ศาลทหารเป็นอย่างไร?

26 พ.ค. 2557 | อ่านแล้ว 3440 ครั้ง


ศาลทหารแบ่งได้เป็น 3 ประเภทคือ 1.ศาลทหารในเวลาปกติ 2.ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ 3.ศาลอาญาศึก

1.ศาลทหารในเวลาปกติ

คือ ศาลทหารที่ดําเนินการอยู่ในช่วงเวลาที่บ้านเมืองสงบสุขไม่มีศึกสงคราม โดยศาลทหารในเวลาปกติจะมีการพิจารณาพิพากษาคดีที่สามารถอุทธรณ์ และฎีกาได้สามชั้น ดังนั้นศาลทหารในเวลาปกติจึงประกอบด้วย

ก. ศาลทหารชั้นต้น

ข. ศาลทหารกลาง (ชั้นอุทธรณ์)

ค. ศาลทหารสูงสุด (ชั้นฎีกา )

2. ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ

มีขึ้นในเวลาที่มีการรบหรือสถานะสงครามหรือได้ประกาศใช้กฏอัยการศึก ศาลทหารซึ่งมีอยู่แล้วในเวลาปกติคงพิจารณาพิพากษาคดีอาญาได้ตามอำนาจ แต่ถ้าผู้มีอํานาจประกาศใช้กฎอัยการศึกได้ประกาศหรือผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้สั่งตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก ให้ศาลทหารมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาใด ๆ อีก ก็ให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญาตามประกาศหรือคําสั่งนั้นได้ด้วย

เมื่อหมดภาวะการรบหรือสถานะสงครามหรือเลิกใช้กฎอัยการศึก ศาลทหารยังคงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีที่ค้างอยู่ในศาลหรือที่ยังมิได้ฟ้อง แต่ผู้มีอํานาจแต่งตั้งตุลาการหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีอํานาจสั่งโอนคดีหรือส่งผู้ต้องหาไปดําเนินคดียังศาลทหารแห่งอื่นได้ และให้ศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีเช่นนี้มีอํานาจและหน้าที่ดังศาลทหารในเวลาไม่ปกติ

3.ศาลอาญาศึก

ศาลอาญาศึกเป็นศาลทหารอีกประเภทหนึ่งที่ได้แยกออกมาต่างหากจากศาลทหารในเวลาปกติและศาลทหารในเวลาไม่ปกติการตั้งศาลอาญาศึกจะเกิดขึ้นได้เมื่อเข้าหลักเกณฑ์ดังนี้

1.เมื่อมีการรบเกิดขึ้น โดยได้มีการกําหนดเขตยุทธบริเวณ

2.ในเขตยุทธบริเวณดังกล่าว มีกําลังทหารไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน หรือมีเรือรบ ป้อม หรือที่มั่นอย่างใด ๆ ของทหาร

3.ผู้บังคับบัญชาของกองกําลังทหารที่ไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน หรือผู้บังคับบัญชาประจําเรือรบ ป้อม หรือที่มั่นดังกล่าวตามข้อ 2 หรือผู้ทําการแทนผู้บังคับบัญชาดังกล่าว ได้ตั้งศาลอาญาศึกขึ้นมาเพื่อพิจารณาคดีอาญาที่เกิดขึ้นในยุทธบริเวณนั้น ๆ

บทความ พลเรือนไม่ควรต้องไป “ศาลทหาร” จากเว็บไซต์ไอลอว์ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2556 กล่าวไว้น่าสนใจว่า การที่พลเรือนต้องไปที่ศาลทหาร ถือว่าไม่เป็นธรรมมากๆ เนื่องจาก

1.พลเรือนไม่มีสิทธิแต่งตั้งทนาย หรือ ฟ้องคดีเองได้ที่ศาลทหาร ต้องมอบคดีให้แก่อัยการทหารเป็นโจทก์

2. องค์คณะของตุลาการ ประกอบไปด้วย ตุลาการพระธรรมนูญ และตุลาการทหาร จำนวนองค์คณะพิจารณาพิพากษา ขึ้นอยู่กับว่าอยู่ในชั้นศาลใด (ศาลทหารมีสามชั้นเหมือนศาลพลเรือน คือ ศาลทหารชั้นต้น ศาลทหารกลาง และศาลทหารสูงสุด) สำหรับตุลาการพระธรรมนูญ ต้องมีความรู้ทางด้านกฎหมาย คือ จบปริญญาตรีด้านกฎหมาย และเป็นสมาชิกเนติบัณฑิตฯ แต่สำหรับตุลาการทหาร คือ นายทหารยศสัญญาบัตรขึ้นไปที่ได้รับแต่งตั้ง โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านกฎหมายก็ได้

3. ไม่มีหลักการแบ่งแยกอำนาจอย่างชัดเจนระหว่างฝ่ายตุลาการและฝ่ายบริหาร เนื่องจากผู้บังคับบัญชา หรือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการทหารสำหรับศาล ทหารชั้นต้น ซึ่งขัดกับหลักความเป็นกลาง และ ความเป็นอิสระของผู้พิพากษา

แม้ในทางปฏิบัติ ศาลทหารจะพิจารณาพิพากษาคดีอย่างเป็นธรรมและเป็นไปตามกระบวนการอันควรแห่งกฎหมาย แต่การที่ประชาชนในฐานะผู้เสียหายจากการกระทำของทหาร ต้องไปที่ศาลทหาร ไม่สามารถแต่งตั้งทนายหรือฟ้องคดีเองได้ ต้องมอบคดีให้แก่อัยการทหาร (ซึ่งอาจรู้จักมักจี่กับจำเลย) และคนที่พิจารณาพิพากษาก็เป็นทหารอีก จะให้ประชาชนรู้สึกว่าได้รับความเท่าเทียม หรือ เข้าถึงความยุติธรรมอย่างแท้จริงคงเป็นไปได้ยาก...

*****************

ที่มา

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน

พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498

เกร็ดความรู้ เรื่อง ศาลทหาร โดย กองพระธรรมนูญ กรมสารบรรณทหาร

ขอบคุณรูปภาพจาก www3.navy.mi.th

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: