‘น้ำเทิน2’ผลักลาวข้ามโขงรับจ้างในไทย ชีวิต-สวล.แย่สวนทางข้อมูลเวิลด์แบงก์

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด ศูนย์ข่าว TCIJ 26 ก.พ. 2557 | อ่านแล้ว 9181 ครั้ง

เขื่อนนํ้าเทิน 2 ตั้งอยู่ในแขวงคําม่วน ภาคกลางของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อรักษาค่าเงินตราต่างประเทศ ผ่านการจําหน่ายพลังงาน ให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย โครงการนี้เป็นการสร้างเขื่อนที่มีความสูง 48 เมตร ในแม่นํ้าเทิน ลํานํ้าสาขาของแม่นํ้าโขง ทำให้พื้นที่ขนาด 450 ตร.กม. เทียบขนาดเท่ากับ 2 ใน 3 ของพื้นที่ประเทศสิงคโปร์ จมอยู่ใต้นํ้า ประชากรจํานวน 3,600 คน ต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะจำหน่ายกระแสไฟฟ้า 1,000 เมกะวัตต์ (MW) จากที่ผลิตได้ทั้งหมด 1,075 เมกะวัตต์ (MW) ให้แก่ประเทศไทย เพื่อสร้างรายได้ให้กับสปป.ลาว

ธนาคารโลกกับธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ตัดสินใจสนับสนุนในปี 2548 (2005) การก่อสร้างเริ่มในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน ต่อมาในเดือนเมษายน 2551 (2008) การโยกย้ายที่อยู่อาศัยของประชากรในบริเวณดังกล่าวสําเร็จเรียบร้อย และเริ่มมีการผันน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำ ต่อมาวันที่ 15 มีนาคม 2553 (2010) เขื่อนเริ่มทํางานเต็มกําลังและส่งออกพลังงานไปยังประเทศไทย

เมื่อสายน้ำเป็นพิษ

รายงานจาก Mekong watch ระบุว่า พื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำ ก่อนจะมีการเก็บกักน้ำ ไม่ได้มีการตัดต้นไม้เดิมออกไป ส่งผลให้เกิดการเน่าเสียของน้ำ ทำให้คุณภาพน้ำทั้งในอ่างเก็บน้ำและปลายน้ำเซบังไฟมีแนวโน้มเป็นอันตรายต่อสุขภาพ สอดคล้องกับการรับแจ้งจากชาวบ้านบริเวณรอบๆ ลำน้ำ ถึงปัญหาโรคผิวหนัง หลังจากลงอาบน้ำและหาปลาในแม่น้ำ นับแต่เขื่อนเริ่มเปิดทำการ และปราศจากการแจ้งเตือนล่วงหน้าเกี่ยวกับคุณภาพของน้ำที่ลดลง

แม้ว่านโยบายคุ้มครองของธนาคารโลกจะกําหนดไว้ว่า การเวนคืนที่ดินและสินทรัพย์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จะกระทําได้ต่อเมื่อมีการจ่ายเงินชดเชยแล้ว แต่เงินชดเชยสําหรับที่ดินและสวนผลไม้ที่ถูกน้ำท่วม ก็ถูกแจกจ่ายให้ชาวบ้าน หลังจากที่มีการโยกย้ายถิ่นฐานแล้วถึงสองปี ซึ่งประชากรที่ถูกโยกย้ายถิ่นฐาน ต่างตกอยู่ในสถานการณ์ลําบาก พวกเขาไม่อาจยื่นฟ้องหรือเรียกร้องได้ หากไม่ได้รับเงินชดเชยที่ไม่ยุติธรรม ตามที่ระบุไว้ในนโยบาย เพราะทั้งที่ดินและทรัพย์สินที่ควรจะใช้เป็นหลักฐานสนับสนุนข้อร้องเรียนสูญหายไปกับเหตุน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อน

ทั้งนี้จากรายงานของกระทรวงกสิกรรม-ป่าไม้ของลาว ระบุว่า น้ำได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรของประชาชนลาวในเขตเมืองยมลาด เมืองมะหาไซ เมืองหนองบก ในแขวงคำม่วน (ตรงข้ามจ.นครพนม) เป็นบริเวณกว้างกว่า 6,000 เฮกตาร์ หรือ 37,500 ไร่ และเมืองไซบุลี ในแขวงสะหวันนะเขต (ตรงข้ามจ.มุกดาหาร) อีกนับพันเฮกตาร์ หรือประมาณ 6,000 กว่าไร่

ธนาคารโลกอ้างชาวบ้านรายได้เพิ่ม-ความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิม

รายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจของลาวฉบับล่าสุด ที่ธนาคารโลกจัดทำขึ้นระบุว่า เกือบครึ่งหนึ่ง หรือประมาณร้อยละ 3 จุด ของการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศลาวในปี 2553 ซึ่งธนาคารโลกคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 7.8 นั้น จะมาจากโครงการน้ำเทิน 2 และชาวบ้านที่เคยอาศัยอยู่ในที่ราบสูงนากาย จำนวน 6,200 คน  ซึ่งต้องโยกย้ายถิ่นฐานออกจากบริเวณที่ราบสูงดังกล่าวเมื่อสองปีที่แล้ว  มีความพอใจอย่างยิ่งต่อสภาพแวดล้อมที่พวกเขาอาศัยอยู่ในปัจจุบัน โดยเกือบร้อยละ 90 ของชาวบ้านเหล่านี้รายงานว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาดีกว่าก่อนมาก

รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า รายได้ของชาวบ้านเหล่านี้สูงขึ้นกว่าเดิมเกือบสองเท่า จากที่เคยได้รับปีละ 140 เหรียญสหรัฐฯ (4,620 บาท) ก็พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ปีละ 260 เหรียญสหรัฐฯ (8,580 บาท) ในปัจจุบัน และชาวบ้านยังได้รับประโยชน์โดยตรงจากการได้รับการศึกษา การสาธารณสุข และการขนส่งในหมู่บ้านดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก ชาวบ้านหลายคนนำรายได้ที่มากขึ้น ไปใช้เพื่อปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวรวมทั้งการซื้อทรัพย์สินต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์ เป็นต้น

เขื่อนเปิด ชีวิตเปลี่ยน ทิ้งบ้าน-ขายแรงงานต่างแดน

ผศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ คณบดีศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ลงพื้นที่ศึกษาวิถีชีวิตชาวบ้านบริเวณลำน้ำเซบังไฟ ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง หลังการสร้างเขื่อนน้ำเทิน 2 พบว่า เป็นเวลากว่าสิบปี นับตั้งแต่เขื่อนน้ำเทิน 2 เริ่มทำงาน ชาวบ้าน กว่า 155, 000 คน ใน 156 หมู่บ้าน ที่อาศัยตามลำน้ำเซบังไฟและลำน้ำสาขา ต้องประสบกับปัญหาการทำมาหากินที่ยากเย็นขึ้น พื้นที่สาธารณะถูกบุกรุกทำการเกษตรเหตุ เพราะพื้นที่เดิมถูกน้ำท่วม อีกทั้งที่ทำกินสาธารณะเดิม อาทิ ลำห้วย ไม่มีสัตว์น้ำให้จับเช่นเดิม เนื่องจากการเปลี่ยนทิศทางกระแสน้ำ

ดร.กนกวรรณ อ้างจากกรณีศึกษาผ่าน ชาวบ้าน 8 ครัวเรือนพบว่า ทุกครัวเรือนไม่ได้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามรายงานของธนาคารโลกแต่อย่างใด ชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องเปลี่ยนอาชีพจากเดิม ที่เคยยังชีพจากทรัพยากรธรรมชาติในแม่น้ำเป็นหลัก แต่หลังจากมีเขื่อน รัฐบาลก็ให้เปลี่ยนอาชีพมาทำการเกษตรด้วยระบบชลประทาน และรับเลี้ยงไก่พันธุ์ครัวเรือนละ 2 ตัว ทว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวของรัฐบาลไม่ได้ช่วยชาวบ้านแต่อย่างใด เนื่องจากการทำนาชลประทานต้องรอการจัดสรรจากรัฐบาล ผ่านผู้นำหมู่บ้านและใช้เวลาถึง 2 ปี ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่เสียอาชีพเดิมจึงนิยมส่งลูกหลาน หรือย้ายตนเองเข้ามารับจ้างในประเทศไทย

“รัฐ” ให้บอกว่าเขื่อนดี

ดร.กนกวรรณกล่าวด้วยว่า ชาวบ้านบริเวณลำน้ำเซบังไฟ ไม่ได้รับอนุญาตให้วิจารณ์เขื่อนนำเทิน 2 ในทางลบ รวมถึงโครงการพัฒนาต่าง ๆ ของรัฐบาลลาว ยกกรณีการถูกอุ้มหายของ นายสมบัติ สมพอน นักพัฒนาอาวุโสคนสำคัญของลาว ที่ออกมาวิจารณ์โครงการสร้างเขื่อนของรัฐบาล

            “การหายตัวไปของนักพัฒนาในประเทศลาว เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ลาวเป็นประเทศไร้ซึ่งเสรีภาพในการพูดหรือตั้งคำถามกับรัฐบาล แล้วประชาชนธรรมดาที่อยู่ตามลำน้ำเล็กๆเขาจะกล้าพูดหรือแสดงความเห็นได้อย่างไร ต่อการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำโขงได้” ดร.กนกวรรณกล่าว

ทั้งนี้ในส่วนของไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นอกจากจะเป็นผู้ดูแลการซื้อไฟฟ้าจากลาว และดูแลเรี่องราคาแล้ว ปัจจุบันบริษัท ไฟฟ้าไทย (EGCO) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของกฟผ. ยังเข้าไปซื้อหุ้น และมีหุ้นส่วนถึง 25 เปอร์เซนต์ ในบริษัท Nam Theun Electricity Consortium (NTEC) อีก 15 เปอร์เซนต์ เป็นของบริษัท จัสมินของไทย 35 เปอร์เซนต์ เป็นของบริษัทไฟฟ้าฝรั่งเศส และ 25 เปอร์เซนต์ เป็นของรัฐบาลลาวด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: