ร้องบริษัทน้ำตาลขอนแก่น ไล่200ครอบครัวเขมรพ้นที่ดิน

25 ต.ค. 2557 | อ่านแล้ว 1381 ครั้ง

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม บริษัทที่ปรึกษากฎหมายจากกรุงลอนดอน และศูนย์การศึกษากฏหมายเพื่อชุมชน (Community Legal Education Centre ; CLEC) ในนามตัวแทนของชาวบ้าน 200 ครอบครัว ในจังหวัดเกาะกงของกัมพูชา เพื่อดำเนินการทางกฏหมายในข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านกับบริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลเกาะกง (Koh Kong Sugar Industry Company) บริษัท สวนป่าเกาะกง (Koh Kong Plantation Company) และเทตแอนด์ไลล์ (Tate & Lyle) บริษัทน้ำตาลยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ ส่งจดหมายถึงบริษัทน้ำตาลเกาะกง เชื้อเชิญให้ทำการพูดคุยอย่างเป็นทางการเพื่อแก้ไขข้อพิพาท

ชาวบ้านกัมพูชากล่าวหาบริษัทน้ำตาลเกาะกงว่า ละเมิดกฏหมายกัมพูชาโดยการขับไล่ประชาชนออกจากที่ดินของพวกเขาเอง และกล่าวหาบริษัทเทตแอนด์ไลล์ว่า แสวงหาผลกำไรจากการกระทำอันผิดกฏหมายในการไล่ที่ชาวบ้านโดยผิดกฎหมาย

บริษัทที่ปรึกษากฏหมายที่ตั้งในสหราชอาณาจักร ลี เดย์ (Leigh Day) เป็นตัวแทนชาวบ้านในกัมพูชา ในการดำเนินการกับบริษัทเทตแอนด์ไลล์และบริษัทน้ำตาลทีแอนด์แอล (T&L) ซึ่งตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักร ในขณะที่ศูนย์การศึกษากฏหมายเพื่อชุมชน (CLEC) เป็นตัวแทนประชาชน ช่วยเหลือในการดำเนินคดีกับบริษัทน้ำตาลเกาะกงในประเทศกัมพูชา

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา องค์กรทั้งสองร่วมกันส่งจดหมายเชิญให้บริษัทน้ำตาลเกาะกง เข้ามาพูดคุยไกล่เกลี่ย ซึ่งทั้งสององค์กรเสนอให้จัดขึ้นอย่างเป็นทางการก่อนสิ้นปีนี้ในกัมพูชา และตรวจสอบร่วมกันว่าจะแก้ปัญหาร่วมกันได้หรือไม่

ทั้งนี้ทั้งสองหน่วยงานส่งจดหมายเพื่อตอบสนองกับการที่บริษัทน้ำตาลเกาะกงส่งจดหมายของบริษัทไปก่อนหน้านี้ เชิญเอ็นจีโอต่าง ๆ ให้มาเป็นประจักษ์พยานในการจัดงานเพื่อ “ตกลงกันและให้ค่าชดเชย” กับชาวบ้านในวันที่ 25 ต.ค.นี้ แต่บริษัทกลับไม่ได้ส่งจดหมายเชิญถึงบรรดาตัวแทนทางกฏหมายของประชาชนทั้งสององค์กรแต่อย่างใด ทั้งนี้จดหมายของบริษัทระบุว่า ในที่ประชุมวันที่ 25 ต.ค.จะมอบเงินให้จำนวนหนึ่ง แต่ไม่ทราบจำนวน และระบุว่าเงินที่บริษัทจะให้ จะให้กับชาวบ้านที่สามารถแสดงให้เห็นว่ามีสิทธิ์จะเรียกร้องค่าชดเชยในที่ดินที่ปัจจุบันกลายเป็นที่ดินของบริษัทอยู่หรือไม่

ด้านน.ส.เทสซา เกรกอรี ทนายความของลีเดย์ ระบุว่า เรายินดีที่ได้เห็นว่า บริษัทน้ำตาลเกาะกงเริ่มแสดงความมุ่งมั่นในการยุติข้อพิพาทที่ยืดเยื้อมามากกว่า 8 ปี อย่างไรก็ตามการเจรจาใด ๆ ที่เกี่ยวกับข้อตกลง ต้องเป็นไปอย่างโปร่งใสและให้ทุกคนที่ได้รับผลกระทบเข้ามามีส่วนร่วม

อย่างไรก็ตามลูกความของเราจะต้องทราบว่า บริษัทเสนออะไรให้พวกเขา และต้องได้เวลาและโอกาสที่จะขอคำแนะนำว่า ข้อเสนอดังกล่าวหมายถึงอะไร โดยเฉพาะในขณะนี้ เรื่องกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการตามกฏหมาย

         “เราจึงมีจดหมายถึงบริษัทน้ำตาลเกาะกง, และบริษัทแม่คือบริษัท น้ำตาลขอนแก่น (KSL) และบริษัทเทตแอนด์ไลล์ด้วย เพื่อเชิญให้บริษัทเหล่านี้เข้ามาในที่ประชุมอย่างเป็นทางการที่พวกเราจะจัดขึ้นเร็ว ๆ นี้ เพื่อมาไกล่เกลี่ยกับเราและลูกความ เพื่อพยายามหาข้อยุติความขัดแย้ง”

นายอัน ไฮยา หนึ่งในตัวแทนชุมชนของประชาชน 200 ครอบครัว ในกรณีดังกล่าวแสดงความกังวลเกี่ยวกับวิธีที่บริษัทน้ำตาลเลือกใช้ตามที่เห็นในขณะนี้ โดยกล่าวว่า พวกเราสู้กันมานานเพื่อร้องขอความยุติธรรมในที่ดินของพวกเราที่ถูกปล้นไป แน่นอนว่าพวกเราอยากให้ข้อพิพาทจบลงเสียที แต่มันคงจบไม่ได้จนกว่าบริษัทจะตกลงนั่งลงคุยกับพวกเราชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทุกคนอย่างเปิดเผย และหาวิธีที่ดีที่สุดที่จะแก้ไขสถานการณ์ สำหรับพวกเราชาวบ้าน การคุยกันไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่มันเป็นเรื่องของแผ่นดินของเรา

         “เราก็ได้แต่หวังว่า บริษัทน้ำตาลเกาะกง น้ำตาลขอนแก่นและบริษัทเทตแอนด์ไลล์จะฟังคำร้องขอ และตกลงมาพบกับเรากับทีมทนายความ”

นายวิเรียะ เยง ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษากฏหมายเพื่อชุมชน กล่าวว่า หลายครอบครัวที่เสียที่ดินไปตั้งแต่ปี 2006 ตอนนี้อยู่ในสถานการณ์ที่สิ้นหวังจริงๆ แต่พวกเขาก็ยังยืนหยัดเพื่อต่อสู้ในทางกฏหมาย เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรม และได้รับความช่วยเหลือที่ยุติธรรม

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: