ชี้ห้ามปลูก'ไม้หวงห้าม' ละเมิดสิทธิ-ขาดรายได้

25 ส.ค. 2557 | อ่านแล้ว 6470 ครั้ง

นักวิชาการและเกษตรกรชี้ชัดคำสั่งเพิ่มชนิดไม้หวงห้ามนอกจากไม่ช่วยรักษาป่า แล้วยังดับอนาคตของเกษตรกรและละเมิดสิทธิประชาชน ผลกระทบของคำสั่งเพิ่มชนิดไม้ ทำให้เกษตรกรเลิกรับกล้าพะยูงมาปลูกในพื้นที่ตัวเอง ทุกฝ่ายชี้หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ไม้หวงห้ามจะสูญพันธุ์จากประเทศไทยแน่จากการเสวนา “ไม้หวงห้าม: รักษาหรือทำลายป่า” จัดโดยเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อการจัดการป่าอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม-เฟลกที (คปปธ.) เพื่อสะท้อนความเห็นต่อประกาศคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 106/2557 เรื่อง แก้ไขให้เพิ่มเติมชนิดไม้หวงห้าม อันได้แก่ ไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัง ไม้เก็ดแดง ไม้อีเม่ง ไม้พะยุงแกลบ ไม้กระพี้ ไม้แดงจีน ไม้ขะยุง ไม้กระซิก ไม้กระซิบ ไม้พะยูง ไม้หมากพลูตั๊กแตน ไม้กระพี้เขาควาย ไม้เก็ดดำ ไม้อีเฒ่า และไม้เก็ดเขาควาย  ผู้เสวนาชี้คำสั่งซ้ำเติมปัญหาและอุปสรรคเดิมที่มาตรา 7 ของกฎหมายป่าไม้ 2484 ได้สร้างไว้

ดร.นิคม แหลมสัก นายกสมาคมธรุกิจไม้โตเร็ว กล่าวว่า นับตั้งแต่ประเทศไทยกำหนดให้มีไม้หวงห้ามมาตั้งแต่ปี 2484 ตามมาตรา 7 ของกฎหมายป่าไม้นั้น กฎหมายดังกล่าวได้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการปลูกสวนป่าในประเทศไทย นอกจากนี้การเพิ่มชนิดไม้หวงห้ามเข้าไปนอกเหนือจากสักและยางเข้าไปอีก 17 ชนิดนั้น จะทำให้ไม้หวงห้ามของไทยสูญหายไปในที่สุด ที่สำคัญการกำหนดไม้หวงห้ามไม่ได้ช่วยป้องกันการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า

สิ่งที่รัฐควรทำเพื่อการรักษาป่าและพันธุ์ไม้ของไทยไว้ได้ คือต้องส่งเสริมและมีกลไกสนับสนุนให้ประชาชนปลูกสวนป่า และควรยกเลิกกฎหมายที่ควบคุมไม้หวงห้ามออกไปโดยทันที เพื่อสร้างอนาคตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ เพราะโลกกำลังต้องการสินค้าที่มาจากธรรมชาติ ไม่ใช่สิ่งสังเคราะห์

ด้านนายพงศา ชูแนม ผู้จัดการมูลนิธิธนาคารต้นไม้ กล่าวว่า คำสั่งฉบับที่ 106 เป็นคำสั่งที่ตลกที่สุด เพราะไม่ส่งเสริมให้คนปลูกไม้มีค่า คนปลูกสักโดนจับแต่ปลูกไม้ยูคาไม่เป็นไร นับตั้งแต่ 2484 เป็นต้นมาเราแทบจะไม่เห็นการปลูกไม้สักและไม้ยางนาเลย นอกจากนี้คำสั่งฉบับดังกล่าวยังมีการเพิ่มข้อความจากมาตรา 7 เดิมด้วยว่า ห้ามไม่ให้มีการครอบครองไม้หวงห้ามไม่ว่าจะมีปริมาณเท่าใดโดยไม่ได้รับอนุญาต การกระทำนี้จะกลายเป็นการกระทำผิดทันที ซึ่งการประกาศไม้หวงห้ามถือเป็นการทำลายแรงจูงใจอย่างสำคัญทำให้คนไม่ต้องการปลูกไม้เหล่านี้

ทางด้านผู้ประกอบการธุรกิจสวนป่า ได้เสนอประเด็นความยุ่งยากและซับซ้อนของกระบวนการขึ้นทะเบียนและการขอรับอนุญาตตัดไม้หวงห้ามตามพ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ.2535 นางยิ่งลักษณ์ ปฏิภาณเทวา นายกสหกรณ์สวนป่าเอกชน ระบุว่า การเพิ่มชนิดไม้หวงห้าม จะทำให้เกิดการยับยั้งการปลูกสร้างสวนป่า ซึ่งกระทบกับอนาคตของธุรกิจไม้เศรษฐกิจของไทยที่เป็นที่ต้องการของต่างประเทศ และสร้างผลตอบแทนให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก

ขณะที่ นายเกริก มีมุ่งกิจ เกษตรกร จ.สระแก้ว สะท้อนว่า การปลูกต้นไม้ป่า ที่มีอายุยืนและมีเนื้อแข็งนั้นถือเป็นวิธีการออมและสร้างสวัสดิการให้แก่ชาวไร่ชาวนาที่ไม่หนทางอื่นที่จะสร้างทรัพย์สินทิ้งไว้ให้ลูกหลาน ความหวังที่จะได้มอบต้นไม้ไว้เป็นมรดกให้กับลูกได้ใช้สอยหรือขายเพื่อทำประโยชน์ถูกดับลงทันทีเมื่อมีคำสั่งไม้หวงห้ามออกมา

       “เหมือนความฝันถูกทำลาย ไม้ที่เรารักและเฝ้าดูแลไว้ทุกวัน วันนี้กลายเป็นของผิดกฎหมาย กลายเป็นว่ากำลังสร้างคุกให้กับลูกหลาน”

นอกจากนี้ในการเสวนายังมีความเห็นว่า ส่วนที่เป็นปัญหาสำคัญของมาตรา 7 และคำสั่งที่ 106 คือ การระบุให้ไม้หวงห้าม “ไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ใดในราชอาณาจักร” ซึ่งรวมถึงที่ดินอันเป็นกรรมสิทธิ์ของประชาชนต้องกลายเป็นไม้หวงห้ามด้วย ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิพื้นฐานของประชาชน และทำให้ประชาชนต้องประสบปัญหาความยุ่งยากในการตัดและเคลื่อนย้ายไม้ เพราะกฎหมายกำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะทำไม้ดังกล่าว ที่แม้จะปลูกขึ้นในที่ดินของตนเอง ต้องขออนุญาตและได้รับการอนุญาตก่อนเท่านั้น มิเช่นนั้นจะได้รับโทษ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติคือ ขั้นตอนต่าง ๆ มีความซับซ้อนและยุ่งยาก จนทำให้ประชาชนจำนวนมากกลายเป็นผู้กระทำผิดในข้อหาทำไม้เถื่อนทั้งที่เป็นการตัดโค่นต้นไม้ที่ตนเองปลูกขึ้น

            “การกำหนดให้มีไม้หวงห้าม โดยไม่จำกัดพื้นที่ และรวมเอาต้นไม้ที่การปลูกขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ของประชาชนนั้น นอกจากจะไม่สามารถช่วยหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่าได้แล้ว ยังเป็นอุปสรรคประการสำคัญต่อการเพิ่มพื้นที่ป่าในพื้นที่ของประชาชน ทั้งนี้ทางเครือข่ายจะทำข้อเสนอแนะส่งให้คสช. และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาแก้ไข ให้มีการคำสั่ง 106/2557 เพื่อให้มีการยกเว้นไม้หวงห้ามที่เกิดขึ้นในที่ดินของเอกชน และที่ดินสปก.

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: