อำนาจเหนือสื่อ-ภาคพิสดาร

สุชาดา จักรพิสุทธิ์ 28 ก.ค. 2557


ปกติแล้ว  ดิฉันไม่นิยมคนที่ใช้พื้นที่สาธารณะมาสื่อสารประเด็นส่วนตัว  เพราะถือว่า เมื่อไหร่ที่พื้นที่นั้นมีคนอ่านคนดูที่เราไม่เคยเห็นหน้า เมื่อนั้นมันคือพื้นที่ส่วมรวม โดยมารยาท เราจึงควรพูดเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ไม่มากก็น้อย

แต่จากกรณี TCIJ เสนอข่าว"หลุด ! เอกสารภายในฝ่าย PR ธุรกิจยักษ์ใหญ่ จ่ายสื่อ-ลบกระทู้-อ้างชื่อนักวิชาการ" ทำให้เกิดปฏิกิริยานานาชนิดตามมา อย่างที่ดิฉันได้พูดไปในเวทีเสวนาว่าด้วยอำนาจเหนือเกษตรกร-อำนาจเหนือสื่อ แล้วว่า มันคือกลวิธีการสกัดกั้นข่าว  ทั้งอย่างแนบเนียนซับซ้อนและอย่างซึ่งหน้าจับได้ไล่ทัน ทั้งทำแบบให้เรารู้ตัวและไม่รู้ตัว แต่ในบรรดากลเม็ดเด็ดพรายเหล่านี้ ที่น่ารังเกียจคือ การที่นักข่าวบางคนหรือสื่อบางสำนัก ช่วงชิงเขียนข่าวหรือบทความเบี่ยงเบนประเด็น ไปจนถึงการหันมาจับจ้องเอาผิดกับ TCIJ ทั้งด้วยข้อกล่าวหาล่วงละเมิดข้อมูลบุคคล การไม่ร่วมมือเปิดเผยรายชื่อสื่อที่ตกเป็นข่าว แต่ใครเลยจะรู้ว่านักข่าวบางคนหรือสื่อบางสำนักแสดงบทบาทเหล่านี้โดยบริสุทธิ์ใจหรือไม่บริสุทธิ์ใจ

รูปแบบและกระบวนการสกัดกั้นความเป็นข่าว  โดยทั่วไปมีตั้งแต่วิธีการตรงไปตรงมาคือ การแถลงตอบโต้ว่าไม่เป็นความจริงบ้าง จริงไม่หมดบ้าง ถูกใส่ความบ้าง บริษัทตนเป็นเหยื่อการเมืองหรือความขัดแย้งบ้าง หลักฐานถูกขโมยหรือปลอมแปลงบ้าง ซึ่งแน่นอนว่า องค์กรใหญ่แถลงการณ์เป็นทางการขนาดนั้น สื่อทุกสำนักย่อมต้องนำ เสนอให้ อันนี้ถือเป็นธรรมดา เพราะความเป็น "ข่าว" ได้เกิดขึ้นแล้ว นอกจากนี้ ก็อาจมีการล็อบบี้หรือชี้นำให้พันธมิตร-เครือข่ายออกแถลงการณ์ในประเด็นที่แตกต่างหรือเบี่ยงเบนออกไป เพื่อให้เกิดกระแส "ไม่ใช่/ไม่จริง" หรือทำให้มีผู้เสียหายร่วม ทำให้มีศัตรูร่วมเพิ่มขึ้นแก่สื่อที่นำเสนอข่าวนั้น

กลวิธีอีกอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในยุคโซเชียลมีเดียนี้ ซึ่งง่ายและเป็นที่นิยมคือ การปล่อยข่าวหรือโพสต์ข้อความเชิงลบแก่สื่อหรือตัวบุคคลที่เขียนข่าวตน เพื่อดิสเครดิตหรือทำลายความน่าเชื่อถือ ซึ่งอาจทำโดยใช้นามแฝง หรือชี้นำ หรือให้ข้อมูลเท็จแก่ตัวบุคคลจริงในการเข้าโพสต์ ซึ่งตัวบุคคลที่เข้าโพสต์นั้นอาจเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจ เพราะรับข้อมูลข้างเดียว หรือเป็นกลุ่มก๊วนพรรคพวกก็ได้ การเข้าโพสต์ก็เช่น โพสต์เรื่องส่วนตัวในเชิงเสียหาย เพื่อแสดงว่าบุคคลที่นำเสนอข่าวนั้นเป็นคนไร้คุณธรรม ไม่น่าเชื่อถือ การเข้าโพสต์ทำเสมือนหนึ่งตนรู้ความจริงที่ลึกกว่า เช่น เป็นเพราะพนักงานคนในที่ลาออกมามีเรื่องขัดแย้งกับบริษัทจึงนำเอกสารมาให้ เป็นต้น นอกจากนี้ ก็มีการโพสต์ยุแหย่ท้าทายหรือหยาบหยาม เป็นต้น

ยังมีกลวิธีที่จะโดดเดี่ยวหรือล้อมกรอบสื่อที่นำเสนอข่าวนั้น ด้วยวิธีการทำให้สื่ออื่นๆ เพิกเฉยที่จะนำเสนอ เพื่อลดระดับความสำคัญของข่าวนั้น หรือจำกัดวงการแพร่กระจายข่าวสารนั้นด้วยกลวิธีต่างๆ ซึ่งวิธีนี้ยังอาจมีกระบวน การทำงานที่ซับซ้อน ตั้งแต่การเจรจาทางลับกับสื่อ อย่างที่ TCIJ เสนอไปในข่าว หรืออาจเป็นการสมคบคิดโดยปริยาย ด้วยทัศนคติของสื่อเองที่เห็นว่า  ข่าวนั้นไม่มีน้ำหนัก ไม่น่าสนใจ และไม่เป็นข่าว (News that not make news) กรณีแบบนี้มักเกิดกับข่าวคนเล็กๆ หรือข่าวชายขอบ

ที่เป็นประสบการณ์ตรงจากกรณีข่าวธุรกิจใหญ่จ่ายเงินสื่อ ก็คือที่ดิฉันเรียกว่าการ "ขุดหลุมดักควาย" โดยผ่านทางโทรศัพท์ในฐานะผู้อ่านบ้าง ผ่านเพื่อนมิตรบ้าง คนเคยรู้จักบ้าง ผ่านสายสัมพันธ์เพื่อนของเพื่อนคนในทีมงานบ้าง  และอื่นๆ อีกมากมาย เพื่อจะด่าทอฝ่ายธุรกิจให้เราเออออ เพื่อจะขอเอกสารทั้งฉบับ เพื่อจะท้าทายว่าจะเอาผิดคนก็ควรเปิดให้ถึงที่สุด ไปจนถึงเพื่อจะถามว่า “มีสื่อสำนักฉันหรือเปล่า?”

ที่เล่ามานี้ ส่วนใหญ่เป็นกลวิธีทางฟากฝ่ายของทุนธุรกิจ ซึ่งความสำเร็จมักได้มาจากความเพิกเฉย (Ignorant) ของคนในสังคม ความไม่รู้เท่าทันทุนและไม่รู้เท่าทันสื่อ หรือแม้แต่ที่สื่อเองก็อาจไม่รู้เท่าทันทุนและไม่รู้เท่าทันพรรคพวก ไม่รู้เท่าทันผู้บริหารองค์กรสื่อของตนด้วยซ้ำ นอกจากนี้ ว่าเฉพาะกรณีของ TCIJ นี้ ในฟากฝ่ายของสื่อหรือผู้ตกเป็นจำเลยร่วม ก็ปรากฎว่า มีองค์กรวิชาชีพออกมาขานรับอย่างแข็งขัน ประกาศที่จะทำการตรวจสอบ หากพบว่าผิดจริง ก็จะเอาผิดกับสื่อที่มีรายชื่อปรากฎในเอกสารรับเงิน มีการประกาศรายนามบุคคลที่ถูกแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจสอบ มีการให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารสภาวิชาชีพ

ในแง่นี้ ผู้อ่านข่าวทั่วไปหรือแม้แต่ผู้ติดตามข่าวสารอาจนึกเบาใจว่า ปัญหาได้ถูกจัดการแล้วและน่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น จากนั้น ข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็จะค่อยๆ เลือนหายไป เพราะข่าวใหม่ๆ มีท่วมทับมหาศาลทุกวี่วัน  ด้วยเหตุดังนี้ อำนาจเหนือสื่อจึงไม่ใช่ปัจจัยจากภายนอก ไม่ใช่อำนาจจริงๆ ที่คนอื่นตั้งใจกระทำแก่ตน หากแต่คืออำนาจที่เกิดจาก “วัฒนธรรม” ภายในวงการวิชาชีพของตนนั่นเอง เพราะเชื่อเสียแล้วว่า การกำกับดูแลกันเอง  หรือ Self-Regulation เป็นอุดมคติและเป็นศักดิ์วิชาชีพของตน ที่คนอื่นหรือคนนอกวิชาชีพไม่อาจเข้าใจและไม่อาจเข้ามามีส่วนร่วมปฏิบัติให้ถูกต้องได้

จนบัดนี้ TCIJ ยังไม่ได้รับการติดต่อประสานงานในการไปให้ข้อมูล ทั้งที่เอกสารอื่นๆ นอกเหนือจากรายชื่อสื่อ ยังมีอีกนับพันหน้า สามารถจะเป็นเอกสารอ่านประกอบให้วิเคราะห์ได้แจ่มชัด ถึงปัญหาเรื้อรังภายในวิชาชีพสื่อที่ถึงเวลาต้องชำระสะสางกันอย่างจริงจัง ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอันวิกฤตสำหรับสื่อกระแสหลัก หรือ Conventional Media และการเติบโตของสื่อใหม่และโซเชียลมีเดีย ที่กลายเป็นทางเลือกของสังคมและเป็นปัจจัยท้าทายวงการสื่อกระแสหลักอย่างยิ่ง

ความจริงอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในกรณีนี้สื่อตกเป็นจำเลยเสียเอง เพราะเป็นประเด็นเกี่ยวกับสื่อโดยตรง ที่แน่นอนว่าสื่อทุกสำนักต้องพุ่งความสนใจมาและนำเสนอมัน จนลืมไปว่า สื่อคือผู้สร้าง "กระแสสังคม" เป็นผู้ชี้นำสังคมหรือ Setting Agenda ตลอดมา ในแง่นี้ สื่อจึงตกเป็นเหยื่อของตัวเอง ในอันทำให้ข่าวนี้ยิ่งแพร่กระจายและถูกรับรู้ในวงกว้างมากยิ่งๆ ขึ้น พร้อมๆ กับการทำให้ “จำเลย” อีกหนึ่ง ซึ่งคือธุรกิจยักษ์ใหญ่นั้น...ลอยนวลหายไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: