บทวิเคราะห์ : ปฏิรูปหรือปฎิกิริยา

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี 27 ม.ค. 2557 | อ่านแล้ว 3506 ครั้ง

กลุ่มปฎิกิริยาหรือปฏิการณ์ (Reactionary) คือ กลุ่มคนที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความก้าวหน้าและมุ่งหวังพาสังคมกลับไปหาคุณค่าเก่า บรรดาผู้สื่อข่าวและนักสังเกตการณ์ต่างประเทศทั้งหลาย มักเห็นว่ากลุ่มปฏิกิริยาในประเทศไทย คือพวกที่อยู่ในชนชั้นสูง แวดล้อมไปด้วยราชนิกูลและตระกูลขุนนางเก่าที่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ คนพวกนี้ส่วนใหญ่อยู่ในเมืองหลวง ผลิตน้อย ใช้จ่ายมาก และมีอำนาจควบคุมโภคทรัพย์ของความมั่งคั่งของชาติ เอาไว้ในกลุ่มของตัวเองอย่างล้นเหลือ การเลือกตั้งที่ทำให้พวกหน้าใหม่เข้ามาสู่วงการ และยื้อแย่งเอาทรัพยากรไปให้พวกชั้นล่าง ๆ เป็นสิ่งที่สกปรกและคดโกงอย่างที่สุด

การที่เหล่าปัญญาชนและสื่อมวลชน ที่สนับสนุนผู้ประท้วงหยิบยกเอาความชั่วช้าสามานย์บรรดามีของทักษิณ ชินวัตร และคณะ ขึ้นมาโต้แย้งนั้น ไม่ช่วยเปลี่ยนแปลงความเข้าใจของต่างชาติเกี่ยวกับสถานการณ์เมืองไทยเลยแม้แต่น้อย บรรดาผู้ประท้วงที่มีฐานะดี เกิด เติบโต และได้รับการศึกษาในประเทศตะวันตก ได้ใช้ฐานะชื่อเสียง วงศ์ตระกูล และ ทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษของพวกเขาเขียนจดหมายและบทความ ไปแสดงความคิดเห็นโต้แย้งในสื่อมวลชนเหล่านั้นบ้าง เขียนถึงฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ บ้าง นักการเมืองสหรัฐฯ บ้าง แต่ก็ไม่มีผลอะไรเลย

รายงานขององค์กรระหว่างประเทศและของสื่อต่างประเทศ ก็ยังคงมองการเมืองไทย ว่าเป็นการต่อสู้กับระหว่างพวกปฎิกิริยา และกลุ่มการเมืองของทักษิณ ที่มีชนชั้นต่ำเป็นผู้สนับสนุนหลักอยู่ดี มีบ้างที่มองว่าเป็นการต่อสู้กับของชนชั้นนำสองกลุ่มระหว่างกลุ่มเก่า และกลุ่มใหม่ที่มีขนบธรรมเนียมประเพณีทางการเมืองแตกต่างกัน เข้าห้ำหั่นกัน โดยที่มีมวลชนต่างหมู่ต่างเหล่าเป็นกองหน้า แต่ก็ยังหนีไม่พ้นแนวการวิเคราะห์ชนชั้นนำกลุ่มเก่าและกลุ่มใหม่อยู่ดี ผู้นำฝ่ายค้านและผู้นำการประท้วงแสดงการท้อแท้ที่จะโต้ตอบด้วยการบอกว่า พวกสื่อมวลชนเหล่านี้ถูกล็อบบี้โดยบริษัทที่ทักษิณจ้างเอาไว้ทั้งหมด

ผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งพยายามจะปฎิเสธว่า ตัวเองไม่ใช่ชั้นสูงหรือแตกต่างจากคนจน ๆ ทั่วไปเท่าไหร่ด้วยการแสดงออกถึงความต่ำช้าด้วยภาษา และการกระทำบางประการ ที่เขาคิดว่าเหมือนชาวบ้าน แต่นั่นเป็นเพียงการแสดงธาตุแท้ของพวกเขาเอง มากกว่าจะทำให้คิดเป็นอย่างอื่นได้

พวกเขาไม่สามารถปิดบังฐานะของตัวเองได้ เพราะวัฒนธรรมทางสังคมของพวกเขาจริง ๆ แล้วต่างชอบแสดงการอวดร่ำอวดรวย ด้วยการบริจาคทรัพย์สินเงินทองเป็นจำนวนมาก ให้กับผู้นำการประท้วง ทั้งยังอวดตัว ว่าสูงส่งกว่าใครทั้งหมด ด้วยการยกวุฒิการศึกษามาอ้าง พูดจาด้วยภาษาที่คนไทยทั่วไปไม่พูดกัน บางคนถึงกับอ้างว่า พวกเขามีสิทธิทางการเมืองมากกว่าคนส่วนอื่นของประเทศที่ด้อยการศึกษา และมีฐานะยากจนกว่า นั่นก็ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น นอกเสียจากถูกพวกนักข่าวต่างชาติแสดงความสมเพช และถากถางในข้อเขียนของพวกเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ไม่มีทางเลยว่า บรรดาสื่อมวลชนและนักสังเกตการณ์ชาวต่างชาติ จะเห็นพวกเขาเป็นอื่นนอกจากเป็นชนชั้นสูงของสังคมไทย ที่ออกมาแสดงการโหยหวน ถึงสิ่งที่พวกเขาจะต้องเสียไปให้กับคนอื่น ๆ นอกเมืองหลวง ผ่านระบบการเมืองแบบเลือกตั้งในสมัยใหม่

ยังไม่ปรากฎว่า มีรายงานขององค์กรระหว่างประเทศและรายงานของสื่อมวลชนต่างประเทศ ให้ความสนใจกับข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ประท้วงเลยแม้แต่น้อย ข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องของรายงานจากต่างประเทศ รวมถึงบทบรรณาธิการของสื่อต่างประเทศนั้น ล้วนแล้วแต่เรียกร้องให้คู่ขัดแย้งหาทางประนีประนอมกัน เจรจาหาทางออกโดยสันติ ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ รักษาไว้ซึ่งความเป็นประชาธิปไตย และประการสำคัญที่สุดระมัดระวังอย่าไปสร้างความชอบธรรมให้กับการก่อรัฐประหารขึ้นมาอีก เพราะนั่นเป็นจุดจบของอนาคตของประเทศไทยเลยทีเดียว

วาทะที่ว่า มวลหมู่มหาประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกชนชั้นสาขาอาชีพ ยากดีมีจน จำนวนหลายล้านคนออกมาเดินขบวน เพื่อต้านรัฐบาลทรราชย์ที่โกงบ้านกินเมืองนั้น ดังกึกก้องอยู่ก็แต่เฉพาะในหมู่คนที่ชื่นชมการประท้วงด้วยกันเองเท่านั้น อาจจะมีบ้างชาวต่างประเทศ ที่ชื่นชมยินดีหรือแม้แต่เข้าร่วม ชาวต่างประเทศเหล่านั้นส่วนใหญ่เห็นว่า นี่เป็นงานเทศกาลรื่นเริง มากกว่าการประท้วงทางการเมือง เพราะผู้ประท้วงชาวไทยส่วนใหญ่ทำให้มันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ แต่บรรดาชาวต่างประเทศที่มีการศึกษาเรื่องราวของประเทศไทยมาบ้าง และพยายามจะมองปัญหาของประเทศนี้ให้ลึกซึ้งลงไปแล้ว ไม่มีใครชื่นชมยินดีกับการขัดขวางการเลือกตั้ง หรือเห็นดีกับข้อเรียกร้องให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งยอมโอนอำนาจให้กับกลุ่มคนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ที่เรียกตัวเองว่า สภาประชาชน เพื่อมาสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ตามใจชอบได้เลย

มีผู้สนับสนุนการประท้วงบางคน พอมีความรู้ด้านต่างประเทศอยู่บ้าง พยายามชี้นิ้วไปที่ยูเครน บังคลาเทศ และแม้แต่กัมพูชา ซึ่งมีผู้ออกประท้วงรัฐบาลเหมือนกัน และดูเหมือนว่าประเทศตะวันตก จะชื่มชมและให้การสนับสนุนอยู่ในที ผู้ประท้วงในประเทศไทย ก็อยากจะได้รับความเห็นอกเห็นใจอย่างนั้นบ้างเหมือนกัน แต่โชคไม่เข้าข้างนัก เพราะพวกเขามองเหตุการณ์ในต่างประเทศเหล่านั้นอย่างผิวเผินเกินไป การประท้วงส่วนใหญ่ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ล้วนเรียกร้องให้ประเทศของตัวเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ไม่ใช่น้อยลงอย่างในประเทศไทย ในยูเครนนั้นผู้ประท้วงเรียกร้องอย่างรุนแรงให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ไม่ใช่ให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อนอย่างในประเทศไทย

ในบังคลาเทศนั้น ปรากฎว่ามีการบอยคอตการเลือกตั้งเหมือนกัน แต่ใจความสำคัญ คือการจัดการเลือกตั้งไม่ยุติธรรม รัฐบาลที่อยู่ในอำนาจแก้ไขกฎเกณฑ์ เพื่อให้ตัวเองได้เปรียบ แต่ในประเทศไทยนั้น กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งนั้น ไม่เคยมีใครบ่นเลยว่า มันไม่เป็นธรรมอย่างไร ฝ่ายค้านที่นำการประท้วงอยู่ในเวลานี้คือพวกที่สนับสนุนกฎเกณฑ์รวมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างแข็งขันมาก่อน รวมทั้งในเวลาที่พวกเขาอยู่ในอำนาจ ก็ได้แก้ไขบางประการให้สอดคล้องกับความต้องการของฝ่ายตนไปแล้วด้วย แต่ก็ไม่ทำให้พวกเขาชนะการเลือกตั้งได้เลยสักครั้ง จริง ๆ แล้วพวกเขาสูญสิ้นศรัทธากับการเลือกตั้ง มากกว่าจะเห็นว่ากฎเกณฑ์ในการเลือกตั้งไม่เป็นธรรม

การเรียกร้องการปฎิรูปเพื่อเปลี่ยนแปลงกฎนั้น ๆ อีกในเวลานี้ ก็ดูเป็นเรื่องชวนขันอยู่ไม่น้อย นี่ยังไม่นับว่าพวกเขาได้ใช้งบประมาณของชาติไปนับเป็นพันล้านบาทเมื่อกว่า 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อทำแนวทางการปฎิรูปประเทศ แต่โดยที่แนวทางนั้นไม่มีผลในทางปฎิบัติอะไรเลย มาถึงวันนี้ไม่มีนักสังเกตการณ์ทางการเมืองต่างชาติคนไหนเชื่อเลยว่า ผู้นำการประท้วงครั้งนี้ ต้องการให้มีการปฎิรูปประเทศจริง ๆ ดูเหมือนมันจะเป็นข้ออ้าง เพื่อกลบเกลื่อนการแสวงหาอำนาจโดยมิชอบของพวกเขามากกว่า

ป่วยการและเสียเวลาจะไปเขียนบทความเป็นภาษาอังกฤษ ส่งไปขายขี้เท่อตัวเองในสื่อต่างประเทศหรือส่งไปให้นักการเมืองในประเทศตะวันตก ให้หันมาสนับสนุนการประท้วงในประเทศไทย นักประท้วง (ไม่ว่าจะอยู่ต่ำอยู่สูงเพียงใด) น่าจะสนใจปรับปรุงข้อเรียกร้องและแนวของตัวเอง ให้สอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตยจะดีกว่า

นักการเมืองในกลุ่มทักษิณคอร์รัปชั่นนั้น เป็นที่รับรู้กันทั่วโลกแล้ว ไม่มีใครเห็นว่าทักษิณเป็นเทพแห่งประชาธิปไตยหรอก แต่สากลโลกนั้นใช้หลักประชาธิปไตย ความโปร่งใส และการบังคับใช้กฎหมายที่เคร่งครัดมีมาตรฐาน ในการจัดการกับปัญหาคอร์รัปชั่น ไม่ใช่การประท้วงตามท้องถนนอย่างเดียว

การเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมืองที่ชอบธรรมที่สุด ในระบอบประชาธิปไตย ทำโดยผ่านการเลือกตั้งเท่านั้น วิธีอื่นไม่ชอบธรรม ไม่ได้รับการยอมรับโดยกว้างขวางและจะสร้างปัญหาใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในที่สุด

 

ขอบคุณภาพแรกจาก http://www.ispacethailand.com/

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: