จี้กสทช.คุมเนื้อหาดูแลผู้บริโภคให้จริงจัง พบใช้งบ-บุคลากรมากเกินความจำเป็น

ชุลีพร บุตรโคตร TCIJ 22 ส.ค. 2557 | อ่านแล้ว 1751 ครั้ง

แม้จะยังมีปัญหาวุ่นวายในหลายเรื่องขณะนี้ แต่กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสทช.) ก็ยังคงเดินหน้าจัดการประชุมเพื่อหาแนวทางในการจัดทำนโยบายด้านการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด กสทช. จัดการประชุมเพื่อปรึกษาหารือนโยบายด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชน เรื่อง “ทิศทางการปฏิรูปสื่อที่ควรเป็น” โดยมีผู้เกี่ยวข้องด้านการสื่อสารเข้าร่วมประชุมหารือร่วมกัน  โดยประเด็นสำคัญแม้ว่าจะมีเป้าหมายในการจัดสรรทรัพยากรด้านการสื่อสาร และการคุ้มครองผู้บริโภค แต่การวิพากษ์วิจารณ์ก็ยังคงพุ่งเป้ามาที่กสทช.เช่นเดิม โดยเฉพาะประสิทธิภาพการทำงานที่ยังไม่เข้าตาสังคม

สุภิญญาชี้กสทช.เร่งคุ้มครองผู้บริโภคอย่างสมดุล

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์  (กสทช.)  กล่าวว่า ภาระสำคัญของ กสทช.ในปี 2557 คือการสร้างกลไกในการคุมครองผู้บริโภคให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น และต้องทำให้เป็นจริงในเชิงปฏิบัติ ภายใต้ข้อจำกัดในการสร้างสมดุลระหว่างความรับผิดชอบกับสิทธิเสรีภาพของสื่อ โดยยอมรับว่า จากปัญหาเรื่องของปริมาณ “ช่อง” ของทั้งสื่อวิทยุกระจายเสียง เคเบิลทีวี และโทรทัศน์ดาวเทียม ซึ่งมีจำนวนมากและกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทำให้เห็นว่าหลายกรณีจงใจนำเสนอเนื้อหาหรือโฆษณาที่ไม่เหมาะสม โฆษณาเกินจริง หลอกลวงผู้บริโภค ทำให้มีการร้องเรียนเข้ามามากมาย

            “ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาพบว่า ปัญหาการร้องเรียนในฟรีทีวี ส่วนใหญ่จะเป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องความชอบ ความไม่ชอบ เป็นรสนิยม ความคิด ความเชื่อ ส่วนทีวีดาวเทียมหรือเคเบิลทีวี พบเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคที่ถูกเอาเปรียบจากการทำสัญญากับผู้ประกอบการ ดังนั้นกสทช.จึงมีการออกประกาศเรื่องมาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก เพื่อให้สัญญามีความเป็นธรรมทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ”

รายงานประจำปีระบุ 1 ปี ปิดสถานีโฆษณาเกินจริง 3 สถานี

ทั้งนี้ข้อมูลจากรายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2556 ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ ระบุว่า ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.2556-31 ต.ค.2556 มีการร้องเรียน 3 ประเภท คือ การร้องเรียนและข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการและโฆษณาอาหารยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ จำนวน 81 เรื่องร้องเรียน 11 ข้อเสนอแนะ ส่วนใหญ่เป็นกรณีการเอาเปรียบผู้บริโภค เช่น การเปลี่ยนแปลงช่องรายการในโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า, การใช้บริการและสัญญาการให้บริการที่ไม่เป็นธรรม, การคืนเงินค่ามัดจำอุปกรณ์ล่าช้า เป็นต้น รวมถึงการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย หรือมีลักษณะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

ประเภทข้อร้องเรียนที่ 2 เป็นการร้องเรียนเกี่ยวข้องกับผังรายการและเนื้อหารายการ จำนวน 56 ข้อร้องเรียน 32 ข้อเสนอแนะ ส่วนใหญ่เป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมในกลุ่มเด็กและเยาวชน  รายการที่มีเนื้อหา “ต้องห้าม” มิให้ออกอากาศ เนื่องจากเป็นรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจารหรือมีผลกระทบให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจ หรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง และประเภทข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย และโฆษณาเกินจริง นอกจากนี้รายงานยังระบุด้วยว่า มีการจับกุมดำเนินคดีกับวิทยุกระจายเสียงที่โฆษณาออกอากาศผิดกฎหมาย เป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ยา ที่มีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง 3 สถานี

สมาพันธ์ผู้บริโภคระบุกสทช.รู้ปัญหาดีแต่ไม่คิดแก้ไข

ด้าน น.ส.บุญยืน ศิริธรรม จากสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวในการเสวนา “ทิศทางการปฏิรูปสื่อที่ควรเป็น” เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ระบุว่า ที่ผ่านมาแม้ว่ากสทช.จะทราบปัญหาที่เกิดจากเผยแพร่ของสื่อ ที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภค แต่ไม่เคยได้รับการแก้ไข ทั้งๆ ที่กสทช.เองเป็นองค์กรกำกับที่มีหน้าที่จะต้องรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้บริโภคแล้วนำปัญหาไปแก้ไข โดยเฉพาะการแก้กฎหมายให้ชัดเจนและคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นผู้เสพสื่อเหล่านี้ได้จริงๆ  แม้ว่าประชาชนหรือผู้บริโภคส่วนหนึ่ง จะได้รับหน้าที่ให้เข้ามาเป็นอนุกรรมการในการทำงานของกสทช. แต่ความเห็นของอนุกรรมการ ที่มาจากผู้บริโภคตัวจริงนั้นไม่ได้ถูกนำไปใช้ เพราะกสทช.ไม่เคยเชื่อในสิ่งที่อนุกรรมการพูด เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมที่ไม่ชัดเจน และไม่ได้เห็นความสำคัญ เพียงแต่ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายเท่านั้น ตอนนี้ผู้บริโภคจึงต้องเผชิญชะตากรรมต่อไป โดยปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข

            “ล่าสุดในหน้าหนังสือพิมพ์คมชัดลึก มีการประชาสัมพันธ์ ของคณะกรรมการอาหารและยา นำรายการสินค้าอันตรายมาแจ้งให้กับประชาชนทราบ โดยการเผยแพร่ในสื่ออย่างชัดเจน ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก สำหรับผู้บริโภค แต่เมื่อหันกลับมามองกสทช. เราไม่พบเลยว่า กสทช.ทำอะไรแบบนี้หรือไม่ กสทช.มีเพียงการประชาสัมพันธ์ตัวเอง ว่าได้ทำอะไรไปบ้าง ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคเลย ทั้งที่มีงบประมาณมาก ตัวอย่างเช่น ขณะนี้เรากำลังเปลี่ยนจากระบบอนาล็อกมาเป็นดิจิตอล แต่ตอนนี้ประชาชนรู้อะไรบ้าง คนจำนวนมากยังไม่รู้ ไม่มีข้อมูล เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย เพราะกสทช.ไม่ได้ให้ความรู้กับผู้บริโภคเท่ากับการประชาสัมพันธ์ตัวเอง ” น.ส.บุญยืนกล่าว

จี้แก้ปัญหาโฆษณาวิทยุ-ยาชูกำลัง แจกรางวัล

น.ส.บุญยืนกล่าวต่อว่า หากพิจารณาลงไปถึงรายละเอียด เห็นว่าตอนนี้มีหลายประเด็นที่กสทช.ไม่ได้คุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง เช่น การโฆษณาผ่านวิทยุชุมชนในต่างจังหวัด ซึ่งถือว่ามีอิทธิพลกับผู้บริโภคมาก เพราะผู้บริโภคที่เป็นชาวบ้านส่วนใหญ่รับข่าวสารจากวิทยุมากกว่าโทรทัศน์ เพราะวิทยุสามารถติดตัวไปไหนก็ได้ เมื่อมีการโฆษณาเกินจริง หรือไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสมเผยแพร่ออกไป ย่อมมีผลทางความคิดกับผู้ฟังต่างจังหวัดอยู่แล้ว เพราะส่วนใหญ่เชื่อว่าถ้าไม่ดีจริงจะสามารถโฆษณาผ่านวิทยุได้อย่างไร ซึ่งเกิดจากช่องว่างที่จะต้องแก้ไข เช่น กรณีเครื่องดื่มชูกำลังไม่พูดถึงเรื่องคุณภาพ แต่กลับนำเสนอเรื่องการแจกเงิน แจกรางวัล เรื่องนี้สมาพันธ์ผู้บริโภค ได้เคยไปร้องเรียนไปยังอย. แต่อย.ให้คำตอบว่า สิ่งที่คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดูได้คือเรื่องการโฆษณาคุณภาพเกินจริง แต่สิ่งที่เครื่องดื่มเหล่านี้โฆษณาเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายการพนัน ที่กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบ แต่กระทรวงมหาดไทยก็ทำอะไรไม่ได้ แล้วจะเอามาตรการใดมาดู จึงเป็นเรื่องที่จะต้องพูดคุยและหาทางออกให้ได้

ตั้งคำถามใช้งบฯบาน ทั้งเงินเดือน-เดินทางต่างประเทศ แต่ไม่มีผลงาน

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ น.ส.สุวรรณา สมบัติรักษาสุข  จากสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หากมองที่ประเด็นของการปฏิรูปสื่อ นั่นคือ การจะต้องทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึงสื่อได้มากที่สุด ลดการผูกขาดการใช้ทรัพยากรของรัฐ ที่เป็นหน้าที่ของกสทช. ที่จะต้องดำเนินการและพิจารณาว่า ในการปฏิรูป มีการกระจายการถือครองคลื่นความถี่ ตรงตามเจตนารมณ์หรือไม่ ประชาชนเข้าถึงอย่างทั่วถึง และเท่าเทียมตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ และการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมจริงหรือไม่ ทั้งนี้หากกลับไปดูข้อมูล หรือจับตาการทำงานของกสทช. ทั้งในส่วนของคลื่นวิทยุหรือสถานีโทรทัศน์  มีหลายอย่างที่กสทช.ยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามเจตนารมณ์  ซึ่งมองว่ากสทช.ยังคงต้องปรับปรุงตัวเองหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการ เช่น แผนแม่บท, โครงสร้างสำนักงาน และคณะอนุกรรมการ บุคลากร กฎระเบียบหรืองบประมาณ เป็นต้น

นอกจากนี้ น.ส.สุวรรณายังเปิดเผยข้อมูล งบประมาณค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่าง ๆ ของกสทช.ในปี 2556เปรียบเทียบกับปี 2557 ระบุว่า กสทช.มีค่าใช้จ่ายโดยรวมในปี 2557 มากกว่าปี 2556 กว่า 400 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายที่น่าสนใจคือ ค่าจ้างที่ปรึกษา ที่เพิ่มขึ้นโดยตลอด จากตัวเลขพบว่าปี 2556 ใช้จ่ายมากถึง 329 ล้านบาท ขณะที่ปี 2555 ใช้จ่ายเพียง 106 ล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปดูงานต่างประเทศในปี 2555 จำนวน 206 ล้านบาท ต่อมาปี 2556 กลับเพิ่มขึ้นเป็น 250 ล้านบาท

นอกจากนี้หากพิจารณาจากโครงสร้างของกสทช. ที่พบว่ามีทั้งหมด 46 สาย งานกำกับดูแลวิทยุ ทีวีดิจิติล ทีวีดาวเทียม มีบุคลากร 1,083 คน ผู้บริหารระดับต้น 70 คน พนักงานปฏิบัติการระดับสูง 310 คน พนักงานปฏิบัติการระดับต้น 68 คน และพนักงานสัญญาจ้างอีกกว่า 300 คน และพนักงานที่ไม่รวมผู้เชี่ยวชาญอีกกว่า 900 คน จึงทำให้กสทช.มีโครงสร้างระดับบริหารมากกว่า แต่ข้อมูลกลับระบุว่าใน 46 สายงาน มีคนดูแลงานด้านกิจการวิทยุและโทรทัศน์เพียง 264 คน มี 64 คน ดูแลเกี่ยวกับการออกใบอนุญาต และดูแลการใช้คลื่นวิทยุและโทรทัศน์ 14 คน ซึ่งนับว่าไม่เพียงพอ

            “เรื่องการใช้จ่ายบุคลากร ทั้ง 1,083 คน ใช้งบประมาณปี 2556 จำนวน 634 ล้านบาท พนักงาน 1 คน มีเงินเดือน 48,000 บาท มีค่าตอบแทนกสทช.ประมาณ 270,000 บาท บำเหน็จอัตราเฉลี่ย 79,000บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเบี้ยประชุมของกรรมการ 50 ล้านบาท ค่าเดินทางไปต่างประเทศ 32 ล้านบาท ค่าจ้างเหมารายการจัดอีเวนท์ 274 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ 180 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษา 329 ล้านบาท เงินบริจาคและการกุศล 99 ล้านบาท ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ล้วนมาจากรายงานประจำปีของกสทช. นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากสำนักข่าวอิศรา เรื่องการใช้จ่ายปี ในส่วนของค่าใช้จ่ายของอนุกรรมการ และคณะทำงานของกสทช. 840 คน ประมาณ 49 ล้านบาทด้วย”

            “เรื่องของทีวีดิจิตอลที่ยังไม่ชัดเจน หลายฝ่ายคาดว่าผู้ประกอบการจำนวน 24 ราย จะมีบางรายที่ไปไม่รอด เนื่องจากการแบ่งซอยช่องทีวีมากเกินไป ทั้งที่ในความเป็นจริงช่องทีวีใน 1 ช่อง สามารถมีประเภทรายการที่หลากหลายได้ ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้นของกสทช. ยังไม่เห็นงานที่เป็นรูปธรรม ดังนั้นเบื้องต้นอยากเสนอแนวทางปฏิรูปให้กสทช.คือ สร้างความเข้มแข็งกลไกการตรวจสอบ ปรับปรุงกฎหมาย ปรับแนวคิดฉันทามติ และเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กร  นอกจากนี้ควรเร่งให้ความสำคัญกับสื่อวิทยุกระจายเสียงด้วยเช่นกัน ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนคลื่นเกิดขึ้นมาก และส่วนใหญ่เป็นคลื่นหน่วยงานของรัฐดังนั้นต้องถามว่าหน่วยงานภาครัฐที่ถือครองอยู่ขณะนี้จำเป็นหรือไม่” น.ส.สุวรรณากล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: