บทวิเคราะห์: การปฏิรูป รัฐธรรมนูญ และการมีส่วนร่วม

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี 23 พ.ย. 2557 | อ่านแล้ว 1701 ครั้ง

รัฐบาลและคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญทำทีเป็นเปิดรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญใหม่เท่านั้น ไม่ได้มุ่งหวังให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จริงๆ แต่อย่างใด

การประชดประชันต่อว่าต่อขานพรรคการเมืองหรือกลุ่มบุคคลที่ไม่ต้องการเข้าร่วมให้ความชอบธรรมแก่พิธีการดังกล่าว ทำนองว่า ไม่อยากร่วมก็ตามใจ เพราะเปิดโอกาสให้แล้ว จะมาต่อว่าทีหลังไม่ได้นั้น ก็เป็นแต่เพียงลูกไม้ตื้นๆ ที่ใช้แก้เกี้ยวเท่านั้น

การมีส่วนร่วมในการปฏิรูปและจัดทำรัฐธรรมนูญในความหมายที่แท้จริงนั้นจะไม่เกิดขึ้นภายใต้สภาพการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งดุลยภาพทางการเมืองอยู่ในสภาพที่ผิดปกติ กลุ่มพลังทางการเมืองไม่ว่าภายใต้ชื่ออะไรไม่สามารถแสดงความต้องการทางการเมืองที่แท้จริงของตนเองออกมาได้ เพราะฝ่ายหนึ่งอาศัยกำลังทางทหารเข้ายึดกุมอำนาจเอาไว้ก่อนแล้ว

การตัดขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น เริ่มต้นจากกระบวนการในการคัดสรรผู้เข้ามาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปและการร่างรัฐธรรมนูญเลยทีเดียว เพราะมันเกิดจากการที่สภารักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้หยิบ ‘นักปฏิรูป’ จำนวนหนึ่งขึ้นมา ประชาชนทั่วไปไม่มีทางรู้มาก่อนเลยว่า บุคคลที่เข้ามาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปและคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นใครมาจากไหน มีคุณสมบัติดีเด่นอะไร มีแนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใด ถึงได้รับการคัดเลือกให้มาเป็นผู้เขียนกฎหมายสำคัญของประเทศ มารู้อีกทีก็ต่อเมื่อมีการประกาศรายชื่อออกมาแล้ว และก็อย่างที่เห็นคือ องค์ประกอบของสมาชิกสภาปฏิรูปจำนวนมากคือ ทหาร ข้าราชการ และชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่มีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญต่อการสร้างสถานการณ์ให้เกิดการรัฐประหารทั้งสิ้น ไม่มีผู้แทนของกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามหลุดเข้าไปเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแม้แต่สักคนเดียว

ความจริงอย่าว่าแต่กลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามเลย คนที่ไม่ได้สังกัดกลุ่มการเมืองใด หากแม้มีความเห็นในเชิงต่อต้านการรัฐประหาร หรือแม้แต่แสดงการนิยมชมชอบการใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการแสวงหาคำตอบทางการเมือง ก็ไม่มีทางที่ผู้มีอำนาจจะชายตามองหรือเชื้อเชิญให้เข้าร่วมการปฏิรูป ไม่ต้องพูดถึงการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งดูเหมือนจะสงวนไว้ให้แต่เฉพาะคนที่มีแนวคิดอยู่ในเฉดเดียวกันเท่านั้น คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหลายคน นับแต่ตัวประธานเป็นต้นไป เคยไปเป่านกหวีดขัดขวางการเลือกตั้งมาแล้วทั้งสิ้น พวกเขาคิดแค่ว่าจะเขียนกฎหมายอย่างไรเพื่อกีดกันไม่ให้ศัตรูทางการเมืองของพวกเขามีโอกาสเล่นการเมืองอีกเท่านั้น เรื่องอื่นๆ ดูไม่ค่อยมีความสำคัญสำหรับคณะนี้เท่าใดนัก

การรับฟังความเห็นที่กำลังจะมีขึ้นหรือมีต่อไปตามที่กล่าวอ้างว่าจะทำกันนั้น จะไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าละครฉากหนึ่งเพื่อกำหนดให้เป็นพิธีกรรมในการสร้างความชอบธรรมให้กับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น ไม่อาจจะมีใครบนพื้นพิภพนี้ถือได้ว่า นั่นคือการสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของการร่างรัฐธรรมได้ในความหมายที่เป็นจริงเลย

นี่ยังไม่นับว่า ความพยายามของกลุ่มต่างๆ ที่จะจัดการรณรงค์ พูดคุย หรือสร้างเวทีในการเสวนาเรื่องปัญหาการปฏิรูปหรือการร่างรัฐธรรมนูญ ล้วนแล้วแต่ถูกขัดขวางจากกองทัพทั้งหมด คณะทหารจะไม่ยอมให้มีการเสนอความคิดความเห็นใดๆ ในที่สาธารณะอย่างเป็นอิสระเลย แปลว่าพื้นที่สาธารณะในทางการเมืองนั้นถูกปิดลงแล้ว

จากข้อมูลของ Ilaw แค่ครึ่งแรกของเดือนพฤศจิกายน อันเป็นเดือนที่กำลังจะเริ่มพิธีกรรมร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปนั้น ปรากฏว่าทหารได้เข้าแทรกแซงเวทีต่างๆ ที่ประชาชนรวมตัวหรือเคลื่อนไหว เพื่อเสนอประเด็นของการปฏิรูปและการร่างรัฐธรรมไปทั้งสิ้นถึง 8 ครั้งและยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลงแต่อย่างใด

รัฐอ้างว่าได้จัดเวทีปฏิรูปเอาไว้ให้ประชาชนเสนอความเห็นอยู่แล้ว ให้ไปเสนอที่นั่น ทั้งๆ ที่ประชาชนทั่วไปต่างก็รู้แล้วว่า เวทีที่รัฐจัดไว้ให้นั้นเป็นเวทีจำกัดความคิดเห็น ไม่ใช่เวทีเสนอความคิดเห็นที่หลากหลายอะไรเลย เพราะนักปฏิรูปของรัฐมีเสรีภาพล้นเหลือที่จะตัดความเห็น ข้อมูล วาระ และประเด็นของใครทิ้งไปเสียก็ได้

ความจริงนอกเหนือไปจากการจัดทำรัฐธรรมนูญแล้ว สภาปฏิรูปมีหน้าที่อีกอย่างหนึ่งคือเสนอแนวทางในการปฏิรูปประเทศ แต่เราคงไม่สามารถวิเคราะห์ผลงานการปฏิรูปได้มากนัก เนื่องจากผลผลิตของสภาปฏิรูปจากสมาชิกทั้ง 250 คนนั้นจะไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าเอกสารว่าด้วยการปฏิรูป 11 ด้านสักชุดหนึ่ง เก็บใส่ตู้เอาไว้ในกองเดียวกับผลงานของคณะกรรมการชุดก่อนๆ เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ว่าได้เคยมีการศึกษาเรื่องการปฏิรูปประเทศครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ไม่เคยได้ลงมือปฏิบัติอะไรกันเลย เพราะแท้จริงแล้วการปฏิรูปเช่นว่านั้น คือฉากบังหน้าและข้ออ้างสำหรับการทำลายระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยรัฐสภาเท่านั้น สิ่งที่เราพอจะมองเห็นเป็นแก่นสารจึงปรากฏอยู่แต่ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น

รัฐธรรมนูญคือระเบียบว่าด้วยความสัมพันธ์ทางอำนาจ รัฐธรรมนูญนั้นอาจจะจัดทำโดยผู้มีอำนาจสูงสุดในเวลานั้นๆ ก็ได้แต่รัฐธรรมนูญแบบนั้นมักไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่ดีที่จะประกันการใช้อำนาจของกลุ่มต่างๆ ได้ ส่วนใหญ่มักจะเป็นรัฐธรรมนูญที่แสดงออกถึงพื้นที่ทางอำนาจที่คับแคบและมุ่งจำกัด (หรือแม้แต่กำจัด) คนกลุ่มอื่นๆ ที่ถูกเพ่งเล็งว่าเป็นปรปักษ์ต่อผู้มีอำนาจที่ทำการร่างรัฐธรรมนูญมากกว่า รัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคนกลุ่มหนึ่งที่ได้ชื่อว่ามีอำนาจที่สุดในสังคมเวลานี้คือกองทัพและชนชั้นสูง ก็ย่อมมุ่งที่จะสถาปนาอำนาจของพวกเขา ข้อกล่าวอ้างว่าจะร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประกันผลประโยชน์หรือประโยชน์สุขของมหาชนส่วนใหญ่ของประเทศจึงฟังดูเป็นสิ่งเหลวไหลไร้สาระทั้งสิ้น

รัฐธรรมนูญที่ดีที่จะประกันการใช้อำนาจของกลุ่มต่างๆ ในสังคมที่ค่อนข้างหลากหลายได้นั้น จะต้องปรากฏว่าได้จัดทำขึ้นมาจากข้อตกลงและการเจรจา ต่อรอง ของกลุ่มต่างๆ อย่างสมดุลแล้วเท่านั้น หมายความว่าผู้แทนของกลุ่มต่างๆ จะต้องได้เข้าไปร่วมในการเสนอ ถกเถียง ยกร่าง และพิจารณาผ่านรัฐธรรมนูญนั้นออกมาในลักษณะที่เป็นสัญญาประชาคม จึงจะเป็นรัฐธรรมนูญที่สามารถใช้บังคับได้จริงๆ รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดยกลุ่มคนที่มีอำนาจนั้นมักจะถูกละเมิดได้ง่ายๆ เมื่อเวลาที่คนกลุ่มอื่นๆ มีอำนาจขึ้นมา

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่สุด ซึ่งประเทศไทยก็ผ่านสถานการณ์แบบนี้มานับครั้งไม่ถ้วนในประวัติศาสตร์การเมืองคือ ทหารเป็นผู้บัญชาให้มีการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อใช้บังคับกับนักการเมืองและกลุ่มพลังทางการเมืองอื่นๆ แต่ต่อมาไม่นานเมื่อมีการเลือกตั้ง นักการเมืองได้อำนาจโดยผ่านการเลือกตั้ง พวกเขาก็จะแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเสียให้สอดคล้องกับความต้องการในการใช้อำนาจของพวกเขา หรืออาจจะเป็นไปได้ว่า กลุ่มพลังทางการเมืองในรูปแบบอื่นๆ ที่จัดตั้งกันขึ้นเป็นการเฉพาะเหมือนที่แล้วๆ มา ใช้อำนาจของมวลชนบีบบังคับให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในรัฐธรรมนูญ หากผู้ร่างรัฐธรรมนูญจะเขียนกันเอาไว้ให้เป็นกฎหมายที่แก้ไขได้ยากหรือแก้ไขไม่ได้เลย รัฐธรรมนูญนั้นก็จะถูกทำลายในที่สุด รัฐธรรมนูญของไทยในอดีตที่ผ่านๆ มาไม่เคยคงทนและไม่ศักดิ์สิทธิด้วยประการทั้งปวง เพราะเหตุที่มันไม่เคยสะท้อนความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ลงตัวของกลุ่มพลังต่างๆ ได้เลย

นักร่างรัฐธรรมนูญมืออาชีพอาจจะเข้าใจเงื่อนไขและข้อเท็จจริงอันนี้ดี แต่พวกเขามักจะละเลยมันเพราะมุ่งรับใช้อำนาจทางการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากจนเกินไป และพวกเขาย่อมรู้ดีอีกเช่นกันว่า เมื่อทำเช่นนั้นแล้วรัฐธรรมนูญจะไม่มีความศักดิ์สิทธิและคงทน อีกไม่นานก็จะต้องมีการแก้ไขหรือร่างมันขึ้นมาใหม่อีก ซึ่งก็จะต้องเรียกใช้บริการของพวกเขาอีกเรื่อยๆ ไป พวกเขาย่อมได้อามิสสินจ้างเป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงินเป็นสิ่งตอบแทน รัฐธรรมนูญของไทยจึงมีราคาค่อนข้างแพงทั้งในทางเศรษฐศาสตร์และในทางสังคม เพราะผู้เสียภาษีคนไทยไม่เพียงแต่จะต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้กับนักร่างรัฐธรรมนูญและนักปฏิรูปเหล่านี้ หากแต่จะต้องชดใช้ความเสียหายอันเกิดจากผลงานของพวกเขา ซึ่งมันมักจะชักพาให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองใหม่ๆ ขึ้นมาเสมอ

มาถึงวันนี้ก็สายเกินไปแล้ว ที่จะพูดเรื่องการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในกระบวนการปฏิรูปและการร่างรัฐธรรมนูญได้ เพราะนักการเมืองที่อ้างตัวเองว่าเป็นนักปฏิรูปที่กำลังมีอำนาจอยู่ในเวลานี้มองโลกในมุมแคบเกินไป มุ่งล้างแค้นทางการเมืองต่อคนกลุ่มเดียวจนเกินไป ทำให้สภาปฏิรูปมีสภาพเป็นคลับของผู้ชนะและการร่างรัฐธรรมนูญคือการเขียนคำพิพากษาลงโทษคู่อาฆาตทางการเมืองของตนเองเท่านั้น มีแค่นั้นจริงๆ ไม่มีอะไรอย่างอื่นอีกเลย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: