'เกษียร'ชี้ความเป็นธรรม กับอาการตาบอดคนละข้าง

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 26 ก.พ. 2557 | อ่านแล้ว 1461 ครั้ง

ความแตกแยกทางความคิดทางการเมืองไทยในช่วงเกือบ 10 ปี แปรสภาพเป็นความแตกแยกทางสังคมที่เห็นชัด ความเกลียดชังและความตายอบอวลไปทั่วทั้งสังคม ประเด็นที่กล่าวได้ว่าเป็นหัวข้อถกเถียงร้อนแรงที่สุดที่กลุ่มมวลชนทั้งสองฝ่ายหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้คือความเป็นธรรม

ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การที่การแบ่งแยกทางการเมืองปัจจุบันมีความรุนแรงก็เป็นเพราะยิ่งนานวัน ผู้คนก็ยิ่งรู้สึกว่าความยุติธรรมเกี่ยวข้องกับตนเองมากขึ้น

ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาในหัวข้อ ‘ความเป็นธรรมในสังคมไทย’ ขึ้นเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยในงานเสวนา ศ.ดร.เกษียร มุ่งประเด็นไปที่ความเป็นธรรมทางการเมือง กล่าวว่า ปัญหาความเป็นธรรมทางการเมืองคือปัญหาความตกห่าง (Discrepancies) ระหว่างสิ่งที่ควรจะเป็นหรือความถูกต้องชอบธรรมทางการเมือง ในมุมมองส่วนบุคคล กับสิ่งที่เป็นจริงทางการเมืองจริง ๆ ซึ่งถ้าระยะห่างที่ว่านี้ไม่มากนัก ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นก็จะออกในรูปของการวิพากษ์วิจารณ์ เบื่อหน่าย หรือความพยายามแก้ไขปรับปรุง แต่หากความตกห่างมีระยะห่างมากเกินไปจนถึงจุดที่ทนรับไม่ได้จะก่อให้เกิดปัญหาความเป็นธรรมทางการเมืองที่ร้ายแรงและนำไปสู่การต่อสู้ขัดแย้งเพื่อเปลี่ยนแปลง

ดร.เกษียร อธิบายให้เห็นบ่อเกิดของการตกห่างในสังคมไทย โดยย้อนประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองที่เรียกว่าเสรีนิยมประชาธิปไตยว่า จริง ๆ แล้ว ระบอบที่เรียกว่า เสรีนิยมประชาธิปไตย (Liberal Democracy) เป็นการประกอบสร้างของสองแนวความคิดคือเสรีนิยม (Liberalism) และประชาธิปไตย (Democracy) ซึ่งทั้งสองแนวคิดต่างก็มีรากเหง้าและมุ่งตอบโจทย์แตกต่างกันไป

หัวใจของเสรีนิยมคือการที่รัฐมีอำนาจจำกัด จำกัดโดยสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองเหนือร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สิน ซึ่งรัฐจะล่วงละเมิดไม่ได้

            “เป็นเส้นที่รัฐไม่สามารถข้ามมาได้ หากรัฐจะข้ามมาต้องขอประชาชนก่อน ขออย่างไร ก็ขอตัวแทนของประชาชนที่เลือกตั้งมา และยอมให้ออกกฎหมายให้รัฐล่วงละเมิดได้ เช่น ถ้าคุณไปปล้น คุณติดคุก รัฐสามารถล่วงละเมิดร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินได้ แต่ต้องด้วยความยินยอมของพลเมืองผ่านตัวแทนที่ชอบธรรมซึ่งมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ถ้าไม่มีเกณฑ์นี้อยู่ รัฐจะข้ามเส้นไปไม่ได้”

เช่นเดียวกัน ประชาชนก็ไม่สามารถข้ามเส้นนี้ได้ แต่เส้นนี้จะศักดิ์สิทธิ์ต้องมีกรรมการคุมเส้น ซึ่งก็คือศาลตุลาการที่มีความเป็นอิสระ เพื่อจะผดุงหลักนิติรัฐและเสรีนิยม

ขณะที่แนวคิดประชาธิปไตย ศ.ดร.เกษียร อธิบายว่า หลักการของประชาธิปไตยคือมนุษย์ทุกคนเท่ากัน ดังนั้น อำนาจย่อมเกิดจากตัวเลข ตัวเลขมากกว่าย่อมมีอำนาจมากกว่า เสียงข้างมากได้ปกครอง

จุดเน้นของเสรีนิยมจึงอยู่ที่สิทธเสรีภาพเหนือร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินของพลเมืองและหลักนิติธรรม จำกัดอำนาจผู้ปกครอง ทั้งมีนัยถึงเป็นการปกครองเพื่อประชาชน ขณะที่ประชาธิปไตยเน้นความเสมอภาคและอำนาจอธิปไตยของประชาชน และการปกครองโดยเสียงข้างมาก กระจายอำนาจไปยังประชาชน ทำให้มีนัยที่แตกต่างจากเสรีนิยม เพราะประชาธิปไตยเป็นการปกครองโดยประชาชน

จุดนี้เองที่ก่อให้เกิดความตกห่างระหว่างขั้วทางการเมืองทั้งสองฝ่าย เมื่อฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) มุ่งเน้นที่หลักการเสรีนิยม โดยลดค่าประชาธิปไตยแบบตัวแทน ขณะที่ฝ่ายแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ยึดหลักการประชาธิปไตย แต่ก็ลดค่าปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียง การคอร์รัปชั่น และการละเมิดสิทธิเสรีภาพ

ดร.เกษียร เห็นว่า นี่เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนอาการตาบอดคนละข้าง เพราะหากปล่อยให้ความสุดโต่งนี่ฉุดพาสังคมไทย ผลลัพธ์หมายถึงระบอบการปกครองที่พิกลพิการ หากไปทางหลักการเสรีนิยมสุดโต่งย่อมนำไปสู่การปกครองแบบอัตตาธิปไตยเสรี เช่น ระบอบ คปค. (คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) หรือแบบรัฐบาลสิงคโปร์ แต่ถ้าถูกฉุดไปข้างหลักการประชาธิปไตยอย่างเดียวก็อาจก่อให้เกิดประชาธิปไตยอำนาจนิยม เช่น ระบอบทักษิณหรือรัฐบาลของฮูโก้ ชาเวซ ในประเทศเวเนซูเอลา

            “ปัญหาความเป็นธรรมทางการเมืองในไทยจึงมีมิติสองมิตินี้อยู่ตลอดเวลา ต่างฝ่ายต่างรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่มีเสรีนิยมมากพอ ไม่มีประชาธิปไตยมากพอ ในภาษาผมคือตาบอดคนละข้าง ซึ่งถ้าผลักไปสุดโต่งก็จะได้การปกครองที่พิกลพิการ”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: