‘สงขลา-สตูล’ยื่นร้องคสช. ยันไม่เอา‘ท่าเรือ-นิคมอุตฯ’

วันชัย พุทธทอง ศูนย์ข่าว TCIJ 25 มิ.ย. 2557 | อ่านแล้ว 2319 ครั้ง

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ห้อง E-101 คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสงขลา-สตูล ประกอบด้วยประชาชนจากพื้นที่เส้นทางผ่านของเส้นทางลำเลียงสินค้าและพลังงาน ระหว่าง จ.สงขลา กับ จ.สตูล ร่วมกันเปิดเวทีอภิปรายติดตามความเคลื่อนไหวในแผนพัฒนาภาคใต้ โครงการสะพานเชื่อมเศรษฐกิจ สงขลา-สตูล หรือแลนด์บริดจ์ ในชื่อเวที ‘วิทยาลัยวันศุกร์ภาคพิเศษ : คืนแหล่งอาหารทะเลสงขลา-สตูล คือการคืนความสุขให้ประชาชน’ เพื่อแสดงเจตนารมณ์คัดค้านโครงการโครงการสะพานเชื่อมเศรษฐกิจ สงขลา-สตูล ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนภาคใต้ทั้งหมด

โดยมีตัวแทนนักวิชาการ ร่วมให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่โครงการ ประกอบด้วย น.พ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ นายสมบูรณ์ คำแหง ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องแหล่งผลิตอาหารภาคใต้ นายกิติภพ สุทธิสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์แหล่งอาหารทะเลจะนะ และนายวิโชค รณรงค์ไพรี ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล

น.พ.สุภัทรกล่าวว่า ตอนนี้มีความเป็นห่วงว่าในอนาคตข้างหน้าหากพื้นที่ จ.สงขลา และ จ.สตูล ถูกพัฒนาให้เป็นเขตอุตสาหกรรมหนัก ประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 ฝั่ง คือ ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 กำหนดพื้นที่ก่อสร้างบริเวณบ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา และท่าเรือน้ำลึกปากบารา พื้นที่ก่อสร้างที่บ้านปากบารา ต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล จากนั้นจะตามมาด้วยการก่อสร้างคลังน้ำมัน และนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

โดยข้อมูลในส่วนนี้ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยทราบข้อมูลอย่างทั่วถึง ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าหากทิศทางการพัฒนาเป็นไปในลักษณะเปลี่ยนภาคใต้ไปเป็นเขตอุตสาหกรรม ผลกระทบที่จะตามมาก็จะไม่แตกต่างจากผลกระทบที่เกิดกับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ใน จ.ระยอง

น.พ.สุภัทรกล่าวต่อว่า ผลกระทบที่ชัดเจนคือ เรื่องสุขภาพของประชาชนทั้งผู้ที่ทำงานในโรงงานต่าง ๆ รวมทั้งผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนใกล้กับเขตอุตสาหกรรม ทุกวันนี้พบว่ามีผู้ป่วยที่เจ็บป่วยด้วยอาการทางระบบหายใจเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก หน่วยงานภาครัฐเบี่ยงเบนข้อมูลว่าเกิดจากอาการภูมิแพ้ แต่แท้จริงแล้วมันคือ อาการของคนเป็นโรคมะเร็งนั่นเอง แน่นอนว่าหากเราพัฒนาภาคใต้ไปในทิศทางนี้ ประชาชนก็จะตกอยู่ในชะตากรรมไม่แตกต่างกับที่ชาวมาบตาพุดประสบอยู่ในขณะนี้

นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องแหล่งผลิตอาหารภาคใต้ กล่าวว่า ภาครัฐสร้างวาทกรรมว่า หากโครงการแลนด์บริจด์เกิดขึ้น จะทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเข้าทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม แต่แท้จริงแล้วเรื่องนี้เป็นมายาคติ เพราะประชาชนที่พึ่งพาวิถีเกษตรกรรม และการประมงจะสูญเสียพื้นที่ทำกินโดยสิ้นเชิง

นายประสิทธิ์ชัยกล่าวอีกว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะใหญ่มากกว่ากรณีมาบตาพุด ถ้าสมมติว่าโครงการนี้ลงทุน 1 แสนล้าน หากนำเงินในส่วนนี้มาพัฒนาภาคการเกษตรและประมง หากรัฐบาลหวังดีต่อประชาชนภาคใต้จริงเงิน 1 แสนล้านนี้ก็จะสามารถสร้างรายได้สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชนในภาคใต้ได้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน

แต่หากนำเงิน 1 แสนล้านไปทำโครงการอุตสาหกรรม ก็จะช่วยได้เพียงคนกลุ่มเดียวเท่านั้นคือ นักลงทุน ขณะที่ชาวบ้านกว่า 10 ล้านคนนั้นจะต้องได้รับผลกระทบทางอาชีพ และการดำเนินชีวิตไปตลอดจนชั่วลูกชั่วหลาน การบอกว่าอุตสาหกรรมช่วยคนมีรายได้เป็นเรื่องโกหก เพราะตัวเลขจากการศึกษาวิจัยที่มาบตาพุดชี้ชัดว่า รายได้หลักของประชาชนมากจากภาคการเกษตร ประมง และการท่องเที่ยว

ด้านนายกิติภพ สุทธิสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์แหล่งอาหารทะเลจะนะ กล่าวว่า บทเรียนที่ผ่านมาจากการต่อสู้กับโครงการขนาดใหญ่ คือ โรงแยกก๊าซจะนะ นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา พบว่าก่อนหน้านี้มีเพียงประชาชนใน อ.จะนะ เพียง 8 หมู่บ้านที่มาร่วมกันคัดค้านโครงการ ขณะที่ประชาชนพื้นที่อื่นถูกวาทกรรมว่าสร้างโรงแยกก๊าซ ประชาชนจะได้ใช้ก๊าซราคาถูก ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าตลอดระยะเวลา 17 ปีที่ผ่านมา เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องหลอกลวง วันนี้เราจึงเห็นประชาชนจากหลากหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมมือกันมาร่วมกันรับฟังข้อมูล เพราะต่อจากนี้ประชาชนทุกคนจะต้องร่วมกันกำหนดอนาคตของเราเอง

            “17 ปีที่ผ่านมา ผมไประยอง 9 ครั้ง พาพี่น้องภาคใต้ไปดูนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ให้เขาได้ศึกษาด้วยตนเองว่าอุตสาหกรรมทำอะไรกับชาวบ้านบ้าง ไปครั้งแรกบางคนถึงกับต้องวิ่งขึ้นรถ เพราะทนรับสภาพมลพิษทางอากาศของที่นั่นไม่ไหว เมื่อหันมาดูที่ภาคใต้บ้านเรา นิคมอุตสาหกรรมแบบเดียวกับที่ระยอง กำลังจะย้ายมาก่อสร้างในภาคใต้

            “เนื่องจากที่ จ.ระยอง ไม่สามารถขยายพื้นที่อุตสาหกรรมได้อีกต่อไปแล้ว แต่คนใต้ต้องกลับมาคิดว่าเราจะยอมให้มันเกิดขึ้นหรือไม่ จะยอมให้ภาครัฐเข้ามาปลุกปั่นทำให้คนใต้แตกแยกเหมือนเมื่อครั้งโครงการก่อสร้างโรงแยกก๊าซ และท่อส่งก๊าซไทยมาเลเซีย เราจะยอมอีกหรือไม่ ที่จะให้พวกเขามาทำลายศักยภาพในพื้นที่ ซึ่งเป็นสมบัติล้ำค่าที่เรามี นั่นก็คือเรามีทะเลมีทรัพยากรที่เป็นแหล่งอาหารแหล่งประกอบอาชีพ และแหล่งรายได้หลักของเรา เราจะยอมหรือไม่” นายกิตติภพกล่าว

ทางด้านนางเจ๊ะนะ วัฒนพันธุ์ ชาวบ้านปากบารา อ.ละงู จ.สตูล กล่าวว่า จากโครงการเหล่านี้ ทำให้พบว่าจ.สตูล และสงขลาจะต้องสูญเสียพื้นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย และแหล่งทรัพยากร และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ด้วยการเวนคืน ริบคืน นี่คือรูปธรรมความสูญเสียเบื้องต้นที่จะต้องสังเวยให้กับแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ

ส่วนความเสียหาย และการสูญเสียอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่กระทบกับชุมชนแทบทั้งสิ้น คือ พื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา และชายฝั่งอ่าวปากบารา จำนวน 4,734 ไร่ จะต้องถอนสภาพ และยกให้กับกรมเจ้าท่าเพื่อเป็นที่ตั้งในการสร้างท่าเรือฯ นั่นหมายถึงการเสียพื้นที่ทำกิน แหล่งท่องเที่ยว และอาจจะรุกถึงพื้นที่ของชุมชนหลังท่าเรือในระยะต่อไป (ขณะนี้กรมเจ้าท่ายื่นขอใช้พื้นที่จะกรมอุทยานฯแล้ว กำลังรออนุมัติ)

ชาวบ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา จะต้องสูญเสียพื้นที่ชายฝั่งทะเลในหมู่บ้าน เพื่อการสร้างท่าเรือน้ำลึกบ้านสวนกง ซึ่งจะส่งผลกระทบกับชุมชนบริเวณนั้นในหลายมิติตามมา

มีการออกกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินของชาวบ้านลาหงา ในต.ละงู มีที่อาศัย และที่ทำกินในบริเวณนั้น จำนวน 82 ราย รวมเนื้อที่กว่า 40 ไร่ เพื่อต้องการก่อสร้างและขยายถนนเข้าสู่ท่าเรือน้ำลึกปากบารา กฤษฎีการอบแรกหมดอายุไปแล้ว

ที่ตั้งคลังน้ำมัน และอาจจะมีโรงแยกกลั่นน้ำมัน บนเนื้อที่ 5,000 ไร่ ของบ้านปากบาง และบ้านใกล้เคียงในตำบลละงู และที่ตั้งคลังน้ำมันอีก 10,000 ไร่ ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ได้มีการสำรวจออกแบบเบื้องต้นไว้แล้ว โดยการ ปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เป็นเจ้าของเรื่อง

ชาวบ้านตำบลทุ่งนุ้ย จะต้องสูญเสียที่ทำกินเพราะถูกน้ำท่วมรวมพื้นที่เกือบ 2,000 ไร่ เพื่อโครงการเขื่อนคลองช้าง ที่ขณะนี้กำลังศึกษา และออกแบบโครงการ คาดว่าน้ำจากเขื่อนแห่งนี้จะถูกนำมาเป็นปัจจัยสำคัญในการเกิดขึ้นของโครงการที่อยู่ในแผนพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต

นางเจ๊ะนะกล่าวต่อว่า มีการเวนคืน ริบคืน พื้นที่ตลอดเส้นทางรถไฟจากสตูล-สงขลา ในระยะความกว้างเบื้องต้นประมาณ70-100 เมตร ตลอดความยาว 142 กิโลเมตร เพื่อวางรางรถไฟแบบรางคู่ และอาจะมีการขยายเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป เวนคืนพื้นที่ทำนาบ้านนายสี ต.หูทุ่งตำเสา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จำนวน 5,000 ไร่ เพื่อจัดทำเป็นลานเทกองสินค้า ซ่อมเก็บตู้คอนเทนเนอร์

มีการระเบิดภูเขาจำนวน 8 ลูก ถูกสำรองไว้เพื่อถมทะเลเป็นท่าเรือ พบว่ากระจายในอ.ควนกาหลง 6 ลูก อ.ทุ่งหว้า 1 ลูก และอ.ละงู 1 ลูก ซึ่งกรมเจ้าท่าอ้างว่าไม่ต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากการระเบิดภูเขา เพราะจะซื้อจากบริษัทเอกชน

ทรายชายหาดเพื่อถมทะเลสร้างท่าเรือจำนวน 20 ล้านคิว ในเอกสารระบุชัดเจนว่า ทรายจากบ้านบ่อเจ็ดลูก 10 ล้านคิว และทรายจากบ้านปากละงู บ้านหัวหินอีก 10 ล้านคิว เป็นทรายมีคุณภาพมีการกำหนดพื้นที่จะเป็นนิคมอุตสาหกรรม 150,000 ไร่ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ต.เขาขาว และตำบล

ใกล้เคียง ของอ.ละงู ขณะนี้ได้มีการแก้ไขผังเมืองใหม่ และได้กำหนดให้พื้นที่แห่งนี้เป็นโซนอุตสาหกรรม ผังเมืองใหม่นี้จัดทำเสร็จแล้ว แ ละกำลังรอประกาศบังคับใช้

ด้านนายเพียน ปุกแก้ว จากชุมชน บ้านนายสี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กล่าวว่า วันนี้ประชาชนที่จะได้รับความเดือนร้อนจากโครงการสะพานเชื่อมเศรษฐกิจ สงขลา-สตูล หรือแลนด์บริดจ์ ได้ร่วมกันพูดคุยและมีความเห็นร่วมกันว่าต้องการสื่อสารไปให้ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้รับทราบว่า หากมีการดำเนินการโครงการดังกล่าวประชาชนจะได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก และพื้นที่ผลิตอาหารทั้งในทะเลและบนบกจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ดังนั้นการเดินทางมายื่นหนังสือในวันนี้เพื่อต้องการบอกข่าวให้คสช.ได้ทราบว่า ประชาชนจะเดือดร้อนหากโครงดังกล่าวเกิดขึ้น และคนที่ได้รับประโยชน์มีเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: