แฉเหมืองได้ทองแล้วชุ่ย ทิ้งสารพิษ-ทำภูเขายุบตัว

ภาสกร จำลองราช โครงการสื่อสุขภาวะชุมชนชายขอบ 23 พ.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2195 ครั้ง

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ที่ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับโครงการสื่อสุขภาวะชุมชนชายขอบ นำสื่อมวลชนจากส่วนกลางทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์ กว่า 10 คน ลงพื้นที่ชุมชนเขาหลวง เพื่อเก็บข้อมูลและตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีชาวบ้านได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากการทำเหมืองแร่ทองคำ โดยชาวบ้านได้นำสื่อมวลชนไปสำรวจพื้นที่ภูซำป่าบอน และภูทับฟ้า ซึ่งเป็นพื้นที่ขุดเจาะเหมืองและพื้นที่รอบ ๆ โรงงานถลุงแร่

นางพรทิพย์ หงชัย ชาวบ้านนาหนองบง ซึ่งได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทอง กล่าวว่า ภูซำป่าบอนคือตัวอย่างของความล้มเหลว หลังจากเกิดเหมืองทองคำยุติการดำเนินงาน โดยในฤดูฝนทุก ๆ ปีเกิดปัญหาดินทรุดตัวและถนนทรุด บางครั้งรถยนต์และรถกระบะธรรมดาไม่สามารถสัญจรได้ ขณะที่ต้นไม้ต่าง ๆ เช่น ต้นกล้วย ไผ่เลี้ยง ต้นลีลาวดี ที่เหมืองทองพยายามปลูกโดยใช้ชื่อว่า การฟื้นฟูภูซำป่าบอนนั้น ไม่สามารถทำได้จริงทั้ง ๆ ที่เป็นเงื่อนไขในกฎหมายที่ผู้ประกอบการต้องดำเนินการ หลังขุดเจาะเอาแร่ไปแล้ว แต่ปัจจุบันต้นไม้ที่เหมืองปลูกไว้แคระแกรน ยืนต้นเตี้ยซ้ำยังไม่เติบโตแม้เวลาจะผ่านไปหลายปี

            “หากฝนตกหนัก ๆ ฝนชุ่มหน้าดิน กลิ่นพื้นที่นี่จะทำให้แสบจมูกมาก ๆ จะไม่สามารถยืนอยู่ได้นานๆ สิ่งที่ชาวบ้านกลัวคือ หากพายุเข้าพื้นที่จ.เลย ภูซำป่าบอนจะสร้างภัยพิบัติในพื้นที่ได้ เช่น เกิดดินถล่มทับสวนยาง ไร่ นา ซึ่งหากอนาคตเป็นอย่างนั้น ถามหน่อยว่าใครจะมารับผิดชอบ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องต่อต้านการสัมปทานภูเหล็ก ซึ่งเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่เขาขอประทานบัตร และให้ยุติการดำเนินการในภูทับฟ้า รวมทั้งการสัมปทานเหมืองทองทุกที่ในจังหวัดเลยซึ่งมีอยู่กว่า 31,000 ไร่ เพราะคนเลยไม่อยากสูญเสียทรัพยากรอีก จึงได้สู้มาจนถึงทุกวันนี้” นางพรทิพย์กล่าว

ขณะที่นางมล คุณนา กล่าวระหว่างการลงพื้นที่ร่องห้วยเหล็ก ซึ่งได้รับผลกระทบจากการขุดแร่บริเวณภูทับฟ้า โดยร่องห้วยเหล็กอยู่ติดกับสันเขื่อนกักเก็บกากแร่ปนเปื้อนไซยาไนด์ ว่า ร่องน้ำดังกล่าวเคยสวย ใส และมีบอน มีผักป่า ผักกูด เกิดขึ้น เป็นความอุดมสมบูรณ์ของป่าในภูเหล็กและภูทับฟ้า แต่ ปัจจุบันนั้นกลายเป็นสีสนิม ผักในห้วยดังกล่าวไม่สามารบริโภคได้ ส่วนน้ำในลำห้วยก็ไม่สามารถบริโภคได้

            “บ่อเก็บแร่มีทั้งหมด 300 ไร่ แต่ละบ่อมีความกว้าง 93 ไร่ บริษัทไม่ได้นำพลาสติกมาวางรองก้นบ่อ แต่วางแค่ผนังบ่อเท่านั้น ปัญหาคือ บ่อกักแร่ดังกล่าวเป็นการสร้างทับพื้นที่น้ำซึมน้ำซับ ทำให้น้ำจะซึมลงดินไหลไปทั่วบริเวณใกล้ ๆ เมื่อร่องห้วยเหล็กนั้นอยยู่ติดบ่อก็ย่อมได้รับสารพิษเช่นกัน ทุกอย่างในห้วยจึงเริ่มกลายเป็นเหมือนภูซำป่าบอน” นางมลกล่าว

นายเลียง พรหมโสภา ชาวบ้านภูทับฟ้ากล่าวว่า เดิมทีตนเคยทำนาได้ข้าวปีละ 40-50 กระสอบในพื้นที่ 12 ไร่ แต่หลังจากมีการทำเหมืองแร่และมีสารพิษไหลลงมาตามร่องห้วยเหล็ก ทำให้ทำน่าแทบไม่ได้โดยเมื่อปีที่แล้วได้ข้าวแค่ 9 กระสอบ โดยเมื่อปลูกข้าวแล้ว แทนที่ต้นข้าวจะเติบใหญ่กลับค่อย ๆ แห้งเหี่ยวและตายในที่สุด ดังนั้นในปีนี้จึงไม่ทำนาอีกแล้ว

            “เมื่อก่อนน้ำในร่องห้วยเหล็กเคยใสสะอาด มีปลามากมายให้จับ ถึงหน้าแล้งเดือน 4 เดือน 5 น้ำก็แห้ง แต่เดี๋ยวนี้น้ำกลายเป็นสีเหล็กเน่าเหม็น และมีน้ำผุดออกมาทั้งปี ไม่มีใครกล้าหาปลากินอีกแล้ว แม้แต่ผักหญ้าต่างๆที่เคยกินได้ก็กินไม่ได้อีกต่อไป” นายเลียงกล่าว

หมายเหตุ-ในภาพเป็นสภาพน้ำสีคล้ำเป็นสีสนิมปนเปื้อนสารพิษซึ่งสาธารณสุขจังหวัดเลย ได้ประกาศห้ามใช้อุปโภคบริโภค หรือกินหอยและพืชผักที่ขึ้นในแหล่งน้ำนี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: