ทหารสั่งตั้งกก.4ชุด แก้ปัญหาเหมืองทอง จี้ถอนประทานบัตร

27 มิ.ย. 2557


เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน สถานการณ์เหมืองทองเมืองเลย มีการนัดประชุมระหว่างนายทหารที่รับผิดชอบในพื้นที่ กับตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด โดย พ.อ.สวราชย์ แสงผล รองผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 8 ได้รายงานสถานการณ์ความคืบหน้าการดำเนินงานของทหารใน 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทางทหารได้มีการประสานงานกับส่วนราชการในหลายด้าน

ที่ผ่านมามีหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากส่วนกลางที่มาเก็บข้อมูลผลกระทบรอบบริเวณเหมืองแร่ทองคำแล้ว เช่น กรมควบคุมมลพิษ ได้ลงพื้นที่มาเก็บตัวอย่างน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน ตะกอนดิน และทหารได้ประสานงานให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ 4 ชุด เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนและผลกระทบเหมืองแร่ ได้แก่ แต่งตั้ง คณะกรรมการแก้ไขปัญหาเหมืองแร่ทองคำเลย โดยมี พล.ต.วรทัต สุพัฒนานนท์ ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเลย เป็นประธาน, แต่งตั้ง คณะกรรมการน้ำ โดย ผู้ว่าราชการจังหวัด, อุตสาหกรรมจังหวัดเลย, สิ่งแวดล้อมภาค, กรมควบคุมมลพิษ เป็นคณะทำงานแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง, แต่งตั้ง คณะกรรมการฟื้นฟูสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม โดย รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธาน, แต่งตั้ง คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยจะมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและทหารเพื่อให้เกิดการเจรจาระหว่าง ประชาชน กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน กับ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด

พ.อ.สวราชย์กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาจะดำเนินงานบนพื้นฐานความเป็นจริงที่ทำได้ โดยจะแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ฟื้นฟูการปนเปื้อนสารพิษ เช่น สารหนู ในลำห้วยเหล็ก โดยวิธีปลูกต้นบอน, ต้นกล้วย เพื่อดูดซับโลหะหนัก ระยะที่ 2 แก้ไขปัญหาสารพิษตกค้าง หรือโลหะหนักในเลือดประชาชน โดยอาจจะตรวจเลือดประชาชนรอบเหมืองอีกครั้ง แล้วหาวิธีป้องกัน, แนะนำ โดยใช้กรณีศึกษาการทำเหมืองที่ อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ที่มีสารหนูตกค้างทำให้ประชาชนป่วยเป็น ไข้ดำ เป็นแนวทางในการแก้ไข ส่วนระยะที่ 3 การแก้ไขปัญหาในระดับนโยบาย ในการประเมินความคุ้มค่าของฐานทรัพยากรธรรมชาติและค่าภาคหลวงแร่กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน จะดำเนินการในระยะต่อไป

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ได้เชิญนายทหารที่มาประจำการในหมู่บ้านไปดูผลกระทบจากการทำเหมืองทองของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด บน ภูซำป่าบอน ห้วยเหล็กที่ปนเปื้อนสารพิษ เขื่อนเก็บกากแร่บนภูทับฟ้าที่สร้างทับอยู่บนภูเขาซึ่งเป็นแหล่งน้ำซับซึม และที่ทิ้งมูลทรายของเหมืองทองที่กลายเป็นภูเขาหิน เพื่อชี้ให้เห็นถึงผลกระทบเพียงบางส่วนจากสภาพข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ พร้อมทั้งได้จัดทำบันทึกลำดับเหตุการณ์เพื่อความเข้าใจสถานการณ์ และยื่นแก่ทหาร เรื่องข้อเท็จจริงกรณีเหมืองแร่ทองคำ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ตั้งแต่ปี 2534

และยื่นข้อเสนอ 5 ข้อคือ

1.เพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำของบริษัทฯ ทั้ง ๖ แปลง บนภูทับฟ้า-ภูซำป่าบอน

2.เพิกถอนใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประกอบโลหะกรรมทั้งหมด ตั้งแต่กระบวนการแต่งแร่ แยกแร่ ลอยแร่ ถลุงแร่ ฯลฯ จนการผลิตในขั้นตอนสุดท้าย

3.เคลื่อนย้ายเครื่องจักร อุปกรณ์ สำนักงาน และอื่นๆ ทั้งหมด ออกไปจากเขตเหมืองแร่หรือเขตประทานบัตร

4.ขนสินแร่ทั้งที่ยังไม่ได้แต่ง และแต่งแล้วออกจากเขตเหมืองแร่หรือเขตประทานบัตรทั้งหมด

5.ปิดเหมืองเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศ สุขภาวะ อนามัยและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

ด้านนายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ ได้ทักท้วงการตั้งคณะกรรมการฯ โดยไม่ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้ง 6 หมู่บ้าน และกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด การแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นก็จะแก้ไปโดยไม่เข้าใจสถานการณ์และบริบทของพื้นที่ ไม่แตกต่างจากการแก้ไขปัญหาที่แล้วมาจากภาครัฐ ที่ดำเนินการไปเพื่อให้เหมืองสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ขยายพื้นที่ประทานบัตรต่อไปได้ ไม่ว่าจะมีข้อบกพร่องหรือได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชาวบ้านไว้

สุดท้ายให้เพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำของบริษัทฯ ทั้ง 6 แปลง บนภูทับฟ้า-ภูซำป่าบอน ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบโลหะกรรม และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประกอบโลหะกรรมทั้งหมด ตั้งแต่กระบวนการแต่งแร่ แยกแร่ ลอยแร่ ถลุงแร่ ฯลฯ จนการผลิตในขั้นตอนสุดท้าย และให้ปิดเหมืองเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศ สุขภาวะ อนามัย และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เป็นจุดยืนเดิมที่ประชาชน กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด เรียกร้องมาตลอดในระยะเวลา 7 ปี

ส่วนการที่บริษัท ต้องการจะขนสินแร่ทั้งที่ยังไม่ได้แต่ง และแต่งแล้วทั้งหมด และเคลื่อนย้ายเครื่องจักร อุปกรณ์ สำนักงาน และอื่นๆ ออกไปจากเขตเหมืองแร่หรือเขตประทานบัตร จะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น ควรเป็นสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องที่จะพิจารณา ในเมื่อการขนแร่ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ยังเป็นคดีความที่ต้องมีการสืบสวนสอบสวนเพื่อนำผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาลงโทษ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: