โอดปฏิรูปกี่ครั้งรัฐบาลก็ละเลยเกษตรกร ติงเลิกดูถูกคนชนบทยิ่งทำให้เกิดช่องว่าง

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 24 ม.ค. 2557 | อ่านแล้ว 1699 ครั้ง

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังรุนแรง และมองไม่เห็นหาทางออกในปัจจุบัน เวทีเสวนาเพื่อเสนอแนวทางการปฎิรูปในมิติต่าง ๆ ถูกจัดขึ้นมากมาย ล่าสุดสภาเกษตรกรแห่งชาติ ในฐานะขององค์กรตัวแทนภาคเกษตรกรรม จัดเวทีเสวนาหัวข้อ “ปลดล็อควิกฤติการเมือง...เดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย” มีเป้าหมายหลัก เพื่อหาข้อเสนอในมิติของการปฏิรูปในภาคเกษตรกรรม เนื่องจากที่ผ่านมาภาคเกษตรมองว่า ภาคการเมืองยังไม่เคยพูดถึงมิตินี้เลยไม่ว่าเวทีไหนก็ตาม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของความร้อนแรงต่อประเด็นปัญหาความเดือดร้อนของชาวนาจำนวนมาก ในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ที่ยังหาทางออกไม่ได้ ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นให้ประเด็นในภาคเกษตรเป็นที่สนใจเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

สภาเกษตรกรฯ จี้ปฏิรูปภาคเกษตรกรรมด้วย

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรแห่งชาติ กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดเสวนา โดยระบุว่า ภายใต้วิกฤติการเมืองที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ จำเป็นจะต้องมีการปฏิรูปประเทศไทยในทุกด้าน เพื่อความเป็นธรรมและความเท่าเทียมกันในสังคมไทย จึงจะช่วยคลี่คลายแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ในระยะ และการเปิดเวทีให้ภาคส่วนต่าง ๆ มีส่วนร่วมเสนอแนะแนวทางการแก้ไขคลี่คลายวิกฤติการเมือง โดยเห็นว่าหากจะมีการเสนอให้มีการปฏิรูปขึ้นจริง ภาคการเกษตร ก็ควรจะเป็นอีกมิติหนึ่งที่สังคมจะต้องให้ความสำคัญมาเป็นอันดับแรก ๆ เพราะเกษตรกรเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ จึงควรที่จะได้รับประโยชน์จากการปฏิรูปครั้งนี้ด้วยเช่นกัน หากแต่ที่ผ่านมาในการกล่าวถึงการปฏิรูปในหลาย ๆ ครั้ง กลับพบว่า คนในภาคเกษตรกลับได้รับประโยชน์น้อยมาก หรือแม้แต่การพูดถึงการปฏิรูปครั้งนี้ก็ตาม ก็ยังไม่เคยเห็นว่า จะมีการพูดถึงความพยายามที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ให้กับคนภาคเกษตร เพราะคนชนบทยังประสบปัญหาความยากจนเช่นเดิม และที่สำคัญในการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่าง ๆ ก็ไม่เคยพบว่ามีการพูดถึงรายละเอียด ในเรื่องของการแบ่งปันทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกันด้วย

            “จริง ๆ แล้วทุกคนรู้ว่าทำไมคนในชนบท จึงมีทัศนคติทางการเมืองที่แตกต่างกับคนในเมือง เพราะข้อจำกัดของความเป็นเกษตรกร ความยากจน ที่ทำให้นโยบายแบบประชานิยมได้รับการตอบรับมาก ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า คนชนบท หรือคนในภาคเกษตรส่วนใหญ่ ไม่เคยได้รับการแบ่งปันทรัพยากรอย่างเท่าเทียม แม้จะมีการปฏิรูปสักกี่ครั้ง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ ผู้ที่ได้รับประโยชน์ก็ล้วนแต่เป็นคนในเมือง ภาคอุตสาหกรรม ภาคเศรษฐกิจทั้งสิ้น ดังนั้นจะทำอย่างไรที่เราจะหาทางในการพัฒนา หรือปฏิรูปภาคเกษตรกรไปพร้อม ๆ ไม่ใช่การผลักให้คนชนบทไปอยู่ข้างหลัง เพราะจะยิ่งทำให้ช่องว่างของสังคมมากขึ้น และหากเราสามารถปฏิรูปภาคเกษตรกรรม ทำให้เกษตรกรเท่าเทียมกับภาคอื่น กินดีอยู่ดี ปัญหาจากนโยบายประชานิยมคงไม่เกิดขึ้น “ นายประพัฒน์กล่าว

ชี้คนเมืองอย่าสร้างช่องว่างด้วยการดูถูกคนชนบท

นอกจากนี้ นายประพัฒน์ยังเห็นว่า ในการที่ทุกฝ่ายต้องการจะปฏิรูปประเทศในขณะนี้ ก็ควรจะพลิกวิกฤติของประเทศ ให้เป็นโอกาสในการที่จะปฏิรูปในทุก ๆ ส่วน รวมถึงภาคเกษตรไปด้วย เพราะตอนนี้ทุกคน อยากเห็นความโปร่งใส ปราศจากการคอร์รัปชั่น อยากเห็นการเมืองที่มีคุณภาพ แต่กลับไม่พยายามที่จะเดินหน้า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การที่คนในประเทศถูกแบ่งแยกทางความคิด มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นได้ อย่างไรก็ตามเป็นความจริงอยู่แล้วว่า ถึงจะคิดไม่เหมือนกัน ก็ไม่มีทางที่ต่างฝ่ายจะล้มล้างคนที่มีความคิดไม่เหมือนกันได้หมดอยู่แล้ว ทางออกจึงอยู่ที่การเจรจา ในสถานการณ์เช่นนี้ ตนเห็นว่า นายกรัฐมนตรีสามารถที่จะถอยได้อยู่แล้ว จะถอยแบบไหน ถอยอย่างมีเงื่อนไขก็ได้ ในขณะที่อีกฝ่ายก็ควรถอยลงมาเพื่อหาทางออกแก้ไข เพราะหากปล่อยไปอย่างนี้ ความขัดแย้งรุนแรง จะทำให้เกิดความเสียหาย ความร้าวลึกมากแต่ไม่ได้อะไรขึ้นมา ก็ถือว่าเป็นการดำเนินการที่สูญเปล่า แทนที่ประเทศจะได้โครงสร้างใหม่ที่ดี ๆ กฎหมายดี การเมืองดี เพราะเชื่อขณะนี้ถูกคนอยากได้สิ่งนี้เหมือน ๆ กัน

            “การเมืองก้าวหน้าที่เราต้องการ หมายถึงทุกคนจะต้องมีหน้าที่คือ ดันคนข้างหลังให้เดินมาเท่าเทียมกัน ไม่อยากให้ไปตำหนิ ดูถูก ประณาม ความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน เพราะโดยบริบทของวิถีชีวิตคนในเมืองกับคนชนบทย่อมต่างกันอยู่แล้ว เพราะหากทำอย่างนั้นเท่ากับเป็นการถีบให้คนห่างไกลออกไปอีก และถ้าไม่ปรับปรุงความคิดเช่นนี้ ต่อให้ปฏิรูปกี่ครั้งผมคิดว่าก็เหมือนเดิม เพราะกลุ่มคนที่จะต้องใช้สิทธิเสียงยังเป็นคนกลุ่มเดิม ถ้าไม่มีขั้นตอนปรับปรุงให้ประชาชนในประเทศนี้มีคุณภาพ มีแนวคิดไปในทางก้าวหน้าคือขจัดความเหลื่อมล้ำออก ให้เกิดความเท่าเทียม ไม่ดูถูกกัน เหมือนในขณะนี้”

เดายากว่าชาวนาจะเข้าร่วมกับกปปส.หรือไม่

เมื่อถูกถามถึงแนวโน้มของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มภาคเกษตรกร โดยเฉพาะชาวนา ว่าจะมีโอกาสเข้าร่วมกับกลุ่ม กปปส.ในขณะนี้มีมากน้อยเช่นไร นายประพัฒน์กล่าวว่า ตอนนี้สิ่งที่กลุ่มชาวนาต้องการคือ เงินจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เพราะตอนนี้ทุกคนเดือดร้อนมาก โดยเฉพาะกลุ่มชาวนาระดับกลาง ที่เป็นหนี้เป็นสินหลายอย่าง ตอนนี้จะทำอย่างไรที่จะให้ได้เงินที่จำนำข้าวไปแล้วกลับมา แต่หากยังไม่ได้เงินตามกำหนดเวลา ก็เป็นไปได้ที่อาจจะมีการเคลื่อนไหวเหมือนกัน อย่างไรก็ตามก็ยังมีเงื่อนไขอยู่อีก โดยเฉพาะท่าทีของการชุมนุมทางการเมือง ที่มีประเด็นปราศัย ที่ไปส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของกลุ่มคนในชนบท ในภาคเกษตรกร ทำให้เกิดความรู้สึกแบ่งแยก ไม่พอใจขึ้นมาเพราะเหมือนพวกเขาถูกดูถูก ซึ่งก็เป็นเรื่องที่คาดเดายาก แต่ประเด็นหลักตอนนี้คือเรื่องความเดือดร้อนของชาวนาที่จะต้องหาทางออกก่อน

            “จากที่สำรวจความคิดเห็น ความรู้สึกของเกษตรกร โดยเฉพาะกลุ่มชาวนา ตอนนี้เขามองเรื่องความเดือดร้อนที่จะต้องแก้ไขให้ได้ก่อน อย่างไรก็ตามแม้ว่าที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าภาคเกษตรกร ที่มีข้อจำกัดเรื่องของวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และการทำมาหากิน ทำให้นโยบายประชานิยมเป็นที่ถูกใจและได้การตอบรับมาก แต่หากย้อนกลับไปความผิดพลาดในนโยบายของรัฐบาลหลายเรื่องที่สะสมมาก็มาก ทำให้กลุ่มเกษตรกรก็มีแนวโน้มเอนเอียง และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน แต่ก็มาติดกับสิ่งที่กปปส.ใช้ขึ้นกล่าวปราศัย หรือ เนื้อหาที่อาจจะไปส่งผลกระทบต่อความรู้สึกกับคนชนบท ก็เลยเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ตอนนี้จึงไม่แน่ใจในทิศทางทางการเมือง เพราะถึงแม้จะพร้อมที่จะปฏิรูป แต่การเคลื่อนทางการเมืองก็กลับแบ่งแยกชนบทออกจากคนเมืองอีก” นายประพัฒน์กล่าว

เสนอเลิก พรก.ฉุกเฉินหันหน้าเจรจา-แก้ปัญหาชาวนาด่วน

ขณะที่ นายศรีสุวรรณ ควรขจร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน กล่าวว่า วิกฤติในขณะนี้ก็พอมองได้ว่า การเลือกตั้งคงเดินหน้าไปอย่างลำบาก ในขณะที่ปัญหาเงินค่าข้าวของชาวนาก็ยังไม่ได้ ทำให้เห็นว่าตอนนี้รัฐบาลไม่ควรที่จะยึดหลักนิติศาสตร์จนสุดโต่ง เพราะจะทำให้ทุกอย่างติดล็อคไปหมด คนที่ลำบากที่สุดตอนนี้คือชาวนา ตอนนี้ต้องยอมรับว่าเข้าสู่สถานการณ์จนตรอกแล้ว ทั้งนี้ตนมองว่า การเลื่อนการเลือกตั้งออกไป อาจจะทำให้ได้รัฐบาลช้ากว่า ดังนั้นขณะนี้ควรจะให้พรรคการเมืองต่าง ๆ มาร่วมเจรจาเพื่อหาวันเลือกตั้งใหม่ และนักการเมืองเองจะต้องช่วยกันหาทางเจรจา หาทางออกว่าจะให้ชาวนาได้ค่าประกันข้าวได้อย่างไร เพราะพี่น้องเกษตรกร ประสบปัญหาจำนำข้าว เป็นเรื่องจริง เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบอย่างแรง ตั้งแต่เรื่องของเศรษฐกิจไปจนถึงประชานิยมที่ส่งผลทางลบ จะต้องมีข้อเสนอว่า สิ่งที่ดีกว่าคืออะไร โดยพรรคการเมืองจะต้องลงสัญญาว่า หากได้เข้าไปจะต้องมีการปรับปรุงกฎหมาย เพราะตอนนี้ไม่มีการพูดเรื่องใด ๆ จากพรรคการเมืองเลย นอกจากที่จะพูดถึงเรื่องการเลือกตั้ง เพียงอย่างเดียว

นายศรีสุวรรณกล่าวว่า หากจะให้เสนอเป็นรูปธรรมแล้ว ตนคิดว่า สิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องทำในขณะนี้ ประการแรกเลยคือ ทุกฝ่ายที่อยู่ในความขัดแย้งจะต้องยอมที่จะหันหน้ามาคุยกัน และจะต้องยกเลิกการประกาศ พรก.ฉุกเฉิน เพราะเป็นทางเดียวที่หาทางออกต่อไป ข้อที่สองคือ ถ้าหากทั้งสองฝ่ายยังไม่ยอมที่จะเจรจากัน ต้องเป็นฝ่ายประชาชนที่จะต้องออกมากดดันเพื่อให้เกิดการคุยกัน นำไปสู่การปลดล็อคปัญหาต่างๆ ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ และข้อที่สามคือการปฏิรูปจะต้องมีเนื้อหาให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจทุกภูมิภาค หมดไป ประชาชนจะต้องมีส่วน ยั่งยื่นไม่เป็นภาระ และข้อที่สี่ คือจะต้อพิจารณาหลัก นิติศาสตร์ ร่วมกันโดยมีหลักการดำเนินการพิจารณาอย่างสมดุล

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: