ทำไมคนจะนะจึงไม่ต้องการท่าเรือน้ำลึกสงขลา

ประสิทธิไชย หนูนวล คณะทำงานปฏิรูประบบ EIA 28 เม.ย. 2557


กรณีการละเมิดสิทธิจากการจัดทำค.1 ท่าเรือน้ำลึก อ.จะนะ จ.สงขลา ชุมชนมีสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง ชุมชนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการกำหนดอนาคตตนเอง ด้วยการแสดงออกถึงการรวมตัวเพื่อทักท้วงและนำเสนอข้อมูลเพื่อชี้ทิศทางการพัฒนาที่ควรจะเป็น ตามอำนาจในรัฐธรรมนูญ มาตรา 66 และ67 เพื่อสร้างทิศทางการพัฒนาที่ถูกต้องและยั่งยืนเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ หากจะมีการดำเนินการใดในพื้นที่ชุมชน ซึ่งจัดว่าเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนต้องมีการประเมินผลกระทบก่อน แต่อย่างไรก็ตามทั้งมาตรา 66 และ 67 จัดอยู่ในหมวดสิทธิชุมชน นั่นหมายถึงว่ารัฐธรรมนูญให้สิทธิชุมชนต่อการกำหนดอนาคตเป็นเบื้องแรก

การเกิดขึ้นของท่าเรือซึ่งเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง นั้นมิเพียงมีข้อพิจารณาประเด็นทางเทคนิคและรายละเอียดของโครงการเท่านั้น แต่มาตรา 67 ได้บัญญัติขึ้นในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งถูกจัดอยู่ในหมวดสิทธิชุมชน โดยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเพื่อให้สิทธิชุมชนในการกำหนดอนาคตตนเอง โดยระบุไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 66 ว่า ‘บุคคลที่รวมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน’แม้ว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง จะให้อำนาจว่า หากจะดำเนินโครงการจะต้องศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชนเสียก่อน กระนั้นก็ตามให้ถือสิทธิการกำหนดอนาคตของประชาชนเป็นหลักสำคัญการดำเนินกิจกรรมใดจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากร และสิทธิในการกำหนดอนาคตของประชาชน

การเกิดขึ้นของท่าเรือมีข้อพิจารณาว่าโครงการดังกล่าวได้ละเมิดต่อทิศทางการพัฒนาของคนส่วนใหญ่หรือไม่ การเกิดขึ้นของท่าเรือคือการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่และรูปแบบการพัฒนาซึ่งส่งผลอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพทางเศรษฐกิจของคนในพื้นที่รวมถึงการเกิดขึ้นของท่าเรือจะนะคือต้นเหตุแห่งการขยายตัวของอุตสาหกรรมมลพิษในภาคใต้ กระบวนการกำหนดอนาคตของคนในพื้นที่นั้นย่อมมองภาวะของโลกลงมาถึงระดับประเทศระดับภาคและระดับพื้นที่ ดังนี้

แนวโน้มเศรษฐกิจของโลก คืออะไร สิ่งที่จะสร้างมูลค่ามหาศาลให้กับประชาชาตินับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปไม่ใช่สินค้าอุตสาหกรรมอีกต่อไปเพราะโลกได้พัฒนาอุตสาหกรรมมาถึงจุดตันแล้ว ด้วยสภาวะโลกร้อนที่นักวิทยาศาสตร์ทั้งโลกออกมาเตือนว่าหากมนุษย์ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการยุติการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมจะส่งผลให้โลกผันผวนจนเกินกว่ามนุษย์จะรับได้ สหประชาชาติออกคำเตือนมาหลายปีแล้วว่า วิกฤติสำหรับมนุษยชาตินับตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงเบื้องหน้าคือวิกฤติอาหาร ดังจะเห็นได้ว่าประเทศที่ทรงอำนาจหลายประเทศบนโลกนี้ต่างแสวงหาทางออกด้านความมั่นคงด้านอาหารจนกลายเป็นวาระสำคัญของประเทศนั้น ๆ การพัฒนาอุตสาหกรรมคือทางออกของความมั่งคั่งเมื่อร้อยปีที่แล้ว หากเรายังเดินตามแนวทางนี้นอกจากโง่งมไม่รู้สำนึกแล้วยังเป็นการพัฒนาที่จะนำไปสู่การทำลายโอกาสทางเศรษฐกิจของคนส่วนใหญ่อีกด้วย

ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศเพียงไม่กี่ประเทศบนโลกนี้ที่มีทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้คนไทยไม่เคยเกิดวิกฤติอาหารครั้งร้ายแรงมาก่อน หากเราสามารถต่อยอดการพัฒนาที่เกี่ยวเนื่องกับทรัพยากรธรรมชาติจะสามารถสร้างความมั่งคั่งให้ประชาชนอย่างถ้วนหน้า การที่ประเทศไทยมุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับผลผลิตของประเทศในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ระยะห่างระหว่างรายได้ของคนส่วนใหญ่กับคนเพียงไม่กี่ตระกูลห่างมากขึ้น ยิ่งพัฒนายิ่งส่งผลให้คนรวยยิ่งรวยขึ้น คนจนยิ่งถูกกดทับ เพราะการที่รัฐสนับสนุนอุตสาหกรรมจะมีคนไม่กี่ตระกูลได้ผลประโยชน์แต่คนส่วนใหญ่จะกลายเป็นแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียที่ดินของคนภาคกลาง การสุญเสียสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกษตรและการท่องเที่ยวของคนภาคตะวันออก คนเหล่านี้ได้เป็นฐานรองรับให้คนไม่เกิน 10 ตระกูล บวกกับนายทุนต่างชาติร่ำรวยไม่รู้จบ

อะไรคือศักยภาพของเศรษฐกิจภาคใต้ แผ่นดินใต้อาศัยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติสร้างงานหลายล้านตำแหน่งส่งผลให้คนใต้มีความสุขที่สุดในบรรดาทุกภาคของประเทศตามการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ คนใต้เจริญรุ่งเรื่องอยู่ได้ด้วยการเกษตร การท่องเที่ยว ประมง และอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กที่ต่อเนื่องจากทรัพยากรของพื้นที่ ตามตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรและสำนักงานสถิติแห่งชาติ ความมั่งคั่งของคนใต้ไม่ใช่เกิดขึ้นจากภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เอื้อประโยชน์ให้เฉพาะกลุ่มนายทุนเท่านั้น ทิศทางการพัฒนาของคนใต้โดยรวมสอดคล้องกับการแก้ภาวะวิกฤติโลก และดำเนินการทำแนวทางของสหประชาชาติคือการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ความเจริญของอุตสาหกรรมไม่ใช่เงินในกระเป๋าของคนในพื้นที่ดังข้อมูลของสภาพัฒน์ฯ ชี้ว่าในปี 2552 โครงสร้างเศรษฐกิจจังหวัดระยองขึ้นกับภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 87 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัด ในขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัดของจังหวัดสงขลา ภูเก็ต และสตูล ขึ้นกับภาคอุตสาหกรรมเพียงร้อยละ 35 12 และ 17 ตามลำดับ ส่งผลให้จังหวัดระยองมีรายได้ต่อหัวสูงถึง 915,195 บาท/คน/ปี ซึ่งสูงสุดในประเทศ ในขณะที่จังหวัดสงขลา ภูเก็ต และสตูล มีรายได้ต่อหัวต่ำเพียง 105,782 236,416 90,103 บาท/คน/ปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตามเมื่อพิจาณาข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ กลับพบว่าในปีเดียวกันรายได้ต่อครัวเรือนซึ่งเป็นเงินในกระเป๋าจริงของประชาชนในจังหวัดระยองกลับมีเพียง 22,983 บาท/เดือน เมื่อเทียบกับ 27,356 28,515 และ 20,695 บาท/เดือนของจังหวัดสงขลา ภูเก็ต และสตูล ตามลำดับ โดยคนใน 3 จังหวัดของภาคใต้ดังกล่าวไม่ต้องใช้ชีวิตที่เสี่ยงต่อปัญหามลภาวะทางอากาศ สารอินทรีย์ระเหยก่อมะเร็ง ปัญหาน้ำเสีย รวมทั้งปัญหาสังคมและอาชญากรรมที่รุนแรงเท่าจังหวัดระยอง

แผนพัฒนาหรือแนวทางการพัฒนาในภาคใต้จึงต้องยึดหลัก 6 ประการดังนี้

ประการแรก ต้องเป็นแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ กล่าวคือต้องเป็นแนวทางการพัฒนาที่ต่อยอดจากการเกษตร หรืออุตสาหกรรมการเกษตร และการท่องเที่ยว-บริการ

ประการที่สอง ต้องเป็นแนวทางการพัฒนาที่ไม่ขัดกับวิสัยทัศน์การพัฒนาของ 14 จังหวัดภาคใต้ (ซึ่งทุกจังหวัดเน้นความยั่งยืนและ สังคมอยู่ดีมีสุข)

ประการที่สาม ต้องเป็นแนวทางการพัฒนาที่ไม่คุกคามกิจกรรมทางเศรษฐกิจปกติของพื้นที่ การพัฒนาที่นำไปสู่การแย่งชิงทรัพยากร โดยเฉพาะทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรดิน คนในพื้นที่ซึ่งมีอำนาจทางการเมืองและอำนาจทางเศรษฐกิจน้อยกว่า จะตกเป็นฝ่ายถูกกระทำจากการพัฒนาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประการที่สี่ ต้องเป็นแนวทางการพัฒนาที่ผลประโยชน์ต้องตกกับคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่ตกกับทุนชาติ และทุนข้ามชาติ และทิ้งมลพิษเช่น น้ำเสีย กากพิษอุตสาหกรรม อากาศพิษ สารอินทรีย์ระเหยก่อมะเร็ง รวมทั้งความขัดแย้งทางสังคม ความแตกแยกและความล่มสลายทางสังคม ไว้เป็นภาระหรือต้นทุนให้พื้นที่รับผิดชอบ

ประการที่ห้า ต้องเป็นแนวทางการพัฒนาที่ต้องเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนแบบรู้เท่าทัน ทั้งขั้นตอนการกำหนดโครงการ การตัดสินใจเอาหรือไม่เอาโครงการ และการติดตามตรวจสอบ และการรับประโยชน์จากโครงการ

ประการที่หก ต้องเป็นแนวทางการพัฒนาที่ไม่คุกคามสิทธิมนุษยชน หรืออำนาจทางวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ กล่าวคือคนในพื้นที่ต้องมีสิทธิในการเลือกวัฒนธรรม คือรูปแบบในการดำรงชีวิตของตนเอง ตั้งแต่การเลือกระบบการผลิต(กิจกรรมการผลิต) เลือกวิถีการผลิต เลือกพลังการผลิต เลือกที่จะมีความเป็นตัวของตัวเองตามวิถี “ชาวบ้าน” คือไปมาหาสู่กัน แลกเปลี่ยนภูมิปัญญากัน (เช่นแลกเปลี่ยนพันธุ์ข้าวที่ปลูก) โดยไม่คิด “ค่าเสียโอกาส” และที่สำคัญคือเลือกที่จะมีอากาศบริสุทธิ์หายใจ

การเกิดขึ้นของท่าเรือจะนะจึงขัดแย้งกับการกำหนดอนาคตของพื้นที่และถือเป็นการล่วงละเมิดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 66 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อไปคือว่า การสร้างท่าเรือนั้นกระทำเพื่อใคร

หากวิเคราะห์เศรษฐกิจจังหวัดสงขลาจะพบว่าจากรายงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพบว่าโครงสร้างเศรษฐกิจของจังหวัดสงขลา ขึ้นกับการผลิตในสาขาอุตสาหกรรม สาขาเกษตรกรรม และสาขาประมง เป็นสำคัญ ทั้งนี้ปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ ยางพารา อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยางพาราและผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารทะเล

เศรษฐกิจจังหวัดสงขลาปี 2555 บ่งชี้ว่า ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมขยายตัว และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง เป็นการขยายตัวตามการผลผลิตภาคเกษตร โดยเฉพาะด้านอุปทานทั้งการผลิตภาคการเกษตร และภาคนอกเกษตร รวมทั้งด้านอุปสงค์ขยายตัวเมื่อเทียบกับปีที่แล้วจากการลงทุนภาคเอกชน แม้ว่าการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคชะลอตัว จากรายได้ของเกษตรกรที่ลดลงตามราคาสินค้าเกษตร

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลดังกล่าวพบว่าคนสงขลาโดยรวมสร้างเศรษฐกิจด้วยการพึ่งพาฐานทรัพยากรเป็นสำคัญแม้ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมก็ยังเป็นการแปรรูปที่ต่อเนื่องจากวัตถุดิบในพื้นที่ การสร้างท่าเรือน้ำลึกจึงไม่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาของคนในพื้นที่ได้ เพราะสิ่งที่ขาดแคลนไม่ใช่ระบบการขนส่งแต่คือการทุ่มเทพัฒนาระบบการผลิตและการตลาด หากรัฐจริงใจกับคนสงขลาต้องโยกงบประมาณหลายหมื่นล้านจากการสร้างท่าเรือมาสู่การพัฒนาด้านการเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร การท่องเที่ยว ซึ่งเชื่อว่างบประมาณหมื่นล้านจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของคนนับล้านคน

หากการสร้างท่าเรือไม่ได้เป็นประโยชน์โดยตรงต่อคนสงขลาคำถามคือการพัฒนาท่าเรือนั้นกระทำเพื่อใคร เป็นที่ชัดเจนว่าการสร้างท่าเรือเพื่อรองรับระบบขนส่งของธุรกิจพลังงานและปิโตรเคมี และใครเป็นผู้รับประโยชน์ หากพิจารณาข้อมูลจะพบว่า ธุรกิจพลังงานและธุรกิจปิโตรเคมีเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน สิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดในระบบการผูกขาดของประเทศนี้คือระบบพลังงาน ประเทศเราใช้น้ำมันแพงที่สุดในอาเซียน ได้ค่าสัมปทานต่ำที่สุดในอาเซียน ในขณะที่ตัวเลขการผลิตแก๊สธรรมชาติเป็นอันดับที่๒๔ของโลก น้ำมันอันดับที่๓๓ของโลก แต่คนไทยกับใช้น้ำมันแพงกว่าคนอเมริกาลิตรละ๑๐บาท หากพิจารณาระบบสัมปทานจะพบว่าผู้ที่ได้รับประโยชน์คือบริษัทเอกชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ การสร้างท่าเรือที่จะนะถือว่ารัฐทุ่มเทงบประมาณซึ่งเป็นภาษีของประชาชนเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการกอบโกยพลังงานของบริษัทต่างชาติ เพราะเป็นที่รับรู้กันว่ากลุ่มทุนใหญ่ของนักการเมืองที่กุมอำนาจรัฐในปัจจุบันได้ย้ายไปสู่การลงทุนด้านพลังงาน ซึ่งมวลมหาประชาชนเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปพลังงานอยู่ในขณะนี้...การสร้างท่าเรือสงขลาจึงเป็นการสร้างเพื่อประโยชน์ของกลุ่มทุนดังกล่าวแต่คนสงขลาเป็นผู้รับมลพิษ ซึ่งจากการเปิดเผยของนายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่าจังหวัดสงขลา เป็นจังหวัดที่มีวิกฤตปัญหาการจัดการขยะมากที่สุดในประเทศไทย มีขยะสะสม 2.5 ล้านตัน

หากเมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งระบบการผลิตและตลาดในสินค้าการเกษตรและอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องของคนสงขลาถูกพัฒนาถึงที่สุดแล้วและยังขาดปัญหาด้านการขนส่ง จึงค่อยมาพิจารณาว่าจะต้องสร้างท่าเรือเพื่อการขนส่งสินค้าให้กับคนสงขลาหรือไม่...หากกรมเจ้าท่าอ้างว่านี่เป็นเป็นการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับคนสงขลา นี่เป็นคำอ้างที่ไร้เดียงสาของคนที่ไม่เข้าใจระบบเศรษฐกิจของภาคใต้ หากกรมเจ้าท่าอ้างว่านี่เป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบอุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเคมี ขอให้เกิดการปฏิรูปพลังงานก่อน แล้วค่อยมาพิจารณาโครงสร้างพื้นฐาน อย่าเอาภาษีของประชาชนนับหมื่นล้านมาผลาญเล่นและหาช่องในการทุจริตคอร์รัปชั่น

ระบบการทำEIAปัจจุบันเป็นการผูกขาดที่เอื้อต่อกลุ่มทุน

ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ พ.ศ.2552 เพื่อให้การเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งหน่วยงานเจ้าของโครงการและบริษัทที่ปรึกษาต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดไม่ใช่คิดค้นหาช่องว่างของกฎหมายแล้วดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของตนเพื่อการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินให้จงได้หากเจ้าของโครงการหรือบริษัทที่ปรึกษามีเจตนาหลีกเลี่ยงกฎหมายถือว่าเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญซึ่งหมายถึงละเมิดต่อสิทธิของชุมชนในการกำหนดอนาคตตนเอง

การเกิดขึ้นของท่าเรือหมายรวมถึง กิจกรรมการที่ต่อเนื่องที่จะเกิดตามมาจากการสร้างท่าเรือทั้งหมด ซึ่งกิจกรรมหลักทั้งหมดถือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของกิจการสร้างท่าเรือน้ำลึกเพราะฉะนั้นเมื่อจะประเมินผลกระทบจึงต้องดำเนินการให้ประชาชนรับทราบกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดก่อน เพราะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศและชีวิตมนุษย์นั้น ไม่ได้แยกตามกิจกรรมโครงการแต่ทุกกิจกรรมล้วนส่งผลกระทบทั้งนั้นและเมื่อรวมกันทุกกิจกรรมยิ่งส่งผลเป็นทวีคูณ การไม่ทำให้ประชาชนรับรู้ภาพรวมทั้งหมดของโครงการถือเป็นเจตนาหลบเลี่ยงการให้ข้อมูลอันสมบูรณ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ระบบอีไอเอปัจจุบัน ยังเป็นระบบที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนหรือเจ้าของโครงการมากกว่าเป็นกระบวนรักษาสิ่งแวดล้อม หลายภาคส่วนจึงเรียกร้องให้มีการประเมินเชิงยุทธศาสตร์ก่อนว่า ถ้าจะพัฒนาในพื้นที่นั้นรูปแบบการพัฒนาใดที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและคนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์ เมื่อกิจการใดตรงตามยุทธศาสตร์ค่อยมาทำการประเมินผลกระทบเพื่อการก่อสร้างโครงการ แต่ระบบในปัจจุบันใครมีอำนาจจะชี้ว่าจะทำกิจกรรมใดตรงไหนก็ได้ ซึ่งกระบวนการอีไอเอในประเทศนี้เป็นเครื่องมือของการก่อสร้างโครงการ เพราะตั้งแต่มีระบบอีไอเอมาหลายพันโครงการ ยังไม่มีโครงการไหนที่ คชก. มีมติให้รายงานอีไอเอฉบับนั้นไม่ผ่านการพิจารณา และโครงการที่ผ่านอีไอเอมาแล้วได้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

เจ้าของโครงการและบริษัทที่ปรึกษาได้ละเมิดหรือปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่

กระบวนการรับฟังความเห็นเพื่อการกำหนดขอบเขตและแนวทางประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค.1) มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดขอบเขตและประเด็นสำคัญในการประเมินผลกระทบให้ถูกต้องครอบคลุมและชัดเจน ซึ่งมีขั้นตอนสำคัญที่กำหนดไว้ในกฎหมายคือ การกำหนดขอบเขตการประเมินผลกระทบโดยสาธารณะ (ค.1) ต้องแจ้งล่วงหน้า 30 วัน และเปิดเผยเอกสารก่อน 15 วัน ข้อเท็จจริงที่ต้องพิจารณาคือหน่วยงานเจ้าของโครงการ และบริษัทที่ปรึกษา ได้ดำเนินการตามกฎหมายหรือไม่

ประเด็นที่จะต้องพิจารณาคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียครอบคลุมถึงระดับใด สำหรับการพิจารณาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้นกฎหมายไม่ได้จำกัดเพียง 5 กิโลเมตร การพิจารณาถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพเพื่อให้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 หมวดสิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพมีสาระสำคัญว่า

การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะระบุว่าให้หน่วยงานเจ้าของโครงการหรือกิจกรรม หรือหน่วยงานที่ให้ใบอนุญาต จัดเวทีกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยสาธารณะ (Public Scoping) เพื่อให้ประชาชน ผู้มีส่วนได้เสีย และภาคส่วนต่าง ๆ ได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอประเด็นห่วงกังวลและแนวทางในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ และเพื่อให้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพเป็นไปอย่างครบถ้วนรอบด้านให้มากที่สุดการพิสูจน์ประเด็นนี้เพื่อทำความกระจ่างว่าผู้ใดสามารถเข้าร่วม ค.1 ได้บ้าง และยังเป็นข้อพิจารณาว่า เจ้าของโครงการได้ปฏิบัติครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างครอบถ้วนหรือไม่

ประเด็นที่ต้องพิจารณามีอีกว่า หน่วยงานเจ้าของโครงการและบริษัทที่ปรึกษาได้แจ้งให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวได้รับรู้ครอบคลุมทั่วถึงหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีประชาชนจำนวนมากที่ยังไม่รับรู้การจัดทำ ค.1 มีเพียงกลุ่มผู้นำบางคนเท่านั้นที่ได้รับจดหมายเชิญจากเจ้าของโครงการและบริษัทที่ปรึกษาแม้บริษัทจะกล่าวอ้างว่าได้จัดทำการสื่อสารให้ประชาชนทราบแล้ว แต่เจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้คือการทำให้ประชาชนรับรู้ไม่ใช่กำหนดที่วิธีการสื่อสาร หากบริษัทหลีกเลี่ยงที่จะดำเนินการ ส่อเจตนาว่าไม่ได้เคารพกฎหมาย จากข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์พบว่าประชาชนจำนวนมากไม่ได้รับรู้มาก่อนว่าจะมีการจัดทำการรับฟังความเห็น ค.1 และหากพิจารณากลุ่มบุคคลตามข้อ 4.2 ยังตอกย้ำว่า การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนเป็นไปอย่างจำกัดอย่างยิ่ง ซึ่งถือว่าเป็นเจตนาการละเว้นการปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย

มีประเด็นที่ต้องพิสูจน์ต่อไปว่า ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับข้อมูลรายละเอียดโครงการก่อน 15 วันหรือไม่ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงนี้ สามารถย้อนไปพิจารณาข้อเท็จจริงตามข้อ 4.1 ประเด็นการครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและข้อ 2.2 การแจ้งล่วงหน้าให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับทราบก่อน 30 วัน จากข้อเท็จจริงทั้งสองประการพบว่าเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติในข้อ 4.3 คือ เจ้าของโครงการและบริษัทที่ปรึกษาไม่ได้ให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลรายละเอียดของโครงการก่อนการจัดทำเวที ค.1 ล่วงหน้า 15 วัน หากพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดพบว่า การปฏิบัติของเจ้าของโครงการและบริษัทที่ปรึกษาไม่ได้ปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงมีผลให้สภาพการจัดทำกระบวนการรับฟังความเห็นการกำหนดของเขตผลกระทบ(ค.1) มีสภาพเป็นโมฆะตั้งแต่ต้น

จรรยาบรรณของผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องประกอบวิชาชีพด้านการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วยความเป็นกลาง ซื่อสัตย์ สุจริต ต้องไม่บิดเบือนข้อมูลที่จะนําเสนอหรือแสดงผลการวิเคราะห์ที่ไม่ถูกต้องเพียงพอ หรือเพื่อหวังให้งานบรรลุเป้าหมาย รวมทั้งไม่ใช้อํานาจหน้าที่ไม่ชอบธรรมหรือใช้อิทธิพลหรือให้ผลประโยชน์แก่บุคคลใด เพื่อให้ตนเองได้รับหรือผู้อื่นได้รับ ตลอดจนเพื่อให้ผลงานของตนได้รับความเห็นชอบ จากข้อเท็จจริงปรากฏว่าบริษัทที่ปรึกษาได้ทำหน้าที่ชี้แจงยืนยันว่าการก่อสร้างทุกกระบวนการไม่มีปัญหา แทนที่จะทำหน้าที่เพียงให้ข้อมูลโดยไม่ทำการสรุปยืนยันลงไปเพราะขั้นการทำ ค.1 คือการรับฟังข้อห่วงกังวลเท่านั้น จากพฤติกรรมดังกล่าวส่อแสดงให้เห็นถึงการละเมิดจรรยาบรรณของผู้ได้รับใบอนุญาตและส่อเจตนาอันไม่สุจริต ซึ่งต้องมีผลต่อการพักหรือเพิกถอนใบอนุญาต

ด้วยพฤติการณ์ทั้งหมดของกรมเจ้าท่าและบริษัทที่ปรึกษา ถือว่ามีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการร่วมตัดสินใจการพัฒนาพื้นที่ทุกกระบวนการตั้งแต่ตอนต้นจนกระทั่งถึงกระบวนการ ค.1 ซึ่งเป็นสิทธิอันรับรองไว้ในกฎหมายสูงสุดของประเทศ อันเป็นการรับรองสิทธิของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิในอนาคตซึ่งอาจมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากความพยายามของเจ้าของโครงการ

ขอยืนยันว่า กระบวนการจัดทำ EHIA ของประเทศไทยทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้น จึงไม่อาจยอมรับกระบวนการ EHIA ที่เกิดขึ้น และจะไม่ยอมรับกระบวนการจัดทำ EHIA จะที่เกิดขึ้นในพื้นที่นับจากนี้ จนกว่าจะมีการปฏิรูปการจัดทำ EHIAที่เป็นธรรม

ขอบคุณภาพประกอบจาก บรรจง นะแส , วันชัย พุทธทอง และชาวบ้านจะนะ จ.สงขลา

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: