รายชื่อยาขาดแคลนในปัจจุบัน

27 ต.ค. 2557 | อ่านแล้ว 3232 ครั้ง


การขาดแคลนยาจำเป็นเป็นปัญหาที่มีมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ในปี พ.ศ. 2537 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหา และได้นิยามยาจำเป็นที่มีปัญหาการขาดแคลนว่า “ยากำพร้า” มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดรูปแบบและแนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งต่อมามีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการยากำพร้าและออกประกาศรายชื่อยากำพร้า

ในปี พ.ศ. 2546 ได้มีการทบทวนนิยาม 'ยากำพร้าง' ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นกับหลักสากลและคุณลักษณะเฉพาะของปัญหาในประเทศไทย ซึ่งได้กำหนดนิยามยากำพร้าไว้คือ

                “ยาที่มีความจำเป็นต้องใช้เพื่อวินิจฉัย บรรเทา บำบัด ป้องกัน หรือรักษาโรคที่พบได้น้อย หรือโรคที่เป็นอันตรายร้ายแรง หรือโรคที่ก่อให้เกิดความทุพพลภาพอย่างต่อเนื่อง หรือยาที่มีอัตราการใช้ต่ำ โดยไม่มียาอื่นมาใช้ทดแทนได้ และมีปัญหาการขาดแคลน”

เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างมีระบบ จึงได้มีการกำหนดมาตรการหลักในการแก้ปัญหา ได้แก่ การทบทวนบัญชีรายการยากำพร้าให้สะท้อนถึงปัญหาและวิทยาการในปัจจุบัน การปรับปรุงหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนตำรับยากำพร้า และการกำหนดช่องทางด่วนในการขึ้นทะเบียนตำรับยากำพร้าควบคู่ไปกับการประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนและองค์การเภสัชกรรมในการที่จะร่วมแรงร่วมใจกันแก้ไขปัญหา

ในปี พ.ศ. 2548 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้สำรวจสถานการณ์ยากำพร้าในประเทศไทย โดยส่งแบบสอบถามไปยังสถานพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ ราชวิทยาลัย/สมาคม/ชมรมทางการแพทย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคณะอนุกรรมการยากำพร้าได้นำรายการยาที่สำรวจได้ มาพิจารณาจัดทำบัญชีรายการยากำพร้า ตามนิยามและหลักเกณฑ์ที่กำหนด และได้ออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง บัญชีรายการยากำพร้า พ.ศ. 2549 ซึ่งต่อมาได้มีการทบทวนบัญชีรายการยากำพร้าเป็นระยะๆเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

ในส่วนของการดำเนินการจัดหายา หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องได้ประสานความร่วมมือเพื่อให้มียาใช้ในประเทศ ดังนี้

1. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เช่น

    1) ขอความร่วมมือไปยังบริษัทยาที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ซึ่งตั้งอยู่ในไทยให้ผลิต/นำเข้ายากำพร้า 

    2) จัดระบบการขึ้นทะเบียนตำรับยากำพร้าในช่องทางด่วนพิเศษ

    3) ลดข้อกำหนดในการพิจารณายากำพร้าที่เป็นมาตรฐานการรักษาซึ่งมีประสบการณ์การใช้และขึ้นทะเบียนตำรับยาในต่างประเทศเป็นเวลานาน และเชื่อได้ว่ามีประสิทธิภาพและปลอดภัย ให้ยกเว้นไม่ต้องขึ้นทะเบียนแบบยาใหม่ โดยใช้เกณฑ์การพิจารณาแบบยาสามัญทั่วไปแทน ทำให้ยากำพร้ากลุ่มหนึ่งที่เคยประสบปัญหาไม่สามารถจัดหา preclinical study หรือ clinical study ได้ครบถ้วนสามารถขึ้นทะเบียนตำรับยาได้ สำหรับยาที่ไม่เข้าข่ายก็มีการจัดช่องทางพิเศษ ให้พิจารณายากำพร้าก่อนยาอื่นที่ขึ้นทะเบียนตำรับยาตามปกติ

2. องค์การเภสัชกรรม สภากาชาดไทย และโรงงานเภสัชกรรมทหาร ให้ความอนุเคราะห์ในการผลิต/นำเข้ายากำพร้า 

3. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อยากำพร้าที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศและไม่สามารถจัดการแก้ปัญหาได้ด้วยวิธีการจัดการอื่น เพื่อใช้กับผู้ป่วยของทุกสิทธิหลักประกันสุขภาพของรัฐ โดยมีการวางแผนการจัดหา สำรองและกระจายยา ร่วมกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา องค์การเภสัชกรรม ศูนย์พิษวิทยา สถานเสาวภาสภากาชาดไทย โรงงานเภสัชกรรมทหาร กรมควบคุมโรค เป็นต้น

นอกเหนือจากยาในบัญชียากำพร้าแล้ว ยังมียาจำเป็นอื่นๆที่ประสบปัญหาการขาดแคลนยาเช่นกัน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา องค์การเภสัชกรรม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นต้น ได้ประสานความร่วมมือในการแก้ปัญหาร่วมกันมาโดยตลอด

รายชื่อยาขาดแคลนในปัจจุบัน

ที่มา

เว็บไซต์ยากำพร้าและยาขาดแคลนอย่างบูรณาการ

ขอบคุณรูปภาพจาก http://host103.hunsa.com

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: