนคือ ข้อเรียกร้องทางการเมืองของตัวเองสอดคล้องกับกระแสและความเป็นไปของโลกแค่ไหน ข้อเรียกร้องประเภทที่ขัดรัฐธรรมนูญ ขัดต่อความเป็นประธิปไตยหรือปฎิเสธการเลือกตั้ง มันเป็นข้อเรียกร้องที่ขัดความเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มของโลกยุคปัจจุบันอย่างยิ่ง ต่อให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่เที่ยวไปเรียกร้องให้ประเทศอื่นๆมาแสดงความเห็นหรือวิพากษ์จารณ์การเมืองไทย ก็คงจะมีผู้นำหลายประเทศวิพากษ์วิจารณ์หรือช่วยชี้แนะจนได้อยู่ดี

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: