สื่อลวงๆ กับฝันเลือนๆ

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJ 26 ต.ค. 2557


มนุษย์ล้วนตั้งจุดหมายปลายทางของตนเองและพยายามฟันฝ่าไปให้ถึง โดยส่วนใหญ่ล้มลุกคลุกคลาน บ้างล้มแรงเสียจนไร้แรงยืนอีกครั้ง เป็นสัดส่วนน้อยกว่ามากที่ถึงจุดหมายปลายทาง นี่คงเป็นเหตุผลทำให้ ‘ความฝัน’ เป็นสิ่งสูงค่าในสายตามนุษย์ยุคปัจจุบัน

ที่ต้องใช้คำว่า ปัจจุบัน เพราะผมไม่แน่ใจว่ามนุษย์ยุคก่อนหน้า ความฝันสำคัญต่อพวกเขาแค่ไหน อย่างไร อันที่จริงน่าจะมีคนทำการศึกษาประวัติศาสตร์ของความฝันดูสักที ความฝันไม่น่าจะเป็นสิ่งที่มีอยู่เองตามธรรมชาติของมนุษย์ หมายความว่ามันต้องมีเส้นทางของการก่อร่างสร้างตัว

เท่าที่สังเกตคนรุ่นปู่ย่าพ่อแม่ บ้างก็ฝันอยากจะรวย ฝันอยากจะไปเมืองนอก ฝันอยากจะมีที่ดินสักผืน ฯลฯ คงจับอารมณ์ได้ว่ามันเป็นฝันที่แตกต่างจากคนรุ่นนี้เหลือเกิน

คนรุ่นนี้ ความฝันเป็นสิ่งเลอค่า สูงส่ง จำเป็นต่อชีวิตน้อยกว่าลมหายใจไม่มาก จะดูเป็นคนผิดปกติ หลักลอย ไร้จุดหมายในชีวิตโดยพลันถ้าไม่มีความฝัน เหนืออื่นใด มันกลายเป็นองค์ประกอบความเป็นตัวเป็นตนของเจ้ารของความฝันอย่างแยกกันไม่ขาด ไม่มีความฝันเสมือนไม่มีตัวตนบนโลก

คนรุ่นอายุ 20 กว่าสมัยนี้โชคดีกว่าผมตอนอายุเท่ากันมาก พวกเขามีโอกาสได้เห็นโลกเล็กลง กระทั่ง มองเห็นรายละเอียดต่างๆ ที่ผมไม่เคยได้เห็นในวัยนั้น มันเป็นตัวกระตุ้นชั้นดีที่ทำให้ใครๆ อยากออกไปรู้จักโลก อยากเป็นในสิ่งที่โลกเปิดที่ทางให้เป็น มีโรงงานประกอบฝันมากกว่าสมัยผมตอนเป็นนักเรียน ม.ปลาย ในต่างจังหวัด-ดีไซเนอร์ ครีเอทีฟ นักแข่งรถสูตรหนึ่ง ฯลฯ ค่อนข้างห่างไกลการรับรู้และสติปัญญาของผมในตอนนั้น

ซ้ำยุคนี้ยังมีนักกระตุ้น นัก Motivate ความฝันมากมาย-นักเขียน นักร้อง ศิลปิน นักพูด หว่านโปรยถ้อยคำและบทเพลงไม่ให้หยุดฝัน เพราะมันบาป

วนเวียนในแวดวงขีดเขียนมาสิบปี พบเห็นคอลัมน์สัมภาษณ์เรื่องราวของผู้คนตามหน้านิตยสารเยอะแยะ จำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ทว่า เรื่องราวของมนุษย์ผู้โบยบินติดตามและไขว่คว้าความฝันของตนคือสิ่งที่พบเห็นเสมอมา...ไม่ขาดสาย เรื่องราวอันเป็นแรงบันดาลใจทำนองนี้ประหนึ่งจารีตอันจำเป็นและขาดไม่ได้

มิได้อยากกระทำตนเป็นสิ่งมีชีวิตขวางโลก-ตัวหนังสือบอกเล่าเรื่องราวบนเส้นทางสู่ฝัน แต่น้อยครั้งนักที่ตัวหนังสือจะบอกกล่าวถึงต้นทุนของความฝัน ณ ต้นทางและปลายทาง มนุษย์ไม่ใช่โอปปาติกะที่ผุดขึ้นมาเป็นตัวเป็นตนทันทีทันใดและทุกการกระทำมักมีราคาที่ต้องแลกเปลี่ยน

กล่าวอย่างถึงที่สุด คนในสังคมตั้งต้นไม่เท่ากัน ยกตัวอย่าง หากใครสักคนเดินทางรอบโลก ผจญภัย เสาะแสวงหาความท้าทายในชีวิต เรามักพุ่งความสนใจไปที่ความฝันตรงหน้าของเขา เราชื่นชมความมุ่งมั่น ความใส่ใจในรายละเอียด ฯลฯ แต่มักไม่ถามถึงพื้นฐานครอบครัว การศึกษา ความมั่งคั่ง หรืออื่นๆ ความงดงามของแนวคิดมนุษยนิยมที่เชื่อในศักยภาพ ความเพียรพยายามของมนุษย์ ทำให้องศาการมองจดจ้องภาพส่วนแรกมากกว่าส่วนหลัง เพราะเราเชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนสามารถสร้างได้ด้วยมือของตนเอง ขณะที่ชาติกำเนิด ฐานะ หรือสภาพแวดล้อม เป็นสิ่งที่เลือกไม่ได้

จริงที่ว่าเลือกไม่ได้ แต่มันก็เป็นส่วนผสมสำคัญหรือบางครั้งถึงขั้นเป็นตัวชี้วัดความเป็นตายของความฝัน

เท่าที่ผ่านหูตา น้อยครั้งที่จะถามเจ้าของความฝันว่า คุณต้องใช้จ่ายเงินเท่าไหร่เพื่อเดินทางรอบโลก ต้องใช้จ่ายเวลาและโอกาสอะไรบ้างเพื่อให้ได้สิ่งนี้ หรือเพราะการพูดเรื่องเงินๆ ทองๆ กับการตามหาความฝันเป็นเรื่องหยาบคาย (?) คนที่ตั้งต้นจากร้อย เงิน เวลา และโอกาส อาจเป็นทรัพยากรที่หาได้ไม่ยากเย็น แต่คนที่ตั้งต้นจากศูนย์ เงิน เวลา และโอกาส อาจเป็นทรัพยากรที่ยากยิ่งต่อการครอบครอง

ผมไม่ได้ปฏิเสธว่า ในด้านหนึ่ง เรื่องราวเหล่านี้จัดเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีสำหรับสันดาปแรงบันดาลใจ ผลักดันให้ผู้คนต่อสู้ ไขว่คว้า ไม่ยอมแพ้ และออกจากพื้นที่ปลอดภัย สู่สถานะที่ดีกว่าและโลกที่กว้างกว่า ถึงกระนั้น การไม่แจกแจงบัญชีรายรับ-รายจ่ายให้ชัดเจนก็อาจเลือนลวงผู้คนและปกปิดความเหลื่อมล้ำด้วยความฝันอันสวยงาม

การที่คนเราจะมีความฝันอันหลากหลายได้ยังต้องพึ่งพาโอกาสและพื้นที่ให้สายตาปะทะกับความหลากหลายบนโลก หากนายจืดมีทรัพยากรตั้งต้นไม่เพียงพอกับการทำความรู้จักการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ คงเป็นไปไม่ได้ที่นายจืดจะใฝ่ฝันถึงการเป็นครีเอทีฟ แม้พระเจ้าจะรู้ว่าในตัวนายจืดมีพลังสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่

นอกจากนี้ ผมยังรู้สึกว่า แม้ความฝัน-ไม่ว่าของใคร-ล้วนมีคุณค่าเฉพาะตัวผู้นั้น แต่ในเชิงทัศนคติที่สื่อผลิตออกสู่สังคม ความฝันมีลำดับชั้นเชิงคุณค่าแฝงอยู่ไม่ว่าสื่อจะทำไปโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม คนที่มีทรัพยากรในชีวิตไม่มาก ความฝันอาจผุดขึ้นอย่างเจียมเนื้อเจียมตัวและมัธยัสถ์ยิ่ง ลองนึกดูนะครับว่า ความฝันของนายจืดคือการเป็นเจ้าของธุรกิจร้านก๋วยเตี๋ยวเล็กๆ สักร้านย่อมเทียบไม่ได้กับความฝันของนักศึกษาสถาปัตย์ฯ ในสถาบันชื่อดังที่ต้องการสร้างผลงานให้โลกจดจำ

ความฝันของคนจนอาจหมายเพียงการขยับฐานะ ความฝันของชนชั้นกลางขึ้นไปอาจเป็นเพียงการตอบสนองแรงขับส่วนตัว...

...............

ไม่ใช่แค่ต้นทาง

สักพักใหญ่ๆ มาแล้ว ผมอ่านเจอข่าวชิ้นหนึ่งระบุว่า รัฐบาลเนปาลกำลังหาแนวทางเปิดพื้นที่ยอดเขาใหม่ๆ ในประเทศเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เหตุหนึ่งเพราะยอดเขาที่มีอยู่ปัจจุบันไม่เพียงพอรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว บางแห่งประสบปัญหาเสื่อมโทรม ตัวอย่างชัดเจนคือยอดเขาเอเวอร์เรสต์ ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก นักเดินทาง นักท่องเที่ยว นักผจญภัยจำนวนไม่น้อยมีความฝันอยากจะพิชิตเอเวอร์เรสต์ สำเร็จและล้มเหลวคละเคล้ากันไป แต่ขยะและศพของนักเดินทางที่ต้องทิ้งชีวิตไว้บนเส้นทางเพิ่มพูนจนทิ้งปัญหาให้เอเวอร์เรสต์

ผมไม่คิดว่าเอเวอร์เรสต์เป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบ หากเป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ว่า ถ้าระหว่างทาง ปัจเจกแต่ละคนไม่มีวิธีบริหารความฝันที่รัดกุมพอ ณ ปลายทางของความฝัน ย่อมมีโอกาสที่เราจะผลักภาระต้นทุนให้บางสิ่งและปักธงชัยชนะบนความพ่ายแพ้ของใครหรือสิ่งใดก็ตาม

..............

ผมสนับสนุนให้ทุกคนมีความฝันและฟันฝ่า เพราะคนที่เดินสู่จุดหมายได้ ถึงต้นทุนตั้งต้นจะต่างกันไป ความอุตสาหะก็เป็นสิ่งน่าชมเชย แต่ก็ไม่อยากให้พร่ามัวกับการผลิตบรรดาเซเลบฯ ความฝันของสื่อ จนหลงเชื่อว่าการมีและการไปถึงฝันเป็นเรื่องส่วนตัวล้วนๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้อย่างเท่าเทียม

เพราะมันไม่จริง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: