บทวิเคราะห์ : สงครามยืดเยื้อ

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี 25 ก.พ. 2557 | อ่านแล้ว 1586 ครั้ง

แต่แมัจะยังไม่จบจนกว่าบรรดาศักดินา อภิชน และ กฎุมพีในเมืองหลวง จะเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมการเมือง ภูมิทัศน์ใหม่ทางการเมืองของประเทศดีกว่านี้และประการสำคัญ รู้จักใช้วิธีการต่อสู้ที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของโลกมากกว่านี้ และมีเป้าหมายของการต่อสู้ที่ควรจะมุ่งประโยชน์สุขของมหาชนส่วนใหญ่มากกว่านี้ หาไม่แล้ว ไม่เพียงแต่จะไม่ชนะ แต่ประเทศชาติที่พวกเขาแสดงความรักกันมากมายในเวลานี้ ก็จะพลอยพังพินาศลงไปด้วย

ภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไปมากในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงพื้นฐานของการผลิตของประเทศ ภาคเกษตรหดตัวลงมาก แหล่งรายได้นอกภาคเกษตรของประชาชน แม้แต่ผู้ที่อยู่ในภาคเกษตรเองเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือ ภาคอีสานนั้น ประชาชนไม่ได้พึ่งพิงรายได้จากภาคเกษตรอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว งานวิจัยทางวิชาการหลายชิ้นยืนยันเช่นนั้น ชิ้นล่าสุดของ ดร.อภิชาติ สถิตนิรามัย และคณะก็ยังยืนยันเช่นนั้น

ประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนพบว่า ในครัวเรือนชนบทปัจจุบันนี้ มีรายได้จากภาคเกษตรส่วนหนึ่ง อีกหลายส่วนมาจากการอพยพเข้าไปทำงานในเมือง ในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ของสมาชิกในครอบครัว ตัวเลขทางเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า ภาคเกษตรมีสัดส่วนต่อผลผลิตมวลรวมภายในประเทศแค่ไม่ถึง 10 เปอร์เซนต์ แต่กำลังแรงงานจำนวนมากเกือบ 40 เปอร์เซนต์ยังอยู่ในภาคเกษตร แปลว่า ส่วนหนึ่งพวกเขาไม่ได้ยังชีพด้วยรายได้จากการเกษตรอีกต่อไปแล้ว คนจำนวนมากจะต้องทำงานอย่างอื่นที่ใช่ภาคเกษตร แต่พวกเขาก็ไม่ได้อพยพเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม หรือภาคบริการในเมืองเสียทั้งหมด การศึกษาวิจัยจำนวนหนึ่งพบว่า พวกเขากลายเป็นแรงงานที่ประกอบอาชีพอิสระอยู่ในภาคเศรษฐกิจ ที่ไม่เป็นทางการหรือเรียกว่าเป็นแรงงานนอกระบบก็ว่าได้ รายงานของดร.อภิชาติพบว่า มีอยู่ถึง 38.7 เปอร์เซ็นต์ของกำลังแรงงานทั้งหมด กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยนัก พวกเขาอาจจะหาได้แต่ละเดือนน่าจะประมาณ 10,000 บาท พวกเขาอาจมีที่ดินเป็นของตัวเอง ทำเกษตรบ้าง ทำอย่างอื่นบ้าง ชีวิตผูกพันอยู่กับระบบเศรษฐกิจเชิงพาณิชย์อย่างมาก แต่ก็ขาดหลักประกันเรื่องความมั่นคง นักวิชาการเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ชนชั้นกลางใหม่บ้าง ชนชั้นกลางต่ำบ้าง บางทีก็เรียกพวกชาวเมืองบ้านนอก (urbanized villager) เพราะเขาเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างเหมืองกับชนบท อีกทั้งชนบทก็มีความแตกต่างจากเมืองน้อยลงเรื่อย ๆ

ในทางการเมือง ชนชั้นใหม่นี้จะมองหาประโยชน์จากนโยบายสาธารณะและบริการของรัฐเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต วิธีเดียวที่ทำให้พวกเขาได้ประโยชน์จากรัฐได้คือ มีตัวแทนผ่านการเลือกตั้งเข้าไปแย่งชิงมา และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมพรรคการเมืองของทักษิณสามารถเอาชนะใจคนเหล่านี้ได้ เพราะทักษิณสามารถเสนอสิ่งที่พวกเขาต้องการได้ สวัสดิการทางด้านสุขภาพ แหล่งเงินทุนสำหรับการประกอบอาชีพ โอกาสทางการศึกษาให้ลูกหลานในระดับที่สูงขึ้น สิ่งเหล่านี้เติมเต็มให้กับชีวิตของพวกเขาอย่างมาก ดูเหมือนว่าในระยะหลัง ๆ พวกเขาจะหวงแหนการเลือกตั้งเป็นพิเศษ เพราะเห็นแล้วว่าเพียงปากกาด้ามเดียวที่ใช้ในการลงคะแนนเสียง ทำให้สามารถเข้าถึงหลายอย่างที่ก่อนหน้านี้จินตนาการไม่ออกเลยว่าจะเป็นไปได้

สำหรับพวกศักดินา กฎุมพีในเมืองหลวงแล้ว นโยบายแบบนั้นคือประชานิยมที่นักการเมืองฉ้อฉลอย่างทักษิณสร้างขึ้น เพื่อมอมเมาผู้คงคะแนนเสียงให้เสพติดในนโยบายที่เป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจของชาติ แต่สำหรับประชาชนผู้ด้อยโอกาสแล้วนี่ เกือบจะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้พวกเขาสามารถใช้ทรัพยากรจากงบประมาณแห่งชาติ มาสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตได้อย่างเป็นระบบ ความจริงก็คงไม่แต่เฉพาะทักษิณหรอก พวกเขายินดีเลือกใครก็ตามที่สามารถทำอย่างนั้นได้ แม้แต่พรรคการเมืองที่ชนชั้นสูงนิยม หากมีแนวนโยบายที่จะอำนวยประโยชน์แก่ประชาชนกลุ่มใหม่นี้ได้บ้าง พวกเขาคงมีโอกาสชนะการเลือกตั้งเช่นกัน

ปัญหาคือศักดินาและกฎุมพีเมืองหลวงไม่เลือกทางนั้น แม้แต่พรรคการเมืองที่พวกเขานิยมก็ไม่มีศรัทธาว่าประชาชนจะเลือกรัฐบาลมาบริหารประเทศได้อย่างเสรี แต่อยากใช้กำลังยึดอำนาจรัฐเอาง่าย ๆ เพราะมีความเข้าใจแบบผิด ๆ ว่า ชนบทไทยนั้นหยุดนิ่งอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมถ์ของนักการเมืองในกลุ่มตรงกันข้ามกับตน ทั้งยังตกเป็นทาสน้ำเงินจากการซื้อเสียงของนักการเมืองชั่วที่เอาเงินหว่านประชาชนเพื่อหวังเข้ามากอบโกยเท่านั้นเอง

ทักษิณและพรรคพวกของเขาอาจจะมีความชั่วหลายอย่างอยู่จริง คงมีการคอร์รัปชั่นไม่น้อยในสมัยที่เขามีอำนาจอยู่ หรือแม้แต่รัฐบาลที่อยู่ในเครือข่ายของเขาปัจจุบันก็อาจจะมีการคอร์รัปชั่นอยู่เช่นกัน แต่การที่ชนชั้นสูงในประเทศนี้ปราบปรามนักการเมืองเหล่านั้นโดยใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจในปี 2549 นั้นเป็นการเริ่มต้นการแก้ปัญหาที่ผิดตั้งแต่ก้าวแรกเลยทีเดียว เพราะการรัฐประหารที่ปัจจุบันก็มีชนชั้นสูงอีกมากศรัทธาอยู่นั้น คือการตัดสิทธิ์ของประชาชนที่จะเข้าถึงทรัพยากรของชาติอย่างไร้ความชอบธรรมที่สุด การรัฐประหารในยุคก่อน ๆ อาจจะทำได้ง่าย เพราะประชาชนจำนวนมากของประเทศนี้ ไม่ค่อยได้ประโยชน์อะไรจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง พวกเขาคงไม่สนใจปกป้องรัฐบาลเหล่านั้น เพราะถือว่าใครปกครองก็เหมือนกัน

แต่การรัฐประหารในเวลาที่ประชาชนจำนวนมากตื่นตัวกับผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมที่พวกเขาจับต้องได้จากการเมือง เป็นความผิดพลาดครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองพวกศักดินาและกฎุมพีในเมืองหลวง

มาถึงปัจจุบันนี้เกือบ 10 ปีแล้วพวกเขาก็ยังมองไม่เห็นความผิดพลาดในครั้งนั้น ในการต่อสู้ทุกวันนี้พวกเขาก็ยังเสนออย่างเดิม ๆ ถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนรูปแบบมาในนามของหมู่มหาประชาชน หรือคณะตุลาการใด ๆ แต่เนื้อหาก็ยังเหมือนเดิมคือ พยายามจะตัดขาดโอกาส และความเชื่อมโยงของประชาชนผู้ด้อยโอกาสกับการเข้าถึงทรัพยากรของชาติ ด้วยการบอกว่า มีแต่ชนชั้นสูง ผู้มีการศึกษาสูง คนที่มีคุณงามความดีเท่านั้นที่มีสิทธิในการเลือกผู้บริหารประเทศมาทำหน้าที่แบ่งปันผลประโยชน์แห่งชาติ คนอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนในชนชั้นใหม่นั้นไม่มีสิทธิ์

ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ศักดินา กฎุมพีเมืองหลวงเอาชนะทักษิณไม่ได้สักทีคือ ใช้วิธีละเมิดและบิดเบือนกฎหมายอันเป็นการทำลายหลักการพื้นฐานของระบบ ในขณะที่กล่าวหาทักษิณว่าทำการฉ้อฉล ใช้อำนาจมิชอบ ไม่ยึดหลักนิติธรรม แต่การต่อสู้ของพวกเขากลับเริ่มต้นด้วยการรัฐประหารซึ่งเป็นวิธีการที่ทางการเมืองที่ฉ้อฉลที่สุด ทำลายแม้แต่รัฐธรรมนูญ ใช้ศาลบิดหลักกฎหมายหลายประการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับต่อสู้ของพวกเขา หรือใช้วิธีการในการเลือกปฎิบัติ (สองมาตรฐาน) อย่างโจ่งแจ้ง ซึ่งเป็นการทำลายหลักนิติธรรมโดยตัวเอง การชี้หน้าด่าทักษิณว่ากระทำการเช่นนั้นโดยไม่เหลียวมองตัวเองและพวกพ้องเลยจึงเป็นสิ่งที่น่าอับอายและไร้ความน่าเชื่อถืออย่างยิ่ง การพูดแบบนั้นในหลายกรณีมันก็ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการประจานความผิดพลาดของตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า

มีความเป็นไปได้ว่า เครือข่ายศักดินากฎุมพี ที่กำลังต่อสู้กำจัดทักษิณในเวลานี้ อาจจะประสบผลสำเร็จในเร็ววันนี้ ด้วยวิธีทางทหารอีกครั้งหรือใช้กระบวนการทางตุลาการ แต่ชัยชนะของพวกเขาจะไม่ยั่งยืน เพราะในที่สุดพวกเขาไม่อาจจะหลีกหนีระบบเลือกตั้งไปได้ เมื่อเปิดเวทีขึ้นมาอีก สถานการณ์ก็จะเป็นแบบเดิม พวกเขาอาจจะมีอิทธิฤทธิ์บีบให้ตระกูลชินวัตรออกไปจากการเมืองได้ แต่ก็จะมีคนอื่นที่มีลักษณะเดียวกันมาแทนอยู่ดี

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: