ขยะสะสม 20 ล้านตัน คพ. ดันโร้ดแม็ป ‘บริหารจัดการขยะแห่งชาติ’

ชุลีพร บุตรโคตร TCIJ 25 ธ.ค. 2557 | อ่านแล้ว 7368 ครั้ง

ปัญหาขยะล้นเมืองของประเทศไทยยังคงเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง เพราะปริมาณขยะหลากชนิดที่เพิ่มปริมาณมากขึ้นในทุกๆ ปี กำลังสร้างปัญหาสำคัญหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพของประชาชน ปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือแม้กระทั่งปัญหาด้านเศรษฐกิจ ที่รัฐจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมากไปบริหารจัดการ

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบปัญหาขยะโดยตรง เตรียมเสนอกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะอย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ปัญหาขยะล้นเมืองในขณะนี้ โดยหวังว่าจะสามารถเร่งให้กฎหมายดังกล่าวออกมามีผลบังคับใช้ภายในรัฐบาลนี้ และหวังว่ากฎหมายดังกล่าวจะเป็นแนวทางหลักในการบริหารจัดการขยะ ขณะที่ประเทศยังหาแนวทางบริหารจัดการให้เป็นระบบไม่ได้

คพ. เร่งยกร่าง พ.ร.บ.จัดการขยะระดับชาติ

วิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ให้สัมภาษณ์ TCIJ  ระบุว่า ปัจจุบันการดำเนินการยกร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการขยะแห่งชาติ อยู่ระหว่างการจัดทำยกร่าง ซึ่งใกล้จะดำเนินการตามขั้นตอนเสร็จสิ้นแล้ว โดย คพ. พยายามจะเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ทันภายใน 4 เดือนนี้ ซึ่งจะเป็นการดำเนินการคู่ขนานไปกับ พ.ร.บ.การจัดการขยะอิเล็กโทรนิกส์ ที่จะต้องมีการพิจารณาร่วมกันว่าหาก พ.ร.บ.การบริหารจัดการขยะแห่งชาติครอบคลุมแล้ว ก็อาจจะมีการปรับ พ.ร.บ.การจัดการขยะอิเล็กโทรนิกส์เป็นกฎหมายรอง

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยเองก็มีกฎหมายด้านการบริหารจัดการขยะจำนวนมากอยู่แล้ว แต่แบ่งแยกกันไปตามแต่หน่วยงานผู้ควบคุมดูแล ดังนั้น หลักการของ พ.ร.บ.การบริหารจัดการขยะแห่งชาติ ที่จะถูกยกร่างจัดทำขึ้นใหม่นี้จะต้องทำให้ครอบคลุมขยะทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นขยะชุมชน ขยะอุตสาหกรรม ขยะติดเชื้อ และขยะอันตราย จึงจำเป็นต้องศึกษากลไกของกฎหมาย ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่ากฎหมายฉบับล่าสุดนี้จะเปรียบเสมือนกับซุปเปอร์กฎหมายที่จะนำมาครอบทับไปบนกฎหมายเก่า โดยจะไม่มีการยกเลิกกฎหมายเก่า ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น กรณีของเสียอันตราย ของเสียอิเล็กโทรนิกส์ จะต้องบริหารจัดการอย่างไร ใครรับผิดชอบ ขยะติดเชื้อจะต้องทำอย่างไร ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะรวบรวมกลไกทั้งหมดมาไว้รวมกัน โดย คพ. จะเป็นหน่วยงานที่ดูแลขยะทุกประเภทเอง ซึ่งแต่เดิมเป็นอำนาจของท้องถิ่นและหน่วยงานต้นเรื่อง โดยการจัดการส่วนใหญ่ของท้องถิ่นคือการเทกอง ซึ่งพบว่าบ่อขยะที่มีอยู่ทั่วประเทศ 2,290 แห่ง ร้อยละ 81 หรือ 2,024 แห่ง เป็นบ่อที่ไม่ถูกต้อง ทั้งเรื่องระบบการจัดการและกฏหมาย

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ คพ. ได้นำเสอโร้ดแม็ป (Roadmap) เกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณา และได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินการโดยอนุมัติงบประมาณจำนวน 526.94 ล้านบาท เพื่อให้ คพ. เร่งจัดการปัญหาขยะเร่งด่วน โดยมีกระบวนการ 10 แนวทาง ดังนี้

1.ห้ามทิ้งขยะเทกองกลางแจ้ง 2.จัดการบ่อขยะเดิมที่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง 3.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำกับดูแลภาพรวมและมีคณะกรรมการทำแผนภาพรวม 4.มีแผนแม่บทการจัดการขยะ โดยระดับจังหวัดต้องทำให้เสร็จภายใน 3 เดือนและระดับ ประเทศต้องทำให้เสร็จภายใน 6 เดือน 5.คัดแยกขยะจากต้นทาง

6.หารูปแบบใหม่ๆ ในการจัดการขยะชุมชน เช่น มีการจัดการแบบรวมศูนย์และมุ่งเน้นแปรรูปขยะเป็นพลังงาน 7.สร้างระบบจัดการของเสียอันตราย 8.ส่งเสริมให้เอกชนลงทุนและดำเนินการ หากเอกชนสามารถทำได้ดีกว่าและราคาถูกกว่า ส่วนรัฐจะทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบ 9.สร้างวินัยคนในชาติสู่การจัดการที่ยั่งยืน โดยการบรรจุเรื่องการจัดการขยะไว้ในหลักสูตร สร้างธนาคารขยะ ลดใช้ถุงพลาสติก และ 10.จัดการขยะอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงขยะตั้งแต่ต้นทางถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์

การดำเนินงานตามโรดแมปแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ซึ่งต้องทำให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน มีพื้นที่เป้าหมาย 11 จังหวัด ได้แก่ การกำจัดขยะเก่าใน 6 จังหวัด หรือ 619 องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) คือ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครปฐม สมุทรปราการ ลพบุรี และปทุมธานี และจังหวัดนำร่องที่จัดการขยะรูปแบบใหม่ 5 จังหวัด คือ นนทบุรี ภูเก็ต สงขลา กรุงเทพฯ และเชียงราย

ระยะปานกลาง ต้องทำให้เสร็จสิ้นใน 1 ปี มีพื้นที่เป้าหมาย 20 จังหวัด หรือ 2,172 อปท. ได้แก่ กาญจนบุรี นครศรีธรรมราช เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี ราชบุรี ขอนแก่น ปราจีนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี นครราชสีมา ลำปาง แพร่ ชัยนาท เพชรบูรณ์ ระนอง ชุมพร ยะลา ฉะเชิงเทรา กระบี่ และสมุทรสาคร

และระยะยาว ซึ่งใช้เวลา 1 ปีขึ้นไป ทาง คพ. จะดำเนินการต่อในจังหวัดอื่นๆ ที่เหลืออีก 46 จังหวัด หรือ 4,979 อปท.

ข้อมูลชี้ปีที่แล้วขยะสะสมสูงเกือบ 19.9 ล้านตัน จัดเก็บแบบถูกต้องแค่ 7 ล้านตัน

ทั้งนี้ จากข้อมูลของ คพ. ระบุว่า  จากการสำรวจข้อมูลปริมาณขยะมูลฝอยทั่วประเทศใหม่ในปี 2556 จากกลุ่มเป้าหมาย คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ จำนวน 7,782 แห่ง ประกอบด้วยเทศบาล จำนวน 2,271 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 5,510 แห่ง และ กทม. โดยการใช้แบบสำรวจและลงพื้นที่ภาคสนาม พบว่า

 

ปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ มีจำนวน 26.77 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 2 ล้านตัน โดยขยะมูลฝอยจำนวนดังกล่าวได้รับการให้บริการเก็บขนและนำไปกำจัดจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 4,179 แห่ง (ร้อยละ 54) โดยมีปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกนำไปกำจัดแบบถูกต้อง จำนวน 7.2 ล้านตัน (ร้อยละ 27) กำจัดแบบไม่ถูกต้อง 6.9 ล้านตัน (ร้อยละ 26) มีปริมาณขยะมูลฝอยที่ไม่ได้รับการเก็บขนทำให้ตกค้างในพื้นที่อยู่ถึง 7.6 ล้านตัน (ร้อยละ 28) และมีปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกดึงนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ 5.1 ล้านตัน (ร้อยละ 19)

ขณะนี้ทั้งประเทศมีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยอยู่ทั้งหมด 2,490 แห่ง เป็นสถานที่ที่มีการกำจัดขยะมูลฝอยแบบถูกต้องเพียง 466 แห่ง (ร้อยละ 19) และยังคงมีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยไม่แบบถูกต้อง เช่น การเทกองกลางแจ้ง การเผาในที่โล่ง เป็นต้น อยู่ถึง 2,024 แห่ง (ร้อยละ 81) จากเหตุผลดังกล่าวทำให้เกิดปริมาณขยะมูลฝอยสะสมตกค้างเพิ่มสูงขึ้น จากการลงสำรวจพื้นที่ปี 2556 พบว่า ปริมาณขยะมูลฝอยสะสมทั้งประเทศมีจำนวนสูงถึง 19.9 ล้านตัน ซึ่งจะเท่ากับการนำตึกใบหยก 2 จำนวน 103 ตึกมาเรียงต่อกัน

เผย 20 อันดับจังหวัดสกปรก สงขลามาวิน

โดยจังหวัดที่นับได้ว่าเป็นจังหวัดที่มีวิกฤตปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยหรือจังหวัดสกปรก 20 อันดับแรก ได้แก่ สงขลา สมุทรปราการ กาญจนบุรี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ราชบุรี เพชรบุรี แพร่ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา ระนอง นครพนม ปัตตานี ฉะเชิงเทรา ร้อยเอ็ด ลพบุรี อ่างทอง ขอนแก่น บุรีรัมย์ และชุมพร

แต่หากมองเฉพาะถึงปัญหาในเรื่องของขยะมูลฝอยสะสม คือเป็นขยะมูลฝอยเก่าที่ตกค้างรอรับการกำจัด พบว่า จังหวัดที่มีวิกฤตปัญหาขยะมูลฝอยสะสม 20 อันดับแรก ได้แก่ สงขลา สมุทรปราการ กาญจนบุรี นครศรีธรรมราช เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี ราชบุรี ขอนแก่น พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี นครราชสีมา ลำปาง แพร่ ลพบุรี ชัยนาท นครปฐม เพชรบูรณ์ และระนอง

ในขณะที่ข้อมูลเกี่ยวกับของเสียอันตราย คพ. ได้ประมาณการเกิดขึ้นทั่วประเทศว่ามี 2.65 ล้านตัน โดยร้อยละ 77 หรือ 2.04 ล้านตัน เป็นของเสียจากภาคอุตสาหกรรม และร้อยละ 23 หรือ 0.61 ล้านตัน มาจากชุมชน

ของเสียอันตรายจากภาคอุตสาหกรรมเกือบครึ่งหนึ่งอยู่ในภาคตะวันออก รองลงมาเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและภาคกลาง (แหล่งอุตสาหกรรมของประเทศ) ซึ่งจะถูกควบคุมด้วยกฎหมายและข้อบังคับของกรมโรงงานอุตสาหกรรมและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือ ยังพบการลักลอบทิ้งกากของเสียในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจังหวัดในภาคตะวันออก อย่างฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี และสมุทรปราการ เหตุการณ์ที่ตำบลหนองแหน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา คงยังเป็นที่จดจำ เพราะนำไปสู่การเร่งรัด ทบทวน และเพิ่มเติม ‘มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งและบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตราย’ อย่างไรก็ตาม ยังพบการลักลอบทิ้งของเสียอันตรายในปี 2556 มากกว่า 10 ครั้ง

โทรทัศน์ครองแชมป์ของเสียอันตรายที่ถูกทิ้งมากที่สุด

ของเสียอันตรายจากชุมชน ร้อยละ 65 เป็นซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประเภทโทรทัศน์ (ร้อยละ 27) เครื่องปรับอากาศ (ร้อยละ 19) ตู้เย็น เครื่องซักผ้า คอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นวีซีดี/ดีวีดี โทรศัพท์ กล้องถ่ายรูป อีกร้อยละ 35 เป็นประเภทแบตเตอรี่ หลอดไฟ ภาชนะบรรจุสารเคมี ระบบการจัดการที่มีอยู่ถือว่าไม่มีประสิทธิภาพ โดยกลุ่มหลังจะถูกทิ้งปนไปกับขยะทั่วไป ส่วนกลุ่มแรกส่วนใหญ่ถูกจัดการนอกระบบโดยจะขายให้กับร้านหรือผู้รับซื้อของเก่า ซึ่งอาจมีการถอดแยกชิ้นส่วนอย่างไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ปัจจุบัน มีบริษัทเอกชนที่รับกำจัดของเสียอันตรายจากชุมชนเพียง 3 แห่ง

“สิ่งสำคัญตอนนี้คือเราจะต้องรณรงค์ให้ประชาชนคัดแยกขยะ ในขณะที่องค์กรปกครองท้องถิ่นที่เป็นผู้บริหารจัดการขยะก็จะต้องทำอย่างถูกต้องด้วย เพราะที่ผ่านมาถามว่าทำไมเรารณรงค์ไม่สำเร็จกับการแยกขยะ ก็ต้องบอกว่าส่วนสำคัญคือการจัดเก็บขององค์กรท้องถิ่น เพราะถึงประชาชนจัดแยกขยะไว้ แต่สุดท้ายก็ถูกนำไปรวมกันอยู่ดี ประชาชนก็ไม่รู้สึกถึงประโยชน์ของการแยกขยะ เพราะผู้ดำเนินการต่อไม่ได้ทำตามระบบ เพราะถ้าหากทำจริงๆ แล้วเราจะสามารถนำขยะที่รีไซเคิลได้ไปใช้ต่อและจัดการกับขยะส่วนอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ขยะลดปริมาณลงไปก่อนถึงร้อยละ 40 ทีเดียว” วิเชียร กล่าว

กฎหมายฉบับนี้จะรวบรวมกลไก

ทั้งหมดมาไว้รวมกัน โดย คพ.

จะเป็นหน่วยงานที่ดูแลขยะทุกประเภทเอง

ทั้งนี้ หนึ่งในเป้าหมายของ พ.ร.บ.การบริหารจัดการขยะนี้ วิเชียร กล่าวว่า ยังอยู่ที่เรื่องของกลไกการจัดการ เช่นกรณีของขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่จะสามารถนำไปรีไซเคิลได้ ก็จะมีความพยายามในการผลักดันให้เกิดโรงงานรีไซเคิลของเอกชนขึ้นมาเพื่อให้ขยะมีมูลค่า ทำให้ลดปริมาณขยะลงได้มาก ซึ่งขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้พยายามผลักดันให้เอกชนมาลงทุน โดยในส่วนของกรมควบคุมมลพิษได้พยายามผลักดันให้เกิดโรงงานประเภทนี้ทั่วทั้ง 4 ภาค ซึ่งพบว่าเอกชนให้ความสนใจจำนวนมาก แต่ยังไม่กล้าตัดสินใจลงทุนเนื่องจากปัจจัยสำคัญอยู่ที่ปริมาณขยะที่จะเข้ามาเป็นวัตถุดิบ เนื่องจากขณะนี้ไม่มีระบบที่ยืนยันว่าจะมีขยะเข้าไป ดังนั้น หากมีกฎหมายที่ออกมาเป็นกลไกชัดเจนเรื่องการจัดเก็บเข้าระบบก็จะทำให้เกิดความมั่นใจ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยศึกษาเพื่อวางระบบเหล่านี้

วิเชียร กล่าวต่อว่า สำหรับโร้ดแมปในการจัดการขยะ ขณะนี้ พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มีนโยบายตั้งเป้าหมายว่า ภายในเดือนธันวาคมนี้จะริเริ่มให้มีชุมชนต้นแบบในการจัดการขยะอย่างถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง จังหวัดละอย่างน้อย 1 แห่ง โดยเริ่มต้นตั้งแต่ที่ครัวเรือนในการคัดแยกขยะ ส่งต่อมายังส่วนของท้องถิ่นที่จัดเก็บแบบคัดแยก จากนั้นนำไปจัดเก็บอย่างถูกต้อง โดยวางเป้าหมายไว้ที่ 77 แห่ง

ดันผุดโรงไฟฟ้าชีวมวลในเมืองใหญ่ขายไฟให้กระทรวงพลังงาน

ส่วนเป้าหมายที่ 2 คือ การสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงให้เกิดอย่างน้อย 15 แห่ง โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเริ่มเดินเครื่องได้ อาจจะเป็นการริเริ่ม พูดคุย ลงนามต่างๆ เพื่อให้เกิดโรงไฟฟ้าชีวมวลขึ้นให้ได้ โดยขณะนี้ที่อำเภอหาดใหญ่ก็เริ่มดำเนินการแล้วโดยเอกชนที่สนใจจะต้องยื่นเรื่องที่ท้องถิ่น โดยทราบว่าขณะนี้มีหลายพื้นที่ที่มีการลงนามแล้ว เช่น ที่จังหวัดขอนแก่น จังหวัดระยอง เป็นต้น

“เรื่องของโรงงานเตาเผาขยะเพื่อผลิตไฟฟ้า เอกชนส่วนใหญ่อยากทำ แต่ติดที่เรื่องปริมาณขยะไม่พอ แต่ถ้าเป็นเมืองใหญ่ ไม่ติด รง.4 เอกชนอยากจะทำ เคยเกิดโรงงานเตาเผาขยะ ยุคแรกคือภูเก็ตกับสมุย แต่สมุยไม่ต่อเพราะขยะไม่พอ ปัญหาคือปริมาณขยะไม่พอ เป็นความเสี่ยง เพราะเตาเผาจะต้องเผาตลอดเวลา ต้องมีต้นทุน และสมัยก่อนเตาเผาเป็นแบบเผาอย่างเดียว ค่าใช้จ่ายแพง แต่ตอนนี้ได้รายได้ค่าเผาและได้ไฟฟ้าที่เกิดขึ้นไปขาย รายได้จึงมาจากสองทางเขาจึงอยู่ได้” วิเชียร กล่าว

พร้อมกับยังชี้แจงด้วยว่า ในเร็วๆ นี้จะมีการพูดคุยกับกระทรวงพลังงานในการเปิดโอกาสเรื่องการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวล เพราะก่อนหน้านี้อัตราค่ารับซื้อเอกชนอาจจะมองว่าเป็นราคาที่ถูกไป ซึ่งจะต้องมีการเจรจากันเพื่อให้โรงไฟฟ้าชีวมวลเหล่านี้ทำธุรกิจไปได้ ส่วนหนึ่งเป็นการลดขยะลงไปด้วย

“ในกฎหมายจะเร่งทำให้เสร็จ ส่วนเรื่องโรงไฟฟ้าชีวมวลรัฐบาลจะส่งเสริมให้เอกชนดำเนินธุรกิจไปได้ ก่อนหน้านี้ที่ไม่สำเร็จเพราะปริมาณขยะไม่มากพอ ทั้งๆ ที่ขยะในประเทศเรามีจำนวนมาก แต่ก็กระจุกอยู่ในเมืองใหญ่ ดังนั้น การที่จะให้เกิดโรงไฟฟ้าชีวมวลตามเป้าหมายก็จำเป็นต้องทำในเมืองใหญ่ๆ เช่น ขอนแก่น เลย โคราช หาดใหญ่ สงขลา เมืองใหญ่ๆ ที่มีปริมาณขยะแน่นอน ตอนนี้เรามองว่ามีโอกาสเกิดได้ เพราะพื้นที่มีศักยภาพ แต่จะเกิดได้หรือไม่อยู่ที่การเจรจาการลงทุน รัฐบาลพยายามผลักดัน รัฐบาลไม่ลงทุนแต่จะให้เอกชนทำ เพราะจะถูกกว่า” วิเชียร กล่าว

อ่าน 'จับตา: จำนวนแหล่งกำจัดขยะรายภาค' http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=4194

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: