‘ธนพร ศรียากูล’: เมื่อ ‘คนธรรมดา’ จะปฏิรูปประเทศ

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJ 23 เม.ย. 2557


มักกล่าวกันว่า การเมืองควรเป็นเรื่องของประชาชนคนธรรมดา ทว่า ในทางปฏิบัติ ‘คนธรรมดา’ กลับเป็นฝ่ายที่ถูกกีดกันมากที่สุดในสนามการเมืองไทย หนำซ้ำยังถูกผลักไสออกจากการจัดสรรผลประโยชน์ของบรรดาคนไม่ธรรมดา

แต่วันนี้คนธรรมดากลุ่มหนึ่งนำโดย ธนพร ศรียากูล ในฐานะหัวหน้า ‘พรรคคนธรรมดา’ กลับคิคจะลงสนามการเมือง ไม่ใช่แค่คิดจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่คิดการใหญ่ถึงขนาดจะปฏิรูปโครงสร้างประเทศด้วยชุดนโยบายเชิงโครงสร้าง เช่น แก้กฎหมายมาตรา 112, ปฏิรูปกองทัพ, เก็บภาษีมรดกและภาษีกำไรจากการขายหุ้น, การยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค เป็นต้น เป็นนโยบายที่ไม่มีพรรคการเมืองใหญ่พรรคใดกล้าพูด หรือกล้าพูดแต่ก็ไม่เคยกล้าทำ

ธนพรกล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่คนธรรมดาๆ จะต้องลงสนามจริง แทนการส่งเสียงอยู่ข้างสนาม และยืนยันว่าเราสามารถปฏิรูปประเทศได้ โดยไม่ต้องหยุดการทำงานของระบบ

TCIJ: คนจำนวนมากเห็นปัญหาในสังคม แต่ก็ไม่มีใครมีแรงกระตุ้นมากพอให้ตั้งพรรคการเมืองเพื่อแก้ไข อะไรเป็นแรงกระตุ้นให้คุณตั้งพรรคคนธรรมดา

ธนพร: ผมอยู่ในแวดวงทำงานทางการเมืองตั้งแต่ปี 2544 ระหว่างที่ทำงานก็เห็นความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ และพบเห็นว่าข้อเสนอของภาคประชาชนมันดี แต่พอไปถึงกระบวนการทางการเมืองในระบบ มันมักจะไม่ได้ออกมามากเท่าที่ควร ด้วยขั้นตอนของเทคนิคทางกฎหมายบ้าง การต่อสู้ในรัฐสภาบ้าง หรือในขั้นตอนของคณะรัฐมนตรีบ้าง สิ่งเหล่านี้ทำให้แก่นของหลายๆ เรื่องต้องตกไปอย่างน่าเสียดาย และหลายๆ เรื่องมีความจำเป็นต้องดูในระดับโครงสร้างภาพรวม ทั้งกฎหมายแม่ มติคณะรัฐมนตรี กฎกระทรวง

ถ้าไม่มีภาคส่วนทางการเมืองที่อยู่ในระบบคอยเสริมหรือเป็นเจ้าภาพร่วมด้วย ผมค่อนข้างมั่นใจว่าน้อยเรื่องที่จะผลักดันออกมาได้ด้วยแรงกดดันจากภาคประชาชนอย่างเดียว ประกอบกับกติกาของการเมืองการปกครองบ้านเราทุกวันนี้ ทุกอย่างไปจบที่คณะรัฐมนตรีกับรัฐสภา ถ้าเราไม่เข้าไปทำหน้าที่ตรงนี้ ผมก็ไม่รู้ว่าปัญหาต่างๆ ที่เราเห็นจะแก้ยังไง

ยกตัวอย่าง มาตรา 112 ภาคประชาชนล่ารายชื่อกันครึกครื้น ปรากฏว่าประธานสภาผู้แทนราษฎรคนเดียวบอกว่าไม่เข้าเงื่อนไข จบเลย ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง อีกอย่าง โดยส่วนตัวผม มันอาจถึงเวลาแล้วที่จะคิดว่ามันคือหน้าที่ของคนธรรมดาอย่างพวกเราที่ต้องเข้าไปแก้ไขด้วยตัวเราเอง เราจึงตั้งพรรคการเมือง รณรงค์ หาการสนับสนุน เราก็จะได้ความชอบธรรมในเชิงฉันทามติ แล้วจะไปแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างอย่างไรก็ว่ากันไป

TCIJ: คุณมองสถานการณ์การเมืองตอนนี้อย่างไร จะส่งผลต่อพรรคการเมืองใหม่อย่างพรรคคนธรรมดาอย่างไร

ธนพร: เมื่อวันที่เราจัดงานแนะนำพรรค อาจารย์สุธาชัย (รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) พูดว่า สถานการณ์ขณะนี้ไม่เหมาะ แต่ผมกลับคิดว่าเหมาะที่จะเปิดตัวพรรคที่มีนโยบายแบบนี้ เพราะวันนี้ผู้คนจำนวนมากรู้สึกตรงกันว่า บ้านเมืองต้องปฏิรูปครั้งใหญ่ แล้วก็พยายามหาสูตรสำเร็จกัน ต้องคนดีเท่านั้นถึงจะปฏิรูปได้ แต่วันนี้ที่เรากล้าประกาศตัวเป็นพรรคการเมืองและมีนโยบายแบบนี้ ผมคิดว่าส่วนหนึ่งภาพที่ออกไปเป็นการช่วยกระตุกอารมณ์สังคมได้ว่า คนที่อยู่ในระบบการเมืองไม่ได้มีแต่คนอย่างที่เราเห็นว่าเอาแต่แก่งแย่ง แต่ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่พร้อมที่จะคิดเรื่องแบบนี้ หลายเรื่องๆ ที่เราเสนอก้าวหน้ากว่าที่พูดที่สวนลุมฯ ด้วยซ้ำไป

เราจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้คนเริ่มเห็นว่า การปฏิรูปไม่มีความจำเป็นต้องหยุดกระบวนการ เราสามารถทำให้กระบวนการเดินหน้าได้ เพราะมีพรรคการเมืองที่นำเสนอเรื่องแบบนี้ เพียงแต่คุณจะให้โอกาสเขาหรือเปล่า คุณจะจ้างเขาทำงานหรือเปล่า

ประเด็นที่สอง จริงอยู่ แม้ว่านโยบายของเราดูจะเป็นนโยบายเชิงโครงสร้างที่ทุกคนต้องการ แต่โดยความเชื่อของพวกเรา ถ้าเราไม่ผ่านกระบวนการการเลือกตั้ง ข้อเสนอของเราก็คงเป็นข้อเสนอของคนกลุ่มเดียว ดังนั้น ข้อเสนอแบบนี้จะทำได้อย่างชอบธรรม มีวิธีการเดียวคือต้องได้รับฉันทามติจากประชาชนโดยผ่านการเลือกตั้งเท่านั้น เนื่องจากข้อเสนอแบบนี้ยังมีข้อโต้แย้ง ยังต้องคุยในรายละเอียดอีกหลายเรื่อง

TCIJ: สถานการณ์การเมืองตอนนี้กล่าวกันว่าเป็นการปะทะกันระหว่างพลังประชาธิปไตยกับพลังจารีตหรืออนุรักษ์นิยม พรรคคนธรรมดาวางตำแหน่งตนเองไว้ในฝ่ายไหน

ธนพร: ตำแหน่งของพรรคถ้าดูจากนโยบายก็ต้องพูดตรงๆ ว่า เราเป็นสายก้าวหน้า...

TCIJ: ประชาธิปไตย?

ธนพร: ผมใช้คำว่าก้าวหน้าแล้วกัน ก้าวหน้าแบบสุดซอยด้วย วันนี้เรารับรองว่าประเด็นเรื่องการยกเลิกคำนำหน้าชื่อ การตั้งเขตบริหารพิเศษสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาตรา 112 การปฏิรูปกองทัพ ข้อเสนอเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องเกิดจากความคิดที่เป็นประชาธิปไตยก้าวหน้าอย่างเดียวเท่านั้น เป็นอนุรักษ์นิยมไม่ได้ แล้วก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบครึ่งๆ กลางๆ ด้วย แต่ในทำนองเดียวกัน ข้อเสนอที่ก้าวหน้าเหล่านี้ เมื่อมาผ่านกระบวนการประชาธิปไตย ผ่านการเลือกตั้ง มันก็เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายในสังคมมาต่อรองกันได้ ตรงนี้ต่างหากที่เป็นความงดงาม ดังนั้น ถ้าถามว่าตำแหน่งของพรรคเราอยู่ตรงไหน ต้องบอกว่าเป็นสายก้าวหน้า เพราะเราแคร์คนที่ไม่มีเสียง ผมจึงบอกตั้งแต่เปิดตัวพรรคว่า คนที่มีเสียงมีคนดูแลเยอะแล้ว เราขอเป็นปากเป็นเสียงคนที่ไม่มีเสียงดีกว่า

TCIJ: จำนวนสมาชิกตอนนี้?

ธนพร: พูดกันตามตรงว่า เราเพิ่งได้รับการจดแจ้งอย่างเป็นทางการจาก กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ตอนนี้เรายังมีสมาชิกชุดก่อตั้ง 16 คน ผมถึงบอกว่าเรายังต้องการเพื่อน มิตรสหาย มาช่วยเราอีกเยอะ

TCIJ: เลือกตั้งรอบนี้ตั้งใจว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย?

ธนพร: ลงครับ เพราะเมื่อเราตั้งใจจะเป็นพรรคการเมืองแล้ว หน้าที่ประการแรกของพรรคการเมืองคือส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้ง และเราจะทำหน้าที่นั้นอย่างเต็มที่ เราตั้งใจจะส่งทั้งระบบบัญชีรายชื่อและระบบเขต เราเปิดกว้างกับเพื่อนๆ ที่อยากจะมาร่วมงาน ไม่ว่าที่มีความคิดอ่านปฏิรูปในเชิงโครงสร้างและเห็นว่ามีพรรคการเมืองพูดเรื่องแบบนี้ เราอยากจะชวนให้มาคุยกัน ถ้าสนใจ ตอนนี้เราเปิดกว้างจริงๆ

TCIJ: การทำงานการเมืองยังไงก็ต้องมีทุน เอาทุนมาจากไหน

ธนพร: ผมเรียนตรงนี้ว่า ก้อนแรกเราได้จากการลงขันของพวกเราทั้ง 16 คน ผมคิดว่าการทำงานการเมืองสมัยนี้ ถ้าเรามองภาพพรรคใหญ่ก็ต้องใช้เงินเยอะ แต่ถ้าดูการทำงานของหลายองค์กรจะพบว่าหลายสิ่งหลายอย่างสามารถประหยัดต้นทุนได้ ยกตัวอย่างเช่นนโยบายที่เราออกแบบเหมือนคนตัดเสื้อให้กับ Voiceless (คนที่ไม่มีเสียง) แต่ละกลุ่มให้เราสามารถรณรงค์หาเสียงได้อย่างประหยัดต้นทุน เช่น ผมไปหาเสียงที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมไม่จำเป็นต้องไปทำสื่อที่บอกว่าจะไม่สร้างเขื่อน ในพื้นที่นั้นผมก็จะเน้นไปที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเดียว จะเห็นว่ารูปแบบนี้ทำให้กระบวนการรณรงค์เลือกตั้งตรงกลุ่มเป้าหมาย โดยที่ไม่ต้องใช้งบประมาณเยอะ เพราะเมื่อเราจำแนกกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการได้ เราก็สามารถดีไซน์ประเภทของสื่อได้

ผู้สมัครหนึ่งคน ค่าใช้จ่ายตามกฎหมายจริงๆ คือค่าสมัครคนละหนึ่งหมื่นบาทและค่ารูปถ่าย ส่วนเรื่องสื่อต่างๆ กกต. ให้คนละ 1,500,000 บาท นี่คือมากที่สุด ถ้าเราต้องไปทำป้ายใหญ่ เหมารวมหมดทั้งเขต เงินแค่นี้ไม่พอ แต่ถ้าเราจำแนกได้อย่างชัดเจน 5 หมื่นบาทอาจจะเยอะไปด้วยซ้ำ เรื่องที่สอง ใครจะมาร่วมกับพรรคเรา โดยตัวนโยบายจะเป็นตัวคัดกรองชั้นหนึ่งอยู่แล้ว ดังนั้น เขาจะสามารถเป็นสื่อโดยตัวเขาเองได้ สามารถพูดกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคะแนนเสียงให้เราได้

แต่ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน ผมจะพ่วงประเด็นหนึ่งไปด้วยทุกครั้ง นั่นคือประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ 3 เรื่องแรกคือการแก้มาตรา 112 พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งสามเรื่องนี้จะเป็นเรื่องหลัก

อีกประเด็นหนึ่ง จากการสำรวจของหลายๆ สำนัก ทุกครัวเรือในประเทศไทยเข้าถึงอินเตอร์เน็ต เข้าถึงทีวีดิจิตัล เรามีหน้าที่ผลิตเนื้อหาให้น่าสนใจอย่างเดียว หรืออธิบายโต้ตอบกับคนที่สงสัยในเรื่องรายละเอียด ผมเชื่อว่าการดำเนินการแบบนี้เม้ทุนจะเป็นเรื่องจำเป็น แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่สุด สิ่งที่เป็นเรื่องจำเป็นของพรรคการเมืองนี้คือทุนทางปัญญามากกว่า

TCIJ: การเมืองมีแนวโน้มไปสู่การต่อสู้ของ 2 พรรคใหญ่ พรรคขนาดกลางเริ่มมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ หรือไม่ก็เป็นพรรคท้องถิ่น พรรคใหม่และพรรคเล็กอย่างพรรคคนธรรมดาจะแทรกตัวเข้าไปได้อย่างไร

ธนพร: ผมคิดว่าไม่ว่าที่ไหนในโลก มันอาจจะมีสองทางใหญ่ แต่ในสองทางใหญ่มันมีทางเล็กๆ เสมอ ในประเทศสหรัฐอเมริกาก็ใช่ว่าที่นั่งในระบบการเมืองจะมีแค่สองพรรค ถ้าลองไปสแกนดูจะมีผู้สมัครอิสระ ในออสเตรเลีย ในอังกฤษก็มี ดังนั้น โอกาสในการแทรกเราเชื่อว่ามีแน่นอน

สอง-เราเชื่อว่านโยบายเชิงโครงสร้างของเราไม่เคยถูกพูดในพรรคใหญ่หรือพรรครองๆ ลงมา ไม่เคยแม้แต่จะคิดด้วยซ้ำ แต่อย่าลืมว่าทฤษฎีทางสังคมศาสตร์สมัยใหม่ คนไม่ใช่คนส่วนใหญ่อีกแล้ว ทุกคนถูกจำแนกเป็นส่วนย่อยตามแต่รสนิยมการบริโภค เมื่อพรรคของเราวางตำแหน่งเป็น Voice of the Voiceless (เสียงของคนไม่มีเสียง) ผมจึงบอกว่าเราไม่ได้เป็นเสียงของคนทั่วไป เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย เขาอาจจะมองไปที่คนกลุ่มใหญ่ แต่เราไม่ เรามองไปที่คนที่ไม่มีเสียง ซึ่งอาจจะมีจำนวนไม่เยอะและไม่มีใครสนใจ เมื่อเราเชื่อว่าสังคมปัจจุบันถูกซอยย่อยแบบนี้ เราจึงดีไซน์นโยบายแบบนี้

TCIJ: นโยบายของพรรคคนธรรมดาดูเหมือนจะไม่มีนโยบายแนวประชานิยมเลย แต่เน้นเชิงโครงสร้าง ซึ่งมันดูดึงดูดในเชิงเนื้อหา แต่ก็ไม่เซ็กซี่ในเชิงผลประโยชน์เฉพาะหน้า

ธนพร: มีนะ รับซื้อข้าวอินทรีย์หรือข้าวปลอดสารพิษตันละ 20,000 บาท วันนี้ลองดูสิครับ ท่านจะเสี่ยงปลูกแบบเดิม ไปขายโรงสีเหลือตันละ 5,000 บาท ถ้าไว้ใจพรรคนี้เราก็ช่วยเรื่องต้นทุนให้ในลักษณะขั้นบันได ใครมีที่นาน้อยก็ได้ชดเชยเต็ม เพราะเราต้องการให้ถึงรายย่อย ถ้าที่นามากก็ลดลงตามส่วน แต่ถ้าท่านปรับพฤติกรรมมาปลูกแบบปลอดสาร ท่านก็ไม่มีความเสี่ยง เราจะรับซื้อในราคาตันละ 20,000 บาทเหมือนเดิม ผมไม่ได้ออกแบบนโยบายจำนำข้าวทุกเม็ดเหมือนพรรคเพื่อไทย เพราะเขามองไปที่คนจำนวนมาก แต่ผมมองไปลึกกว่านั้น ถ้าเราเป็นรัฐบาล เราส่งสัญญาณชัดว่าเราจะ สนับสนุนเกษตรกรที่ปลูกข้าวปลอดสารหรือข้าวอินทรีย์ พฤติกรรมของเกษตรกรจะเปลี่ยนเอง หมายถึงการยกระดับคุณภาพข้าวไทยจะดีขึ้นทั้งระบบในระยะยาว เมื่อคุณภาพข้าวไทยดีขึ้น ราคาตลาดโลกก็จะแปรผันไปตามคุณภาพข้าว เวลานั้นรัฐบาลก็ค่อยๆ ถอยออกมา เราไม่ต้องจมปลักกับภาระหนี้สาธารณะ ถามว่าแบบนี้เกษตรกรจะเอามั้ย

นี่เป็นผลประโยชน์เฉพาะหน้าแน่นอน เห็นกันจะๆ

สอง-เรื่องอีไอเอ (การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม) วันนี้สร้างคอนโดฯ กันอึกทึกครึกโครม ผังเมืองเละเทะไปหมด อยู่ดีๆ มีคอมมิวนิตี้ มอลล์ มาเปิดอยู่หน้าบาท อยู่ดีๆ รถติด นี่ผลประโยชน์เฉพาะหน้านะ ถ้าไม่ให้เราเข้าไปปฏิรูปการทำอีไอเอ ผลกระทบจะเกิดกับที่อยู่อาศัยของท่านเอง นี่คือผลประโยชน์ที่จับต้องได้ นโยบายพรรคนี้ดูดีๆ จับต้องได้ทุกเรื่อง

TCIJ: คาดหวังจะได้สักกี่ที่นั่ง

ธนพร: วันนี้ถ้าบุคลากรเรายังมีอยู่ 16 คน ได้มากสุดก็คง 16 เสียง แต่จริงๆ ในการเริ่มต้น สำหรับพรรคเล็กๆ และเกิดใหม่ที่พูดในเชิงโครงสร้าง ได้ถึง 10 เสียงก็ถือว่าเก่งแล้ว แต่เราคิดว่าเราทำได้ บนเงื่อนไขว่าขอให้มิตร คนธรรมดาโดยทั่วไปที่เห็นความตั้งใจจริงของเรา ขอให้มาร่วมกัน

TCIJ: 10 เสียง ถือว่ามากนะครับ ได้โควต้ารัฐมนตรีเลย

ธนพร: คือวันนี้ถ้าได้ 10 เสียง แล้วค่อยคิดเรื่องรัฐมนตรี เอาให้ได้ 10 เสียงก่อน ผมยังไม่ได้คิดถึงเรื่องการเป็นรัฐมนตรีหรอก

TCIJ: สมมติถ้าได้ 10 เสียงจริง พรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากขอให้พรรคคนธรรมดาเข้าร่วมรัฐบาล พรรคคุณมีเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาลหรือเปล่า

ธนพร: ผมตอบวันนี้เลย ถ้าจะให้พรรคคนธรรมดาร่วมรัฐบาล แต่ไม่บรรจุนโยบายเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 การออก พ.ร.บ.นิรโทษคนตัวเล็กตัวน้อย และการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในนโยบายที่ต้องแถลงต่อรัฐสภา ผมเป็นฝ่ายค้านได้

ส่วนอีก 5 นโยบายหลักที่เหลือเราไปทำในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ เพราะมันเป็นประเด็นในเชิงโครงสร้าง ซึ่งถ้าเราทำตรงนี้ผมคิดว่าภาคประชาชนเฮแน่ แต่ถ้าจะเป็นรัฐบาล ไม่ว่าพรรคไหนจะขึ้นมา ไม่พูด 3 เรื่องที่ผมบอกข้างต้น ผมเป็นฝ่ายค้านได้ ไม่มีปัญหา ถ้าท่านพูด 3 เรื่องนี้ ท่านจะได้เรื่องดีๆ จากพรรคผมอีก 5 เรื่อง แต่ถ้าท่านไม่พูด ไม่บรรจุเป็นนโยบายรัฐบาล ท่านก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่อ เพราะปัญหาเชิงโครงสร้างอีกสี่ห้าเรื่องผมไปเล่นในเวทีรัฐสภาได้

TCIJ: ถ้ารัฐบาลบอกว่า ยอมเรื่องนิรโทษฯ กับแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ยอมเรื่องแก้มาตรา 112

ธนพร: ไม่เป็นไร ผมไปเป็นฝ่ายค้าน ต้องรับทั้งสามเรื่อง โดยเฉพาะเรื่อง 112 ท่านเป็นพรรคการเมืองใหญ่ ท่านจะกลัวอะไร ผมเล็กกว่าท่านตั้งเยอะ ผมไม่เห็นเรื่อง 112 จะเป็นปัญหาที่ต้องไปกลัว ถ้าเรามั่นใจว่าตรรกะในการอภิปรายเราสู้กันด้วยเหตุผลได้ ไม่เห็นต้องกลัวอะไร

TCIJ: พลังจารีตในสังคมไทยยังมีอยู่สูง การชูประเด็น 112 ไม่คิดหรือว่าจะส่งผลลบต่อพรรคใหม่อย่างพรรคคนธรรมดามากกว่าผลดี

ธนพร: ของแบบนี้กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ วันนี้ท่านอาจจะรังเกียจเรื่องที่เราพูด แต่ผมไม่รู้ว่าถ้าเวลามันเคลื่อนที่ไป ท่านอาจต้องกลับมานึกว่าน่าจะให้โอกาสพวกผมเข้าไปทำแบบนี้ตั้งนานแล้ว ดีกว่าปล่อยให้เลยเถิดกันมาขนาดนี้

ผมจึงอธิบายว่า สมมติมีดาราคนหนึ่ง แฟนคลับรักมากแล้วเที่ยวไปทะเลาะกับคนมั่วไปหมด คนได้รับผลคือดารา เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่ปล่อยให้แฟนคลับเที่ยวไปจัดการกับคนอื่น ผู้จัดการส่วนตัวเท่านั้นที่จะทำหน้าที่ตรงนี้และรู้เองว่าเรื่องไหนควร ไม่ควร ผมคิดว่าทุกคนเห็นภาพ แล้ววันนี้ทุกฝ่ายก็เริ่มวิตกกังวลแล้ว แม้กระทั่งฝ่ายจารีตเอง อยู่ดีๆ ก็มีใครไม่รู้จะออกมากำจัดขยะ ฝ่ายจารีตเองก็มีความรู้สึกว่า เขาอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องการปกป้อง แต่วิธีการแบบนี้ฝ่ายจารีตก็กลัวนะครับ เพราะถ้าฝ่ายจารีตเห็นด้วยกับแฟนคลับแบบนี้ อีกฝ่ายเขาก็มีแฟนคลับเหมือนกัน เราต้องการสังคมแบบนี้มั้ยล่ะ

ผมคิดว่าตอนนี้พฤติกรรมของแฟนคลับกำลังสุดเหวี่ยง เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่พรรคคนธรรมดาเปิดตัว ผมว่านี่ตรงประเด็นที่สุดแล้ว

TCIJ: แฟนคลับอีกฝั่งก็สุดเหวี่ยงเหมือนกัน

ธนพร: ไม่เป็นไรนี่ครับ คุณจะสุดโต่งยังไงก็ตาม แต่สิ่งที่เห็นร่วมกันทั้งสองฝ่ายคือจะต้องไม่ตั้งองค์กรอะไรแบบนี้มาไล่กำจัดกัน เมืองนอกก็เป็นแบบนี้ ประเทศในยุโรปมีฝรั่งเยอะแยะที่เป็นจารีตสุดๆ เป็นเสรีนิยมสุดๆ แต่คำถามคือทั้งสองพวกไม่มีใครตั้งองค์กรไล่เข่นฆ่ากันแบบนี้ วิพากษ์วิจารณ์กันได้ สังคมไทยก็ควรเป็นแบบนี้ แต่ปัญหาของ 112 คือโอกาสการวิพากษ์วิจารณ์มันปิดสนิทไปเลย ทั้งที่เราก็เห็นแล้วว่าในสังคมที่เปิดโอกาสให้เกิดการถกเถียงมันเกิดความยั่งยืน ไม่มีสังคมไหนแตกแยกเพราะการถกเถียง ผมเคยเห็นแต่สังคมที่ล่มจมลงไปเพราะการไม่ถกเถียง ยิ่งถกเถียงยิ่งงดงาม

TCIJ: นโยบายที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ไม่คิดหรือว่ากลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ จะออกมาคัดค้าน

ธนพร: จะบล็อกยังไงก็บล็อกความเห็นชอบของประชาชนไม่ได้ ท่านอาจคิดจะบล็อก แต่ผมมีความชอบธรรมสูงสุด สมมติว่าพรรคนี้ได้รับการเลือกตั้งมา เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ต่อให้กลุ่มผลประโยชน์ยิ่งใหญ่ขนาดไหน ผมก็หักหลังประชาชนที่เลือกผมมาไม่ได้ แต่ผมมีเรื่องแย้งนิดเดียวคือกองทัพ ผมกล้าพูดเลยว่านโยบายปฏิรูปกองทัพเรื่องกำลังสำรองพร้อมรบ รับรองว่ากองทัพไม่มีเป็นฝั่งตรงข้ามผมแน่นอน มีแต่เชียร์

TCIJ: เพราะ

ธนพร: นี่เป็นความต้องการกองทัพอยู่แล้ว

TCIJ: แต่การเกณฑ์ทหารปีนี้เรียกเกณฑ์แสนกว่าคน

ธนพร: ก็เพราะเรียกแสนกว่าคนไง กองทัพจึงมีหน้าที่หาเบี้ยเลี้ยงไปจ่ายให้คนอีกแสนคน แล้วก็ไม่มีเงินไปซื้อเครื่องบินกริพเพ่น ถามว่าถ้าวันนี้กองทัพต้องการเครื่องบินมากกว่าคนแสนคน แต่ไม่มีตังค์ ผมก็บอกว่าผมมีวิธีที่จะทำให้ท่านมีคนแสนคนเท่าเดิม แต่ไม่จำเป็นต้องเอาคนแสนคนมานอนอยู่ในที่เดียวกัน อาจจะนอนอยู่ที่บ้านก็ได้ เพียงแต่เวลาจะใช้ก็เรียกเข้ามาประจำการ แล้วก็เอาเงินที่ต้องจ่ายคนแสนคนไปซื้อสิ่งที่ท่านต้องการ แบบนี้กองทัพต้องรักผม เพราะผมเป็นคนธรรมดาคนแรกที่พูดปัญหาและความต้องการของกองทัพเชิงโครงสร้างได้เป็นคนแรก

TCIJ: คุณกำลังบอกว่าไม่ได้จะลดขนาดกองทัพ เพียงแต่ปรับเปลี่ยนรูปแบบที่จะไม่เป็นภาระงบประมาณ

ธนพร: จริงๆ แล้วมันความหมายเดียวกัน วันนี้ขนาดของกองทัพขึ้นกับกำลังพล ถ้าเราอยากให้กองทัพของเรามีประสิทธิภาพในขนาดที่พอเหมาะพอสมกับภัยคุกคามในสมัยปัจจุบัน ผมบอกว่าไม่จำเป็นต้องมีคนมานอนพร้อมๆ กันในค่ายถึงแสนคน คนพวกนี้อาจไปเป็นตำรวจ หมอ คนขับรถก็ได้ แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องการ ระบบนี้จะทำให้กองทัพได้คนแสนคนเข้ามาทำงานในทันที โดยที่ประสิทธิภาพไม่ลดลง เพราะฉะนั้นตัวกองทัพเท่ากับลดขนาดลงโดยตัวมันเองอยู่แล้ว เพราะจำนวนคนประจำการจะลดลง

งบประมาณก็ต้องลดลงไป แต่ท่านจะมีเงินเหลือจ่ายมากขึ้น ดังนั้น ตัวงบประมาณจะไม่ใช่ปัญหาหรืออย่างน้อยที่สุดมันไม่เพิ่มขึ้น แต่ทหารจะมีงบประมาณเหลือเพียงพอที่จะเอาไปพัฒนาขีดความสามารถด้านอื่น วันนี้เราต้องยอมรับว่ากองทัพไทยมีขนาดที่อุ้ยอ้าย โครงสร้างของกองทัพไทยขาลีบ มีระดับพลทหารถึงผู้บังคับกองร้อยน้อย แต่มีนายพันถึงนายพลเยอะ ระบบกำลังสำรองมันกลับกัน จะทำให้พลทหารถึงนายร้อยมีเยอะขึ้น แต่ไม่ใช่ไปนอนหรือทำงานพร้อมๆ กัน เขาจะทำงานในบางช่วงเวลาที่กองทัพต้องการ

ระบบนี้ไม่ใช่ว่าทหารไม่เคยคิดมาก่อน สมัยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธก็เคยคิด แต่ทำไม่ได้ เพราะกองทัพคิดเอง ถ้าจะขับเคลื่อนต้องเป็นเจตจำนงค์ทางการเมือง ฝ่ายการเมืองเท่านั้นถึงจะบอกว่า ต่อไปนี้นะทหารเซ็นสัญญากันครั้งละ 5 ปี หมด 5 ปีแล้วคุณก็ไปเป็นกำลังสำรอง ไปเป็นตำรวจ ถามว่าผู้บัญชาการทหารบกสั่งตำรวจได้มั้ยว่าให้รับคนที่หมดสัญญาทหารให้ไปเป็นตำรวจ สั่งไม่ได้ แต่รัฐบาลสั่งได้ ผมเชื่อว่ากองทัพจะให้การสนับสนุนพรรคคนธรรมดาอย่างแน่นอน เพราะเป็นความต้องการของกองทัพ

TCIJ: แล้วการปฏิรูปกองทัพที่คุณพูดถึงจะทำให้กองทัพเป็นทหารอาชีพในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร เพราะรู้กันว่ากองทัพเป็นกลุ่มอำนาจเดียวที่มีกำลังพอคุกคามประชาธิปไตยได้

ธนพร: ระบบกำลังสำรองพร้อมรบในระยะยาวจะทำให้กองทัพของเราเป็นทหารอาชีพ สมมติกองทัพต้องการคน 5 หมื่นคน ก็สมัครเข้าไปโดยเซ็นสัญญา ถ้าวุฒิต่ำก็อาจเริ่มจากพลทหารและเพิ่มไปตามวุฒิ สูงสุดที่สิบเอก เมื่อเซ็นสัญญา 5 ปี คนกลุ่มนี้ก็จะมีความชำนาญและระเบียบวินัยเพิ่มขึ้น เราก็จะมีระบบคัดกรองคน 5 หมื่นเมื่อหมดสัญญาแล้ว คนไหนมีศักยภาพก็ไปเป็นตำรวจ ตำรวจก็ไม่ต้องเสียเวลาฝึกระเบียบเพราะทหารฝึกให้แล้ว ตำรวจแค่ไปอบรมต่อยอด ประหยัดงบอีก ใครอยากเรียนหมอ เรียนพยาบาล มหาวิทยาลัยก็จัดทุนให้ ระบบนี้จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเลื่อนฐานะของคน

จาก 5 หมื่น เราต้องการคนไปเป็นผู้พัน สมมติ 100 คน คน 5 หมื่นก็สอบแข่งกันหรือทดสอบร่างกาย ต่อไปผู้บังคับกองพันก็จะเป็นผู้พันด้วยความภูมิใจเพราะผ่านระบบการสรรหาตามระบบคุณธรรม จึงไม่มีความจำเป็นต้องเล่นพรรคเล่นรุ่น ทำนองเดียวกัน นักเรียนนายร้อยก็จบมาเป็นลูกน้องคนเหล่านี้ อาจจะรู้สึกกระอักกระอ่วน แต่เมื่ออยู่ในสถานการณ์จริง ถ้าคนที่มาจากระบบกำลังสำรองสามารถนำคนที่จบจากโรงเรียนนายร้อยได้ ความเป็นมืออาชีพก็จะเกิดกับคนกลุ่มหลังด้วย ความรู้สึกจะค่อยๆ เปลี่ยนและเห็นว่าคนในสังคมมีหลากหลาย

ต่อไปไปเป็นผู้พันจาก 100 คัดเลือกเหลือ 10 คนที่ไต่ขึ้นมาแบบนี้มีความภูมิใจในอาชีพ รายจ่ายงบประมาณก็มีเหลือทำให้มีเงินพอมาเพิ่มเติมค่าใช้จ่ายเงินเดือนให้คนที่เป็นครีมๆ เหล่านี้ เขาจะรู้สึกมีศักดิ์ศรี มีความภาคภูมิใจ เขาก็จะกลายเป็นทหารมืออาชีพจริงๆ รูปแบบนี้ประเทศที่มีกองทัพที่เข้มแข็งอย่างสิงคโปร์ ญี่ปุ่นใช้กัน ทั้งที่มีเงื่อนไขเยอะกว่า

TCIJ: หนึ่งในนโยบายแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากการจัดตั้งเขตบริหารพิเศษแล้ว คุณยังพูดถึงการคือปืนใหญ่พญาตาณี ทำไมต้องคืนปืนใหญ่พญาตาณี

ธนพร: เราต้องยอมรับว่าทุกวันนี้เป็นสังคมของความหลากหลาย เราต้องยอมรับในเรื่องอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ ปืนใหญ่พญาตาณีเป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งของพี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อดีตเราไปรบกับเขา แล้วเอาของเขามา วันนี้ถ้าเราคิดว่าอยากจะอยู่ร่วมกัน เราต้องยอมรับความเชื่อ ประเพณี และความแตกต่างทางวัฒนธรรม

ปืนใหญ่พญาตาณีเป็นเหมือนศูนย์รวมจิตใจว่าครั้งหนึ่งพื้นที่ตรงนั้น เขาคืออาณาจักรหนึ่ง เอาล่ะ วันนี้เขามารวมเป็นประเทศไทย แต่ความภูมิใจเรื่องแบบนี้ไม่ควรมาอยู่ที่เมืองหลวง มันควรจะอยู่ที่ตรงนั้น คืนเขาไปเถอะ ที่ผมเสนอเรื่องนี้ก่อนเพราะผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ทำง่ายที่สุดแล้วในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ สมัยรัฐบาลที่ผ่านมานี้แหละมีการเอาปืนจำลองไปคืน ตั้งได้ไม่กี่วัน โดนระเบิด แค่นี้ชัดเจนมั้ยครับว่าปืนใหญ่กระบอกนี้มีความสำคัญทางจิตใจต่อพี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แค่ไหน เพราะมันเป็นตัวตนทางประวัติศาสตร์ เป็นที่ยืนของเขา ที่สำคัญก็คือเราเอามาตั้งหน้ากระทรวงกลาโหม ลองถามเด็กๆ ดูก็ได้ ชี้ซิ กระบอกไหนปืนใหญ่พญาตาณี ไม่มีใครชี้ถูก เราอย่ามาเสแสร้งว่าปืนใหญ่กระบอกนี้สำคัญ ถ้าสำคัญจริงต้องชี้ได้ ถ้าชี้ไม่ได้แสดงว่าอย่างน้อยที่สุดคนในบริเวณนี้ ปืนใหญ่กระบอกนี้ไม่มีความหมาย มันเป็นแค่วัตถุโบราณชิ้นหนึ่ง

แต่ในพื้นที่นั้น มันคือความหมายของเขา มันคือเครื่องประกาศตัวว่าอดีตเขาคืออาณาจักรที่มีรากเหง้าของตนเอง ถ้าเรายอมรับตรงนี้ได้ คืนสัญลักษณ์ความภูมิใจของเขาไป เขาก็รู้สึกว่าอยู่ร่วมกันกับเราได้ เรื่องอื่นๆ มันก็ดีขึ้น ผมเชื่อว่าวันนี้ถ้าจะเดินหน้าแก้ปัญหาภาคใต้ เริ่มจากเรื่องง่ายๆ แบบนี้ก่อน คืนปืนใหญ่ไปก่อน ที่ผมต้องพูดเรื่องการคืนปืนใหญ่หรือการปฏิรูปกองทัพเพราะมันเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า พรรคเล็กๆ สามารถมีความคิดที่กว้างไกลได้

TCIJ: ทำไมต้องเป็นพรรค ‘คนธรรมดา’

ธนพร: เราไม่อยากให้คาดหวังกับเราว่าเราเป็นพระศรีอาริย์หรือผู้วิเศษที่จะมาขจัดปัดเป่า แต่อยากให้มองว่าเราก็เป็นเหมือนกับพี่น้องประชาชนทั่วไป ผมอยากจะรับจ้างท่าน ผมเอาทีโออาร์ 6 ข้อมาเสนอ ถ้าท่านให้งาน ผมจะทำให้ท่าน ผมไม่อยากให้คาดหวังว่า คนเป็นนักการเมืองต้องดีสูงส่งกว่าอาชีพอื่น ยิ่งคาดหวังสูง พอผิดหวัง เราจะรู้สึกว่ามันแย่ ทั้งที่ธรรมชาติของมนุษย์ก็สีเทาๆ ด้วยกันทั้งนั้น ผมจะกล้าบอกได้ยังไงว่าผมจะไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ แฟร์ๆ ดีกว่า ผมก็คือคนธรรมดาเหมือนกับทุกท่าน มีดี มีชั่วเหมือนกัน เพราะฉะนั้นมาวัดว่าผมทำอะไรให้ดีกว่า

ประการที่ 2 เดิมมีพี่ๆ บางคนให้ใช้ชื่อสามัญชน แต่มันต้องการการแปลจึงไม่สะท้อนจุดยืน ‘Voice of the Voiceless’ เพราะถ้าต้องแปล แสดงว่าคนที่จะเข้าถึงก็ต้องมีการศึกษาสักหน่อย จะมีความหมายอะไร คนเราต้องเท่ากันในความเป็นมนุษย์ การศึกษาเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการที่มนุษย์จะดำรงชีพ แต่ความเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์ ทุกคนเท่ากันหมด ถ้าชื่อพรรคเรายังต้องแปล ในทางหนึ่งก็เหมือนไปจำกัดคนอื่นและเราวางตัวเราให้เหนือคนอื่นด้วย

อ่านข่าวประกอบได้ที่ http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=4123

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: